พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. มหาสีลวชาดก ความสําเร็จเกิดจากความพยายาม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35428
อ่าน  513

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 60

๖. อาสิงสวรรค

๑. มหาสีลวชาดก

ความสําเร็จเกิดจากความพยายาม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 60

๖. อาสิงสวรรค

๑. มหาสีลวชาดก

ความสำเร็จเกิดจากความพยายาม

[๕๑] "บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ความมุ่งหมายไป กว่าจะสำเร็จผล ไม่ควรท้อถอย ดูเราเป็นตัวอย่าง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้อย่างนั้น".

จบ มหาสีลวชาดกที่ ๑

อรรถกถาอาสิงสวรรค

อรรถกถามหาสีลวชาดกที่ ๑

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อาสิํเสเถว ปุริโส" ดังนี้.

มีเรื่องย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่ว่า เธอเป็นผู้มีความเพียรย่อหย่อน ครั้นเธอรับว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบรรพชาในพระศาสนา อันนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้เห็นปานดังนี้แล้ว เหตุใดจึงย่อหย่อนความเพียรเสียเล่า ในกาลก่อนบัณฑิตทั้งหลาย แม้จะเสื่อมจากราชสมบัติ ก็ยังดำรงอยู่ในความเพียรของตนนั่นแล กลับทำยศแม้สลายไปแล้วให้เกิดขึ้นได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 61

แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสด็จอุบัติในคัพโภทรแห่งอัครมเหสีของพระราชา ในวันเฉลิมพระนาม พระประยูรญาติทั้งหลาย ได้ทรงตั้งพระนามว่า สีลวกุมาร พอมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ก็ทรงศึกษาศิลปะสำเร็จเสร็จทุกอย่าง ภายหลังพระราชบิดาสวรรคต ก็ดำรงราชได้รับเฉลิมพระนามว่า "มหาสีลวราช" ทรงประพฤติธรรม ทรงเป็นพระธรรมราชา พระองค์รับสั่งให้สร้างโรงทานไว้ ๖ โรง คือ ๔ โรงที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน ๑ โรงท่ามกลางพระนคร ๑ โรงที่ประตูพระราชวัง ทรงให้ทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทาง ทรงรักษาศีล ถืออุโบสถ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระขันติ พระเมตตาและพระกรุณา ทรงให้สรรพสัตว์แช่มชื่น ประดุจยังพระโอรสผู้ประทับนั่งเหนือพระเพลาให้แช่มชื่นฉะนั้น ทรงครองราชย์โดยธรรม มีอำมาตย์ของพระราชาผู้หนึ่ง ละลาบละล้วงเข้าไปในเขตพระราชฐาน ภายหลังความปรากฏขึ้น อำมาตย์ทั้งหลายพากันกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์ทรงคอยจับ ก็ทรงทราบโดยประจักษ์ด้วยพระองค์เอง จึงรับสั่งให้อำมาตย์นั้นเข้ามาเฝ้าแล้ว ตรัสขับไล่ว่า แน่ะ คนอันธพาล เจ้าทำกรรมไม่สมควรเลย ไม่ควรอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงขนเงินทองและพาลูกเมียของตัวไปที่อื่น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 62

อำมาตย์นั้นไปพ้นแคว้นกาสี ถึงแคว้นโกศล เข้ารับราชการกะพระเจ้าโกศล ได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสนิทของพระราชาโดยลำดับ วันหนึ่งอำมาตย์นั้นกราบทูลพระเจ้าโกศลว่า ขอเดชะ อันราชสมบัติในกรุงพาราณสีเปรียบเหมือนรวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง พระราชาก็อ่อนแอ อาจยึดเอาได้ด้วยพลพาหนะมีประมาณน้อยเท่านั้น พระราชาทรงสดับคำของเขาแล้ว ทรงพระดำริว่า ราชสมบัติในกรุงพาราณสีใหญ่โต แต่อำมาตย์ผู้นี้กล่าวว่า อาจยึดได้ด้วยพลพาหนะมีประมาณน้อยเท่านั้น อำมาตย์ผู้นี้ชะรอยจะเป็นคนสอดแนมหรืออย่างไร น่าสงสัยนัก แล้วมีพระดำรัสว่า ชะรอยเจ้าจะเป็นคนสอดแนม ละซี อำมาตย์นั้นกราบบังคมทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ามิใช่เป็นคนสอดแนม ตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเป็นความจริงทั้งนั้น แม้นพระองค์จะไม่ทรงเชื่อข้าพระพุทธเจ้า ก็โปรดส่งคนไปปล้นหมู่บ้านชายแดนดูเถิด พระเจ้าพาราณสีจับคนเหล่านั้นได้ ก็จักพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อย พระเจ้าโกศลทรงพระดำริว่า อำมาตย์ผู้นี้พูดจาองอาจยิ่งนัก เราจักทดลองดูให้รู้แน่นอน แล้วก็ทรงส่งคนของพระองค์ไป ให้ปล้นหมู่บ้านชายแดนของพระเจ้าพาราณสี ราชบุรุษจับโจรเหล่านั้นได้ คุมตัวไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรคนเหล่านั้นแล้ว รับสั่งถามว่า พ่อเอ๋ย เหตุไร จึงพากันปล้นชาวบ้าน คนเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 63

พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่มีจะกินจึงปล้น พระราชารับสั่งว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุไรจึงไม่พากันมาหาเราเล่า ต่อแต่นี้ไปเบื้องหน้า พวกเจ้าอย่ากระทำเช่นนี้เลยนะ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วปล่อยตัวไป คนเหล่านั้นพากันไปกราบทูล ประพฤติเหตุนั้นแด่พระเจ้าโกศล แม้จะทรงทราบเรื่องถึงขนาดนี้ พระเจ้าโกศลก็มิอาจจะทรงยกกองทัพไป ทรงส่งคนไปให้ยื้อแย่งในท้องถนนอีก แม้พระเจ้าพาราณสี ก็คงยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อยตัวไปอยู่นั่นเอง ที่นั้นพระเจ้าโกศลจึงทรงทราบว่า พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ดีเกินเปรียบ จึงทรงยกพลพาหนะเสด็จออกไป ด้วยหมายพระทัยว่าจักยึดราชสมบัติเมืองพาราณสี.

ก็ในครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสี มีนักรบผู้ยิ่งใหญ่อยู่ประมาณพันนาย ล้วนแต่กล้าหาญอย่างเยี่ยม ใครๆ ไม่อาจทำลายได้เลย แม้ถึงช้างที่ซับมันจะวิ่งมาตรงหน้า ทุกนายก็สู้ไม่ถอย แม้ถึงสายฟ้าจะฟาดลงมาที่ศีรษะ ทุกนายก็ไม่สะดุ้งหวาดเสียว ล้วนแต่สามารถจะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวายได้ ในเมื่อพระเจ้าสีลวมหาราชทรงพอพระราชหฤทัย นักรบเหล่านั้นฟังข่าวว่า พระเจ้าโกศลยกทัพมา พากันเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ ข่าวว่าพระเจ้าโกศลหมายพระทัยว่าจะยึดครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ยกกองทัพมา ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยกไปจับองค์

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 64

โกศลราชเฆี่ยนเสีย มิให้รุกล้ำล่วงรัฐสีมาของข้าพระพุทธเจ้าได้ทีเดียว พระเจ้าพาราณสีทรงห้ามว่า พ่อทั้งหลาย ฉันไม่ต้องการให้คนอื่นลำบากเพราะฉันเลย เมื่อพระเจ้าโกศลอยากได้ราชสมบัติ ก็เชิญมายึดครองเถิด พวกท่านทั้งหลาย อย่าไปต่อสู้เลย พระเจ้าโกศลกรีฑาพลล่วงรัฐสีมาเข้ามายังชนบทชั้นกลาง พวกอำมาตย์สูรมหาโยธาก็พากันเข้าเฝ้าพระราชา พร้อมกับกราบทูลเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง พระราชาก็ทรงห้ามไว้เหมือนครั้งแรกนั่นแล พระเจ้าโกศลยกพลมาตั้งประชิดภายนอกพระนครทีเดียว พลางส่งพระราชสาสน์มาถึงพระเจ้าสีลวมหาราชว่า จะยอมยกราชสมบัติให้หรือจักรบ พระเจ้าสีลวมหาราชส่งพระราชสาสน์ตอบไปว่า เราไม่รบกับท่าน เชิญยึดครองราชสมบัติเถิด พวกอำมาตย์พร้อมกันเข้าเฝ้าพระราชาอีกครั้งหนึ่ง กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยอมให้พระเจ้าโกศลเข้าเมืองได้ จะพร้อมกันจับเฆี่ยนเสียที่นอกพระนครนั่นแหละ พระราชาก็ทรงตรัสห้ามเสียเหมือนครั้งก่อน มีพระกระแสรับสั่งให้เปิดประตูเมืองทุกด้านแล้ว ก็ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ในท้องพระโรง พร้อมด้วยอำมาตย์พันนาย พระเจ้าโกศลเสด็จเข้าสู่กรุงพาราณสีพร้อมด้วยพลและพาหนะมากมาย มิได้ทอดพระเนตรเห็นที่จะเป็นศัตรูตอบโต้แม้สักคนเดียว ก็เสด็จสู่ทวารพระราชวัง แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรงอันประดับตกแต่งแล้ว ในพระราชวังอันมีทวาร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 65

