พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ตโยธรรมชาดก ว่าด้วยธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35435
อ่าน  412

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 100

๘. ตโยธรรมชาดก

ว่าด้วยธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 100

๘. ตโยธรรมชาดก

ว่าด้วยธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู

[๕๘] "ดูก่อนพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการนี้ คือความขยัน ความแกล้วกล้า ปัญญา เหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้".

จบ ตโยธรรมชาดกที่ ๘

อรรถกถาตโยธรรมชาดกที่ ๘

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภการตะเกียกตะกายจะฆ่าพระองค์นั่นแหละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยสฺเสเต จ ตโย ธมฺมา" ดังนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระเทวทัตบังเกิดในกำเนิดวานร ควบคุมฝูงอยู่ในหิมวันต์ประเทศ เมื่อลูกวานรที่อาศัยตนเติบโตแล้ว ก็ขบพืช (* พืช ในที่นี้ คือสิ่งที่จะเป็นพันธุ์สืบไป) ของลูกวานรเหล่านั้นเสียสิ้น เพราะกลัวว่า วานรเหล่านี้จะแย่งคุมฝูง ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ก็อาศัยวานรนั้นแหละ ถือปฏิสนธิในท้องของนางวานรตัวหนึ่ง ครั้นนางวานรรู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อจะถนอมครรภ์ของตน ก็ได้ไปสู่เชิงเขาตำบลอื่น พอท้องแก่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 101

ครบกำหนดก็คลอดพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เจริญวัย ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง วันหนึ่งถามมารดาว่า แม่จ๋า ใครเป็นพ่อของฉัน.

มารดาตอบว่า พ่อคุณ บิดาของเจ้าคุมฝูงอยู่ที่ภูเขาลูกโน้น.

แม่พาฉันไปหาพ่อเถิด.

ลูกจ๋า เจ้าไม่อาจเข้าใกล้พ่อของเจ้าได้ เพราะพ่อของเจ้าคอยขบพืชของลูกวานรที่อาศัยตนเกิดเสียหมด เพราะกลัวจะแย่งคุมฝูง.

แม่จ๋า พาฉันไปเถิด ฉันจักรู้ (อนาคตของตนเอง).

นางจึงพาพระโพธิสัตว์มายังสำนักของวานรผู้เป็นพ่อ.

วานรนั้นเห็นลูกของตนแล้ว ก็คิดว่า เมื่อเจ้านี่เติบโตจักไม่ยอมให้เราคุมฝูง ต้องฆ่ามันเสียบัดนี้ทีเดียว เราจักทำเป็นเหมือนสวมกอดมัน แล้วก็บีบให้แน่นให้ถึงสิ้นชีวิตให้จงได้ จึงกล่าวว่า มานี่เถิดลูก เจ้าไปไหนเสียนมนานจนป่านนี้ ดังนี้แล้ว ทำเป็นเหมือนกอดรัดพระโพธิสัตว์ รัดจนแน่น ก็พระโพธิสัตว์มีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง จึงบีบรัดตอบ ครั้งนั้น กระดูกทุกชิ้นส่วนของวานรนั้น ถึงอาการจะแตกแยก ลำดับนั้น วานรผู้เป็นพ่อเกิดวิตกว่า ไอ้นี่เติบโตขึ้นต้องฆ่าเรา เราต้องหาอุบายอะไร รีบฆ่ามันเสียก่อน แต่นั้นก็คิดไว้ว่า ไม่ไกลจากนี้ มีสระที่มีผีเสื้อน้ำสิงอยู่ เราจักให้ผีเสื้อน้ำกินมันเสียที่สระนั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 102

แล้วจึงกล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า ลูกเอ๋ย พ่อแก่แล้ว จักมอบฝูงให้เจ้า วันนี้จะตั้งเจ้าเป็นหัวหน้า ที่ตรงโน้นมีสระอยู่ ในสระนั้น ดอกโกมุท ๒ ดอก อุบล ๓ ดอก ปทุม ๕ ดอก กำลังบาน ไปเถิด ไปเอาดอกไม้มาจากสระนั้น พระโพธิสัตว์รับคำว่า ดีละพ่อ ฉันจักไปนำมา แล้วก็ไป แต่ยังไม่ผลีผลามลงไป ตรวจดูรอยรอบๆ สระ เห็นแต่รอยลงเท่านั้น ไม่เห็นรอยขึ้น ก็รู้ว่า อันสระนี้ต้องมีรากษสยึดครองแน่นอน พ่อเราไม่อาจฆ่าเราด้วยตน จักหวังให้รากษสเคี้ยวกินเราเสีย เราจักไม่ลงสระนี้ และต้องเก็บดอกไม้ให้ได้ด้วย แล้วเดินไปหาที่ซึ่งไม่มีน้ำ ไปได้ ๒ ดอก ทีเดียว โดดไปลงฝั่งโน้น โดดจากฝั่งโน้น มาลงฝั่งนี้ ก็คว้าได้อีก ๒ ดอก ด้วยอุบายนั้นแหละ ด้วยวิธีนี้ พระโพธิสัตว์เก็บดอกไม้ได้เป็นกองทั้งสองฝั่งสระ และไม่ต้องลงสู่สถานอันอยู่ในอาญาของรากษส ครั้นพระโพธิสัตว์เห็นว่า ไม่สามารถจะเก็บได้มากกว่านี้ ก็รวบรวมดอกไม้กองไว้ที่เดียว ครั้งนั้น รากษสดำริว่า อัจฉริยบุรุษ มีปัญญาอย่างนี้ เราไม่เคยเห็นเลยตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ดอกไม้ก็เก็บได้ตามปรารถนา และไม่ต้องลงสู่สถานที่อันอยู่ในอาญาของเราอีกด้วย จึงระเบิดน้ำโผล่ขึ้นจากน้ำเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ กล่าวว่า พานรินทร์ ในโลกนี้ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการ ผู้นั้นย่อมครอบงำปัจจามิตรได้ ชะรอยภายในตัวของท่าน จักมีธรรมทั้งนั้นครบทุกประการเป็นแน่ เมื่อจะชื่นชมพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 103

"ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือทักขิยะ สุริยะ ปัญญา มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่าน บุคคลนั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทกฺขยํ ได้แก่ ความเป็นผู้มีความขยันขันแข็ง บทนี้เป็นชื่อของความเพียรอย่างสูงที่ประกอบพร้อมมูลด้วยปัญญา อันรู้จักกำจัดภัยที่มาประจวบเข้า.

บทว่า สูรยํ ได้แก่ ความเป็นผู้กล้าหาญ บทนี้เป็นชื่อของความเป็นผู้ไม่มีความพรั่นพรึง.

บทว่า ปญฺา นี้ เป็นชื่อของความรู้อุบาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความปรากฏผล.

รากษสนั้นชมเชยพระโพธิสัตว์ด้วยคาถานี้ อย่างนี้แล้ว ก็ถามว่า ท่านเก็บดอกไม้เหล่านี้ไปทำไม พระโพธิสัตว์ตอบว่า พ่อของเราปรารถนาจะตั้งเราเป็นผู้นำฝูง เราเก็บไปเพราะเหตุนั้น รากษสพูดว่า อุดมบุรุษเช่นท่าน ไม่น่าจะนำดอกไม้ไป เราจักนำไปให้ แล้วหอบดอกไม้เดินตามหลังพระโพธิสัตว์ไป ครั้งนั้น บิดาของพระโพธิสัตว์เห็นแต่ไกลแล้ว รำพึงว่า เราส่งมันไป หมายว่าจักให้เป็นเหยื่อของรากษส บัดนี้มันกลับใช้ให้รากษสถือดอกไม้ตามมา คราวนี้เราฉิบหายแล้ว เลยหัวใจแตกเจ็ดเสี่ยง สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง ฝูงวานรที่เหลืออยู่ประชุมกัน ยกพระโพธิสัตว์ให้เป็นราชาผู้นำฝูง.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 104

แม้พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า วานรนายฝูงในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัตในครั้งนี้ ส่วนบุตรของลิงผู้เป็นจ่าฝูง ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาตโยธรรมชาดกที่ ๘