เรื่องการหลุดพ้น

 
Pongsaton00
วันที่  9 ส.ค. 2564
หมายเลข  35367
อ่าน  1,199

ผู้ที่นิพพาน หลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้แล้ว ไม่กลับมาเวียนไหว้ตายเกิดอีกแล้ว เพราะได้ดับซึ่งความเป็นตัวตน ดับกิเลส ดับการรับรู้ ดับทุกอย่างเข้าสู่นิพพาน ตรงนี้ ผมอยากทราบว่า การที่ผมเข้าใจว่า เมื่อนิพพานแล้ว ผู้ที่บรรลุแล้ว อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ เมื่อสิ้นจากกายในชาติสุดท้ายนี้แล้ว ท่านก็สูญสลายหายไปหมดเลยใช่ไหมครับ เพราะไม่เหลือเหตุใดให้มีตัวตน ดับซึ่งทุกข์และจิต วิญญาณก็อันตรธานหายไป จึงไม่มีเทวดาหรือมนุษย์ได้พบท่านอีก อันนี้ผมเข้าใจถูกไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นิพพานมี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้วแต่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ คือ ยังไม่สิ้นชีวิต เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันนั้น พระองค์ดับกิเลสหมด แต่พระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน การดับกิเลสหมดสิ้น

ดังนั้น คำว่า นิพพาน ในที่นี้ เป็นการแสดงความหมายของคำว่า นิพพานที่หมายถึงดับ เย็นสนิท ดังนั้นจึงมุ่งหมายถึง การดับสนิทของกิเลสนั่นเองครับ แต่ขณะที่ประจักษ์ตัวพระนิพพาน ต้องเป็นขณะตามที่ผมกล่าวมาข้างต้นครับ จึงเป็นการสื่อความหมายถึงคำว่า พระนิพพาน ซึ่งขณะที่ดับกิเลสหมดสิ้นนั้นก็เป็นอรหัตตมรรคจิต ก็ประจักษ์พระนิพพานในขณะนั้น ที่เป็นตัวพระนิพพานจริงๆ ครับ

ส่วน อนุปาทิเสสนิพพาน คือ การดับสนิทของสภาพธรรมทั้งหมด ทั้งขันธ์ 5 คือทั้งรูปและนามหมดสิ้น เช่น ในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่กุสินารา คือ ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมอะไรอีกเลย ใช้คำว่า นิพพานด้วย คือ อนุปาทาทิเสสนิพพาน แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปอยู่หรือไปนิพพานนะครับ แต่เป็นการแสดงความหมายของคำว่า นิพพาน ที่ดับสนิท อีกเช่นกัน นั่นคือ ดับสนิทจริงๆ คือ ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมอะไรอีก จึงใช้ชื่อเรียก โดยใช้คำว่า นิพพานด้วยครับ เป็นประเภท อนุปาทาทิเสสนิพพาน แต่ขณะที่ประจักษ์ตัวพระนิพพานจริงๆ ก็เป็นตามที่กล่าวข้างต้น คือ มรรคจิต ผลจิต ขณะเข้าผลสมาบัติ ครับ

เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้หมดถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพาน เมื่อหมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดอีก ให้มีขันธ์ 5 ให้มีจิตเจตสิก รูปอีก คือดับกิเลสหมด เมื่อปรินิพพาน ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก อีกเลยปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน คือ การดับรอบหมดสิ้นของสภาพธรรมทั้งหมด จึงไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใดๆ ทั้งจิตด้วย เจตสิกและรูป ครับ ไม่มีการเกิดอีกเลยของสภาพธรรม รวมทั้งจิตด้วยครับ ดังนั้น จิตมีวันดับสูญ คือไม่เกิดอีกได้ เพราะดับเหตุที่ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต นั่นคือ ดับกิเลสหมด เมื่อดับกิเลสหมด พระอรหันต์สิ้นชีวิต ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูปอีกเลยครับ

เชิญอ่านคำบรรยาย ท่าน อ.สุจินต์ดังนี้ครับ

สมัยนี้บางท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีตัวตนอยู่ และกล่าวว่าได้ไปเฝ้าและถวายภัตตาหารแก่พระผุ้มีพระภาคซึ่งก็ควรจะได้พิจารณาข้อความในพระไตรปิฏก คือ ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ผัคคุณสูตรข้อ ๙๙ ครั้งนั้นแล ท่านพระผัคคุณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ....

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อจะบัญญัติพึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยจักขุใด จักขุนั้น มีอยู่หรือหนอ ฯลฯ... บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้า ผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้วล่วงทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยใจใดใจนั้นมีอยู่หรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า (คือ ทูลถามว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ยังจะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่อีกหรือไม่)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ผัคคุณะ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้วตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยจักขุใด จักขุนั้น ไม่มีเลยฯลฯ … บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยใจใด ใจนั้นไม่มีเลย

เมื่อปรินิพพานแล้ว ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่มีอีกเลย ไม่ใช่ว่าปรินิพพานแล้วก็ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด แล้วมาเป็นประมุขของการทำบุญถวายทาน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่พ้นจากโลก เพราะยังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิดดับ จึงยังต้องมีทุกข์ จึงยังพ้นทุกข์ไม่ได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอริยบุคคลขั้นสูงสุด คือ พระอรหันต์ เมื่อดับกิเลสหมดแล้วไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ตราบใดที่ยังไม่ถึงเวลาดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีสภาพธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก (ที่ไม่เป็นไปกับด้วยกิเลส) และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป ยังมีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังมีการได้รับผลของกรรม ยังมีความเกิดขึ้นแห่งจิตที่ดีงามในการทำประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น เป็นต้น ซึ่งก็ยังเป็นการเกิดดับสืบต่อกันของสภาพธรรม ยังมีสภาพธรรมเป็นไปอยู่ จนกว่าท่านจะดับขันธปรินิพพาน เมื่อนั้น จึงจะไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นอีก เพราะเหตุว่า ดับเหตุที่จะทำให้เกิด คือ กิเลส ได้หมดสิ้นแล้ว นั่นเอง จึงไม่มีการไปประทับหรือไปอยู่ ณ ที่ไหนเลย สำหรับพระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว ถ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะใช้คำว่า ทรงดับขันธปรินิพพาน หรือ เสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ทั้งหลาย ก็ใช้คำว่า ดับขันธปรินิพพาน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 9 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ อ.เผดิม อ.คำปั่น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