๖. ปาฏลิคามิยสูตร ว่าด้วยโทษของศีลวิบัติและอานิสงส์ของศีลสมบัติ
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 749
๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ว่าด้วยโทษของศีลวิบัติและอานิสงส์ของศีลสมบัติ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 749
๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ว่าด้วยโทษของศีลวิบัติและอานิสงส์ของศีลสมบัติ
[๑๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงปาฏลิคาม อุบาสก (และอุบาสิกา) ชาวปาฏลิคามได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปถึงปาฏลิคามแล้ว ลำดับนั้นแล อุบาสกชาวปาฏลิคามพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเรือน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 750
สำหรับพักของข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยดุษณีภาพ ลำดับนั้นแล อุบาสกชาวปาฏลิคามทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก ครั้นแล้วลาดเครื่องลาดทั้งปวง ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรือนสำหรับพัก ข้าพระองค์ทั้งหลายปูลาดแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันแล้ว บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำคัญกาลอันควรเถิด ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เสด็จถึงเรือนสำหรับพัก พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วทรงล้างพระบาท เสด็จเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา แม้ภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้ว เข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหลัง ผินหน้าไปทางทิศบูรพา แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ แม้อุบาสกชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้า แล้วเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหน้าผินหน้าไปทางทิศประจิม แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่.
[๑๗๐] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะอุบาสกชาวปาฏลิคามว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคะใหญ่เพราะความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลประการที่ ๑.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 751
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันลามกของบุคคลผู้ทุศีลมีศีลวิบัติขจรไปแล้ว นี้เป็นโทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลประการที่ ๒.
อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ เข้าไปหาบริษัทใด คือ ขัตติยบริษัทก็ดี พราหมณบริษัทก็ดี คหบดีบริษัทก็ดี สมณบริษัทก็ดี ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไปหา นี้เป็นโทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล ประการที่ ๓.
อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงใหลกระทำกาละ นี้เป็นโทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลประการที่ ๔.
อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลประการที่ ๕.
ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล ๕ ประการนี้แล.
ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลผู้มีศีลผู้ถึงพร้อมด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมได้กองแห่งโภคะใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลประการที่ ๑.
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมขจรไป นี้เป็นอานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลประการ ที่ ๒.
อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เข้าไปหาบริษัทใด คือ ขัตติยบริษัทก็ดี พราหมณบริษัทก็ดี คหบดีบริษัทก็ดี สมณบริษัทก็ดี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 752
ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไปหาบริษัทนั้น นี้เป็นอานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลประการที่ ๓.
อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงใหลกระทำกาละ นี้เป็นอานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลประการที่ ๔.
อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลประการที่ ๕.
ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล ๕ ประการนี้แล.
[๑๗๑] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้อุบาสกชาวปาฏลิคามให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย ราตรีล่วงไปแล้ว ท่านทั้งหลายจงสำคัญเวลาอันสมควร ณ บัดนี้เถิด ลำดับนั้น อุบาสกชาวปาฏลิคามทั้งหลายชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ลำดับนั้น เมื่ออุบาสกชาวปาฏลิคามหลีกไปแล้ว ไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังสุญญาคาร.
[๑๗๒] ก็สมัยนั้นแล มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันเจ้าวัชชีทั้งหลาย ก็สมัยนั้นแล เทวดาเป็นอันมากแบ่งพวกละพัน ย่อมรักษาพื้นที่ในปาฏลิคาม เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่รักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 753
เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ปานกลาง ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นเป็นจำนวนพันๆ รักษาพื้นที่อยู่ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ คือ เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่... เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น ครั้งนั้น เมื่อปัจจุสสมัยแห่งราตรีนั้นตั้งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ใครหนอจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันเจ้าวัชชีทั้งหลาย พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนอานนท์ มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันเจ้าวัชชีทั้งหลาย ประหนึ่งว่าปรึกษากับเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้วสร้างเมืองฉะนั้น ดูก่อนอานนท์ เราได้เห็นเทวดาเป็นจำนวนมากแบ่งเป็นพวกละพันรักษาพื้นที่อยู่ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ณ ตำบลนี้ คือเทวดา ผู้มีศักดิ์ใหญ่... เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น ดูก่อนอานนท์ เมืองนี้จักเป็นเมืองเลิศแห่งประชุมของเหล่ามนุษย์เป็นอริยะ และเป็นทางค้าขาย เป็นที่แก้ห่อสินค้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 754
อันตราย ๓ อย่างจักมีแก่เมืองปาฏลิคาม คือ จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ จากความแตกแห่งกันและกัน ๑.
[๑๗๓] ครั้งนั้นแล มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตของข้าพระองค์ทั้งหลาย เพื่อเสวยในวันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว เข้าไปยังที่พักของตน ครั้นแล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอันประณีตในที่พักของตน แล้วกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูลาดถวาย ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ให้อิ่มหนำสำราญด้วยมือของตน ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธ ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 755
กะมหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
บุรุษชาติบัณฑิต ย่อมสำเร็จการอยู่ในประเทศใด พึงเชิญท่านผู้มีศีลสำรวมแล้วประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศนั้น ควรอุทิศทักษิณาทานเพื่อเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้นๆ เทวดาเหล่านั้นอันบุรุษชาติบัณฑิตนับถือบูชาแล้ว ย่อมนับถือบูชาบุรุษชาติบัณฑิตนั้น แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์บุรุษชาติบัณฑิตนั้นประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร บุคคลผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ.
[๑๗๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงอนุโมทนาแก่มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ก็สมัยนั้นแล มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะในแว่นแคว้นมคธ ติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างหลังๆ ด้วยตั้งใจว่า วันนี้ พระสมณโคดมจักเสด็จออกโดยประตูใด ประตูนั้นจักชื่อว่าโคดมประตู จักเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาโดยเท่าใด ท่านั้นจักชื่อว่าโคตมติฏฐะ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกประตูใด ประตูนั้นชื่อว่าโคดมประตู พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังแม่น้ำคงคา ก็สมัยนั้นแล แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำเต็มเปี่ยมพอกาดื่มกินได้ มนุษย์บางจำพวกแสวงหาเรือ บางพวกแสวงหาพ่วง บางพวกผูกแพ ต้องการจะข้ามไปฝั่งโน้น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏอยู่ที่ฝั่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 756
โน้น พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นมนุษย์เหล่านั้น บางพวกแสวงหาเรือ บางพวกแสวงหาพ่วง บางพวกผูกแพ ต้องการจะข้ามไปฝั่งโน้น.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรง เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ชนเหล่าใดจะข้ามห้วงน้ำคือสงสาร และสระคือตัณหา ชนเหล่านั้นกระทำสะพานคืออริยมรรค ไม่แตะต้องเปือกตมคือกามทั้งหลาย จึงข้ามสถานที่ลุ่ม อันเต็มด้วยน้ำได้ ก็ชนแม้ต้องการจะข้ามน้ำมีประมาณน้อย ก็ต้องผูกแพ ส่วนพระพุทธเจ้า และ พุทธสาวกทั้งหลายเป็นผู้มีปัญญา เว้นจากแพก็ข้าม ได้.
จบปาฏลิคามิยสูตรที่ ๖
อรรถกถาปาฏลิคามิยสูตร
ปาฏลิคามิยสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า มคเธสุ แปลว่า ในแคว้นมคธ.
บทว่า มหตา ความว่า แม้ในที่นี้ ได้แก่ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เพราะใหญ่โดยคุณบ้าง ใหญ่โดยจำนวนโดยการกำหนดนับไม่ได้บ้าง.
บทว่า ปาฏลิคาโม ได้แก่ บ้านตำบลหนึ่งในแคว้นมคธอันมีชื่ออย่างนี้. ข่าวว่า ในวันสร้างบ้านนั้น หน่อแคฝอย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 757
๒ หน่อ ในที่จับจองสร้างบ้าน ได้แทรกออกมาจากแผ่นดิน. ด้วยเหตุนั้น บ้านนั้นชนทั้งหลายจึงพากันกล่าวว่า ปาฏลิคาม.
