๑. โลสกชาดก ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก (เริ่มเล่ม 56)
56. [เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 1
เอกนิบาตชาดก
๕. อัตถกามวรรค
๑. โลสกชาดก และอรรถกถา
ขอเชิญรับฟัง...
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 1
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก
เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒
เอกนิบาตชาดก
๕. อัตถกามวรรค
๑. โลสกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก
[๔๑] "ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนมิตตพินทุกะจับเท้าแพะเศร้าโศกอยู่ฉะนั้น".
จบ โลสกชาดกที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 2
อรรถกถาอัตถกามวรรคที่ ๕
อรรถกถาโลสกชาดกที่ ๑
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระโลสกติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "โย อตฺถกามสฺส" ดังนี้.
ก็พระเถระผู้มีชื่อว่า โลสกะ นี้ คือใคร (มีประวัติเป็นมา อย่างไร).
ท่านเป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่ง ในแคว้นโกศล เป็นผู้ทำลายตระกูลวงศ์ของตน ไม่มีลาภ มาบวชในหมู่ภิกษุ.
ได้ยินมาว่า ท่านจุติจากที่ที่ท่านเกิดแล้ว ถือปฏิสนธิในท้องของหญิงชาวประมงนางหนึ่ง ณ หมู่บ้านชาวประมงตำบลหนึ่ง ซึ่งอยู่ร่วมกันถึงพันครอบครัว ในแคว้นโกศล ในวันที่ท่านถือปฏิสนธิ ชาวประมงทั้งพันครอบครัวนั้น พากันถือข่าย เที่ยวหาปลาในลำน้ำและบ่อบึง ไม่ได้แม้แต่ปลาตัวเล็กๆ สักตัวหนึ่ง และนับแต่วันนั้นมา พวกชาวประมงเหล่านั้น ก็พากันเสื่อมโทรมทีเดียว เมื่ออยู่ในท้องมารดานั้นเล่า บ้านชาวประมงเหล่านั้น ก็ถูกไฟไหม้ถึง ๗ ครั้ง ถูกพระราชาปรับสินไหมเจ็ดครั้ง โดยนัยนี้ ชาวประมงเหล่านั้น จึงถึงความลำบากโดยลำดับ พวกเขาคิดกันว่า เมื่อก่อนเรื่องทำนองนี้ไม่เคยมีแก่พวกเราเลย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 3
แต่บัดนี้พวกเราพากันย่ำแย่ ในระหว่างพวกเราต้องมีตัวกาลกรรณีคนหนึ่ง พวกเราจงแบ่งเป็นสองพวกเถิด ดังนี้แล้ว แยกกันอยู่ฝ่ายละ ๕๐๐ ครอบครัว แต่นั้นมารดาบิดาของเขาอยู่กลุ่มใด กลุ่มนั้นก็แย่ กลุ่มนอกนี้เจริญ พวกที่แย่นั้น ก็แยกกลุ่มกันอีก โดยแยกกันออกเป็น ๒ กลุ่มอีก แยกกันไปโดยทำนองนี้ กระทั่งตระกูล (ของเขา) นั่นแหละ เหลือโดดเดี่ยว (เพียงตระกูลเดียว) เขาทั้งหลายจึงรู้ว่า คนเหล่านั้นเป็นกาลกรรณี ก็รุมกันโบยตีไล่ออกไป ครั้งนั้นมารดาบิดาของเขาเลี้ยงชีพมาโดยแร้นแค้น พอท้องแก่ก็คลอด ณ ที่แห่งหนึ่ง ธรรมดาท่านผู้เป็นสัตว์เกิดมาในภพสุดท้าย ใครไม่อาจทำลายได้ เพราะมีอุปนิสัยแห่งอรหัตตผลรุ่งเรืองอยู่ในหทัยของท่าน เหมือนดวงประทีปภายในหม้อฉะนั้น มารดาเลี้ยงเขามาจนถึงในเวลาที่เขาวิ่งเที่ยวไปมาได้ ก็เอากะโล่ดินเผาใบหนึ่งใส่มือให้พลางเสือกไสด้วยคำว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปสู่เรือนหลังนั้นเถิดดังนี้แล้วหลบหนีไป จำเดิมแต่นั้นมา เขาก็อยู่อย่างเดียวดาย เที่ยวหากินไปตามประสา หลับนอน ณ ที่แห่งหนึ่ง ไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้ปรนนิบัติร่างกาย ดูเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น เลี้ยงชีวิตมาได้โดยลำเค็ญ เขามีอายุครบ ๗ ขวบโดยลำดับ เลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ด เหมือนกา ในที่สำหรับเทน้ำล้างหม้อ ใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง.
ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี เห็นแล้วรำพึงว่า เด็กคนนี้น่าสงสารนัก เป็นชาวบ้านไหนหนอ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 4
แผ่เมตตาจิตไปในเขาเพิ่มยิ่งขึ้น จึงเรียกว่า มานี่เถิด เด็กน้อย เขามาไหว้พระเถระแล้วยืนอยู่ ลำดับนั้น พระเถระถามเขาว่า เจ้าเป็นชาวบ้านไหน พ่อแม่ของเจ้าอยู่ที่ไหน.
เขาตอบว่า ท่านขอรับ กระผมไร้ที่พึ่ง พ่อแม่ของกระผมพูดว่า เพราะกระผมทำให้ท่านต้องลำบาก จึงทิ้งกระผมหนีไป.
พระเถระถามว่า เออก็เจ้าจักบวชไหมละ.
เขาตอบว่า ท่านขอรับ กระผมอยากบวชนัก แต่คนกำพร้าอย่างกระผมใครจักบวชให้.
พระเถระกล่าวว่า เราจักบวชให้.
เขากล่าวว่า สาธุ ท่านขอรับ โปรดอนุเคราะห์ให้กระผมบวชเถิด พระเถระจึงให้ของเคี้ยว ของบริโภคแก่เขาแล้วพาไปวิหาร อาบน้ำให้เอง ให้บรรพชา จนอายุครบจึงให้อุปสมบท ในตอนแก่ท่านมีชื่อว่า "โลสกติสสเถระ" เป็นพระไม่มีบุญ มีลาภน้อย เล่ากันว่า แม้ในคราวอสทิสทาน ท่านก็ไม่เคยได้ฉันเต็มท้อง ได้ขบฉันเพียงพอจะสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น เพราะเมื่อใครใส่บาตรท่านเพียงข้าวต้มกระบวยเดียว บาตรก็ปรากฏเหมือนเต็มเสมอขอบแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น คนทั้งหลายก็สำคัญว่า บาตรของภิกษุรูปนี้เต็มแล้ว เลยถวายองค์หลังๆ บางอาจารย์กล่าวว่า ในเวลาถวายยาคูในบาตรของท่าน ข้าวยาคูในภาชนะของคนทั้งหลายก็หายไป ดังนี้ก็มี แม้ในปัจจัยอื่นมีของควรเคี้ยว เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน โดยสมัยต่อมาท่านเจริญวิปัสสนา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 5
แม้จะดำรงในพระอรหัต อันเป็นผลชั้นยอด ก็ยังคงมีลาภน้อย ครั้นเมื่ออายุสังขารของท่านล่วงโรยทรุดโทรมลงโดยลำดับ ก็ถึงวันเป็นที่ปรินิพพาน.
ท่านพระธรรมเสนาบดี คำนึงอยู่ ก็รู้ถึงการปรินิพพานของท่าน จึงดำริว่า วันนี้พระโลสกติสสเถระนี้ จักปรินิพพาน ในวันนี้เราควรให้อาหารแก่เธอจนพอ ดังนี้แล้ว พาท่านเข้าไปเมืองสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต เพราะพาท่านไปด้วย พระเถระเลยไม่ได้แม้เพียงการยกมือไหว้ ในเมืองสาวัตถีอันมีคนมากมาย พระเถระจึงกล่าวว่า อาวุโส เธอจงไปนั่งคอยอยู่ที่โรงฉันเถิด ดังนี้แล้วส่งท่านกลับ พอพระเถระมาจากที่นั้นเท่านั้น พวกมนุษย์ก็พูดกันว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว นิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะ ให้ฉันภัตตาหาร พระเถระก็ส่งอาหารที่ได้แล้วนั้นไป โดยกล่าวกับคนเหล่านั้นว่า พวกเธอจงให้ภัตรนี้แก่พระโลสกติสสเถระ คนที่รับภัตรนั้นไป ก็ลืมพระโลสกติสสเถระ พากันกินเสียเรียบ จนเวลาที่พระเถระเดินไปถึงวิหาร พระโลสกติสสเถระก็ไปนมัสการพระเถระ พระเถระหันกลับมายืนถามว่า อาวุโส คุณได้อาหารแล้วหรือ ท่านตอบว่า ไม่ได้ดอกครับ พระเถระถึงความสลดใจ ดูเวลา กาลก็ยังไม่ล่วงเลย พระเถระจึงกล่าวว่า ช่างเถิดผู้มีอายุ คุณจงนั่งอยู่ที่เดิมนั่นแหละ ครั้นให้พระโลสกติสสเถระนั่งรอในโรงฉันแล้ว ก็ไปสู่พระราชวังของพระเจ้าโกศล พระราชารับสั่งให้รับบาตรของพระเถระ ทรงกำหนดว่า มิใช่กาลแห่งภัตร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 6
จึงรับสั่งให้ถวายของหวาน ๔ อย่าง จนเต็มบาตร พระเถระรับบาตรกลับไปถึง จึงเรียกพระโลสกติสสเถระว่า มาเถิด ผู้มีอายุติสสะ ฉันของหวาน ๔ อย่างนี้เถิด แล้วถือบาตร ยืนอยู่ ท่านพระโลสกติสสเถระยำเกรงพระเถระจะไม่ฉัน ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะท่านว่า มาเถิดน่า ท่านผู้มีอายุติสสะ ผมจะยืนถือบาตรไว้ คุณจงนั่งฉัน ถ้าผมปล่อยบาตรจากมือ บาตรต้องไม่มีอะไร ลำดับนั้น ท่านพระโลสกติสสเถระ เมื่อพระธรรมเสนาบดีผู้เป็นอัครสาวกยืนถือบาตรไว้ให้ จึงนั่งฉันของหวาน ๔ อย่าง ของหวาน ๔ อย่างนั้น ไม่ถึงความหมดสิ้น ด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ของพระเถระ พระโลสกติสสเถระฉันจนเต็มความต้องการ ในเวลานั้น ในวันนั้นเองท่านก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับในสำนักของท่าน ทรงรับสั่งให้กระทำการปลงสรีระ เก็บเอาธาตุทั้งหลาย ก่อพระเจดีย์บรรจุไว้.
