พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ทุติยกามสูตร ว่าด้วยผู้มืดมนเพราะกาม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35345
อ่าน  492

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 671

๔. ทุติยกามสูตร

ว่าด้วยผู้มืดมนเพราะกาม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 671

๔. ทุติยกามสูตร

ว่าด้วยผู้มืดมนเพราะกาม

[๑๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 672

มนุษย์ทั้งหลายในพระนครสาวัตถีโดยมากเป็นผู้ข้องแล้วในกามเกินเวลา เป็นผู้กำหนัดแล้ว ยินดีแล้ว รักใคร่แล้ว หมกมุ่นแล้ว พัวพันแล้ว มืดมน มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ได้ทรงเห็นพวกมนุษย์ในพระนครสาวัตถีโดยมากเป็นผู้ข้องแล้วในกามทั้งหลาย กำหนัดแล้ว ยินดีแล้ว รักใคร่แล้ว หมกมุ่นแล้ว พัวพันแล้ว มืดมน มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกกิเลสและเทวบุตรมารผูกพันไว้แล้ว ย่อมไปสู่ชราและมรณะ เหมือนปลาในปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนม ไปตามแม่โค ฉะนั้น.

จบทุติยกามสูตรที่ ๔

อรรถกถาทุติยกามสูตร

ทุติยกามสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อนฺธีกตา ความว่า ขึ้นชื่อว่ากาม ย่อมทำผู้ไม่มืดมนให้มืดมน. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

คนโลภย่อมไม่รู้อรรถ คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภย่อมครอบงำนรชนในคราวที่เขามีความมืด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 673

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันธีกตา เพราะถูกกามกระทำผู้ไม่มืดให้เป็นคนมืด. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในสูตรติดต่อกันนั่นเอง. ก็ในสูตรนั้น พวกภิกษุเห็นความเป็นไปของมนุษย์ จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ในสูตรมีความแปลกกันเท่านี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นด้วยพระองค์เองทีเดียว.

พระศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี เสด็จไปยังพระเชตวัน ในระหว่างทางทรงทอดพระเนตรเห็นปลาเป็นจำนวนมากไม่สามารถจะเข้าไปสู่ไซที่พวกชาวประมงดักไว้ในแม่น้ำอจิรวดี ครั้นต่อมา ได้ทรงเห็นลูกโคที่ยังไม่ทิ้งนมตัวหนึ่ง ร้องว่า โค ติดตามแม่โคไป ยื่นคอเข้าไปเพื่อดื่มน้ำนม น้อมปากเข้าไปในระหว่างขาแม่โค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังวิหาร ล้างพระบาททั้งสองแล้วประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่บรรจงจัดไว้ ทรงถือเอาเรื่อง ๒ เรื่องข้างหลัง โดยเป็นอุปมาของเรื่องก่อน จึงทรงเปล่งอุทานนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามนฺธา ได้แก่ กระทำความมืดมนในวัตถุกามด้วยกิเลสกาม ไม่ให้มองเห็น.

บทว่า ชาลสญฺฉนฺนา ความว่า ดาดาษ พัวพัน ได้แก่ ถูกตัณหาอันเป็นดังข่ายครอบงำ เพราะเกิดขึ้นสืบๆ ไปโดยภพ อารมณ์เบื้องต่ำและเบื้องสูง ในอัตภาพของตนและของผู้อื่น ในอายตนะภายในและภายนอก และในธรรมอันอาศัยอายตนะภายในภายนอกนั้น อันต่างด้วยธรรมหลายประเภท โดยกาลมีอดีตกาลเป็นต้น และนำมาซึ่งอนัตถะแก่บุคคลผู้หมกอยู่ภายใน เหมือนห้วงน้ำใหญ่ที่แวดล้อมไปด้วยตาข่าย ที่มีช่องอันละเอียด.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 674

บทว่า ตณฺหาฉทนฉาทิตา ได้แก่ อันเขาปกปิด คือ บังไว้ด้วยเครื่องมุงบังคือตัณหา เหมือนน้ำที่สาหร่ายปกปิดไว้ฉะนั้น. แม้ด้วย ๒ บทนี้ ท่านก็แสดงถึงการนำกุศลจิตที่กามฉันทนิวรณ์กั้นไว้.

บทว่า ปมตฺตพนฺธุนา พนฺธา ได้แก่ ผู้อันกิเลสมารและเทวบุตรมารผูกพันไว้. จริงอยู่ บุคคลที่ถูกกิเลสมารผูกพันไว้ด้วยอารมณ์ใด ก็เป็นอันชื่อว่าถูกเทวบุตรมารผูกพันไว้ด้วยอารมณ์นั้น. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า

ดูก่อนสมณะ เราจักผูกท่านไว้ด้วยบ่วงคือใจ อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปในกลางหาว ท่านยังไม่พ้นจากบ่วงของเรา.

บททั้งสามคือ นมุจิ กณฺโห ปมตฺตพนฺธุ เป็นชื่อของมาร. เพราะแม้เทวบุตรมาร ก็ชื่อว่า ปมตฺตพนฺธุ เพราะผูกสัตว์ผู้ประมาทไว้ด้วยความพินาศ เหมือนกิเลสมารฉะนั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปมตฺตา พนฺธเน พทฺธา ดังนี้ก็มี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พนฺธเน ความว่า ในเครื่องผูกคือกามคุณ.

บทว่า พทฺธา ได้แก่ ที่ถูกกำหนดไว้. เปรียบเหมือนอะไร? เปรียบเหมือนปลาในปากไซ อธิบายว่า ปลาทั้งหลายเข้าไปยังปากไซที่ชาวประมงดักไว้ เป็นปลาที่ติดไซ ย่อมไป คือ ถึงความตาย ฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกผูกพันไว้ด้วยเครื่องผูกคือกามคุณที่มารดักไว้ ย่อมเข้าถึงชราและมรณะทีเดียว เหมือนลูกโคที่ยังไม่ทิ้งนม ติดตามแม่โคไปฉะนั้น อธิบายว่า เหมือนโครุ่นตัวยังไม่ทิ้งนม ย่อมติดตาม คือ ไปตามแม่ของตัว ไม่ติดตามโคตัวอื่น ฉันใด สัตว์ที่ผูกพันไว้ด้วยเครื่อง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 675

ผูกคือมาร ก็ฉันนั้น เมื่อหมุนเวียนไปในสงสาร ย่อมติดตาม คือ ไปตามมรณะถ่ายเดียว ไม่ไปตามอมตนิพพาน อันได้แก่ ไม่ตาย.

จบอรรถกถาทุติยกามสูตรที่ ๔