บทว่า ตทวสริ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไป คือ ได้เสด็จไปถึงปาฏลิคามนั้น.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จไปถึงปาฏลิคามในกาลไร. พระองค์ทรงให้สร้างเจดีย์เพื่อพระธรรมเสนาบดีในกรุงสาวัตถี โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง เสด็จออกจากกรุงสาวัตถีนั้นประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ จึงให้สร้างเจดีย์เพื่อพระมหาโมคคัลลานะในกรุงราชคฤห์นั้น เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์นั้นแล้ว ประทับอยู่ที่อัมพลัฏฐิวัน แล้วเสด็จจาริกไปในชนบท โดยการจาริกไม่รีบด่วน จึงประทับแรมราตรีหนึ่งในที่นั้นๆ เพื่อทรงอนุเคราะห์สัตวโลก จึงได้เสด็จถึงปาฏลิคามโดยลำดับ.
บทว่า ปาฏลิคามิยา ไค้แก่ อุบาสกชาวปาฏลิคาม. ได้ยินว่า อุบาสกเหล่านั้นบางพวกตั้งอยู่ในสรณะ บางพวกตั้งอยู่ในศีล บางพวกตั้งอยู่ทั้งในสรณะ ตั้งอยู่ทั้งในศีล ด้วยการเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งแรก. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุบาสกทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในปาฏลิคาม พวกคนของพระเจ้าอชาตศัตรู และของพระเจ้าลิจฉวีทั้งหลายพากันไปตามกาลอันสมควร ไล่เจ้าของบ้านให้ออกจากบ้าน แล้วอยู่เดือนหนึ่งบ้าง กึ่งเดือนบ้าง. ด้วยเหตุนั้น พวกคนชาวปาฏลิคามถูกรุกรานเป็นประจำ จึงคิดว่า ก็ในเวลาที่พวกคนเหล่านี้มา จักได้มีที่อยู่ ดังนี้แล้ว จึงได้พากันสร้างศาลาหลังใหญ่กลางเมือง อันเพียงพอแก่การอยู่ของคนทั้งหมด โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน คือให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 758
มีที่เก็บของของอิสรชนในส่วนหนึ่ง ให้เป็นที่อยู่ส่วนหนึ่ง ให้เป็นที่อยู่ของคนเดินทางผู้เป็นอาคันตุกะไว้ส่วนหนึ่ง ให้เป็นที่อยู่ของคนกำพร้าเข็ญใจไว้ส่วนหนึ่ง เป็นที่อยู่ของคนไข้ไว้ส่วนหนึ่ง ดังนี้. ศาลาหลังนั้น ได้มีชื่อว่า อาวสถาคาร (ที่พักแรม) แล. ก็ในวันนั้น การสร้างศาลาหลังนั้น ก็ได้สำเร็จลง. ก็ชาวปาฏลิคามเหล่านั้น พากันไปในที่นั้น ตรวจดูศาลานั้นตั้งแต่ซุ้มประตู ซึ่งสำเร็จเรียบร้อย จัดแจงไว้ด้วยดี ด้วยงานไม้ งานปูน และงานจิตรกรรม เป็นต้น เหมือนเทพวิมาน แล้วพากันคิดว่า อาวสถาคารนี้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ เป็นมิ่งขวัญยิ่งนัก ใครหนอจักได้ใช้สอยก่อน จักพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเราตลอดกาลนาน. ก็ในขณะนั้นนั่นเอง พวกเขาได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงบ้านนั้น. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงเกิดปีติโสมนัส ทำการตกลงกันว่า พวกเราควรจะนำพระผู้มีพระภาคเจ้ามาบ้าง ด้วยว่าพระองค์เสด็จถึงที่อยู่ของพวกเราด้วยพระองค์เองแล้ว วันนี้พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่นี้ แล้วจักให้พระศาสดาทรงเสวยก่อน ภิกษุสงฆ์ก็เหมือนกัน เมื่อภิกษุสงฆ์มาถึง พระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกก็จักมาถึงเหมือนกัน เราจักให้พระศาสดาตรัสมงคล แสดงธรรม ดังนั้น เมื่อรัตนะ ๓ ใช้สอยแล้ว ภายหลังพวกเรา และคนเหล่าอื่นก็จักใช้สอย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเราตลอดกาลนาน ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประโยชน์นั้นนั่นแล. เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับอาวสถาคารของข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 759
บทว่า เยน อาวสถาคารํ เตนุปสงฺกมึสุ ความว่า อาวสถาคารนั้น เขาจัดแจงปฏิบัติด้วยดี เหมือนเทพวิมาน เพราะสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีในวันนั้นนั่นเองก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่ได้ตบแต่งให้ควรแก่พระพุทธเจ้า พวกชาวปาฏลิคามเหล่านั้นพากันคิดว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีอัธยาศัยอยู่ป่า มีป่าเป็นที่มายินดี พึงอยู่ภายในบ้านก็ตาม ไม่อยู่ก็ตาม ฉะนั้น พวกเราพอรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพอพระหฤทัย จึงจักตบแต่ง ดังนี้แล้ว จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้ ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพอพระหฤทัย จึงมีความประสงค์จะตบแต่ง เช่นนั้นจึงเข้าไปถึงอาวสถาคาร.
บทว่า สพฺพสนฺถรึ อาวสถาคารํ สนฺถริตฺวา ความว่า ชาวปาฏลิคามเหล่านั้นลาดอาวสถาคารนั้นอย่างที่ลาดแล้วทั้งหมดนั่นแล ก่อนอื่นทั้งหมด จึงเอาโคมัยสดฉาบทาพื้น แม้ที่ฉาบไว้ด้วยปูนขาว ด้วยคิดว่า ธรรมดาว่าโคมัยย่อมใช้ได้ในงานมงคลทั้งหมด รู้ว่าแห้งแล้ว จึงไล้ทาด้วยของหอมมีชาติ ๔ โดยไม่ปรากฏรอยเท้าในที่ที่เหยียบ ลาดเสื่อลำแพนที่มีสีต่างๆ ไว้ข้างบน แล้วลาดผ้าขนสัตว์ผืนใหญ่เป็นต้นไว้ข้างบนเสื่อลำแพนเหล่านั้น แล้วลาดที่ว่างทั้งหมดอันควรจะพึงลาดด้วยเครื่องลาดมีสีต่างๆ มีหัตถัตถรณะเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ลาดอาวสถาคาร ลาดทั้งหมดเป็นต้น.
จริงอยู่ ในท่ามกลางอาสนะทั้งหลาย พวกเขาตบแต่งพุทธอาสน์มีค่ามาก พิงเสามงคลเป็นอันดับแรก แล้วลาดเครื่องลาดที่อ่อนนุ่มน่ารื่นรมย์ใจไว้บนพุทธอาสน์นั้น แล้วจัดแจงเขนยที่มีสีแดงทั้งสองข้าง เห็นเข้าน่าฟูใจ แล้วผูกเพดานอันวิจิตรด้วยดาวทองดาวเงินไว้ข้างบน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 760
ประดับด้วยพวงของหอม พวงดอกไม้ เเละพวงใบไม้เป็นต้น ให้กั้นข่ายดอกไม้ในที่ ๑๒ ศอกโดยรอบ แล้วให้เอาม่านผ้าล้อมที่ประมาณ ๓๐ ศอก ให้ลาดแคร่พนักอิงเตียงและตั่งเป็นต้น เพื่อภิกษุสงฆ์อิงฝาด้านหลัง ให้ลาดเครื่องลาดขาวไว้ข้างบน ให้สร้างข้างศาลาด้านทิศตะวันออกอันเหมาะกับที่นั่งของตน. อย่างที่ท่านหมายกล่าวไว้ว่า ให้ปูอาสนะ เป็นต้น.
บทว่า อุทกมณิกํ ได้แก่ หม้อน้ำ อันแล้วด้วยทอง และมณีมีค่ามาก คือ ตุ่มน้ำ. พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ จักล้างมือและเท้า บ้วนปากตามความชอบใจ ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงบรรจุน้ำที่มีสีดังแก้วมณีให้เต็มในที่นั้นๆ แล้วใส่ดอกไม้นานาชนิด และจุณสำหรับอบน้ำ เพื่อประโยชน์แก่การอบ แล้วก็ให้เอาใบกล้วยวางปิดไว้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ให้ตั้งหม้อน้ำไว้.
บทว่า เตลปฺปทีปํ อาโรเปตฺวา ความว่า ให้ตามประทีปน้ำมันที่ตะคันอันสำเร็จด้วยทองและเงินเป็นต้น วางไว้ในมือของรูปทหาร และรูปที่สลักอันงดงามเป็นต้น ที่ไฟชนวนอันมีด้ามสำเร็จด้วยทองและเงินเป็นต้น. ก็ในคำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมึสุ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ อุบาสกชาวปาฏลิคามเหล่านั้น มิใช่จัดแจงแต่อาวสถาคารอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้ ยังให้จัดแจงถนนในบ้านแม้ทั้งสิ้น แล้วให้ยกธงชัยขึ้น วางหม้อน้ำอันเต็มและต้นกล้วยไว้ที่ประตูบ้าน ให้บ้านทั้งหมดเหมือนดารดาษไปด้วยหมู่ดาว ด้วยระเบียบประทีป ให้ตีกลองร้องประกาศว่า ให้เด็กที่ยังไม่ทิ้งนมให้ดื่มน้ำนม ให้เด็กรุ่นๆ รีบกินเสียแล้วไปนอน อย่าส่งเสียงเอ็ดอึง วันนี้ พระศาสดาจักประทับอยู่ภายในบ้านราตรีหนึ่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 761
ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงมีพระประสงค์เสียงที่เบา ดังนี้แล้ว ถือไฟชนวนเอง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
บทว่า อถโข ภควา (ปุพฺพณฺหสมยํ) นิวาเสตฺวา ปตฺตจีวรมาทาย สทฺธึ ภิกฺขุสงฺเฆน เยน อาวสถาคารํ เตนุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพวกชาวปาฏลิคามเหล่านั้น กราบทูลกาลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า สำคัญเวลาอันสมควร ณ บัดนี้เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจัดแจงผ้าที่ย้อมแล้ว ๒ ชั้น มีสีดังดอกทองหลางแดงอันชุ่มด้วยน้ำครั่ง นุ่งปกปิดมณฑล ๓ เหมือนเอากรรไกรตัดดอกปทุม ทรงคาดประคดเอวอันงดงามดุจสายฟ้า เหมือนเอาสังวาลทองคำล้อมกำดอกปทุม ทรงห่มผ้าบังสุกุลจีวรอันบวรที่ย้อมดีแล้ว มีสีเสมอด้วยต้นไทร พระองค์ทรงถือเอา ทำภูเขาจักรวาลสิเนรุ ยุคันธร และมหาปฐพีทั้งสิ้นให้หวั่นไหว เหมือนเอาผ้ากัมพลแดงห่อหุ้มตะพองช้าง เหมือนซัดตาข่ายแก้วประพาฬที่ลิ่มทองคำ สูงประมาณ ๑๐๐ ศอก เหมือนสวมเสื้อกัมพลแดงที่สุวรรณเจดีย์ใหญ่ เหมือนเมฆแดงปกปิดพระจันทร์ในวันเพ็ญซึ่งกำลังโคจร เหมือนลาดน้ำครั่งที่สุกดีบนยอดภูเขาทอง และเหมือนเอาตาข่ายสายฟ้าแวดวงยอดเขาจิตกูฏ เสด็จออกจากมณฑปทองคำที่พระองค์ประทับนั่ง เหมือนพระจันทร์เพ็ญ และเหมือนพระสุริโยทัยทอแสงอ่อนๆ จากยอดเขาโดยรอบ เหมือนไกรสรราชสีห์ออกจากพงป่า.
ลำดับนั้นแล รัศมีซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์เหมือนกลุ่มสายฟ้าแลบออกจากหน้าเมฆแล้วจับรอบต้นไม้ เหมือนสายน้ำทองคำจับที่ใบ ดอก ผล กิ่ง และค่าคบ ซึ่งเหลืองไปด้วยการราดรด. ในขณะนั้นนั่นเอง ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ถือบาตรและจีวรของตนๆ พากัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 762
แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็ภิกษุเหล่านั้น ผู้ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ได้เป็นผู้เช่นนั้น คือ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ผู้ปรารภความเพียร ผู้กล่าวสอน ผู้อดทนต่อถ้อยคำ ผู้กล่าวตักเตือน ผู้มักตำหนิความชั่ว สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และสมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ไพโรจน์เหมือนแท่งทองคำที่แวดวงด้วยผ้ากัมพลแดง เหมือนพระจันทร์เพ็ญแวดล้อมไปด้วยหมู่ดาว เหมือนนาวาทองคำอยู่ในป่าดอกปทุมแดง และเหมือนปราสาททองคำที่แวดล้อมไปด้วยไพทีแก้วประพาฬ.
ฝ่ายพระมหาเถระ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ผู้มีราคะอันคายแล้ว ผู้ทำลายกิเลสแล้ว สางกิเลสดุจรกชัฏ ตัดกิเลสเครื่องผูกได้แล้ว ไม่ข้องอยู่ในตระกูลหรือคณะ ห่มบังสุกุลจีวรมีสีดังสีเมฆ พากันแวดล้อม เหมือนพญาช้างหุ้มเกราะแก้วมณีฉะนั้น. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เองเป็นผู้ปราศจากราคะ อันผู้ปราศจากราคะแวดล้อม เป็นผู้ปราศจากโทสะ อันผู้ปราศจากโทสะแวดล้อม เป็นผู้ปราศจากโมหะ อันผู้ปราศจากโมหะแวดล้อม เป็นผู้ปราศจากตัณหา อันผู้ปราศจากตัณหาแวดล้อม เป็นผู้ปราศจากกิเลส อันผู้ปราศจากกิเลสแวดล้อม พระองค์เองเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว อันผู้ตรัสรู้ตามแวดล้อม เหมือนเกสรแวดล้อมด้วยกลับ เหมือนช่อดอกไม้แวดล้อมด้วยเกสร เหมือนพญาช้างฉัททันต์ แวดล้อมด้วยช้าง ๘,๐๐๐ ตัวเชือก เหมือนพญาหงส์ธตรฐแวดล้อมด้วยหงส์ ๙๐,๐๐๐ ตัว เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิแวดล้อมด้วยองค์แห่งเสนา เหมือนท้าวสักกเทวราชแวดล้อมด้วยเทวดา เหมือนหาริตมหาพรหม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 763
แวดล้อมด้วยหมู่พรหม เหมือนพระจันทร์เพ็ญแวดล้อมด้วยหมู่ดาว ทรงดำเนินไปตามทางอันเป็นที่ไปยังปาฏลิคาม ด้วยเพศแห่งพระพุทธเจ้าอันหาผู้เปรียบมิได้ ด้วยพุทธวิลาสอันหาประมาณมิได้.
ลำดับนั้น พระพุทธรัศมีทึบ มีวรรณะเพียงดังทองคำ พุ่งออกจากพระวรกายเบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้จรดที่ประมาณ ๘๐ ศอก อนึ่ง พระพุทธมีรัศมีทึบ มีวรรณะเพียงดังทองคำ พุ่งออกจากพระวรกายเบื้องหลัง จากพระปรัศว์เบื้องขวา จากพระปรัศว์เบื้องซ้าย จรดที่ประมาณ ๘๐ ศอก. พระพุทธรัศมีทึบสีคราม เหมือนสีที่ส่องออกจากคอนกยูง พุ่งออกจากมวยผมทั้งหมด ตั้งแต่ที่สุดปลายผมข้างบนจรดที่ประมาณ ๘๐ ศอก บนท้องฟ้า. รัศมีมีวรรณะดังแก้วประพาฬ พุ่งออกจากพระยุคลบาทเบื้องต่ำ จรดที่ประมาณ ๘๐ ศอก ในแผ่นดินทึบ. พระพุทธรัศมีทึบสีขาว พุ่งออกจากพระทนต์ จากที่ดวงตาขาว จากที่เล็บที่พ้นจากหนังและเนื้อ จรดที่ประมาณ ๘๐ ศอก. พระรัศมีมีสีหงสบาท พุ่งออกจากที่สีแดงและสีเหลืองคละกัน จรดที่ประมาณ ๘๐ ศอก. พระรัศมีเลื่อมปภัสสร พุ่งขึ้นมีประโยชน์ดีกว่าเขาหมดแล. พระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ ทำสถานที่ประมาณ ๘๐ ศอก โดนรอบอย่างนี้ให้โชติช่วง แผ่ฉวัดเฉวียงไป แล่นไปสู่ทิศน้อย ใหญ่ เหมือนเปลวประทีปดวงใหญ่แลบออกจากไฟชนวนทองค่ำ แล่นขึ้นสู่กลางหาว และเหมือนสายฟ้าที่แลบออกจากมหาเมฆในทวีปทั้ง ๔. อันเป็นเหตุให้ส่วนทิศทั้งหมดรุ่งโรจน์โชติช่วง เหมือนโปรยปรายด้วยดอกจำปาทองคำ เหมือนเอาสายน้ำทองคำเทออกจากหม้อทองคำ เหมือนแวดวงด้วยแผ่นทองคำที่แผ่ออกไป เหมือนเกลื่อนกล่นฟุ้งด้วยจุณ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 764
แห่งดอกทองกวาว ดอกกรรณิกา และดอกทองหลาง ที่ฟุ้งขึ้นด้วยลมหัวด้วน และเหมือนย้อมด้วยผงชาด. จริงอยู่ พระโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันรุ่งเรืองแวดล้อมด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ และพระรัศมีด้านละวา ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันปราศจากเครื่องหม่นหมอง มีไฝฝ้า และขี้แมลงวัน เป็นต้น รุ่งโรจน์โชติช่วง เหมือนท้องฟ้าสว่างด้วยหมู่ดาวที่สุกปลั่ง เหมือนป่าปทุมที่แย้มบานเต็มที่ เหมือนต้นปาริฉัตตกะ (ต้นแคฝอย) สูง ๑๐๐ โยชน์ ผลิบานเต็มที่ เหมือนครอบงำสิริกับสิริของพระจันทร์ ๓๒ ดวง ของพระอาทิตย์ ๓๒ ดวง ของพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๒ ของพระเทวราช ๓๒ ของมหาพรหม ๓๒ ตั้งเรียงกันตามลำดับ ที่ประดับด้วยความเป็นผู้มีพระบารมี ๓๐ ถ้วน ที่ทรงบำเพ็ญมาโดยชอบ คือ พระบารมี ๑๐ พระอุปบารมี ๑๐ และพระปรมัตถบารมี ๑๐ เกิดขึ้นด้วยการบำเพ็ญทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการบำเพ็ญกัลยาณธรรมสิ้น ๔ อสงไขย กำไรแสนกัลป์ รวมลงในอัตภาพหนึ่ง เมื่อไม่ได้โอกาสที่จะให้ผล เป็นเหมือนถึงความคับแคบ เป็นเหมือนเวลายกสิ่งของในเรือ ๑,๐๐๐ ลำ บรรทุกลงเรือลำเดียว เหมือนเวลายกสิ่งของในเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม บรรทุกลงเกวียนเล่มเดียว และเป็นเหมือนเวลาที่แม่น้ำคงคา ๒๕ สาย แยกออกจากกัน แล้วรวมเป็นสายเดียวกันที่ปากน้ำ.
ไฟชนวนหลายพันดวงโผล่ขึ้นเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ผู้สว่างไสวอยู่ด้วยพุทธรังสีนี้ ทั้งเบื้องพระปฤษฎางค์ พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์เบื้องขวาก็เหมือนกัน. ดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกมะลิซ้อน อุบลแดง อุบลเขียว ดอกพิกุล และดอกไม้ย่างทราย เป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 765
และจุรณะเครื่องหอมมีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้นเรียงราย ดุจเมล็ดฝนที่ปราศจากมหาเมฆทั้ง ๔ ทิศ. เสียงกึกก้องแห่งดนตรีมีองค์ ๕ และเสียงกึกก้องสดุดีที่เกี่ยวด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ได้เป็นเสมือนมีปากพูดเต็มไปทั่วทุกทิศ. ดวงตาของเทพ สุบรรณ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ และมนุษย์ ได้เป็นเสมือนได้ดื่มน้ำอมฤต. ก็ในที่นี้ ควรจะกล่าวสรรเสริญการเสด็จไปโดยเป็นพันๆ บท. แต่ในที่นี้ มีเพียงมุขปาฐะดังต่อไปนี้
พระผู้นำโลกไปให้วิเศษ ผู้สมบูรณ์ด้วยสรรพางค์กายอย่างนี้ ผู้ทำแผ่นดินให้หวั่นไหว ผู้ไม่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ เสด็จดำเนินไปอยู่. พระผู้องอาจในหมู่ชน ทรงยกพระบาทขวาขึ้นก่อน ผู้เพียบพร้อมพื้นพระบาทเบื้องล่างของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้พื้นพระบาทเบื้องล่างของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้เสด็จดำเนินไป อ่อนนุ่มลูกพื้นดินอันสม่ำเสมอนี้ แปดเปื้อนด้วยธุลี. เมื่อพระโลกนายเสด็จดำเนินไป สถานที่ลุ่มย่อมนูนขึ้น สถานที่นูนขึ้นก็สม่ำเสมอ ทั้งที่แผ่นดินไม่มีจิตใจ. เมื่อพระผู้นำโลกเสด็จดำเนินไป มรรคาทั้งหมดปราศจากหิน ก้อนกรวด กระเบื้องถ้วย หลักตอและหนาม. ไม่ยกพระบาทในที่ไกลเกินไป ไม่ซอยพระบาทในที่ใกล้เกินไป ไม่หนีบพระชาณุและข้อพระบาททั้ง ๒ เบียดเสียดกัน เสด็จดำเนินไป. พระมุนีผู้มีการดำเนินเพียบพร้อม มีพระทัยตั้งมั่น เมื่อเสด็จไปก็ไม่เสด็จเร็วเกินไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 766
ทั้งไม่เสด็จช้าเกินไป. พระองค์เสด็จไป ไม่ได้ทอดพระเนตรดูเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ทิศน้อย ทิศใหญ่ก็เหมือนกัน ทรงทอดพระเนตรเพียงชั่วแอก. พระชินเจ้าพระองค์นั้น เสด็จเยื้องกรายดุจพญาช้าง ย่อมงดงามในการเสด็จดำเนินไป พระองค์เป็นผู้เลิศของโลก เสด็จดำเนินไปงดงาม ทำโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง. พระองค์งดงามดุจพญาอุสภะ ดุจไกรสรราชสีห์ มีการเดินอย่างงดงาม ทรงยังเหล่าสัตว์เป็นอันมากให้ยินดี เสด็จเข้าถึงบ้านอันประเสริฐ.
นี้ชื่อว่าเป็นเวลาสรรเสริญ กำลังของพระธรรมกถึกเท่านั้น เป็นประมาณในการสรรเสริญพระโฉม และสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในกาลทั้งหลายเช่นอย่างนี้. ด้วยจุรณียบทที่ผูกเป็นคาถา ควรจะกล่าวเท่าที่สามารถ ไม่ควรจะกล่าวว่า กล่าวได้ยาก หรือว่าแล่นไปผิดท่า. จริงอยู่ ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ย่อมไม่สามารถกล่าวคุณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ามีพระคุณหาปริมาณมิได้โดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อสรรเสริญพระคุณอยู่ตลอดกัป ก็ไม่สามารถจะให้พระคุณสิ้นสุดลงได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงหมู่สัตว์นอกนี้เล่า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตบแต่งประดับด้วยพระสิริวิลาสนี้ เสด็จเข้าไปยังปาฏลิคาม อันชนผู้มีจิตเลื่อมใสบูชาด้วยสักการะ มีดอกไม้ ของหอม ธูป และจุณสำหรับอบเป็นต้น เสด็จเข้าไปยังอาวสถาคาร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองผ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 767
ถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังอาวสถาคารดังนี้.
บทว่า ปาเท ปกฺขาเลตฺวา ความว่า แม้ถ้าเปือกตม คือ ธุลี ไม่เปื้อนพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จริง ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหวังความเจริญยิ่งแห่งกุศลของอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านั้น จึงทรงให้ล้างพระบาท เพื่อให้ชนเหล่าอื่นถือเอาเป็นตัวอย่าง. อีกอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าพระสรีระอันมีใจครอง ก็ต้องทำให้เย็น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงกระทำการสรงสนาน และทรงล้างพระบาทเป็นต้น แม้เพื่อประโยชน์นี้ทีเดียว.