ในเวลานั้น ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา นั่งสนทนากันว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ท่านพระโลสกติสสเถระ มีบุญน้อย มีลาภน้อย อันผู้มีบุญน้อย มีลาภน้อย เห็นปานดังนี้ บรรลุอริยธรรมได้อย่างไร พระบรมศาสดาเสด็จไปธรรมสภา มีพระดำรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอประชุมกันด้วยเรื่องอะไรเล่า เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โลสกติสสะผู้นี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 7
ได้ประกอบกรรม คือความเป็นผู้มีลาภน้อย และความเป็นผู้ได้อริยธรรมของตน ด้วยตนเอง เนื่องด้วยครั้งก่อนเธอกระทำอันตรายลาภของของผู้อื่น จึงเป็นผู้มีลาภน้อย เป็นผู้บรรลุอริยธรรมได้ด้วยผลที่บำเพ็ญวิปัสสนา คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่ง อาศัยกุฎุมพีผู้หนึ่งอยู่ในอาวาสประจำหมู่บ้าน เป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา ครั้งนั้น มีพระขีณาสพองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มาถึงบ้านที่อยู่ของกุฎุมพีผู้อุปัฏฐากภิกษุนั้นโดยลำดับ กุฎุมพีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระเถระ จึงรับบาตร นิมนต์เข้าสู่เรือน ให้ฉันภัตตาหารโดยเคารพ สดับพระธรรมกถาเล็กน้อย แล้วไหว้พระเถระ กล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นิมนต์พระคุณเจ้าไปสู่วิหารใกล้บ้านของกระผมก่อนเถิด ต่อเวลาเย็น พวกกระผมจึงจะไปเยี่ยม พระเถระจึงไปสู่วิหาร นมัสการพระเถระเจ้าอาวาส ทักถามกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านเจ้าอาวาสก็ทำปฏิสันถารกับท่าน แล้วถามว่า ผู้มีอายุ คุณได้รับภัตตาหารแล้วหรือ.
ท่านตอบว่า ได้แล้วครับ.
เจ้าอาวาสถามว่า คุณได้ที่ไหนเล่า.
ท่านตอบว่า ได้ที่เรือนกุฎุมพีใกล้ๆ วิหารนี้แหละ.
ครั้นบอกอย่างนี้แล้ว ก็ถามถึงเสนาสนะของตน จัดแจงปัดกวาด เก็บบาตรจีวรไว้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 8
เรียบร้อย พลางก็นั่งระงับยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌาน ด้วยความสุขในผลสมาบัติ พอเวลาเย็น กุฎุมพีก็ให้คนถือเอาพวงดอกไม้และน้ำมันเติมประทีปไปวิหาร นมัสการพระเถระเจ้าอาวาส แล้วถามว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ มีพระเถระอาคันตุกะ มาพักรูปหนึ่งมิใช่หรือ ท่านตอบว่า จ้ะ มีมาพัก คฤหบดีถามว่า เดี๋ยวนี้ท่านพักอยู่ที่ไหนขอรับ ตอบว่า ที่เสนาสนะโน้น กุฎุมพีไปสู่สำนักของท่าน นั่ง ณ ที่สมควร ฟังธรรมกถาจนถึงค่ำ จึงบูชาพระเจดีย์และต้นโพธิ์ จุดประทีปสว่างไสวแล้ว นิมนต์ภิกษุทั้งสองให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น แล้วกลับไป ฝ่ายพระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสคิดว่า กุฎุมพีนี้ ถูกพระอาคันตุกะยุให้แตกกับเราเสียแล้ว ถ้าเธอจักอยู่ในวิหารนี้ไซร้ ที่ไหนกุฎุมพีจะนับถือเรา เกิดความไม่พอใจในพระเถระ คิดว่า เราควรแสดงอาการ ไม่ให้เธอยู่ในวิหารนี้ ดังนี้แล้ว ในเวลาที่ท่านมาปรนนิบัติ ก็ไม่พูดด้วย พระเถระขีณาสพ ทราบอัธยาศัยของภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสแล้วคำนึงว่า พระเถระนี้ไม่ได้ทราบถึงการที่เราไม่มีความห่วงใยในตระกูล ในลาภ หรือในหมู่ แล้วกลับไปที่อยู่ของตน ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌานและความสุขในผลสมาบัติ ถึงวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาสก็ตีระฆังด้วยหลังเล็บ เคาะประตูด้วยเล็บ แล้วไปสู่เรือนของกุฎุมพี กุฎุมพีรับบาตร นิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระอาคันตุกะเถระไปไหนเสียเล่า ท่านเจ้าอาวาสตอบว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 9
ฉันไม่ทราบความประพฤติของพระผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของคุณ ฉันตีระฆัง เคาะประตู ก็ไม่อาจปลุกให้ตื่นได้ เมื่อวานฉันโภชนะอันประณีตในเรือนของคุณแล้ว คงอิ่มอยู่จนวันนี้ บัดนี้ก็ยังนอนหลับอยู่นั่นเอง เมื่อท่านจะเลื่อมใส ก็เลื่อมใสในภิกษุผู้มีสภาพเห็นปานนี้ทีเดียว ฝ่ายพระเถระผู้ขีณาสพ กำหนดเวลาภิกษาจารของตนแล้ว ก็ชำระสรีระของตนแล้ว ทรงบาตรจีวร เหาะไปในอากาศ (แต่) ได้ไปเสียในที่อื่น.
กุฎุมพีนิมนต์พระเถระเจ้าอาวาส ฉันข้าวปายาสที่ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวดแล้ว รมบาตรด้วยของหอม ใส่ข้าวปายาสจนเต็ม แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเถระนั้น เห็นจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า พระคุณเจ้าจงนำข้าวปายาสนี้ไปให้ท่านด้วยเถิด แล้วถวายบาตรไป พระเถระเจ้าอาวาสไม่ห้ามเสียทันที คงรับบาตรมา เดินไปคิดไป ถ้าภิกษุนั้นได้ข้าวปายาสนี้ไซร้ ถึงเราจะจับคอฉุดให้ไป ก็จักไม่ไป ก็ถ้าเราจักให้ข้าวปายาสนี้แก่มนุษย์ กรรมของเราก็จักปรากฏ หากเททิ้งลงในน้ำเล่า เนยใสก็จักปรากฏเหนือน้ำได้ ถ้าทิ้งบนแผ่นดิน ฝูงกาจักรุมกันกิน กรรมของเราก็จักปรากฏ ควรทิ้งข้าวปายาสนี้ ที่ไหนดีหนอ เห็นนากำลังไหม้อยู่แห่งหนึ่ง ก็คุ้ยถ่านขึ้น เทข้าวปายาสลงไป กลบด้วยก้อนถ่าน แล้วจึงไปวิหาร ครั้นไม่เห็นภิกษุรูปนั้น จึงคิดได้ว่า ชะรอยภิกษุนั้นจักเป็นพระขีณาสพ รู้อัธยาศัยของเราแล้ว จักไปเสียที่อื่นเป็นแน่ โอ เพราะท้องเป็นเหตุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 10
เราทำกรรมไม่สมควรเลย ทันใดนั้นเอง ความเสียใจอย่างใหญ่หลวงก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น จำเดิมแต่วันนั้นไปทีเดียว ท่านก็กลายเป็นมนุษย์เปรต อยู่มาไม่นาน ก็ตายไปเกิดในนรก.
ภิกษุนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี เศษของผลกรรม ยังนำให้ไปเกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวันเดียว (จนถึงวันจะตายจึงได้กินอิ่ม) คือได้กินรกคนเต็มท้องอยู่วันหนึ่ง (ถัดจากเกิดเป็นยักษ์) ก็ไปเกิดเป็นหมา ๕๐๐ ชาติ แม้ในกาลที่เป็นหมานั้น ก็ได้กินรากเต็มท้องวันเดียวเท่านั้น ส่วนในกาลที่เหลือไม่เคยได้กินเต็มท้องเลย ตลอดเวลาที่เป็นหมา ๕๐๐ ชาติ จุติจากเกิดเป็นหมา ก็มาเกิดในตระกูลคนเข็ญใจตระกูลหนึ่ง ในแคว้นกาสี ตั้งแต่วันที่เขาเกิด ตระกูลนั้นก็ยิ่งยากจนหนักลงไปทีเดียว แม้แต่น้ำและปลายข้าวครึ่งท้อง ก็ไม่เคยได้ เขาได้มีนามว่า มิตตพินทุกะ พ่อแม่ของเขาไม่สามารถจะทนทุกข์อันเกิดแต่ความอดอยากได้ ก็พูดว่า ไปเถิด อ้ายลูกกาลกรรณี ไล่ตีเขาให้ออกไป มิตตพินทุกะไม่มีที่พำนัก ท่องเที่ยวไปจนถึงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มาณพ ๕๐๐ ในเวลานั้น ชาวเมืองพาราณสีให้ทุนแก่คนเข็ญใจ ให้ศึกษาศิลปะ แม้เด็กมิตตพินทุกะนี้ ก็ได้ศึกษาศิลปะในสำนักของพระโพธิสัตว์ มิตตพินทุกะเป็นเด็กหยาบคาย ไม่เชื่อฟังโอวาท เที่ยวชกต่อย เกะกะไป แม้พระโพธิสัตว์จะสั่งสอนก็ไม่เชื่อฟังโอวาท อาศัยเหตุนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 11
ความเจริญเติบโตของเขาจึงเป็นความโง่เขลา ครั้งนั้น เขาเกิดทะเลาะกับพวกเด็กๆ ทั้งไม่เชื่อฟังคำสอน เลยหนีเที่ยวไปถึงบ้านชายแดนตำบลหนึ่ง รับจ้างเขาเลี้ยงชีวิต เขาได้เสียกับหญิงเข็ญใจคนหนึ่งในหมู่บ้านนั้น นางเกิดบุตรกับเขา ๒ คน พวกชาวบ้านได้มอบงานส่งข่าวให้ทำว่า เจ้าพึงบอกข่าวดี ข่าวร้ายแก่พวกเรา ให้ค่าจ้างและปลูกกระท่อมให้อยู่ที่ประตูบ้าน ก็เพราะอาศัยมิตตพินทุกะนั้น เป็นต้นเหตุให้พวกชาวบ้านชายแดนนั้นถูกราชทัณฑ์เจ็ดครั้ง ไฟไหม้บ้านเจ็ดครั้ง บ่อน้ำพังเจ็ดครั้ง พวกเขาจึงปรึกษากันว่า แต่ก่อนเมื่อมิตตพินทุกะผู้นี้ยังไม่มา พวกเราไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้เลย บัดนี้นับแต่มิตตพินทุกะมาอยู่แล้ว พวกเราแย่ลงไปตามๆ กัน จึงช่วยกันรุมตี ขับเขาออกไป เขาก็พาลูก ๒ คน (และเมีย) ไปที่อื่น ผ่านเข้าไปสู่ดงที่อมนุษย์ยึดครองแห่งหนึ่ง พวกอมนุษย์รุมกันจับลูกและเมียของเขาฆ่า กินเนื้อเสียในดงนั้นเอง.
ตัวเขาเองหนีรอดไปได้ ท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ลุถึงท่าเรือแห่งหนึ่งชื่อ คัมภีระ ประจวบเป็นวันที่เขาจะปล่อยเรือทีเดียว ก็สมัครเป็นกรรมกรลงเรือไป เรือแล่นไปในสมุทรได้ ๗ วัน ถึงวันที่ ๗ หยุดอยู่กลางทะเล เหมือนใครมาฉุดดึงไว้ ชาวเรือเหล่านั้นก็จับสลากกาลกรรณีกัน สลากกาลกรรณีตกถึงมิตตพินทุกะคนเดียวถึงเจ็ดครั้ง พวกชาวเรือจึงโยนลูกบวบไม้ไผ่ให้เขาแพหนึ่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 12
แล้วช่วยกันจับมือมิตตพินทุกะโยนลงทะเลเสีย พอโยนมิตตพินทุกะลงทะเลแล้ว เรือก็แล่นต่อไปได้.
มิตตพินทุกะนอนเหนือแพไม้ไผ่ลอยไปในทะเล ด้วยผลที่ได้รักษาศีลไว้ในศาสนาของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้พบเทพธิดา ๔ นาง อันอยู่ในวิมานแก้วผลึกหลังหนึ่งในทะเล เสวยสุขสำราญอยู่ในสำนักเทพธิดาเหล่านั้นตลอด ๗ วัน. ก็นางเหล่านั้นเป็นเปรตมีวิมานอยู่ เสวยสุขได้ ๗ วัน เสวยทุกข์ ๗ วัน หมุนเวียนไป เมื่อนางจะไปเสวยทุกข์ ๗ วัน ก็สั่งมิตตพินทุกะไว้ว่า ท่านจงอยู่ที่นี้ อย่าไปไหน จนกว่าพวกฉันจะมา แล้วก็พากันไป ครั้นนางพากันไปแล้ว มิตตพินทุกะก็ลงนอนในแพไม้ไผ่ ลอยต่อไปข้างหน้า ได้เทพธิดา ๘ นางในวิมานเงิน เทพธิดาเหล่านั้น ก็เป็นเปรตมีวิมานเช่นเดียวกัน มิตตพินทุกะลอยต่อไป ได้เทพธิดา ๑๖ นางในวิมานแก้วมณี แล้วก็ลอยต่อไป ได้เทพธิดา ๓๒ นางในวิมานทอง เขามิได้ฟังคำของเทพธิดาเช่นเดียวกัน จึงลอยต่อไปข้างหน้า ก็ได้พบเมืองยักษ์เมืองหนึ่งอยู่ในระหว่างเกาะ ในเมืองนั้น มียักษินีตนหนึ่ง แปลงกายเป็นแม่แพะเที่ยวอยู่ มิตตพินทุกะไม่ทราบว่าแม่แพะเป็นยักษินี คิดแต่ว่าเราจักกินเนื้อแพะ โดดจับมันที่เท้า นางยักษ์ก็ยกมิตตพินทุกะขึ้นสลัดไปด้วยอานุภาพของยักษ์ มิตตพินทุกะถูกนางยักษ์สลัดข้ามทะเลไป ตกที่พุ่มไม้หนามพุ่มหนึ่ง ข้างคูเมืองพาราณสี แล้วก็กลิ้งตกลงไปที่แผ่นดิน ก็ในครั้งนั้นแม่แพะของพระราชาหลายตัว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 13
เที่ยวหากินอยู่เหนือคันคูนั้น ถูกพวกโจรลักไป พวกคนเลี้ยงคิดกันว่า พวกเราต้องจับโจรให้ได้ พากันซุ่มอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง มิตตพินทุกะกลิ้งตกลงมายืนอยู่ที่พื้นดินได้แล้ว เห็นแม่แพะเหล่านั้นก็คิดว่า เราจับแม่แพะตัวหนึ่งในเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเล ถูกมันดีดกระเด็นมาตกที่นี้ คราวนี้ ถ้าเราจับแม่แพะตัวหนึ่งที่เท้า มันคงดีดเรากระเด็นกลับไปถึงสำนักเทพธิดาผู้มีวิมานอยู่ในทะเลดังก่อน เขาเข้าใจเอาเองอย่างนี้ โดยไม่ไตร่ตรองให้แยบคาย ดังนี้แล้วก็โดดจับแม่แพะตัวหนึ่งที่เท้า พอมันถูกเขาจับเท้าเท่านั้น ก็ร้องเอ็ดอึง พวกคนเลี้ยงแพะก็พากันกรูเข้ามาโดยรอบ ต่างร้องว่า คอยมานานแล้ว ไอ้ขโมยกินแม่แพะในราชสกุลนี้ ไอ้นี่เอง ดังนี้แล้วรุมซ้อม แล้วจับมัดพาไปสู่พระราชวัง ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์แวดล้อมไปด้วยมาณพ ๕๐๐ ออกจากเมือง ไปอาบน้ำ เห็นมิตตพินทุกะก็จำได้ จึงพูดกะคนเหล่านั้นว่า พ่อคุณทั้งหลาย คนผู้นี้เป็นลูกศิษย์ของเรา พวกท่านจับเขาเพราะเหตุไร คนเหล่านั้นตอบว่า พระคุณท่านขอรับ เขาเป็นคนร้ายขโมยแม่แพะของหลวง จับแม่แพะตัวหนึ่งที่เท้า เหตุนั้น พวกผมจึงจับเขา พระโพธิสัตว์ขอร้องว่า ถ้าเช่นนั้นจงให้เขาเป็นทาสของพวกเราเถิด เขาจักได้อาศัยพวกเราเลี้ยงชีวิตไป คนเหล่านั้นรับคำว่า ดีแล้วขอรับ พระคุณท่าน พลางปล่อยเขา แล้วก็พากันไป ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ จึงไต่ถามมิตตพินทุกะว่า ตลอดเวลาที่หายหน้าไปนั้น เจ้าไปอยู่ที่ไหนเล่า มิตตพินทุกะก็เล่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 14
เรื่องที่ตนกระทำทั้งหมดให้ฟัง พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า คนที่ไม่กระทําตามถ้อยคำของผู้ที่หวังดี ย่อมได้ทุกข์อย่างนี้ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.
"บุคคลผู้ใด เมื่อท่านผู้หวังดี เอ็นดูจะเกื้อกูล สั่งสอน มิได้กระทำตามที่ท่านสอน บุคคลนั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนมิตตพินทุกะ จับขาแพะแล้วเศร้าโศกอยู่ฉะนั้น" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถกามสฺส ความว่า ผู้ปรารถนาอยู่ซึ่งความเจริญ.
บทว่า หิตานุกมฺปิโน ความว่า ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล.
บทว่า โอวชฺชมาโน ความว่า ตักเตือนสั่งสอนอยู่ ด้วยจิตอันอ่อนโยน.
บทว่า น กโรติ สาสนํ ความว่า ไม่กระทำตามคำสั่งสอน คือเป็นคนว่ายาก ว่ากล่าวไม่ได้.
บทว่า มิตฺตโก วิย โสจติ ความว่า ผู้นั้นย่อมเศร้าโศกตลอดกาลเป็นนิตย์ เหมือนมิตตพินทุกะผู้นี้ จับขาแพะแล้ว ย่อมเศร้าโศก คือลำบากอยู่ฉะนั้น พระโพธิสัตว์แสดงธรรมด้วยคาถานี้ ซึ่งมีอรรถาธิบายดังพรรณนามานี้.
พระเถระนั้น เคยได้อาหารเต็มท้องในอัตภาพทั้ง ๓ อย่างนี้ คือครั้งเป็นยักษ์ได้กินรกอิ่มวันหนึ่ง ครั้งเป็นหมาได้กิน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 15
อาเจียนอิ่มวันหนึ่ง ครั้งสุดท้ายในวันปรินิพพาน ได้ฉันของหวาน ๔ อย่างอิ่มด้วยอานุภาพของพระธรรมเสนาบดี ขึ้นชื่อว่าการกระทำอันตรายแก่ลาภของผู้อื่น พึงทราบว่า มีโทษใหญ่หลวงอย่างนี้.
ก็พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์และมิตตพินทุกะในครั้งนั้น ก็ไปตามกรรม.
พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระโลสกติสสเถระนั้น ได้กระทำความเป็นคนมีลาภน้อยและความเป็นผู้ได้อริยธรรมให้แก่ตน ด้วยตนเองอย่างนี้แล ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า มิตตพินทุกะในกาลนั้น ได้มาเป็นพระโลสกติสสเถระในกาลนี้ อาจารย์ทิศาปาโมกข์ในกาลนั้น คือเราตถาคตฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาโลสกชาดกที่ ๑