จะตายเมื่อไหร่ก็ได้
* ความตายที่เราเข้าใจกัน ก็คือความตายโดยสมมติ เป็นการเปลี่ยนจากความเป็นบุคคลหนึ่งในภพชาติหนึ่ง ไปเป็นอีกบุคคลหนึ่งในอีกภพชาติหนึ่ง โดยมีกรรมเป็นปัจจัย
* ชีวิตก็คือจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ทำกิจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ดับไป และจิตขณะต่อไปก็เกิดขึ้นสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำกิจหน้าที่ของจิตนั้นแล้วก็ดับไป
* จิตขณะแรกของแต่ละภพชาติ (ปฏิสนธิจิต) เกิดจากกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นปัจจัย หลังจากนั้นชีวิตก็มีหลับกับตื่น สลับกันไป ก่อนที่จะตายจากโลกนี้ไป
* หลับ ก็คือจิต (ภวังคจิต) ที่เป็นผลของกรรมๆ เดียวกันกับกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ทำหน้าที่ดำรงภพชาติคือความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งขณะหลับจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบทางกาย หรือคิดนึกอะไรเลย
* ตื่น ก็คือจิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
* ตาย ก็คือจิต (จุติจิต) ที่เกิดจากกรรมๆ เดียวกันกับกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิต และภวังคจิตเกิด แต่ทำหน้าที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้
* ความตายหรือจุติจิต จะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ จะเกิดต่อจากจิตที่รู้สีทางตา รู้เสียงทางหู รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สภาพที่กระทบทางกาย หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางใจก็ได้ หรือเกิดต่อจากภวังคจิตที่เกิดสืบต่อจากนั้นก็ได้
* และเมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป ปฏิสนธิจิตที่เกิดจากกรรมใหม่ ก็เกิดขึ้นสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น เป็นบุคคลใหม่ในภพใหม่ (คือตายแล้วเกิดทันที) ตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยคือยังมีกิเลสอยู่
* ดังนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายจึงเป็นธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เราเลย จึงไม่ควรประมาท ที่จะฟังพระธรรม เจริญปัญญาและกุศลทุกประการในชีวิตที่เหลืออยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมากน้อยเพียงใด
โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม