๓. เวฬุกชาดก ว่าด้วยคนที่นอนตาย
56. [เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 22
๓. เวฬุกชาดก
ว่าด้วยคนที่นอนตาย
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 22
๓. เวฬุกชาดก
ว่าด้วยคนที่นอนตาย
[๔๓] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือนดาบสผู้เป็นบิดาของลูกงู ชื่อว่า "เวฬุก" ฉะนั้น.
จบ เวฬุกชาดกที่ ๓
อรรถกถาเวฬุชาดกที่ ๓
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มี คำว่า "โย อตฺถกามสฺส เป็นต้น.
มีเรื่องย่อๆ ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ จริงหรือ ที่ว่าเธอเป็นผู้ว่ายาก เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นคนว่ายาก แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน เพราะความที่เป็นคนว่ายากนั่นแหละ จึงไม่กระทำตามถ้อยคำของบัณฑิตทั้งหลาย แล้วถูกงูกัดตาย ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 23
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลที่มีสมบัติมากในแคว้นกาสี ครั้นถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ก็เล็งเห็นโทษในกามคุณ และอานิสงส์ในการออกบวช จึงละกามทั้งหลายแล้วเข้าป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี บำเพ็ญกสิณบริกรรม ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้ว ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขอันเกิดแต่ฌาน ในกาลต่อมา มีบริวารมาก มีดาบส ๕๐๐ แวดล้อม เป็นศาสดาของหมู่อยู่แล้ว ครั้งนั้นมีลูกอสรพิษตัวหนึ่ง เที่ยวเลื้อยไปตามธรรมดาของตน จนถึงอาศรมบทของดาบสรูปหนึ่ง ดาบสเห็นแล้วเกิดความรักมันเหมือนบุตร จึงจับมันเลี้ยงไว้ ให้นอนในกระบอกไม้ไผ่ปล้องหนึ่ง เพราะเหตุที่มันนอนในกระบอกไม้ไผ่ ดาบสทั้งหลายจึงให้ชื่อมันว่า "เวฬุกะ" และเพราะเหตุที่ดาบสนั้นเลี้ยงดูมันด้วยความรัก เหมือนมันเป็นบุตร ดาบสทั้งหลายจึงให้ชื่อว่า "เวฬุกบิดา" ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้ยินข่าวว่า ดาบสคนหนึ่งเลี้ยงอสรพิษ จึงเรียกมาถามว่า ข่าวว่าคุณเลี้ยงอสรพิษจริงหรือ เมื่อดาบสนั้นตอบว่า จริง ก็กล่าวเตือนว่า ขึ้นชื่อว่าอสรพิษ วางใจไม่ได้เลย คุณอย่าเลี้ยงมันนะ ดาบสตอบว่า ข้าแต่อาจารย์ มันเหมือนลูกของผม ผมไม่อาจพรากมันได้ พระโพธิสัตว์เตือนซ้ำว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจักต้องถึงตาย เพราะใกล้ชิดมันแน่นอน ดาบสนั้นไม่เชื่อถือถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ และไม่อาจปล่อยอสรพิษ ต่อจากนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 24
ล่วงมา ๒ - ๓ วันเท่านั้น ดาบสทั้งหมดพากันไปหาผลาผล ครั้นถึงที่แล้วก็เห็นว่า ผลาผลหาได้ง่าย เลยพักอยู่ในที่นั้นเอง ๒ - ๓ วัน แม้ดาบสเวฬุกบิดา เมื่อไปกับหมู่ดาบสนั้น ก็ให้อสรพิษนอนในปล้องไม้ ปิดไว้แล้วจึงไป ล่วงไป ๒ - ๓ วัน จึงกลับมาพร้อมกับหมู่ดาบส คิดว่า เราจะให้อาหารแก่เวฬุกะ เปิดกระบอกไม้ไผ่ แล้วพูดว่า มาเถิดลูก เจ้าหิวละซี พลางสอดมือเข้าไป อสรพิษโกรธ เพราะอดอาหารมาตั้ง ๒ - ๓ วัน จึงฉกมือที่สอดเข้าไป ทำให้ดาบสถึงสิ้นชีวิตอยู่ตรงนั้นเอง แล้วก็เลื้อยเข้าป่าไป ดาบสทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็บอกแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์สั่งให้ทำสรีรกิจของดาบสผู้เสียชีวิต แล้วนั่งท่ามกลางหมู่ฤาษี กล่าวคาถานี้สอนหมู่ฤาษี ความว่า.
"บุคคลใดเมื่อท่านผู้หวังดี มีความเอ็นดูจะเกื้อกูลกล่าวสอนอยู่ มิได้กระทำตามที่สั่งสอน บุคคลผู้นั้นย่อมถูกพิบัติกำจัดเสียนอนอยู่ เหมือนบิดาของงูเวฬุกะ นอนตายอยู่ฉะนั้น" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ โส นิหโต เสติ ความว่า ก็บุคคลใดไม่เชื่อคำสอนของฤาษีทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมถึงความพินาศใหญ่หลวง ถูกพิบัติกำจัด นอนตายเหมือนดาบสผู้นี้ ถูกกำจัดให้ถึงความเปื่อยเน่า นอนตายคาปากอสรพิษ ฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 25
พระโพธิสัตว์กล่าวสอนหมู่ฤาษีอย่างนี้แล้ว อบรมพรหมวิหาร ๔ ให้เจริญแล้ว เมื่อสิ้นอายุ ก็ไปอุบัติในพรหมโลก.
แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นผู้ว่ายาก แม้ในกาลก่อนเธอก็เป็นผู้ว่ายากเหมือนกัน และเพราะความเป็นผู้ว่ายาก จึงต้องถึงความเน่าเปื่อย เพราะปากอสรพิษเป็นเหตุ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ดาบสเวฬุกบิดาในกาลนั้น เป็นภิกษุว่ายากในบัดนี้ บริษัทที่เหลือ คือพุทธบริษัท ศาสดาของคณะฤาษี คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาเวฬุกชาดกที่ ๓