บทว่า ภควนฺตญฺเว ปุรกฺขตฺวา ได้แก่ กระทำพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้เบื้องหน้า. ในข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งในท่ามกลางของภิกษุทั้งหลาย และของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ทรงให้สรงสนานด้วยน้ำหอมแล้ว ทำให้น้ำแห้งไปด้วยเสวียนผ้าแล้ว ทำให้แห้งด้วยชาดหิงดุ ย่อมไพโรจน์ยิ่งนัก เหมือนรูปเปรียบที่ทำด้วยแท่งทองสีแดง ซึ่งประดิษฐานไว้บนตั่ง อันแวดวงด้วยผ้ากัมพลแดง.
ก็ในข้อนี้ เป็นบทประพันธ์ที่ท่านโบราณบัณฑิตประพันธ์ไว้ดังต่อไปนี้
พระโลกนาถเจ้า ผู้เป็นเลิศของชาวโลก ผู้เสด็จไปดุจพญาช้างเยื้องกราย เสด็จไปยังโรงกลมให้สว่างไสว ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์.
พระองค์เป็นดุจนายสารถีผู้ฝึกนรชน เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ผู้มีบุญลักษณะกำหนดด้วยร้อย ประทับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 768
นั่งบนบวรพุทธอาสน์นั้น ไพโรจน์อยู่ในท่ามกลางพุทธอาสน์ เหมือนแท่งทองคำงดงามอยู่ในผ้ากัมพลสีเหลืองฉะนั้น. พระองค์ผู้ปราศจากมลทินย่อมไพโรจน์เหมือนแท่งทองชมพูนุทที่เขาวางไว้บนผ้ากัมพลเหลือง เหมือนแก้วมณีงดงามฉะนั้น ทรงไพโรจน์งามสะพรั่งกว่าสิ่งทั้งปวง เหมือนต้นสาละใหญ่ มีดอกบานสะพรั่ง อันประดับด้วยพระยาไม้ คล้ายปราสาททองคำ เหมือนดอกปทุมโกกนุท เหมือนต้นไม้ที่ประดับด้วยประทีปโพลงอยู่ เหมือนไฟบนยอดเขา เหมือนต้นปาริฉัตรของเทวดาฉะนั้น.
บทว่า ปาฏลิคามิเก อุปาสเก อามนฺเตสิ ความว่า เพราะเหตุที่ในอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้น คนเป็นอันมากตั้งอยู่ในศีล ฉะนั้น เพื่อจะประกาศโทษแห่งศีลวิบัติเป็นอันดับแรกก่อน แล้วภายหลังจึงแสดงอานิสงส์แห่งศีลสมบัติ จึงตรัสเรียกมาเพื่อแสดงธรรม โดยนัยมีอาทิว่า ปญฺจิเม คหปตโย ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ผู้ไร้ศีล.
บทว่า สีลวิปนฺโน ได้แก่ ผู้มีศีลวิบัติ คือ ผู้ทำลายสังวร.
ก็ในบทเหล่านี้ ด้วยบทว่า ทุสฺสีโล ตรัสถึงบุคคลผู้ไม่มีศีล. ก็บุคคลผู้ไม่มีศีลนั้น มี ๒ อย่าง คือ เพราะไม่สมาทาน หรือทำลายศีลที่สมาทานแล้ว. ใน ๒ อย่างนั้น ข้อต้นไม่มีโทษเหมือนอย่างข้อที่ ๒ ที่มีโทษแรงกว่า. เพื่อจะแสดงความไม่มีศีลซึ่งมีโทษตามที่ประสงค์เป็นเหตุด้วยเทศนาเป็นบุคลาธิษฐาน จึงตรัสคำว่า สีลวิปนฺโน ดังนี้. ด้วยเหตุนั้น พระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 769
จึงทรงแสดงอรรถแห่งบทว่า ทุสฺสีโล ดังนี้.
บทว่า ปมาทาธิกรณํ แปลว่า มีความประมาทเป็นเหตุ.
ก็สูตรนี้มาแล้วด้วยอำนาจคฤหัสถ์ทั้งหลาย แต่ถึงบรรพชิตก็ใช้ได้เหมือนกัน. จริงอยู่ คฤหัสถ์เลี้ยงชีพด้วยความหมั่นต่อการศึกษาได้ จะเป็นกสิกรรมก็ดี พาณิชยกรรมก็ดี โครักขกรรมก็ดี เป็นผู้ประมาทด้วยปาณาติปาตเป็นต้น ไม่สามารถจะยังความหมั่นในศิลปะนั้นให้สำเร็จได้ตามกาลอันสมควร เมื่อเป็นเช่นนี้การงานของเขาก็จักพินาศไป แต่เมื่อเขาทำปาณาติปาตเป็นต้น ในเวลาที่เขาอาฆาตย่อมถึงความเสื่อมจากโภคะใหญ่ ด้วยอำนาจอาชญา. บรรพชิตผู้ทุศีลย่อมถึงความเสื่อมจากศีล จากพระพุทธพจน์ จากฌาน และจากอริยธรรม ๗ ประการ เพราะความประมาทเป็นเหตุ.
บทว่า ปาปโก กิตฺติสทฺโท ความว่า กิตติศัพท์อันลามกของคฤหัสถ์ ย่อมฟุ้งขจรไปในท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า คฤหัสถ์ชื่อโน้น เกิดในสกุลชื่อโน้น เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้มีธรรมอันลามก เป็นผู้สละเสียทั้งโลกนี้และโลกหน้า ย่อมไม่ให้ทาน แม้วัตถุเพียงสลากภัต. กิตติศัพท์อันลามกของบรรพชิต ย่อมฟุ้งขจรไปอย่างนี้ว่า บรรพชิตชื่อโน้น บวชในพระศาสนาของพระศาสดา ไม่อาจเพื่อจะรักษาศีล ไม่อาจเพื่อจะเรียนพระพุทธพจน์ เป็นผู้ประกอบด้วยอคารวะ ๖ ประการ เลี้ยงชีพด้วยอเนสนากรรม มีเวชกรรมเป็นต้น.
บทว่า อวิสารโท ความว่า อันดับแรก คฤหัสถ์ผู้มีภัตหลีกเลี่ยงไม่ได้ เข้าไปในที่ชุมนุมชนเป็นอันมาก ด้วยคิดว่า ใครๆ จักรู้ความชั่วของเรา จักนินทา จักข่มเรา หรือจักชี้แจงแก่ราชสกุล เป็นผู้เก้อเขิน คอตก นั่งก้มหน้า เป็นผู้ไม่กล้าพูด. ฝ่ายบรรพชิตผู้มีภัยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เข้าไปในเมื่อภิกษุเป็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 770
อันมากประชุมกัน ด้วยคิดว่า บรรพชิตรูปหนึ่งจักรู้ความชั่วของเราเป็นแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลายจักเว้นอุโบสถกรรมก็ดี ปวารณากรรมก็ดีของเรา จักฉุดคร่าเราให้ออกจากความเป็นสมณะเสีย ย่อมเป็นผู้ไม่แกล้วกล้าสามารถจะกล่าวได้. แต่บางคนถึงเป็นคนทุศีล ก็ย่อมประพฤติเหมือนผู้มีศีล. แม้คนทุศีลนั้นก็ย่อมเป็นผู้เก้อเขินด้วยอัธยาศัยเหมือนกัน.
บทว่า สมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ความว่า จริงอยู่ เมื่อบุคคลผู้ทุศีล นอนอยู่บนเตียงเป็นที่ตาย ฐานะที่ตนสมาทานกรรม คือ ความเป็นผู้ทุศีล ย่อมมาปรากฏ เขาลืมตาเห็นโลกนี้ หลับตาเห็นโลกหน้า อบาย ๔ ย่อมปรากฏแก่เขาตามสมควรแก่กรรม ย่อมเป็นเหมือนถูกทิ่มแทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม และเหมือนถูกลวกด้วยเปลวไฟ เขาพลางร้องครวญครางว่า ขอเถอะ ขอทีเถอะ ดังนี้ จนตาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า หลงทำกาละ ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า กายสฺส เภทา ได้แก่ เพราะสละอุปาทินนกขันธ์.
บทว่า ปรมฺมรณา ได้แก่ หมายเอาขันธ์ที่จะพึงเกิดในภพอันเป็นลำดับแห่งอุปาทินนกขันธ์นั้น.
