๒. กโปตกชาดก ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย
56. [เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 16
๒. กโปตกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 16
๒. กโปตกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย
[๔๒] "ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความฉิบหาย เศร้าโศกอยู่ เหมือนกาไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึกฉะนั้น".
จบ กโปตกชาดกที่ ๒
อรรถกถากโปตกชาดกที่ ๒
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ปรารภภิกษุผู้มีนิสัยโลเลรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น "โย อตฺถกามสฺส" ดังนี้.
เรื่องความโลเลของภิกษุนั้น จักแสดงอย่างพิสดารในกากชาดก นวกนิบาต.
ก็ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายนำภิกษุนั้นมา กราบทูลพระศาสดาว่า พระเจ้าข้า ภิกษุนี้ มีนิสัยโลเล ลำดับนั้น พระบรมศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า จริงหรือภิกษุ ที่เขาว่าเธอมีนิสัยโลเล ภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในครั้งก่อน เธอก็เป็นคนโลเล สิ้นชีวิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 17
เพราะความโลเลของตน แม้บัณฑิตผู้อาศัยเธอ ก็ต้องพลัดพรากจากที่อยู่ไปด้วย แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกพิราบ ในครั้งนั้น ชาวเมืองพาราณสีพากันแขวนกระเช้าหญ้า ไว้ในที่นั้นๆ เพื่อให้ฝูงนกอาศัยอยู่อย่างสบาย เพราะความเป็นผู้ใคร่บุญใคร่กุศล ในครั้งนั้น แม้พ่อครัวของท่านเศรษฐีกรุงพาราณสี ก็แขวนกระเช้าหญ้าไว้ภายในโรงครัวกระเช้าหนึ่งเหมือนกัน นกพิราบพระโพธิสัตว์ได้เข้าอยู่ในกระเช้านั้น รุ่งเช้าก็บินออกเที่ยวหากิน ต่อเย็นจึงบินกลับมาหลับนอนในโรงครัวนั้นเป็นดังนี้ตลอดกาล อยู่มาวันหนึ่ง กาตัวหนึ่งบินข้ามโรงครัวไป สูดกลิ่นตลบอบอวนของรสเปรี้ยว รสเค็มและปลาเนื้อ ก็เกิดความโลภขึ้น คิดว่า จักอาศัยใครหนอ จึงจักได้ปลาและเนื้อนี้ คิดแล้วก็จับอยู่ ณ ที่ไม่ไกล คอยสอดส่ายหาลู่ทาง พอเย็นก็เห็นนกพระโพธิสัตว์ บินมา แล้วเข้าไปสู่โรงครัว ก็เลยได้คิดว่า ต้องอาศัยนกพิราบนี้ ถึงจักได้กินเนื้อ ครั้นรุ่งขึ้น ก็บินมาแต่เช้า ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ บินออกไปหากิน ก็บินตามไปข้างหลังๆ ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวกะกาว่า สหาย เหตุไรท่านจึงเที่ยวบินตามเรา กาตอบว่า นาย ข้าพเจ้าชอบใจกิริยาของท่าน ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าขอปรนนิบัติท่าน พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พวกท่านมีอาหารอย่างหนึ่ง พวกเรามีอาหารอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน การปรนนิบัติ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 18
ของพวกท่าน ท่านกระทำได้ยาก กาตอบว่า นาย เวลาท่านบินไปหากิน ข้าพเจ้าก็บินไปหากิน บินไปกับท่าน พระโพธิสัตว์กล่าว ดีแล้ว ขอท่านพึงเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างเดียว พระโพธิสัตว์กล่าวสอนกาอย่างนี้แล้ว ก็เที่ยวแสวงหาอาหาร กินอาหารมีพืชพรรณติณชาติ เป็นต้น ก็ในเวลาที่พระโพธิสัตว์กำลังหากิน กาก็บินไปพบกองขี้วัวจึงคุ้ย แล้วจิกกินตัวหนอน พอเต็มกระเพาะ ก็มาสู่สำนักพระโพธิสัตว์ พลางกล่าวว่า นาย ท่านเที่ยวเกินเวลา การทำตนให้ได้นามว่า เป็นผู้ตะกละตะกลามหาควรไม่ ดังนี้แล้วเข้าไปสู่โรงครัวพร้อมกับพระโพธิสัตว์ ผู้หาอาหารกินแล้วก็บินมาในเวลาเย็น พ่อครัวกล่าวว่า นกพิราบของเรา พาตัวอื่นมา ดังนี้แล้วก็แขวนกระเช้าให้กาบ้าง ตั้งแต่นั้นก็อยู่ด้วยกัน เป็นสองตัว.
อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งหลายนำปลาและเนื้อมาให้ท่านเศรษฐีเป็นจำนวนมาก พ่อครัวก็รับมาแขวนไว้ในโรงครัว กาเห็นแล้ว ก็เกิดความโลภ คิดในใจว่า พรุ่งนี้เราไม่หากินละ จะกินปลาและเนื้อนี้แหละ แล้วก็นอนแซ่วอยู่ตลอดทั้งคืน รุ่งเช้า พระโพธิสัตว์จะไปหากิน ก็เรียกว่า มาเถิดกาผู้เป็นสหาย กาตอบว่า นาย ท่านไปเถิด ข้าพเจ้ากำลังปวดท้อง พระโพธิสัตว์กล่าวว่า สหายเอ๋ย ธรรมดาโรคปวดท้องไม่เคยเป็นแก่พวกกาเลย แต่ไหนแต่ไรมา ในยามทั้ง ๓ ตลอดราตรี กาย่อมหิวทุกๆ ยาม ถึงจะกลืนกินไส้ประทีปเข้าไป กาก็จะอิ่มอยู่ชั่วครู่หนึ่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 19
ชะรอยท่านจักอยากกินปลาและเนื้อนี้ มาเถิด ขึ้นชื่อว่าของกินของมนุษย์เป็นของที่พวกท่านไม่ควรกิน อย่าทำเช่นนี้เลย ไปหากินด้วยกันกับเราเถิด กาตอบว่า นาย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะไปได้ พระโพธิสัตว์จึงเตือนว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจักต้องรับสนองกรรมของตน ท่านอย่าลุอำนาจความโลภ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้วก็บินไปหากิน พ่อครัวก็ปรุงอาหารต่างๆ ชนิด ด้วยปลาและเนื้อ มีประการต่างๆ เสร็จแล้วก็เปิดภาชนะไว้หน่อยหนึ่ง เพื่อให้ไอระเหยไปให้หมด วางกระชอนไว้บนภาชนะอีกทีหนึ่ง แล้วก็ออกไปข้างนอก ยืนเช็ดเหงื่ออยู่ ขณะนั้นกาก็โผล่ศีรษะขึ้นมาจากกระเช้า มองดูโรงครัวทั่วไป รู้ว่าพ่อครัวออกไปข้างนอก จึงคิดว่า บัดนี้ความปรารถนาของเราสมประสงค์แล้ว เราอยากจะกินเนื้อ จะกินเนื้อชิ้นใหญ่หรือเนื้อชิ้นเล็กดีหนอ ครั้นแล้วก็เล็งเห็นว่า ธรรมดาเนื้อชิ้นเล็กๆ เราไม่อาจกินให้เต็มกระเพาะได้รวดเร็ว เราจะต้องคว้าก้อนใหญ่ๆ มาทิ้งไว้ในกระเช้า นอนขยอกจึงจะดี แล้วก็โผออกจากกระเช้า ลงไปแอบอยู่ใกล้กระชอน เสียงกระชอนดังกริ๊กๆ พ่อครัวฟังเสียงนั้นแล้วนึกว่า นั่นเสียงอะไรหนอ กลับเข้าไปดู เห็นกา แล้วก็ดำริว่า การะยำตัวนี้มุ่งจะกินเนื้อทอดของมหาเศรษฐี ก็ตัวเราต้องอาศัยท่านเศรษฐีเลี้ยงชีวิต มิใช่อาศัยกาพาลตัวนี้ จะเอามันไว้ไย แล้วปิดประตู ต้อนจับกาได้ ถอนขนเสียหมดตัว เอาขิงสดโขลกเคล้ากับเกลือป่น คลุกกับเนยเปรี้ยวทาจนทั่วตัว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 20
กานั้น แล้วเหวี่ยงลงไปในกระเช้าของมัน กาเจ็บแสบแสนสาหัส นอนหายใจแขม่วอยู่ ครั้นเวลาเย็นพระโพธิสัตว์บินกลับมา เห็นกาประสบความฉิบหาย จึงพูดว่า ดูก่อนเจ้ากาโลเล เจ้าไม่เชื่อฟังคำของเรา อาศัยความโลภของเจ้าเป็นเหตุ จึงต้องประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.
"บุคคลใด เมื่อท่านผู้หวังดีมีความเอ็นดูจะเกื้อกูล กล่าวสอนอยู่ มิได้กระทำตามคำสอน บุคคลนั้นจะต้องนอนระทมเหมือนกาไม่กระทำตามถ้อยคำของนกพิราบ ตกไปในเงื้อมมือของอมิตร นอนหายใจระทวยอยู่ ฉะนั้น" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโปตกสฺส วจนํ อกตฺวา ความว่า ไม่เชื่อฟังคำสอนที่มุ่งประโยชน์ของนกพิราบ.
บทว่า อมิตฺตหตฺถตฺถคโตว เสติ ความว่า บุคคลนั้นจึงถึงความวอดวายใหญ่หลวง นอนระทมอยู่ เหมือนกาตัวนี้ตกไปสู่เงื้อมมือของอมิตร คือบุคคลผู้จะกระทำความฉิบหายให้และก่อให้เกิดทุกข์.
พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้แล้ว คิดว่า บัดนี้เราก็ไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ จึงบินไปอยู่ที่อื่น แม้กาก็สิ้นชีวิตอยู่ในกระเช้านั้นเอง พ่อครัวจึงเอามันไปทั้งกระเช้า ทิ้งเสียที่กองขยะ.
แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นคนโลเล แม้ในปางก่อนก็เป็นผู้โลเลเหมือนกัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 21
ก็และถึงแม้บัณฑิตทั้งหลาย อาศัยความโลเลของเธอนั้น ก็ต้องพลอยออกจากที่อยู่ของตนไปด้วย ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ ในเวลาจบการประกาศอริยสัจ ภิกษุนั้น บรรลุอนาคามิผล พระบรมศาสดาทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า กาในครั้งนั้น เป็นภิกษุผู้โลเลในครั้งนี้ นกพิราบในครั้งนั้น คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากโปตกชาดกที่ ๒