เปิดไว้แล้ว มีพระกระแสรับสั่งให้จับพระเจ้าสีลวมหาราช ผู้ปราศจากความผิด ซึ่งประทับนั่งอยู่นั้นพร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งพัน พลางตรัสว่า พวกเจ้าจงไปมัดพระราชานี้กับพวกอำมาตย์ เอามือไพล่หลัง มัดให้แน่น แล้วนำไปสู่ป่าช้าผีดิบ ขุดหลุมให้ลึกเพียงคอ เอาคนเหล่านี้ฝังลงไปแค่คอ กลบเสียไม่ให้ยกมือขึ้นได้สักคนเดียว ในเวลากลางคืนพวกหมาจิ้งจอกมันพากันมาแล้ว จักช่วยกันกระทำกิจที่ควรทำแก่คนเหล่านี้เอง พวกมนุษย์ทั้งหลาย ฟังคำอาญาสิทธิ์ของโจรราชแล้ว ก็ช่วยกันมัดพระราชาและหมู่อำมาตย์ไพล่หลังอย่างแน่นหนา พาออกไป.

แม้ในกาลนั้น พระเจ้าสีลวมหาราช ก็มิได้ทรงอาฆาตแก่โจรราชแม้แต่น้อยเลย ถึงบรรดาอำมาตย์แม้เหล่านั้น ที่ถูกจับมัดจูงไปทำนองเดียวกัน ก็มิได้มีสักคนเดียวที่จะชื่อว่าบังอาจทำลายพระดำรัสของเจ้านายตน ได้ยินว่า บริษัทของพระเจ้าสีลวมหาราชนั้น มีวินัยดีอย่างนี้ ครั้งนั้น ราชบุรุษของโจรราชพวกนั้น ครั้นพาพระเจ้าสีลวมหาราช พร้อมด้วยอำมาตย์ไปถึงป่าช้าผีดิบแล้ว ก็ช่วยกันขุดหลุมลึกเพียงคอ จับพระเจ้าสีลวมหาราชลงหลุมอยู่ตรงกลาง จับพวกอำมาตย์ที่เหลือแม้ทุกคน ใส่ในหลุมสองข้าง เอาดินร่วนๆ ใส่ทุบจนแน่น แล้วพากันมา พระเจ้าสีลวมหาราช ตรัสเรียกพวกอำมาตย์ พระราชทานโอวาทว่า พ่อคุณเอ๋ย พวกเจ้าทุกคน จงเจริญเมตตาอย่างเดียว อย่าทำความขุ่นเคืองในโจรราช.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 66

ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืน ฝูงหมาจิ้งจอก ต่างก็คิดมุ่งจะกัดกิน เนื้อมนุษย์ พากันวิ่งมา พระราชาและหมู่อำมาตย์เห็นฝูงหมาจิ้งจอกนั้นแล้ว ก็เปล่งเสียงเป็นเสียงเดียวกันทีเดียว ฝูงหมาจิ้งจอกต่างกลัว พากันหนีไป ครั้นมันเหลียวกลับมาดู ไม่เห็นมีใครตามหลังมา ก็พากันกลับมาใหม่ พระราชาและหมู่อำมาตย์ ก็ตะเพิดมันด้วยวิธีนั้น พวกมันพากันหนีไปถึง ๓ ครั้ง หันมาดูอีก รู้อาการที่คนเหล่านั้นแม้แต่คนเดียวก็ตามมาไม่ได้ จึงสันนิษฐานว่า คนเหล่านี้จักต้องถูกฆ่าแล้ว จึงกล้าย้อนกลับไป ถึงคนเหล่านั้นจะทำเสียงเอะอะอีก ก็ไม่หนีไป จิ้งจอกตัวจ่าฝูง รี่เข้าหาพระราชา ตัวที่เหลือก็พากันไปใกล้พวกอำมาตย์ พระราชาทรงฉลาดในอุบาย ทรงทราบอาการที่หมาจิ้งจอกนั้นมาใกล้พระองค์ ก็ทรงเงยพระศอขึ้น เหมือนกับให้ช่องที่มันจะกัดได้ พอมันจะงับพระศอ ก็ทรงกดไว้ด้วยพระหนุอย่างแน่นหนา ประดุจทับไว้ด้วยหีบยนต์ หมาจิ้งจอกถูกพระราชาผู้ทรงพระกำลังดุจช้างสาร กดที่คอด้วยพระหนุอย่างแน่นหนา ไม่สามารถจะดิ้นหลุดได้ ก็กลัวตาย จึงร้องดังโหยหวน ฝูงหมาจิ้งจอกบริวารได้ยินเสียงนายของตนแล้ว พากันคิดว่า ชะรอยจิ้งจอกผู้เป็นนายจักถูกชายผู้นั้นจับไว้ได้ จึงไม่อาจเข้าใกล้หมู่อำมาตย์ ต่างก็กลัวตาย พากันหนีไปหมด เมื่อหมาจิ้งจอกถูกพระราชากดไว้แน่นหนาด้วยพระหนุ เหมือนจับไว้ด้วยหีบยนต์ ดิ้นรนไปมา ทำให้ดินร่วนที่ทุบไว้แน่นๆ หลวมตัวได้ ทั้งมันเองก็

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 67

กลัวตาย จึงเอาเท้าทั้ง ๔ ตะกุยดินที่กลบพระราชาไว้ พระองค์ทรงทราบอาการที่ดินหลวมตัวแล้ว ก็ทรงปล่อยหมาจิ้งจอกไป พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยกำลังกายดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยกำลังใจ โคลงพระองค์ไปมา ก็ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นมาได้ ทรงเหนี่ยวปากหลุมถอนพระองค์ขึ้นได้ เหมือนวลาหก (*เมฆ) ต้องกระจายด้วยแรงลมฉะนั้น ดำรงพระองค์ได้แล้ว ก็ทรงปลอบหมู่อำมาตย์ ทรงคุ้ยดิน ช่วยให้ขึ้นจากหลุมได้ทั่วกัน พระองค์มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ประทับอยู่ในป่าช้าผีดิบนั่นเอง.

สมัยนั้น พวกมนุษย์เอาศพไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ แต่ทิ้งตรงที่คาบเกี่ยวแดนยักษ์ ๒ ตน ยักษ์ทั้ง ๒ ตนนั้น ไม่อาจแบ่งมนุษย์ที่ตายแล้วนั้นได้ เกิดวิวาทกันแล้วพูดกันว่า เราทั้งสองไม่สามารถแบ่งกันได้ พระเจ้าสีลวมหาราชพระองค์นี้เป็นผู้ทรงธรรม พระองค์นี้จักทรงแบ่งพระราชทานแก่เราได้ พวกเราจงไปสู่สำนักของพระองค์ แล้วก็จับมนุษย์ผู้ตายแล้วนั้นที่เท้าคนละข้าง ลากไปถึงสำนักของพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงแบ่งร่างมนุษย์ผู้ตายนี้ แก่ข้าพระองค์ทั้งสองด้วยเถิด พระเจ้าสีลวมหาราชรับสั่งว่า ดูก่อน ยักษ์ผู้เจริญ เราจะช่วยแบ่งร่างมนุษย์นี้ให้ท่านทั้งสอง แต่เรา ยังมีร่างกายไม่สะอาด ต้องอาบน้ำก่อน ยักษ์ทั้งสองก็ไปเอาน้ำที่อบไว้สำหรับโจรราช มาด้วยอานุภาพของตน ถวายให้พระเจ้าสีลวมหาราชสรง แล้วไปเอาผ้าสาฎกของโจรราช ที่พันเก็บไว้

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 68

เป็นผ้าทรงของท้าวเธอ มาถวายให้ทรง แล้วไปนำเอาผอบพระสุคนธ์ อันปรุงด้วยคันธชาต ๔ ชนิด มาถวายให้ทรงชะโลมองค์ แล้วไปเอาดอกไม้ต่างๆ ที่เก็บไว้ในผอบทองและผอบแก้ว มาถวายให้ทรงประดับ ครั้นพระเจ้าสีลวมหาราชทรงประดับดอกไม้แล้วประทับยืน ยักษ์ทั้งสองก็กราบทูลถามว่า ข้าพระองค์ ต้องทำอะไรอีกพระเจ้าข้า พระเจ้าสีลวมหาราช ทรงแสดงพระอาการว่า พระองค์หิว ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำโภชนาหารที่เลิศรสนานาชนิด ที่เขาจัดเตรียมไว้สำหรับโจรราชมาถวาย พระเจ้าสีลวมหาราช ทรงสนานพระกาย แต่งพระองค์ทรงเครื่องเรียบร้อยแล้ว ก็เสวยพระกระยาหาร ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำน้ำดื่มที่อบแล้ว กับพระเต้าทองพร้อมทั้งขันทอง ที่เขาจัดไว้สำหรับโจรราช มาถวายให้ทรงดื่ม ครั้นทรงดื่ม บ้วนพระโอษฐ์และชำระพระหัตถ์แล้ว ก็พากันไปนำพระศรี (ใบพลู) อันปรุงด้วยคันธชาต ๕ ประการ ที่จัดไว้สำหรับโจรราชมาถวายให้ทรงเคี้ยว เสร็จแล้วก็ทูลถามว่า จะให้ข้าพระองค์ทั้งสองกระทำอะไรอีกพระเจ้าข้า รับสั่งว่า จงไปนำพระขรรค์อันเป็นมงคล ที่เก็บไว้บนหัวนอนของโจรราชมา ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำมาถวาย พระเจ้าสีลวมหาราชทรงรับพระขรรค์ ทรงตั้งซากศพนั้นให้ตรง ทรงฟันกลางกระหม่อม ผ่าแบ่งเป็นสองซีก พระราชทานแก่ยักษ์ทั้งสองคนละเท่าๆ กัน ครั้นแล้วทรงชำระพระขรรค์ เหน็บไว้ที่พระองค์ ฝ่ายยักษ์ทั้งสองกินเนื้อมนุษย์แล้ว ก็อิ่มเอิบ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 69

ดีใจ พากันทูลถามว่า ข้าพระองค์ทั้งสองต้องทำอะไรถวายอีก พระเจ้าสีลวมหาราชทรงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าทั้งสองจงแสดงอานุภาพ พาเราไปไว้ในห้องสิริไสยาศน์ของโจรราช และพาหมู่อำมาตย์เหล่านี้ไปไว้ที่เรือนของตนๆ เถิด ยักษ์ทั้งสองรับกระแสพระดำรัส แล้วพากันปฏิบัติตามนั้น.

ครั้งนั้น โจรราชบรรทมหลับเหนือพระแท่นสิริไสยาศน์ ในห้องอันทรงสิริงดงาม พระเจ้าสีลวมหาราชก็ทรงเอาแผ่นพระขรรค์ประหารพระอุทรโจรราช ผู้กำลังหลับอย่างลืมตัว ท้าวเธอตกใจตื่นบรรทม ทรงจำพระเจ้าสีลวมหาราชได้ด้วยแสงประทีป เสด็จลุกจากพระยี่ภู่ ดำรงพระสติมั่น ตรัสกับพระเจ้าสีลวมหาราชว่า มหาราชะ ยามราตรีเช่นนี้ ในวังปิดประตู มีผู้รักษากวดขันทุกแห่งไม่มีว่างเว้นจากเวรยาม พระองค์เสด็จมาถึงที่นอนนี้ได้อย่างไรกัน พระเจ้าสีลวมหาราช ตรัสเล่าถึงการเสด็จมาของพระองค์ให้ฟังทั้งหมดโดยพิสดาร โจรราชสดับเรื่องนั้นแล้วสลดพระทัยนัก ตรัสว่า มหาราชะ ถึงหม่อมฉันจะเป็นมนุษย์ ก็มิได้ทราบซึ้งพระคุณสมบัติของพระองค์เลย แต่พวกยักษ์อันกินเลือดเนื้อของคนอื่น หยาบคายร้ายกาจ ยังรู้ถึงพระคุณสมบัติของพระองค์ ข้าแต่พระจอมคน คราวนี้หม่อมฉันจะไม่คิดประทุษร้ายในพระองค์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเช่นนี้อีก พลางทรงจับพระขรรค์ ทำการสบถ กราบทูลขอขมากับพระเจ้าสีลวมหาราช เชิญให้เสด็จบรรทมเหนือพระยี่ภู่ (*ที่นอน ฟูก) ใหญ่ พระองค์เอง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 70

บรรทมเหนือพระแท่นน้อย ครั้นสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัยแล้ว ก็ให้คนนำกลองไปเที่ยวตีประกาศ ให้บรรดาเสนาทุกหมู่เหล่า และอำมาตย์ พราหมณ์ คฤหบดี ประชุมกัน ตรัสสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าสีลวะ เปรียบเหมือนทรงชูดวงจันทร์เพ็ญในอากาศขึ้นข้างหน้าของคนเหล่านั้น ทรงขอขมาพระเจ้าสีลวะ ท่ามกลางบริษัทนั้นอีกครั้งหนึ่ง ทรงเวนคืนราชสมบัติตรัสว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป อุปัทวันตราย (*สิ่งอุบาทว์และอันตราย) ที่เกิดแต่โจรผู้ร้าย อันจะบังเกิดแก่พระองค์ หม่อมฉันขอรับภาระกำจัด ขอพระองค์ทรงเสวยราชย์โดยมีหม่อมฉันเป็นผู้อารักขาเถิด แล้วทรงลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ส่อเสียด รวบรวมพลพาหนะ เสด็จไปสู่แว่นแคว้นของพระองค์.

ฝ่ายพระเจ้าสีลวมหาราช ทรงประดับด้วยราชอลังการ ประทับนั่งเหนือกาญจนบัลลังก์มีเท้ารองด้วยหนังชะมด ภายใต้พระเศวตฉัตร ทอดพระเนตรดูราชสมบัติของพระองค์ ทรงพระดำริว่า สมบัติอันโอฬารปานนี้และการกลับได้คืนชีวิตของอำมาตย์ทั้งพันคน แม้นเราไม่กระทำความเพียร จักไม่มีเลยสักอย่างเดียว แต่ด้วยกำลังของความเพียร เราจึงได้คืนยศนี้ ซึ่งเสื่อมไปแล้ว และได้ให้ชีวิตทานแก่อำมาตย์หนึ่งพัน บุคคลไม่ควรสิ้นหวังเสียเลย ควรกระทำความเพียรถ่ายเดียว เพราะผู้ที่กระทำความเพียรแล้ว ย่อมสำเร็จผลอย่างนี้ แล้วตรัสคาถานี้ ด้วยสามารถแห่งอุทาน ความว่า.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 71

"บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงหวังอยู่ร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราประจักษ์ด้วยตนเองว่าปรารถนาอย่างใด ก็ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสิํเสเถว ปุริโส ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ต้องกระทำความหวังไว้ด้วยกำลังความเพียรของตนว่า เมื่อเราปรารภความเพียรอยู่อย่างนี้ จักพ้นจากทุกข์นี้ ดังนี้.

บทว่า น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต ความว่า บุรุษได้นามว่า เป็นบัณฑิต คือเป็นผู้ฉลาดในอุบาย เมื่อกระทำความเพียรในที่ๆ ต้องขะมักเขม้น ไม่พึงเบื่อหน่าย คือไม่ควรทำการตัดความหวังเสียว่า เราจักไม่ได้ผลของความเพียรนี้เลย ดังนี้.

บทว่า โว ในบทว่า ปสฺสามิ โวหํ อตฺตานํ นี้เป็นเพียงนิบาต ได้ความว่า วันนี้เราเห็นตนเองเป็นประจักษ์พยาน.

บทว่า ยถา อิจฺฉิํ ตถา อหุ ความว่า (เราเห็นตนเป็นตัวอย่างอยู่) ว่า ก็เราถูกฝังไว้ในหลุมแท้ๆ ยังพ้นจากทุกข์ได้ ครั้นปรารภสมบัติของตนอีกเล่า เรานั้นก็เห็นตนเอง ลุถึงสมบัตินี้แล้ว ในครั้งก่อนเราปรารถนาไว้อย่างใดเล่า ตนของเราก็เป็นอย่างนั้นแล้วแล ดังนี้.

พระโพธิสัตว์ครั้นตรัสว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดาผลแห่งความเพียร ของท่านผู้สมบูรณ์ด้วยศีลทั้งหลาย ย่อมสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ ดังนี้ ทรงเปล่งอุทานด้วย

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 72

คาถานี้ ทรงกระทำบุญทั้งหลายตลอดพระชนม์ แล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม ด้วยประการฉะนี้.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประกาศจตุราริยสัจแล้ว ในเมื่อจบจตุราริยสัจ ภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล พระบรมศาสดาทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า อำมาตย์ชั่วในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ อำมาตย์หนึ่งพัน ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพระเจ้าสีลวมหาราช ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถามหาสีลวชาดกที่ ๑