พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. กัญจนขันธชาดก ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35433
อ่าน  461

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 90

๖. กัญจนขันธชาดก

ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 90

๖. กัญจนขันธชาดก

ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม

[๕๖] "นรชนใด มีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน เจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้น พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ".

จบ กัญจนขันธชาดกที่ ๖

อรรถกถากาญจนักขันธชาดกที่ ๖

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "โย ปหฏฺเน จิตฺเตน" ดังนี้.

ได้ยินว่า กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว บวชถวายชีวิตในพระศาสนา คือพระรัตนตรัย ครั้งนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์ของเธอ กล่าวสอนถึงศีลว่า ผู้มีอายุ ที่ชื่อว่า ศีล อย่างเดียวก็มี สองอย่างก็มี สามอย่างก็มี สี่อย่างก็มี ห้าอย่างก็มี หกอย่างก็มี เจ็ดอย่างก็มี แปดอย่างก็มี เก้าอย่างก็มี ที่ชื่อว่า ศีลมีมากอย่าง นี้เรียกว่า จุลศีล นี้เรียกว่า มัชฌิมศีล นี้เรียกว่า มหาศีล นี้เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล นี้เรียกว่า อินทริยสังวรศีล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 91

นี้เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีล นี้เรียกว่า ปัจจยปฏิเสวนศีล ภิกษุนั้นคิดว่า ขึ้นชื่อว่าศีลนี้มีมากยิ่งนัก เราไม่อาจสมาทานประพฤติได้ถึงเพียงนี้ ก็บรรพชาของคนที่ไม่อาจบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ได้ จะมีประโยชน์อะไร เราจักเป็นคฤหัสถ์ทำบุญมีให้ทานเป็นต้น เลี้ยงลูกเมีย ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ก็เรียนอาจารย์และอุปัชฌาย์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่อาจรักษาศีลได้ เมื่อไม่อาจรักษาศีลได้ การบรรพชาก็จะมีประโยชน์อะไร กระผมจะขอลาสิกขา โปรดรับบาตรและจีวรของท่านไปเถิด ลำดับนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์จึงบอกกะภิกษุนั้นว่า ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอจงไปถวายบังคมพระทศพล ดังนี้แล้ว พาเธอไปยังธรรมสภา อันเป็นที่ประทับของพระศาสดา.

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุผู้ไม่ปรารถนา (บรรพชาเพศ) มาหรือ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ภิกษุนี้บอกว่า เธอไม่อาจรักษาศีลได้ จึงมอบบาตรและจีวรคืน เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงพาเธอมา พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุไรพวกเธอจึงได้บอกศีลแก่ภิกษุนี้มากนักเล่า ภิกษุนี้อาจรักษาได้เท่าใด ก็พึงรักษาเท่านั้นแหละ ตั้งแต่นี้ไป พวกเธออย่าได้พูดอะไรๆ กะภิกษุนี้เลย ตถาคตเท่านั้นจักรู้ถึงการที่ควรทำ แล้วตรัสกะภิกษุนั้นว่า มาเถิดภิกษุ เธอจะต้องการศีลมากๆ ทำไมเล่า เธอจักไม่อาจเพื่อจะรักษาศีล ๓ ประเภทเท่านั้นหรือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 92

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจรักษาได้พระเจ้าข้า มีพระพุทธดำรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ตั้งแต่บัดนี้ เธอจงรักษาทวารทั้ง ๓ ไว้ คือกายทวาร วจีทวาร มโนทวาร อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยกาย อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยวาจา อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยใจ ไปเถิด อย่าสึกเลย จงรักษาศีล ๓ ข้อ เหล่านี้เท่านั้นเถิด ด้วยพระพุทธดำรัสเพียงเท่านี้ ภิกษุนั้นก็มีใจยินดี กราบทูลว่า ดีละพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักรักษาศีล ๓ เหล่านี้ไว้ ดังนี้แล้วถวายบังคมพระศาสดา ได้กลับไปพร้อมกับอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ทั้งหลาย เมื่อเธอบำเพ็ญศีลทั้ง ๓ เหล่านั้นอยู่นั่นแล จึงได้สำนึกว่า ศีลที่อาจารย์และอุปัชฌาย์บอกแก่เรา ก็มีเท่านี้เอง แต่ท่านเหล่านั้นไม่อาจให้เราเข้าใจได้ เพราะท่านไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดศีลทั้งหมดนี้ เข้าไว้ในทวาร ๓ เท่านั้น ให้เรารับเอาไว้ได้ เพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ทรงรู้ดี (และ) เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชาชั้นยอด พระองค์ทรงเป็นที่พำนักของเราแท้ๆ ดังนี้แล้วเจริญวิปัสสนา ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายทราบความเป็นไปนั้นแล้ว ประชุมกันในธรรมสภา ต่างนั่งสนทนาถึงพระพุทธคุณว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ได้ยินว่าภิกษุนั้นกล่าวว่า ไม่อาจรักษาศีลทั้งหลายได้ กำลังจะสึก พระศาสดาทรงย่นย่อศีลทั้งหมดโดยส่วน ๓ ให้เธอรับไว้ได้ ให้บรรลุพระอรหัตตผลได้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 93

โอ ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอัจฉริยมนุษย์ พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ครั้นพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภาระแม้ถึงจะหนักยิ่ง เราก็แบ่งโดยส่วนย่อยให้แล้ว เป็นดุจของเบาๆ แม้ในปางก่อนบัณฑิตทั้งหลาย ได้แท่งทองใหญ่ แม้ไม่อาจจะยกขึ้นได้ ก็แบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วยกไปได้ ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นชาวนาอยู่ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง วันหนึ่งกำลังไถที่นาอยู่ในเขตบ้านร้างแห่งหนึ่ง แต่ครั้งก่อน ในบ้านหลังนั้นเคยมีเศรษฐีผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติผู้หนึ่ง ฝังแท่งทองใหญ่ขนาดโคนขา ยาวประมาณ ๔ ศอกไว้ แล้วก็ตายไป ไถของพระโพธิสัตว์ไปเกี่ยวแท่งทองนั้นแล้ว หยุดอยู่ พระโพธิสัตว์คิดว่า คงจะเป็นรากไม้ จึงคุ้ยฝุ่นดู เห็นแท่งทองนั้นแล้ว ก็กลบไว้ด้วยฝุ่น แล้วไถต่อไปทั้งวัน ครั้นดวงอาทิตย์อัษฎงค์แล้ว จึงเก็บสัมภาระ มีแอกและไถเป็นต้น ไว้ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง คิดว่าจักแบกเอาแท่งทองไป ไม่สามารถจะยกขึ้นได้ เมื่อไม่สามารถจึงนั่งลงแบ่งทองออกเป็น ๔ ส่วน โดยคาดว่า จักเลี้ยงปากท้องเท่านี้ ฝังไว้เท่านี้ ลงทุนเท่านี้ ทำบุญให้ทานเป็นต้นเท่านี้ พอแบ่งอย่างนี้แล้ว แท่งทองนั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 94

ก็ได้เป็นเหมือนของเบาๆ พระโพธิสัตว์ยกเอาแท่งทองนั้นไปบ้าน แบ่งเป็น ๔ ส่วน กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วก็ไปตามยถากรรม.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาดังนี้ ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า.

"นรชนผู้ใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้โดยลำดับ" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหฏฺเน ได้แก่ ปราศจากนิวรณ์.

บทว่า ปหฏฺมนโส ความว่า เพราะเหตุที่มีจิตปราศจากนิวรณ์นั่นแล จึงชื่อว่า มีใจเบิกบานแล้ว เหมือนทองคำ คือเป็นผู้มีจิตรุ่งเรือง สว่างไสวแล้ว.

พระบรมศาสดา ทรงยังเทศนาให้จบลงด้วยยอด คือพระอรหัต ด้วยประการดังนี้แล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า บุรุษผู้ได้แท่งทองในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากาญจนักขันธชาดกที่ ๖