พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อารามทูสกชาดก ฉลาดในสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีความสุข

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35423
อ่าน  499

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 33

๖. อารามทูสกชาดก

ฉลาดในสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีความสุข


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 33

๖. อารามทูสกชาดก

ฉลาดในสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีความสุข

[๔๖] "ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทราม ย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนลิงผู้รักษาสวน ฉันนั้น".

จบ อารามทูสกชาดกที่ ๖

อรรถกถาอารามทูสกชาดกที่ ๖

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภคนประทุษร้ายอุทยาน ในหมู่บ้านโกศลตำบลหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "น เว อนตฺถกุสเลน" ดังนี้.

ดังได้สดับมา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล ทรงบรรลุถึงหมู่บ้านตำบลหนึ่ง กุฎุมพีในหมู่บ้านนั้นผู้หนึ่ง นิมนต์พระตถาคตเจ้าให้ประทับนั่งในอุทยานของตน ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จเที่ยวไปในสวนนี้ ตามความพอพระทัยเถิด ภิกษุทั้งหลายก็พากันลุก ชวนนายอุทยานบาล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 34

(คนเฝ้าสวน) ไปเที่ยวอุทยาน เห็นที่โล่งเตียนแห่งหนึ่ง จึงถามนายอุทยานบาลว่า อุบาสก อุทยานนี้ ตอนอื่นมีต้นไม้ชะอุ่มร่มรื่น แต่ที่ตรงนี้ ไม่มีต้นไม้หรือกอไผ่อะไรเลย ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรหนอ นายอุทยานบาลตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าเจริญ ในเวลาปลูกสร้างอุทยานนี้ มีเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง เมื่อจะรดน้ำต้นไม้ ต้องถอนต้นไม้ที่เพิ่งปลูกในที่ตรงนี้ ขึ้นดูรากเสียก่อนแล้วจึงรดน้ำ ตามความสั้นยาวของรากเป็นประมาณ ต้นไม้ปลูกใหม่เหล่านั้น ก็เหี่ยวแห้งตายไม่เหลือ ด้วยเหตุนั้นที่ตรงนี้จึงโล่งเตียนไป ภิกษุทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว จึงกราบทูลเรื่องนั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กชาวบ้านคนนั้น มิใช่เพิ่งเป็นคนทำลายสวนในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยเป็นคนทำลายสวนเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พวกชาวเมืองป่าวร้อง การเล่นนักขัตฤกษ์ในพระนคร จำเดิมแต่กาลที่ได้ยินเสียงกลองประโคมในนักขัตฤกษ์ ชาวพระนครทั่วถ้วนล้วนพากันเที่ยวเล่นการนักขัตฤกษ์ไปมาสนุกสนาน ครั้งนั้น อุทยานของพระราชา มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นอันมาก คนเฝ้าสวนคิดว่า ในเมืองมีงานนักขัตฤกษ์เอิกเกริก เราบอกให้ลิงเหล่านี้มันรดน้ำต้นไม้ แล้วเราก็จักเล่นนักขัตฤกษ์ได้ แล้วก็ไปหาวานรตัวจ่าฝูง ถามว่า แนะวานรผู้เป็นจ่าฝูง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 35

ผู้เป็นสหาย อุทยานนี้ มีอุปการะเป็นอย่างมากแก่ท่านทั้งหลาย พวกท่านได้พากันขบเคี้ยวดอกผล และใบอ่อนในอุทยานนี้ บัดนี้ ในพระนครกำลังมีงานนักขัตฤกษ์เอิกเกริก เราจักไปเล่นงานนักขัตฤกษ์กับเขาบ้าง พวกท่านจงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่กำลังปลูกใหม่ๆ ในสวนนี้ ตลอดเวลาที่เรายังไม่มา จักได้ไหม วานร จ่าฝูง รับคำว่า ดีแล้ว พวกเราจักรดน้ำให้ นายอุทยานบาลก็กำชับว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงระมัดระวังอย่าประมาทนะ จัดหากระออมหนังและกระออมไม้สำหรับตักน้ำให้แก่พวกวานรแล้วก็ไป พวกวานรพากันถือกระออมหนังและกระออมไม้ จะไปรดน้ำต้นไม้ ครั้งนั้นวานรจ่าฝูง จึงพูดกะวานรด้วยกัน อย่างนี้ว่า วานรผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดาน้ำเป็นสิ่งพึงสงวน พวกท่านจักรดน้ำต้นไม้ต้องถอนต้นไม้ขึ้น ถอนขึ้นดูราก ต้นไหนรากหยั่งลึก ต้องรดน้ำให้มาก ต้นไหนรากหยั่งลงไม่ลึก รดแต่น้อย ภายหลังน้ำของเราจักหาได้ยาก พวกวานรต่างรับคำว่า ดีแล้ว พากันทำตามนั้น สมัยนั้น มีบุรุษฉลาดคนหนึ่ง เห็นพวกวานรในพระราชอุทยานเหล่านั้น พากันทำเช่นนั้น จึงกล่าวว่า แนะวานรทั้งหลาย เหตุไรพวกท่านจึงถอนต้นไม้อ่อนๆ ขึ้น แล้วรดน้ำตามประมาณรากอย่างนี้เล่า พวกวานรตอบว่า วานรผู้เป็นหัวหน้าสอนไว้อย่างนี้ บัณฑิตฟังคำนั้นแล้ว ดำริว่า อนาถหนอ ลิงโง่ ช่างไม่เฉลียวเสียเลย คิดว่าจักทำประโยชน์ กลับทำความพินาศไปเสียฉิบ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 36

"การประพฤติประโยชน์ โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ มิได้นำความสุขมาให้เลย คนโง่ๆ ทำประโยชน์เสื่อมเหมือนลิงเฝ้าสวน ฉะนั้น" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เว เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า อนตฺถกุสเลน ความว่า ผู้ฉลาดในการอันมิใช่ประโยชน์ คือในการอันมิใช่บ่อเกิดแห่งประโยชน์ หรือได้แก่ บุคคลผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ คือในเหตุอันเป็นบ่อเกิดแห่งประโยชน์.

บทว่า อตฺถจริยา ได้แก่ การทำความเจริญ.

บทว่า สุขาวหา ความว่า บุคคลผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์เห็นปานนี้ ไม่อาจบำเพ็ญประโยชน์ กล่าวคือความสุขทางกายและความสุขทางใจ ได้แก่ ไม่สามารถจะนำความสุขมาให้ได้.

เพราะเหตุไร.

เพราะเหตุว่า คนโง่ๆ ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไป ได้แก่ คนโง่ๆ คิดว่า เราจักบำเพ็ญประโยชน์ ก็ได้แต่ทำประโยชน์ให้เสียไป เขาย่อมทำแต่การอันหาประโยชน์มิได้ โดยส่วนเดียวเท่านั้น.

บทว่า กปิ อารามิโก ยถา ความว่า ลิงที่ได้รับหน้าที่ดูแลสวน ประกอบกิจการในสวน คิดว่า เราจักทำประโยชน์ ก็ทำได้แต่การอันหาประโยชน์มิได้เท่านั้น ฉันใด บุคคลผู้ไม่ฉลาดใน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 37

ประโยชน์ทั่วๆ ไป ก็ฉันนั้น ไม่อาจประพฤติประโยชน์ นำความสุขมาให้ใครได้ ได้แต่ยังประโยชน์นั้นแหละให้เสื่อมไปเท่านั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้น ติเตียนวานรจ่าฝูงด้วยคาถานี้แล้ว ก็พาบริษัทของตนออกจากสวนไปด้วยประการฉะนี้.

แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กชาวบ้านคนนี้ มิใช่จะเพิ่งประทุษร้ายสวนในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้ประทุษร้ายสวนมาแล้วเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า วานรจ่าฝูงในครั้งนั้น มาเป็นเด็กชาวบ้าน ผู้ทำลายสวนในบัดนี้ ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาอารามทูสกชาดกที่ ๖