พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปฐมกามสูตร ว่าด้วยสัตว์ผู้ต้องข้องอยู่ในกาม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35344
อ่าน  822

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 668

๓. ปฐมกามสูตร

ว่าด้วยสัตว์ผู้ต้องข้องอยู่ในกาม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 668

๓. ปฐมกามสูตร

ว่าด้วยสัตว์ผู้ต้องข้องอยู่ในกาม

[๑๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล มนุษย์ทั้งหลายในพระนครสาวัตถี โดยมากเป็นผู้ข้องแล้วในกามเกินเวลา เป็นผู้กำหนัดแล้ว ยินดีแล้ว รักใคร่แล้ว หมกมุ่นแล้ว พัวพันแล้ว มืดมนมัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ภิกษุเป็นอันมากนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตในภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส มนุษย์ทั้งหลายในพระนครสาวัตถี โดยมากเป็นผู้ข้องแล้วในกามเกินเวลา เป็นผู้กำหนัดแล้ว ยินดีแล้ว หมกมุ่นแล้ว พัวพันแล้ว มืดมนมัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 669

สัตว์ทั้งหลายข้องแล้วในกาม ข้องแล้วในกามด้วยธรรมเป็นเครื่องข้อง ไม่เห็นโทษในสังโยชน์ ข้องแล้วในธรรมเป็นเครื่องข้องคือสังโยชน์ พึงข้ามโอฆะอันกว้างใหญ่ไม่ได้เลย.

จบปฐมกามสูตรที่ ๓

อรรถกถาปฐมกามสูตร

ปฐมกามสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ในวัตถุกาม.

บทว่า อติเวลํ ได้แก่ เกินเวลา.

บทว่า สตฺตา ได้แก่ สัตว์ อธิบายว่าผู้ติด คือ ข้อง โดยไม่เห็นโทษแม้ที่มีอยู่ ระลึกถึงแต่ความยินดี ติดข้อง เพราะมากไปด้วยอโยนิโสมนสิการ.

บทว่า รตฺตา ชื่อว่ากำหนัดแล้ว กำหนัดนักแล้วด้วยฉันทราคะ อันเป็นเครื่องทำจิตให้เปลี่ยนแปลง เหมือนผ้าเปลี่ยนไปด้วยการย้อมสีฉะนั้น.

บทว่า คิทฺธา ความว่า ติด คือ ถึงความกำหนัด โดยการเพ่ง ซึ่งมีความหวังเป็นสภาวะ.

บทว่า คธิตา ความว่า เกี่ยวเนื่องในกามนั้น เพราะเป็นภาวะที่เปลื้องได้ยาก ดุจร้อยรัดไว้.

บทว่า มุจฺฉิตา ความว่า ไม่มีกิจอย่างอื่น คือ ถึงความหมกมุ่นงมงายด้วยอำนาจกิเลส ดุจคนสลบฉะนั้น.

บทว่า อชฺโฌปนฺนา ความว่า กลืนให้สำเร็จตั้งอยู่ ทำให้เหมือนสิ่งที่ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น.

บทว่า สมฺมตฺตกชาตา ความว่า ถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย คือเป็นผู้มัวเมา เมามาย ในสุขเวทนามีประมาณน้อย. บาลีว่า สมฺโมทกชาตา ดังนี้ก็มี อธิบายว่า เกิดความบันเทิงใจ คือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 670

เกิดความร่าเริงใจ ด้วยบทแม้ทั้งหมด ท่านกล่าวถึงความที่ชนเหล่านั้นหมกมุ่นด้วยตัณหานั่นเอง ก็ในสูตรนี้ คำต้นท่านกล่าวว่า กาเมสุ แล้วกล่าวซ้ำว่า กาเมสุ อีก ก็เพื่อแสดงว่า สัตว์เหล่านั้นมีจิตน้อมไปในกามนั้น. ด้วยคำนั้น ท่านแสดงว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณในทุกอิริยาบถอยู่ในเวลานั้น.

เล่ากันมาว่า สมัยนั้น เว้นพระอริยสาวกเสีย ชาวกรุงสาวัตถีทั้งหมด ต่างโฆษณาถึงการเล่นมหรสพ ตระเตรียมพื้นที่การเล่นไปตามกำลังสมบัติที่มี กินดื่มบริโภคกามทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ บำเรออินทรีย์ ถึงความดื่มดำในกามทั้งหลาย. พวกภิกษุทั้งหลาย พากันเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เห็นมนุษย์ในเรือนนั้นๆ และในสวนเป็นที่รื่นรมย์เป็นต้น พากันโฆษณาการเล่นมหรสพ มีจิตน้อมไปในกาม ปฏิบัติอย่างนั้นอยู่ พากันคิดว่า เราจักไปวิหาร ได้ฟังธรรมเทศนาอันละเอียดสุขุม ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข สมฺพหุลา ภิกฺขู ฯเปฯ กาเมสุ วิหรนฺติ ดังนี้.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวง ถึงความที่มนุษย์เหล่านั้นไม่เห็นโทษในกามทั้งหลายที่น่ากลัว อดกลั้นไม่ได้และมีผลเผ็ดร้อน มีที่เล่นอันน่ารื่นรมย์ มีความเร่าร้อนมาก อันความพินาศเป็นอเนกติดตามผูกพันนี้ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศโทษแห่งกามและกิเลส.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเมสุ สตฺตา ความว่า ผู้กำหนัด มัวเมา ข้อง ซ่านไป ติด พัวพัน ประกอบ ในวัตถุกาม ด้วยกิเลสกาม.

บทว่า กามสงฺคสตฺตา ความว่า ชื่อว่าผู้ข้อง คือ มาข้องด้วยเครื่องข้อง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 671

คือ ราคะ และด้วยเครื่องข้อง คือ ทิฏฐิ มานะ โทสะ และอวิชชา ในวัตถุกาม ด้วยความติดในกามนั้นนั่นแล.

บทว่า สํโยชเน วชฺชมปสฺสมานา ความว่า ไม่เห็นโทษ คือ โทสะ ได้แก่ อาทีนพ อันชื่อว่ามีวัฏทุกข์เป็นมูลเป็นต้น เพราะมีปกติเห็นตามความยินดีในธรรมอันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในกิเลส มีกามราคะเป็นต้น อันได้นามว่า สังโยชน์ เพราะประกอบ คือ ล่ามกัมมวัฏด้วยวิปากวัฏฏ์ หรือภพเป็นต้นด้วยภพอื่นเป็นต้น หรือสัตว์ทั้งหลายด้วยทุกข์.

บทว่า น หิ ชาตุ สํโยชนสงฺคสตฺตา โอฆํ ตเรยฺยุํ วิปุลํ มหนฺตํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้อง อันมีสังโยชน์เป็นสภาวะ เพราะไม่มีการเห็นโทษอย่างนี้ หรือข้องอยู่ในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นอารมณ์แห่งธรรมเป็นเครื่องข้องเหล่านั้น ด้วยธรรมเป็นเครื่องข้องกล่าวคือสังโยชน์ ในกาลไหนๆ ก็ข้ามไม่ได้ซึ่งโอฆะมีกามเป็นต้น อันชื่อว่า กว้างขวาง แน่นหนา และใหญ่ หรือโอฆะคือสงสารนั่นเอง เพราะมีอารมณ์กว้างขวาง และหากาลเบื้องต้นมิได้ อธิบายว่า ไม่พึงถึงฝั่งแห่งโอฆะนั้นโดยส่วนเดียวนั่นเอง.

จบอรรถกถาปฐมกามสูตรที่ ๓