พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. อุทปานสูตร ว่าด้วยพระพุทธเจ้าใช้พระอานนท์ไปตักน้ํา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35350
อ่าน  492

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 692

๙. อุทปานสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าใช้พระอานนท์ไปตักน้ำ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 692

๙. อุทปานสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าใช้พระอานนท์ไปตักน้ำ

[๑๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในมัลลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามชื่อถูนะของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีชาวถูนคามได้สดับข่าวว่า แนะท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกบวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกไปมัลลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงถูนพราหมณคามโดยลำดับ พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเอาหญ้าและแกลบถมบ่อน้ำจนเต็มถึงปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่า สมณะโล้นทั้งหลายอย่าได้ดื่มน้ำ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 693

[๑๕๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแวะออกจากทางแล้ว เสด็จเข้าไปยังโคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์จัดถวาย ครั้นแล้วตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เร็วเถิด เธอจงไปนำน้ำมาจากบ่อนั่นเพื่อเรา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ บ่อน้ำนั้นพวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวถูนคามเอาหญ้าและแกลบถมจนเต็มถึงปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่า สมณะโล้นทั้งหลายอย่าได้ดื่มน้ำ พระเจ้าข้า.

แม้ครั้งที่ ๒...

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อน อานนท์ เร็วเถิด เธอจงไปนำน้ำมาจากบ่อนั้นเพื่อเรา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ถือบาตรเดินเข้าไปยังบ่อน้ำนั้น ลำดับนั้นแล เมื่อท่านพระอานนท์เดินเข้าไป บ่อน้ำล้นขึ้นพาเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เต็มไปด้วยน้ำใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว จนถึงปากบ่อ ดุจไหลไปขังอยู่ ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ดำริว่า ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาหนอ ความที่พระตถาคตทรงมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เมื่อเราเดินเข้าไป บ่อน้ำนั้นแลล้นขึ้นพาเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากบ่อ เต็มไปด้วยน้ำใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว จนถึงปากบ่อ ดุจไหลไปขังอยู่ ท่านพระอานนท์เอาบาตรตักน้ำแล้วเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา ความที่พระตถาคตทรงมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เมื่อข้าพระองค์เดินเข้าไป บ่อน้ำนั้นแลล้นขึ้นพา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 694

เอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากบ่อ เต็มไปด้วยน้ำใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว จนถึงปากบ่อ ดุจไหลไปขังอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงทรงดื่มน้ำเถิด.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ถ้าว่าน้ำพึงมีในกาลทุกเมื่อไซร้ บุคคลจะพึงกระทำประโยชน์อะไรด้วยบ่อน้ำ พระพุทธเจ้าตัดรากแห่งตัณหาได้แล้ว จะพึงเที่ยวแสวงหาน้ำ เพราะเหตุอะไร.

จบอุทปานสูตรที่ ๙

อรรถกถาอุทปานสูตร

อุทปานสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มลฺเลสุ ความว่า ชนบทแม้ชนบทหนึ่ง อันเป็นที่อยู่ของพระราชกุมารชาวชนบทนามว่า มัลละ เขาเรียกว่า มัลละ โดยดาษดื่น ในมัลลชนบทซึ่งในทางโลกเขาเรียกกันว่า มัลละ นั้น. แต่อาจารย์บาง พวกกล่าวว่า มาเลสุ.

บทว่า จาริกญฺจรมาโน ได้แก่ เสด็จจาริกไปในชนบทมณฑลใหญ่ โดยเสด็จจาริกไปไม่รีบด่วน.

บทว่า มหตา ภิกฺขุสงฺเฆน ได้แก่ หมู่สมณะหมู่ใหญ่ซึ่งกำหนดจำนวนไม่ได้. จริงอยู่ ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมไปด้วยภิกษุหมู่ใหญ่.

บทว่า ถูณํ นาม มลฺลานํ พฺราหฺมณคาโม ได้เเก่ บ้านพราหมณ์ เพราะมีพราหมณ์มาก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 695

อันมีชื่อว่า ถูณะ * ในมัลลประเทศ อันเป็นที่ตั้งแห่งมัชฌิมประเทศ ในทิศอาคเนย์.

บทว่า ตทวสริ ตัดเป็น ตํ อวสริ เสด็จไปยังบ้านพราหมณ์นั้น. อธิบายว่า เสด็จไปทางถูณคาม.

บทว่า อสฺโสสุํ แปลว่า ได้นั่งแล้ว อธิบายว่า รู้โดยกระแสเสียงโฆษณาที่มากระทบโสตทวาร.

บทว่า โข เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า ทำบทให้เต็ม หรือใช้ในอรรถอวธารณะห้ามความอื่น. ใน ๒ อย่างนั้น ด้วยโข ศัพท์อันมีอวธารณะเป็นอรรถ (แปลว่า) ได้ฟังแล้วแล อธิบายว่า พราหมณ์และคหบดีชาวถูณคามไม่มีอันตรายต่อการไป. ด้วย โข ศัพท์อันมีปทปูรณะเป็นอรรถ เป็นแต่เพียงบทและพยัญชนะสละสลวยเท่านั้น.

บทว่า ถูเณยฺยกา แปลว่า ชนชาวถูณคาม ในบทว่า พฺราหฺมณคหปติกา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะกล่าวคำอันประเสริฐ อธิบายว่า สาธยายมนต์. จริงอยู่ บทว่า พฺราหฺมณา นี้ เป็นไวพจน์ของพราหมณ์โดยกำเนิด ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านก็เรียกว่าพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาป. ชนผู้ครองเรือนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เว้นกษัตริย์และพราหมณ์ ท่านเรียกว่า คหบดี. แต่เมื่อว่าโดยพิเศษ เขาเรียกว่า แพศย์. พราหมณ์และคหบดี เรียกว่า พราหมณคหบดี.

บัดนี้ เพื่อจะประกาศความที่พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นได้ฟัง (ข่าว) ท่านจึงกล่าวว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม ดังนี้เป็นต้น. ในคำว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตพึงทราบว่าสมณะ เพราะสงบบาป. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า อกุศลธรรมอันลามก เป็นอันพระองค์สงบแล้ว ดังนี้เป็นต้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้สงบบาปแล้วโดยประการทั้งปวง


* บาลีเป็น ถูนะ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 696

ด้วยพระอริยมรรคอันยอดเยี่ยม เพราะพระองค์ทรงบรรลุคุณตามเป็นจริง จึงได้พระนามว่า สมณะ.

บทว่า ขลุ เป็นนิบาตใช้ในอนุสสวนัตถะ.

บทว่า โภ เป็นเพียงคำเรียกอันเกิดมาแต่กำเนิดแห่งชนชาติพราหมณ์. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าเขายังมีกิเลส เขาก็ชื่อว่าเป็นโภวาที.

บทว่า โคตโม เป็นบทระบุถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพระโคตร เพราะฉะนั้น ในคำว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม นี้ มีอรรถดังนี้ว่า ได้ยินว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ.

ก็บทว่า สกฺยปุตฺโต นี้ เป็นบทแสดงถึงภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีตระกูลสูง.

บทว่า สกฺยกุลา ปพฺพชิโต เป็นบทแสดงถึงภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชด้วยศรัทธา. ท่านอธิบายไว้ว่า พระองค์ไม่มีความเสื่อมอะไรๆ มาครอบงำ ทรงละตระกูลที่ไม่มีความเสื่อมสิ้นนั้นนั่นแหละ ทรงผนวชด้วยการเชื่อในการบรรลุโดยการออกมหาภิเนษกรมณ์.

บทว่า อุทปานํ ติณสฺส จ ภูสสฺส จ ยาว มุขโต ปูเรสุํ ความว่า เอาหญ้าและแกลบถมบ่อน้ำดื่มให้เต็มแค่ปาก (บ่อ) อธิบายว่า ใส่หญ้าเป็นต้นเข้าไปแล้วปิดบ่อ.

ได้ยินว่า บ้านนั้นได้มีบ่อน้ำแห่งหนึ่งเป็นที่ใช้สอยของพวกพราหมณ์ ใกล้ทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ณ ภายนอก. สถานที่มีบ่อน้ำและบึงเป็นต้นทุกแห่งในที่นั้น เว้นบ่อน้ำนั้น ในคราวนั้นได้เเห้งขาด ไม่มีน้ำเลย. ครั้งนั้น ชาวถูณคามยังไม่เลื่อมใสพระรัตนตรัย ถูกความตระหนี่ครอบงำ ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา พากันคิดว่า ถ้าพระสมณโคดมพึงเข้าไปยังบ้านนี้ อยู่ ๒ - ๓ วัน จะทำให้ชนทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในถ้อยคำของตน แต่นั้นธรรมของพราหมณ์ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ก็กระเสือกกระสนเพื่อจะไม่ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่นั้น จึงปรึกษา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 697

พร้อมกันว่า ในบ้านนี้ไม่มีน้ำ ในที่อื่น พวกเราจะกระทำบ่อน้ำโน้นไม่ให้เป็นที่สำหรับใช้สอย เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสมณโคดมพร้อมด้วยสาวกสงฆ์จักไม่เข้าบ้านนี้ ดังนี้แล้ว จึงให้พวกชาวบ้านทั้งหมดตักน้ำตลอด ๗ วัน ให้เต็มตุ่มเป็นต้น แล้วเอาหญ้าและแกลบถมบ่อน้ำนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอาหญ้าและแกลบถมบ่อน้ำเต็มจนถึงปากบ่อ ด้วยหวังใจว่า สมณะหัวโล้นเหล่านั้นอย่าได้ดื่มน้ำ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุณฺฑกา สมณา ความว่า ควรจะกล่าวคนโล้นว่า คนโล้น และกล่าวสมถะว่า สมณะ แต่ชนเหล่านั้นพากันดูหมิ่นโดยความประสงค์ข่มขู่ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.

บทว่า มา ใช้ในอรรถปฏิเสธ. อธิบายว่า อย่าอาบ อย่าดื่ม.

บทว่า มคฺคา โอกฺกมฺม แปลว่า หลีกออกจากหนทาง.

บทว่า เอตมฺห ได้แก่ กล่าวแสดงออกเฉพาะบ่อน้ำที่ชนพวกนั้นกระทำอย่างนั้นเท่านั้น.

ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงคำนึงถึงประการอันแปลกของพวกพราหมณ์เหล่านั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า เธอจงนำน้ำดื่มจากบ่อน้ำนี้มา หรือว่าทรงคำนึงถึงแล้วจึงรู้? ตอบว่า ทั้งๆ ที่ทรงทราบนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงประกาศพุทธานุภาพของพระองค์ ทรมานพราหมณ์เหล่านั้น เพื่อจะทำพวกเขาให้หมดพยศ จึงตรัสอย่างนั้น ไม่มีพระประสงค์จะดื่มน้ำ ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ในที่นี้พระองค์ไม่ตรัสว่า เราหิวระหายเหมือนในมหาปรินิพพานสูตร. ก็พระธรรมภัณฑาคาริก เมื่อไม่รู้พระอัธยาศัยของพระศาสดา เมื่อจะกราบทูลประการอันแปลกที่ชาวถูณคามกระทำ จึงกราบทูลว่า อิทานิ โส ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทานิ แปลว่า ในบัดนี้ อธิบายว่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 698

ในเวลาที่พวกข้าพระองค์มาถึงนั่นเอง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เอโส ภนฺเต อุทปาโน บ่อน้ำนั้น พระเจ้าข้า.