อีกอย่างหนึ่ง. บทว่า กายสฺส เภทา ได้แก่ เพราะชีวิตินทรีย์ขาดไป.
บทว่า ปรมฺมรณา ได้เเก่ เบื้องหน้าแต่จุติ.
บทว่า อปายํ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของนรกทั้งหมด. จริงอยู่ นรกชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความเจริญ กล่าวคือ บุญอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ และพระนิพพาน และเพราะไม่มีความเจริญหรือการมาของความสุข. ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นภูมิเป็นที่ไป คือ เป็นที่พำนักอาศัยแห่งทุกข์. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นภูมิเป็นที่ไปอันเกิดด้วยกรรมชั่ว เหตุมากไปด้วยโทสะ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นที่ปราศจากอำนาจตกไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 771
ของบุคคลผู้กระทำกรรมชั่ว. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นที่พินาศตกไปของบุคคลผู้มีอวัยวะน้อยใหญ่แตกไปอยู่ ชื่อว่า นิรยะ เพราะเป็นที่ไม่มีความเจริญ อันเข้าใจกันว่าความยินดี.
อีกอย่างหนึ่ง ด้วยศัพท์ว่า อบาย ทรงแสดงถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. จริงอยู่ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานชื่อว่าอบาย เพราะปราศจากภูมิเป็นที่ไปดี ไม่จัดเป็นทุคติ เพราะเป็นที่เกิดของพญานาคเป็นต้นผู้มีศักดาใหญ่. ด้วยศัพท์ว่า ทุคติ ท่านแสดงถึงวิสัยแห่งเปรต. จริงอยู่ ปิตติวิสัยนั้น ชื่อว่าอบาย เพราะปราศจากสุคติ และชื่อว่าทุคติ เพราะเป็นภูมิเป็นที่ไปแห่งทุกข์ แต่ไม่ใช่จัดเป็นวินิบาต เพราะไม่ได้ตกไปโดยไร้อำนาจเช่นพวกอสูร. จริงอยู่ แม้วิมานก็ย่อมบังเกิดแก่พวกเปรตผู้มีฤทธิ์มาก. ด้วยศัพท์ว่า วินิปาตะ ทรงแสดงถึงอสุรกาย. ก็อสุรกายนั้น ว่าโดยอรรถตามที่กล่าวแล้ว ท่านเรียกว่า อบาย และทุคติ เรียกว่า วินิบาต เพราะตกไปโดยไร้อำนาจจากกองสมบัติทั้งหมด. ด้วยศัพท์ว่า นิรยะ ทรงแสดงเฉพาะนรก ซึ่งมีประการมากมายมีอเวจีเป็นต้น.
บทว่า อุปปชฺชติ แปลว่า ย่อมบังเกิด.
พึงทราบอานิสงสกถา โดยปริยายตรงกันข้ามดังกล่าวแล้ว. ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้.
บทว่า สีลวา ได้แก่ ผู้มีศีลโดยการสมาทาน.
บทว่า สีลสมฺปนฺโน ได้เเก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เพราะยังศีลให้สำเร็จ โดยทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์.
บทว่า โภคกฺขนฺธํ ได้แก่ กองแห่งโภคะ ด้วยสุคติศัพท์ ในบทว่า สุคติ สคฺคํ โลกํ นี้ ท่านรวมเอาคติของมนุษย์เข้าด้วย. ด้วยศัพท์ว่า สัคคะ ท่านหมายเอาคติของเทวดาเข้าด้วย. ในคติเหล่านั้น ชื่อ สุคติ เพราะมีคติดี. ชื่อว่า สัคคะ เพราะมีอารมณ์ด้วยดี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 772
ด้วยอารมณ์มีรูปเป็นต้น. ก็สัคคะทั้งหมดนั้น ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า แตกสลาย.
บทว่า ปาฏลิคามิเย อุปาสเก พหุเทว รตฺตึ ธมฺมิยา กถาย ความว่า ด้วยธรรมกถา และด้วยกถาเป็นเครื่องอนุโมทนาสำหรับที่พักอาศัยอันพ้นจากบาลีแม้อื่น.
ก็ในคราวนั้น เพราะเหตุที่พระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อจะทรงสร้างนครปาฏลีบุตรในที่นั้น จึงทรงนำเอากุฎุมพีที่สมบูรณ์ด้วยศีลและอาจาระในคามนิคมชนบทและราชธานีอื่นๆ แล้วประทานทรัพย์ธัญญาหารที่บ้านที่นาเป็นต้น และการปกครอง แล้วให้อยู่อาศัย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอานิสงส์แห่งศีลก่อนแก่อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม ผู้หนักในศีลโดยพิเศษ เพราะเป็นผู้เห็นอานิสงส์และเพราะศีลเป็นที่ตั้งแห่งคุณทั้งปวง ต่อแต่นั้น เมื่อจะแสดงปกิณณกกถา อันนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่อุบาสกและอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม เหมือนยังอากาศคงคาให้หยั่งลง เหมือนฉุดมาซึ่งง้วนดิน เหมือนจับยอดหว้าใหญ่ให้ไหวอยู่ และเหมือนเอาเครื่องยนต์บีบคั้นรวงผึ้งประมาณโยชน์หนึ่งให้สำเร็จเป็นน้ำหวานที่ดี จึงทรงแสดงธรรมกถาเป็นอันมากที่วิจิตรด้วยนัยต่างๆ อย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมดาว่า อาวาสทานนี้เป็นบุญมาก เราและภิกษุสงฆ์ได้ใช้อาวาสของพวกท่าน ก็แล เมื่อเราและภิกษุสงฆ์ใช้แล้ว ก็เป็นอันชื่อว่าธรรมรัตนะก็ได้ใช้เหมือนกัน เมื่อรัตนะ ๓ ได้ใช้แล้วอย่างนี้ ย่อมมีวิบากหาประมาณมิได้ทีเดียว อีกอย่างหนึ่ง เมื่อถวายอาวาสทาน ก็เป็นอันชื่อว่าถวายทานทั้งปวงทีเดียว ใครๆ ไม่อาจจะกำหนดอานิสงส์ของบรรณศาลาที่สร้างไว้บนแผ่นดินหรือของศาลาราย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 773
ที่สร้างอุทิศสงฆ์ ก็ด้วยอานุภาพแห่งอาวาสทาน แม้สัตว์ผู้จะเกิดในภพจะชื่อว่าอยู่ในครรภ์ที่ถูกบีบคั้นหามีไม่ ท้องของมารดาของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์นั้น จะไม่คับแคบเลย เหมือนห้องประมาณ ๑๒ ศอก ดังนี้แล้ว จึงตรัสกถาว่าด้วยอานิสงส์แห่งอาวาสทานเกินยามครึ่งในราตรีเป็นอันมากว่า
เสนาสนะย่อมป้องกันเย็นและร้อน และสัตว์ร้าย งู ยุง ฝน ที่ตั้งขึ้นในฤดูหนาว ลมและแดดอันกล้าเกิดขึ้นแล้ว ย่อมบรรเทาได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณา และเพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้นแล บุรุษบัณฑิตเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตอยู่เถิด อนึ่ง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะแก่ท่านเหล่านั้นด้วยน้ำใจอันเลื่อมใสในท่านผู้ซื่อตรง เขารู้ธรรมอันใดในโลกนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน ท่านย่อมแสดงธรรมนั้นอันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา ดังนี้.
รวมความว่า ทั้งนี้ เป็นอานิสงส์ของอาวาสทานด้วยประการฉะนี้. แต่ในอานิสงส์อาวาสทานนี้ ท่านยกคาถานี้แหละขึ้นสู่สังคายนา ส่วนปกิณณธรรมเทศนา หาได้ยกขึ้นสู่สังคายนาไม่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 774
บทว่า สนฺทสฺเสตฺวา ดังนี้ เป็นต้น มีอรรถดังกล่าวแล้วนั่นแล.
บทว่า อภิกฺกนฺตา ได้แก่ ผ่านไป ๒ ยาม.
