ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๐ * *
~ เห็นคุณค่าอย่างยิ่ง จากการที่ไม่รู้ เป็นรู้ได้ จากคำที่มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอกาสของการฟังพระธรรมก็ไม่แน่ว่าจะนานเท่าไหร่ จะมากหรือจะน้อย แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ก็คือ ได้เข้าใจความจริง
~ ประโยชน์ของการฟังพระธรรมมีมากทีเดียว และในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกนั้น ก็ควรค่าแก่การฟัง ควรค่าแก่การศึกษา ควรค่าแก่การอ่าน การค้นค้า เพื่อให้ได้รับประโยชน์ให้เต็มที่ เพราะเหตุว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา ก็เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ฟังได้เข้าใจสภาพธรรมชัดเจนถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดแล้ว ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปได้
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้มีโอกาสได้ฟัง ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นทางที่จะทำให้ผู้นั้นถึงความเป็นผู้ปลอดภัยจริงๆ คือ สามารถดับกิเลส ได้
~ ธรรม ยาก เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตนที่จะไปทำให้ง่าย หรือว่าไม่มีความเป็นตัวตนที่อยากจะได้ผลเร็วๆ แต่เป็นผู้ที่ตรงที่จะต้องสะสมความเข้าใจ ความละเอียด ความลึกซึ้งของธรรมจนกว่าจะเป็นปัญญาของตัวเองที่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น
~ บางคนออกจากบ้านไปทำธุระ ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะออกจากบ้านหรืออยู่ในบ้านหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ไม่รู้ว่าขณะต่อไปจะเป็นอะไร แล้วจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกหรือไม่? เพราะฉะนั้น โอกาสที่ประเสริฐที่สุดในแต่ละชาติ คือ ความเข้าใจพระธรรม
~ วันนี้ทั้งวันตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ ใครเห็นอกุศลบ้าง มากมายแค่ไหน กลัวโควิด ก็เป็นอกุศลทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะเข้าใจความจริงที่จะทำให้ไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีเรา
~ ธรรม (สิ่งที่มีจริง) เป็นธรรม ธรรมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ไม่มีใครอยากเป็นคนเลวคนชั่ว แต่สะสมความเลวความชั่ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิด ก็คือ ความเลวความชั่ว ไม่ใช่ใคร
~ การสนทนาธรรมเป็นมงคล นำมาซึ่งความเจริญในความเข้าใจถูกต้อง ซึ่งสามารถที่จะทำให้ชีวิตเจริญในทางกุศลเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จมอยู่ในอกุศลลึกลงไปทุกวัน
~ ทำไมฟังธรรม ฟังทำไม? ถ้ามั่นคงก็ตอบได้เลย ฟังเพื่อเข้าใจ คำนี้สำคัญที่สุด ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลยทั้งสิ้น อยู่มาในโลกนานเท่าไหร่ตั้งแต่เกิด เข้าใจหรือเปล่า จนกว่าจะได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ ชื่อเสียงหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ฟังเพื่อเข้าใจ
~ เติมกุศลทุกวัน ก็คือ กุศลเกิดทุกวัน ถ้าไม่มีกุศลก็จะเติมอะไรในจิตก็ไม่ได้นอกจากอกุศล เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่าเติมกุศล ก็คือ มีกุศล ไม่ขาดกุศล แล้วก็เพิ่มขึ้นทุกโอกาสที่จะเป็นไปได้ ไม่ละเลย
~ เมื่อเขาไม่รู้ว่าเป็นโทษ ก็เพ่งโทษให้เห็นว่านี่เป็นโทษ คนที่ชี้โทษ หวังดีหรือเปล่า?
~ ถ้าเข้าใจแล้ว จะทำชั่วไหม? ทำไม่ได้เลยถ้ามีปัญญาแล้ว ปัญญาไม่นำไปสู่สิ่งที่ชั่วร้าย แต่ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่ดีงามเพิ่มขึ้น
~ ไม่ใช่เพียงชาตินี้ชาติเดียวที่จะต้องเป็นคนดี ยังจะต้องเป็นคนดีต่อไปอีก จนกว่าจะหมดกิเลส
~ ในขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเห็นอกุศลแล้วก็ยังเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ก็เป็นผู้ที่คิดถูก ทำถูก พูดถูก
~ รักตัวมากเพราะเข้าใจผิดว่ามีตัว ไม่มีทางที่จะเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้ายังคงทำทุกอย่างเพื่อตัว เพราะเหตุว่า กว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้แต่ละอย่างว่าไม่ใช่เรา ก็ต้องอีกนานมาก เพราะฉะนั้น รักตัว จนกระทั่งทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งแย่
~ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นเลย ทุกข์ทั้งหลายในชาตินี้ย่อมมีไม่ได้ หรือในชาติก่อนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าชาติก่อนๆ ไม่มีการเกิดเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ทุกข์ทั้งหลายในชาติก่อนๆ ก็มีไม่ได้ หรือในชาติต่อไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะไม่มีการเกิดอีกเลย ทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย
~ การที่ยังมีความยึดมั่นผูกพันในบุคคล ควรที่จะคลายเกลียวออก หรือหมุนเกลียวเข้าไปอีก? เพราะว่าในภพหนึ่งชาติหนึ่งทุกคนต้องมีความผูกพัน ความยึดมั่นในบุคคลต่างๆ โดยฐานะต่างๆ แต่ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ควรที่จะละคลายหรือควรที่จะยึดมั่นให้มากขึ้น? แม้แต่เรื่องของโทสะ ความโกรธ ก็เช่นเดียวกัน
~ เวลาที่โกรธ บางคนก็หมดไปโดยง่าย แต่ว่าบางคนก็ยังผูกโกรธ คือความโกรธนั้น รัดรึงใจไว้บ่อยๆ เดี๋ยวนึกขึ้นมา ก็โกรธอีกแล้ว เดี๋ยวก็โกรธ ทำไมเรื่องนั้นนิดเดียว แต่โกรธต่อไปอีกได้ตั้งนาน นั่นเป็นความผูกโกรธ
~ เมื่อมีโลภะ สะสมโลภะมากขึ้น ก็มีการแสวงหามีการขวนขวายกระทำทุกอย่างเพื่อตนเอง เมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการก็จะเกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ และสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมทุกอย่างได้
~ ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่ปัญญาเกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถือเอาสิ่งที่ควรถือ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ว่ามีความประพฤติเหมือนดังเข้าไปในเรือนที่มืดตื้อ ทำอะไรก็ไม่ถูก และทำสิ่งที่ผิดๆ ด้วย ไม่มีปัญญาที่จะส่องให้เห็นว่า สิ่งนั้นไม่ควรกระทำ แต่ว่าทำไปแล้วด้วยอวิชชา (ความไม่รู้)
~ ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งความเห็นผิดให้หมดสิ้น และยังไม่อบรมเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นก็จะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ โดยที่ว่าไม่มีกาลกำหนดได้ว่าเมื่อใดจึงจะพ้น เพราะว่ายังมีความเห็นผิดอยู่
~ กิเลสมีมาก ไม่ใช่เพียงแค่ในชาตินี้ ชาติที่ผ่านๆ มาสะสมมามากเท่าไหร่แล้ว และยังจะมากต่อไปอีก ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว
~ บุคคลใดก็ตามที่ได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้ว เมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมให้ผล ใครก็ช่วยไม่ได้ มารดาบิดาก็ช่วยไม่ได้ ญาติพี่น้องมิตรสหายก็ช่วยไม่ได้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็จะทำให้เรามีแต่การที่จะคิดเป็นมิตรและก็ช่วยเหลือคนอื่น
~ ธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นต้องเป็นกุศล แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะเหตุว่า เมื่อสะสมอกุศลมามาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดมากกว่ากุศลธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าธรรมใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็จะเข้าใจในคุณของธรรมนั้น กล่าวคือคุณของกุศลธรรม ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้ได้เจริญกุศลในชีวิตประจำวัน
~ ที่ใช้คำว่า ธรรม ก็แสดงอยู่แล้วว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม เพราะฉะนั้น เพียงคำที่ได้ยินคำเดียวว่า ธรรม ก็จะต้องเข้าถึงความหมายของธรรม คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
~ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม จะไม่รีรอการทำกุศลทุกประการทุกขณะด้วย ทำให้เราเจริญทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น
~ ปกติแล้ว ปุถุชนมักจะเป็นผู้ที่ตกจากกุศล ใช้คำว่า ตกจากกุศล บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่พร้อมด้วยกุศลที่จะเกิด สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน จะเห็นว่าวันหนึ่งๆ ตกไปในทางโลภะ อยากจะได้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) บ้าง ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ปุถุชนจะตกจากกุศลบ่อยเหลือเกิน
~ ว่าง่าย คือ รู้ว่าธรรมยาก ละเอียด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา หนทางเดียวจริงๆ ก็คือว่า ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ และเมื่อฟังแล้วก็ไม่ได้หวังอะไร เพราะหวังเมื่อไหร่ก็ผิดอีก มีความเป็นตัวตนมากมาย ไม่หมดหวังเลย แต่ปัญญาสามารถจะเข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงแต่ละหนึ่งแม้เดี๋ยวนี้ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ว่าง่ายคือรู้ว่าธรรมยาก ว่าง่ายคือไม่คิดเอง แต่ว่าฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจขึ้น
* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
เห็นคุณค่าอย่างยิ่ง จากการที่ไม่รู้ เป็นรู้ได้ จากคำที่มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอกาสของการฟังพระธรรมก็ไม่แน่ว่าจะนานเท่าไหร่ จะมากหรือจะน้อย แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ก็คือ ได้เข้าใจความจริง น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