พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุมเมธชาดก คนโง่ถูกบูชายัญ เพราะคนอธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35427
อ่าน  439

56. [เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 54

๑๐. ทุมเมธชาดก

คนโง่ถูกบูชายัญ เพราะคนอธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 54

๑๐. ทุมเมธชาดก

คนโง่ถูกบูชายัญ เพราะคนอธรรม

[๕๐] "เราได้บนไว้ต่อเทวดา ด้วยคนโง่เขลาหนึ่งพันคน บัดนี้เราจักต้องบูชายัญ เพราะคนอธรรมมีจำนวนมาก".

จบ ทุมเมธชาดกที่ ๑๐

อรรถกถาทุมเมธชาดกที่ ๑๐

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ทุมฺเมธานํ" ดังนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี แห่งพระราชาพระองค์นั้น ครั้นประสูติจากพระครรภ์พระมารดาแล้ว พระประยูรญาติได้ขนานพระนามให้ว่า "พรหมทัตกุมาร" พอมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ก็ได้ทรงศึกษาศิลปะในเมืองตักกสิลา ทรงเจนจบไตรเพท และทรงสำเร็จศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ต่อมาพระราชบิดา ทรงพระราชทาน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 55

ตำแหน่งอุปราชแก่พระองค์ ในครั้งนั้น ประชาชนในกรุงพาราณสี นับถือเทวดาเป็นมิ่งขวัญ พากันนอบนบเทวดา ฆ่าแพะ แกะ ไก่ และหมูเป็นต้นมากมาย กระทำการบวงสรวง ด้วยดอกไม้และของหอมนานาชนิด และด้วยเนื้อและโลหิต พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า บัดนี้ ประชาราษฎร์นับถือเทวดาเป็นมิ่งขวัญ พากันฆ่าสัตว์ มหาชนฝังใจในอธรรมถ่ายเดียวโดยมาก เราได้ราชสมบัติเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว จักไม่ให้สัตว์แม้สักตัวเดียวได้ลำบาก ต้องหาอุบายไม่ให้ใครๆ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้จงได้ อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงรถเสด็จออกจากพระนคร ทอดพระเนตรเห็นมหาชนชุมนุมกันที่ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ใครอยากได้สิ่งใดๆ ในบรรดาลูกชาย ลูกหญิง ยศและทรัพย์เป็นต้น ก็พากันบนในสำนักของเทวดาอันสิงอยู่ ณ ต้นไทรนั้น พระองค์จึงเสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินเข้าไปใกล้ต้นไทรนั้น ทรงบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ สรงสนาน กระทำประทักษิณต้นไม้เหมือนกับพวกที่ถือเทวดาเป็นมิ่งขวัญ บังคมเทวดาแล้ว เสด็จขึ้นทรงรถกลับเข้าพระนคร ตั้งแต่นั้นมา ก็เสด็จไปที่ต้นไม้นั้น ทุกๆ ขณะเวลาที่ว่าง ทรงทำการบูชาเหมือนเป็นผู้นับถือเทวดาเป็นมิ่งขวัญ ดังพรรณนามาแล้วนั่นแล โดยสมัยต่อมา พระราชบิดาสวรรคต พระองค์ก็ได้เสวยราชย์ ทรงเว้นอคติ ๔ ประการ ทรงประพฤติทศพิธราชธรรมเคร่งครัด ดำรงราชโดยธรรม ทรงพระดำริว่า มโนรถของเราถึงที่สุดแล้ว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 56

เราดำรงในราชสมบัติแล้ว แต่ข้อหนึ่งที่เราคิดไว้ครั้งก่อนนั้น ก็จะต้องให้ถึงที่สุดในบัดนี้ พลางมีพระราชกระแสเรียกพวกอำมาตย์และประชาชน มีพราหมณ์ คฤหบดีเป็นต้น มาประชุมกัน ตรัสประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านทราบกันไหมว่า เหตุใดเราจึงได้ราชสมบัติ ประชาชนพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทราบเกล้าฯ พระเจ้าข้า รับสั่งถามว่า เมื่อเราบูชาต้นไทรต้นโน้นด้วยของหอมเป็นต้น ประคองกระพุ่มมือนบไหว้อยู่ พวกท่านเคยเห็นหรือไม่เล่า กราบทูลว่า ขอเดชะ เคยเห็นพระเจ้าข้า พระองค์มีพระราชดำรัสต่อไปว่า ในครั้งนั้น เราตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าได้ราชสมบัติจักกระทำพลีกรรม เราได้ราชสมบัตินี้ด้วยอานุภาพของเทวดานั้น บัดนี้เราจักกระทำพลีกรรมแก่ท้าวเธอ พวกท่านอย่าชักช้าเลย พากันเตรียมพลีกรรมแก่เทวดาเป็นการเร็วเถิด พวกอำมาตย์เป็นต้น ทูลถามว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจักจัดสิ่งใดเล่าพระเจ้าข้า รับสั่งว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อเราบนเทวดา เราได้อ้อนวอนไว้ว่า ข้าพเจ้าจักฆ่าหมู่คนที่พากันประพฤติยึดถือกรรมแห่งคนทุศีล ๕ ประการ มีฆ่าสัตว์เป็นต้น และที่พากันประพฤติยึดถืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ในรัชกาลของข้าพเจ้า แล้วจักทำพลีกรรมด้วยลำไส้และเลือดเนื้อคนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นพวกท่านจงตีฆ้องประกาศไปว่า พระราชาของพวกเรา ครั้งดำรงพระยศเป็นอุปราชอยู่นั่นแล ทรงบนเทวดาไว้อย่างนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 57

ว่า ถ้าทรงครองราชสมบัติ จักให้ฆ่าคนที่ปรากฏว่าทุศีลในรัชกาลให้หมด แล้วกระทำพลีกรรม บัดนี้พระองค์มีพระราชประสงค์จะให้ฆ่าคนที่ประพฤติยึดถือกรรมของคนทุศีล ๕ ประการ ซึ่งเป็นคนทุศีลประมาณพันคน แล้วให้เอาเครื่องใน มีหัวใจเป็นต้นของคนเหล่านั้น ไปทรงกระทำพลีกรรมแก่เทวดา ชาวพระนครทั้งหลายจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงประกาศพระราชประสงค์ว่า คราวนี้นับแต่บัดนี้ไป เราจักต้องฆ่าคนที่ประพฤติกรรมของคนทุศีลให้ถึงพันคน บูชายัญ จึงจักพ้นจากการบน ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า.

"เราเข้าไปบนไว้ ถึงการบูชายัญด้วยคนโง่ๆ พันคน บัดนี้เล่า เราจักต้องบูชายัญละ คนที่ประพฤติอธรรมมีมากนัก" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุมฺเมธานํ สหสฺเสน ความว่า บุคคลชื่อว่า มีปัญญาทราม เพราะไม่รู้เลยว่า กรรมนี้ควรทำ กรรมนี้ไม่ควรทำ ก็หรือชื่อว่า โง่ เพราะประพฤติยึดถือในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ด้วยคนเขลาที่โง่เง่าไร้ปัญญาเหล่านั้น นับให้ได้พันคน.

บทว่า ยญฺโ เม อุปยาจิโต ความว่า เราได้เข้าไปหาเทวดา บนไว้ถึงการบูชายัญ ว่าจักบูชายัญอย่างนี้.

บทว่า อิทานิ โขหํ ยชิสฺสามิ ความว่า เรานั้นจักบูชายัญในบัดนี้ เพราะได้ครองราชสมบัติด้วยการบนนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 58

เพราะเหตุไร.

เพราะเดี๋ยวนี้ คนที่ประพฤติอธรรมมีมากนัก เพราะฉะนั้น ต้องจับเขาไปทำพลีกรรมเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว.

พวกอำมาตย์ฟังพระดำรัสของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็รับพระบรมราชโองการว่า ชอบด้วยเกล้าฯ พระเจ้าข้า แล้วเที่ยวตีกลองป่าวประกาศไปทั่วเมืองพาราณสี อันมีปริมณฑล ๑๒ โยชน์ ชาวประชาทั่วไป ฟังอาญาจากการตีกลองป่าวประกาศแล้ว จะหาคนที่ยึดถือทุศีลกรรมแม้เพียงข้อเดียวสักคนหนึ่งก็ไม่ได้ ด้วยกุสโลบายอันแนบเนียนนี้ ตลอดเวลาที่พระโพธิสัตว์ครองราชสมบัติอยู่ บุคคลที่กระทำกรรมในบรรดาทุศีลกรรม ๕ ประการ หรือ ๑๐ ประการ แม้เพียงข้อเดียว ก็ไม่ปรากฏเลย พระโพธิสัตว์มิได้ทรงให้บุคคลแม้เพียงคนเดียวลำบาก โปรดชาวแว่นแคว้นทั่วหน้าให้รักษาศีล แม้พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญบุญมีการให้ทานเป็นต้น ในเวลาสิ้นพระชนม์ ก็ทรงพาบริษัทของพระองค์ ไปแน่นเทวนครด้วยประการฉะนี้.

แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตประพฤติประโยชน์แก่โลก แม้ในกาลก่อน ก็ประพฤติแล้วเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า บริษัทในครั้งนั้น ได้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 59

มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนพระเจ้ากรุงพาราณสีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนั้นแล.

จบ อรรถกถาทุมเมธชาดกที่ ๑๐

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โลสกชาดก ๒. กโปตกชาดก ๓. เวฬุกชาดก ๔. มกสชาดก ๕. โรหิณีชาดก ๖. อารามทูสกชาดก ๗. วารุณิทูสกชาดก ๘. เวทัพพชาดก ๙. นักขัตตชาดก ๑๐. ทุมเมธชาดก.

จบ อัตถกามวรรคที่ ๕

จบ ปัณณาสก์ที่ ๑