บทว่า ยสฺสทานิ กาลํ มฺถ ได้แก่ ท่านจงสำคัญกาลที่ท่านจะไปเถิด อธิบายว่า นี้เป็นเวลาไปของท่าน ท่านจงไปเถิด.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงส่งภิกษุเหล่านั้นไป? ตอบว่า เพื่ออนุเคราะห์. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งไปด้วยความอนุเคราะห์ ๒ อย่าง คือ ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้นนั่งในที่นั้น ให้ ๓ ยามแห่งราตรีผ่านไป อาพาธพึงเกิดขึ้นในร่างกายของพวกเธอ และแม้ภิกษุสงฆ์ควรจะได้โอกาสในการนอนและการนั่ง อันปราศจากกลางแจ้ง.
บทว่า สุญฺาคารํ ได้แก่ ชื่อว่าสุญญาคารโดยเฉพาะย่อมไม่มีในที่นั้น. ได้ยินว่า คฤหบดีเหล่านั้นได้ให้เอาผ้าม่านแวดวง ณ ข้างหนึ่งของอาวสถาคารนั้นนั่นแลแล้ว ให้จัดแจงเตียงที่สมควร ลาดเครื่องลาดที่สมควรในที่นั้น ผูกเพดานอันประดับด้วยดาวทองคำ เงิน ของหอม และมาลาเป็นต้น แล้วยกประทีปน้ำมันหอมไว้เบื้องบน ด้วยคิดว่า ไฉนหนอ พระศาสดาจักพึงเสด็จลุกจากธรรมาสน์ประสงค์จะพักผ่อนหน่อยหนึ่ง พึงบรรทมในที่นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงใช้อาวสถาคารนี้ของพวกเรา ด้วยอิริยาบถ ๔ จักพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตลอดกาลนาน. แม้พระศาสดาทรงหมายถึงข้อนั้นนั่นแล จึงทรงให้จัดแจงลาดผ้าสังฆาฏิในที่นั้น แล้วจึงสำเร็จสีหไสยาสน์ ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า พระองค์เสด็จเข้าไปสู่สุญญาคาร. ในสุญญาคารนั้น พระองค์ได้เสด็จไปจำเดิมตั้งแต่ที่เป็นที่ล้างพระบาทจนถึงธรรมาสน์ การเสด็จ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 775
ไปในที่ประมาณเท่านี้สำเร็จแล้ว เสด็จถึงธรรมาสน์แล้วประทับยืนหน่อยหนึ่ง นี้เป็นอิริยาบถยืนในที่นั้น พระองค์ประทับนั่งบนธรรมาสน์ตลอดสองยาม อิริยาบถนั่งในที่มีประมาณเท่านี้สำเร็จแล้ว พระองค์ทรงส่งอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายไปแล้ว เสด็จลงจากธรรมาสน์ ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ในที่ดังกล่าวแล้ว. ที่นั้นได้เป็นสถานที่อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้สอยแล้วด้วยอิริยาบถ ๔ ด้วยประการฉะนี้แล.
บทว่า สุนีธวสฺสการา ได้แก่ พราหมณ์ ๒ คน คือ สุนีธพราหมณ์ และวัสสการพราหมณ์.
บทว่า มคธมหามตฺตา ได้แก่ มหาอำมาตย์ของพระเจ้ามคธ หรือมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ. ชื่อว่า มหาอำมาตย์ เพราะประกอบด้วยเหตุอันสักว่าความเป็นอิสระอย่างใหญ่.
บทว่า ปาฏิลิคาเม นครํ มาเปนฺติ ได้แก่ ให้สร้างพระนคร ณ ภูมิประเทศ คือ ปาฏลิคาม.
บทว่า วชฺชีนํ ปฏิพาหาย ได้แก่ เพื่อป้องกันทางเจริญของพวกเจ้าลิจฉวี.
บทว่า สหสฺเสว ได้แก่ แบ่งออกเป็นพวกละพันๆ.
บทว่า วตฺถูนิ ได้แก่ ที่สร้างเรือน.
บทว่า จิตฺตานิ มนนฺติ นิเวสนานิ มาเปตุํ ความว่า จิตของบุคคลผู้รู้พื้นที่ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างพระราชนิเวศน์ และที่อยู่อาศัยของราชอำมาตย์.
เล่ากันมาว่า พวกเหล่านั้นรู้พื้นที่ประมาณ ๓๐ ศอก ในภายใต้แผ่นดินด้วยอานุภาพแห่งศิลปะของตนว่า ในที่นี้นาคยึดครอง ในที่นี้ยักษ์ยึดครอง ในที่นี้ภูตยึดครอง ในที่นี้มีแผ่นหินหรือตอไม้. ในกาลนั้น พวกเขากล่าวถึงศิลปะแล้ว เป็นเหมือนปรึกษากับพวกเทวดาจึงสร้างขึ้น. อีกอย่างหนึ่ง พวกเทวดาสิงในร่างกายของพวกเขาแล้ว น้อมจิตไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในที่นั้นๆ. เทวดาเหล่านั้นกลับหายไปใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 776
ขณะที่พวกเขาตอกหลักที่มุมทั้ง ๔ แล้วจับจองพื้นที่. พวกเทวดาผู้มีศรัทธาของตระกูลที่มีศรัทธา ก็ย่อมกระทำอย่างนั้น. เทวดาผู้ไม่มีศรัทธาของตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ก็ย่อมกระทำอย่างนั้น. เพราะเหตุไร? เพราะเทวดาผู้มีศรัทธาย่อมคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ย่อมสร้างนิเวศน์ในที่นี้ จักนิมนต์ให้ภิกษุสงฆ์นั่งก่อนแล้ว จึงให้กล่าวมงคล เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จักได้เห็นท่านผู้มีศีล ฟังธรรมกถา ฟังการแก้ปัญหา และจักได้ฟังอนุโมทนา อนึ่ง พวกมนุษย์ถวายทานแล้ว จักให้ส่วนบุญแก่พวกเรา. ฝ่ายเทวดาผู้ไม่มีศรัทธาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักได้เห็นการปฏิบัติของภิกษุเหล่านั้น และได้ฟังกถาตามเหมาะแก่ความต้องการของ่ตน พวกมนุษย์ก็กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า ตาวตึเสหิ ความว่า เหมือนอย่างว่า เพราะอาศัยมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่ง ในตระกูลหนึ่ง และภิกษุผู้เป็นพหูสูตรูปหนึ่ง ในวิหารหนึ่ง เสียงย่อมขจรไปว่า พวกมนุษย์ในตระกูลโน้นเป็นบัณฑิต พวกภิกษุในวิหารโน้นเป็นพหูสูต ฉันใด เพราะอาศัยท้าวสักกเทวราชและวิสสุกรรมเทวบุตร เสียงจึงขจรไปว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นบัณฑิตฉันนั้นเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดาวตึเสหิ ดังนี้ เป็นต้น. ด้วยคำว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น พระองค์ทรงแสดงว่า สุนีธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์พากันสร้างพระนคร เหมือนปรึกษากับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์.
บทว่า ยาวตา อริยํ อายตนํ ความว่า ชื่อว่าสถานที่เป็นที่ประชุมแห่งพวกมนุษย์ผู้เป็นอริยะมีประมาณเท่าใด มีอยู่.
บทว่า ยาวตา วณิปฺปโถ ได้แก่ ชื่อว่า สถานที่ซื้อและขาย โดยกองสิ่งของที่พวกพ่อค้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 777
นำมามีประมาณเท่าใด มีอยู่ หรือสถานที่ที่อยู่ของพวกพ่อค้ามีประมาณเท่าใด มีอยู่.
บทว่า อิทํ อคฺคนครํ ได้แก่ นครนี้จักเป็นนครอันเลิศ ประเสริฐ เป็นประธานแห่งพวกมนุษย์ผู้เป็นอริยะ และพวกพ่อค้าเหล่านั้น.
บทว่า ปูฏเภทนํ ได้แก่ เป็นที่แก้ห่อสิ่งของ อธิบายว่า เป็นที่เปลื้องห่อสิ่งของทั้งหลาย. อธิบายว่า ก็ในที่นี้เอง พวกเขาจักได้แม้สิ่งของที่ยังไม่ได้ในชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้จะไม่ไปขายในที่อื่น ก็จักไปขายในที่นี้นั่นแหละ เพราะฉะนั้น พวกเขาจักแบ่งห่อสิ่งของในที่นี้แล. ก็สถานที่ ๕๐๐,๐๐๐ ที่ ได้ปรากฏขึ้นเพื่อความเห็นเจริญในที่นั้นทุกๆ วันอย่างนี้ คือ ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน มี ๔๐๐,๐๐๐ ที่ สภา ๑๐๐,๐๐๐ ที่ สภาวะเหล่านั้น ท่านแสดงว่า เป็นความเจริญ.
วา ศัพท์ ในบทว่า อคฺคิโต วา เป็นต้น เป็นสมุจจยัตถะ. อธิบายว่า จักพินาศไปด้วยไฟ ด้วยน้ำ และด้วยการแตกมิตรสัมพันธ์. ก็เมืองปาฏลิคามนั้น ส่วนหนึ่งจักพินาศไปด้วยไฟ แม้พวกคนก็ไม่สามารถจะดับไฟได้. ส่วนหนึ่งแม่น้ำคงคาพัดพาไป. ส่วนหนึ่งจักพินาศไป โดยการแตกแยกแห่งกันและกันของพวกมนุษย์ ผู้พูดถึงเรื่องที่คนนี้ไม่ได้ กล่าวแก่คนโน้น (และ) พูดถึงเรื่องที่คนโน้นไม่ได้ กล่าวแก่คนนี้ แตกแยกกันไป ด้วยปิสุณวาจา วาจาส่อเสียด.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา ชำระพระพักตร์เสร็จแล้ว ประทับนั่งรอเวลาภิกขาจาร. ฝ่ายสุนีธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์พากันคิดว่า พระราชาของพวกเราเป็นอุปัฏฐากของพระสมณโคดม พระองค์ตรัสถามพวกเราผู้เข้าไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 778
เฝ้าว่า ได้ยินว่า พระศาสดาได้เสด็จไปยังปาฏลิคาม พวกท่านเข้าไปเฝ้าพระองค์หรือยัง หรือว่ายังไม่เข้าไปเฝ้า เมื่อพวกเราตอบว่า ได้เข้าไปเฝ้าแล้ว ก็จักตรัสถามว่า พวกท่านนิมนต์หรือไม่ได้นิมนต์ และเมื่อพวกเราตอบว่า ไม่ได้นิมนต์ ดังนี้ ก็จักยกโทษข่มพวกเรา ถึงแม้พวกเราจะสร้างพระนครนี้ในสถานที่ที่ไม่เคยสร้างก็จริง ถึงกระนั้นพวกสัตว์กาลกรณีก็จะอพยพไปในที่ที่พระสมณโคดมเสด็จไปถึงแล้วๆ พวกเราจักให้พระสมณโคดมนั้น ตรัสความเป็นมงคลแก่พระนคร ดังนี้ จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลนิมนต์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข สุนีธวสฺสการา ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ แปลว่า ในเวลาเช้า.
บทว่า นิวาเสตฺวา ได้แก่ ทรงครองผ้าโดยทำนองเสด็จเข้าบ้าน แล้วคาดประคดเอว.
บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย ได้แก่ ทรงห่มจีวร พระหัตถ์ถือบาตร.
บทว่า สีลวนฺเตตฺถ ได้แก่ เชิญผู้มีศีลให้บริโภคในประเทศนั้น คือ ในที่อยู่ของตน.
บทว่า สญฺเต ได้แก่ สำรวมด้วยกาย วาจา และ จิต.
บทว่า ตาสํ ทกฺขิณมาทิเส ความว่า พึงอุทิศปัจจัย ๔ ที่ถวายแก่สงฆ์ คือ พึงให้ส่วนบุญแก่เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือนเหล่านั้น.
บทว่า ปู ชิตา ปูชยนฺติ ความว่า กระทำอารักขาให้เป็นอันจัดแจงด้วยดี คือ กระทำการรักษาด้วยดี ด้วยคิดว่ามนุษย์เหล่านี้ไม่ได้เป็นญาติของพวกเรา แม้อย่างนั้น ก็ยังให้ส่วนบุญแก่พวกเรา.
บทว่า มานิตา มานยนฺติ ความว่า เทวดาผู้อันเขานับถือด้วยการทำพลีกรรมตามกาลอันควรย่อมนับถือ คือ ย่อมขจัดอันตรายที่เกิดขึ้น ด้วยคิดว่ามนุษย์เหล่านี้ แม้ไม่เป็นญาติของพวกเรา ถึงอย่างนั้น ก็ยังทำพลีกรรมแก่พวกเรา เป็นระยะเวลาถึง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 779
๔ เดือน ๕ เดือน และ ๖ เดือน.
บทว่า ตโต นํ ความว่า แต่นั้น ย่อมอนุเคราะห์บุรุษผู้มีชาติเป็นบัณฑิตนั้น.
บทว่า โอรสํ ได้แก่ ให้เติบโตไว้ที่อก เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เถิดแต่อก. อธิบายว่า ย่อมอนุเคราะห์โดยพยายามเพื่อกำจัดอันตรายที่เกิดขึ้นนั่นแหละ.
บทว่า ภทฺรานิ ปสฺสติ ได้แก่ ย่อมเห็นว่าเป็นดี.
บทว่า อนุโมทิตฺวา ความว่า ทรงแสดงธรรมกถาแก่มหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการะ โดยอนุโมทนาส่วนบุญที่พวกเขาพากันขวนขวายในกาลนั้น. ฝ่ายมหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสะการะได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ควรอุทิศทักษิณาแก่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในที่นั้นๆ จึงได้ให้ส่วนบุญแก่เทวดาเหล่านั้น.
บทว่า ตํ โคตมทฺวารํ นาม อโหสิ ความว่า ประตูของพระนครนั้น อันได้นามว่า โคตมทวาร เพราะเป็นเหตุเสด็จออกของพระผู้มีพระภาคเจ้า อนึ่ง ไม่ได้ชื่อว่าโคตมติฏฐะ เพราะไม่ได้หยั่งลงสู่ท่าเพื่อข้ามแม่น้ำคงคา.
บทว่า ปูรา แปลว่า เต็ม.
บทว่า สมติตฺติกา ได้แก่ เต็ม คือ เปี่ยมด้วยน้ำเสมอตลิ่ง.
บทว่า กากเปยฺยา ได้แก่ มีน้ำที่กาซึ่งจับอยู่ที่ฝั่งสามารถจะดื่มได้. ด้วยบททั้งสอง ท่านแสดงเฉพาะที่เต็มเปี่ยมทั้งสองฝั่ง.
บทว่า อุฬุมฺปํ ได้แก่ พ่วงที่เขาเอาไม้ขนานแล้วตอกลิ่ม ทำไว้เพื่อข้ามฝั่ง.
บทว่า กุลฺลํ ได้แก่ แพที่เขาเอาเถาวัลย์ผูกไม้ไผ่และไม้อ้อทำไว้.
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวงถึงความที่มหาชนไม่สามารถจะข้ามแม้แต่น้ำในแม่น้ำคงคา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 780
เท่านั้น แต่พระองค์และภิกษุสงฆ์ ข้ามห้วงน้ำคือสงสารทั้งลึกทั้งกว้างยิ่งนักได้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อณฺณวํ นี้ เป็นชื่อของน้ำที่ลึกและกว้างประมาณ ๑ โยชน์ โดยกำหนดอย่างต่ำ.
บทว่า สรํ ท่านประสงค์ถึงน้ำในที่นี้ เพราะไหลไป. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า เหล่าชน ผู้ข้าม ห้วงน้ำคือสงสาร และแม่น้ำคือตัณหาทั้งลึกทั้งกว้าง สร้างสะพาน คือ อริยมรรค ไม่แตะต้อง คือ ไม่จับต้อง เปือกตม คือ ที่ลุ่มอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ ฝ่ายชนนี้ประสงค์จะข้ามน้ำมีประมาณน้อยนี้ จึงผูกแพ คือ ถึงความยากยิ่งเพื่อจะผูกแพ.
บทว่า ติณฺณา เมธาวิโน ชนา ความว่า พระพุทธเจ้าและพุทธสาวก ชื่อว่าผู้มีเมธา เพราะประกอบด้วยเมธา กล่าวคืออริยมรรคญาณ ถึงจะเว้นแพเสียก็ข้ามได้ คือ ดำรงอยู่ที่ฝั่งโน้นแล.
จบอรรถกถาปาฏลิคามิยสูตรที่ ๖