พระเถระทูลห้ามถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ จึงคิดว่า พระตถาคตทั้งหลายหาได้ทรงกระทำการโต้ตอบถึง ๓ ครั้งไม่ พระองค์ผู้ทรงเห็นกาลยาว จักเป็นอันทรงเห็นเหตุ ดังนี้แล้ว จึงถือบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ท้าวมหาราชถวายแล้วได้ไปยังบ่อน้ำ. เมื่อพระเถระกำลังเดินไป น้ำในบ่อก็บริบูรณ์ ล้นขึ้น ไหลไปรอบๆ. หญ้าและแกลบทั้งหมดลอยไปเองทีเดียว. ก็เมื่อน้ำที่ไหลไปนั้นล้นขึ้นข้างบน ชลาลัยมีสระโบกขรณีเป็นต้นทั้งหมดในบ้านนั้นที่แห้งขาดกลับบริบูรณ์ คู บึง และที่ลุ่มเป็นต้นเหมือนกัน. ท้องถิ่นของบ้านนั้นทั้งหมดถูกห้วงน้ำใหญ่ท่วมทับ ได้มีเสมือนในเวลาฝนตกหนัก. ดอกไม้ที่เกิดในน้ำ มีดอกโกมุท อุบล ปทุม และดอกปุณฑริก เป็นต้น ผุดขึ้นในชลาลัยนั้นๆ แย้มบานบังน้ำ. นกที่อาศัยน่าอยู่ มีหงส์ นกกะเรียน นกจักพราก นกกะลิง และนกยางเป็นต้น เมื่อฝนตก ก็พากันร้องเสียงขรมในที่นั้นๆ. ชาวถูณคามเห็นห้วงน้ำใหญ่นั้นล้นขึ้นอย่างนั้น สับสนไปด้วยคลื่นและระลอกโดยรอบ ผุดขึ้นเป็นฟองงดงาม ตั้งอยู่โดยรอบ ต่างพากันเกิดอัศจรรย์จิต ไม่เคยมี จึงปรึกษาพร้อมกันอย่างนี้ว่า พวกเราพยายามเพื่อจะให้พระสมณโคดมขาดน้ำ ก็ตั้งแต่เวลาที่พระสมณโคดมนั้นเสด็จมา ห้วงน้ำใหญ่นี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นถึงอย่างนี้ พระสมณโคดมมีอิทธานุภาพถึงอย่างนี้ โดยไม่ต้องสงสัยเลย เพราะพระสมณโคดมนั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก. ก็ข้อที่ห้วงน้ำใหญ่ล้นขึ้นท่วมบ้านของเรา เป็นฐานะที่มีได้แล เอาเถอะ พวกเราจะเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้พระสมณโคดม แสดงโทษที่ล่วงเกิน แล้วขอขมาพระองค์.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 699

ชาวถูณคามทั้งหมดต่างมีอัธยาศัยเป็นอันเดียวกัน เป็นหมู่คณะเดียวกัน ออกจากบ้านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว บางพวกถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า บางพวกประคองอัญชลี บางพวกกล่าวคำปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นั่งนิ่ง ก็แล ครั้นกระทำอย่างนี้แล้ว จึงนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทั้งหมดพากันแสดงโทษว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอประทานวโรกาส พวกข้าพระองค์ก่อความเกียดกันน้ำแก่พระสมณโคดมผู้เจริญและสาวก ได้เอาหญ้าและแกลบทิ้งลงในบ่อน้ำโน้น ก็บ่อน้ำนั้นถึงจะไม่มีเจตนาก็เป็นเหมือนมีเจตนา เป็นเหมือนรู้คุณของพระโคดมผู้เจริญ ทำหญ้าและแกลบทั้งหมดให้ออกไปเสียเอง เกิดเป็นบ่อน้ำบริสุทธิ์ด้วยดี ก็ในที่นี้สถานที่ลุ่มทั้งหมดเต็มไปด้วยน้ำเป็นอันมาก น่ารื่นรมย์ใจ สัตว์ทั้งหลายพากันอาศัยน้ำนั้นเลี้ยงชีพ พากันยินดี แต่พวกข้าพระองค์ แม้จะเป็นมนุษย์ก็ยังไม่รู้คุณของพระสมณโคดม จึงได้ก่อกรรมทำเข็ญถึงอย่างนี้ ดังข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอพระสมณโคดมผู้เจริญ จงกระทำโดยที่ห้วงน้ำใหญ่นี้จะไม่ท่วมบ้านนี้แก่พวกข้าพระองค์เถิด ขอพระโคดมผู้เจริญจงรับโทษที่ล่วงเกินตามที่พวกข้าพระองค์ล่วงเกินตามความโง่เขลา ด้วยทรงอาศัยความอนุเคราะห์. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เอาเถิด เราจะรับโทษที่ล่วงเกินที่พวกเธอล่วงเกินตามความโง่เขลา เพื่อสังวรต่อไป ดังนี้แล้ว จึงทรงรับโทษที่ล่วงเกินของชนเหล่านั้น ทรงทราบว่า พวกเหล่านั้นมีจิตเลื่อมใส จึงทรงแสดงธรรมตามความเหมาะสมแก่อัธยาศัยให้ยิ่งขึ้น. พวกเหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีจิตเลื่อมใส ตั้งอยู่ในคุณธรรม มีสรณะเป็นต้น ถวายบังคม

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 700

พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทำประทักษิณ พากันหลีกไป. ก็ก่อนแต่ที่พวกเหล่านั้นจะมา ท่านพระอานนท์เห็นปาฏิหาริย์นั้น ซึ่งเกิดอัศจรรย์จิตไม่เคยมี เอาบาตรตักน้ำดื่มน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลเรื่องนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เอวํ ภนฺเตติ โข อายสฺมา อานนฺโท ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุขโต โอวมิตฺวา ความว่า พาเอาหญ้าเป็นต้นทั้งหมดนั้นออกไปทางปากบ่อ.

บทว่า วิสฺสนฺทนฺโต มญฺเ ความว่า เมื่อก่อนคนต้องใช้เชือกยาวตักน้ำเอาจากบ่อน้ำ ในเวลาที่พระเถระรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเดินไป เป็นเหมือนไหลออกจากปากบ่อตั้งอยู่เสมอขอบบ่อ พอกาดื่มได้. ก็คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาการเกิดขึ้นแห่งน้ำในเวลาที่พระเถระเดินไป. ก็หลังจากนั้น ที่ลุ่มทั้งสิ้นในบ้านนั้นได้เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ โดยนัยดังกล่าวแล้วในกาลก่อน. ก็นี้เป็นความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะการอธิษฐานของพระพุทธเจ้า ทั้งไม่ใช่เพราะอานุภาพของเทวดาทั้งหลาย โดยที่แท้ เป็นเพราะบุญญานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนในคราวเสด็จจากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงไพสาลี เพื่อทรงแสดงพระปริต. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เพื่อให้ชาวถูณคามเกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เทวดาทั้งหลายผู้ใคร่ประโยชน์แก่คนเหล่านั้นกระทำ. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พญานาคผู้อยู่ภายใต้บ่อน้ำได้กระทำอย่างนั้น. ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เหตุอันสมควร เพราะท่านแสดงการเกิดขึ้นแห่งน้ำ โดยบุญญานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเท่านั้น.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยอาการทั้งปวงซึ่งอรรถนี้

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 701

กล่าวคือ ความสำเร็จที่ตนประสงค์โดยเว้นจากการอธิษฐานนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงเนื้อความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ กยิรา อุทปาเนน อาปา เจ ยทิ สพฺพทา สิยุํ ความว่า ก็หากว่าน้ำในที่ทุกแห่งพึงมี คือ พึงเกิดแก่บ่อน้ำใดตลอดกาลทั้งปวง คือ ถ้าบ่อน้ำพึงเนื่องด้วยเหตุเพียงความหวังคือบ่อน้ำนั้น ก็จะได้น้ำเหล่านั้น บุคคลพึงทำอะไร คือ ควรทำอะไรด้วยบ่อน้ำนั้น อธิบายว่า บ่อน้ำจะมีประโยชน์อะไร.

บทว่า ตณฺหาย มูลโต เฉตฺวา กิสฺส ปริเยสนญฺจเร ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ได้ทำบุญไว้ ถูกตัณหาใดรัดรึง ย่อมเดือดร้อน เพราะทุกข์ในการไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา พระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้เช่นเรา ตัดรากหรือที่โคนของตัณหานั้นดำรงอยู่ พึงเที่ยวแสวงหาน้ำหรือแสวงหาปัจจัยอื่นเพื่อเหตุอะไร คือ เพราะเหตุอะไร. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มูลโต เฉตฺตา ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ตัดรากหรือที่โคนของตัณหานั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มูลโต เฉตฺตา ความว่า ตัดตัณหาตั้งแต่ราก. ท่านอธิบายไว้ว่า พระองค์มิได้ทรงพระดำริถึงบุญสมภารทั้งสิ้นอันหาประมาณมิได้เพื่อพระองค์ จำเดิมแต่ตั้งความปรารถนาใหญ่อันเป็นมูลเหตุแห่งพระโพธิญาณ ทรงบำเพ็ญโดยน้อมไปเพื่อประโยชน์แก่สัตวโลกอย่างแท้จริง จึงทรงตัดตัณหาตั้งแต่ราก จะทรงเที่ยวแสวงหาน้ำเพื่ออะไร คือ เพราะเหตุไร เพราะผู้มีตัณหาเป็นตัวเหตุ ไม่มีการได้สิ่งที่ตนปรารถนา แต่ชาวถูณคามเหล่านี้เป็นผู้บอดเขลาไม่รู้เหตุนี้ จึงได้ทำอย่างนี้แล.

จบอรรถกถาอุทปานสูตรที่ ๙