พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ตักกชาดก ว่าด้วยลักษณะธรรมดาหญิง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35440
อ่าน  446

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 130

๓. ตักกชาดก

ว่าด้วยลักษณะธรรมดาหญิง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 130

๓. ตักกชาดก

ว่าด้วยลักษณะธรรมดาหญิง

[๖๓] "ธรรมดาว่าหญิงเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักคุณ ชอบส่อเสียด ชอบยุยงให้แตกกัน ดูก่อนภิกษุ เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เธอจักไม่เสื่อมจากสุข"

จบ ตักกชาดกที่ ๓

อรรถกถาตักกชาดกที่ ๓ (๑)

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันนั่นแหละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "โกธนา อกตญฺญู จ" ดังนี้.

พระศาสดาตรัสถามว่า จริงหรือภิกษุ ที่เขาว่าเธอกระสันแล้ว เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลาย เป็นคนอกตัญญู ประทุษร้ายมิตร เหตุไรเธอจึงกระสันเพราะอาศัยหญิงเหล่านั้น แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.


(๑) ม. อรรถกถาตักกปัณฑิตชาดก.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 131

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษี สร้างอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ยังสมาบัติและอภิญญาให้เกิดแล้ว ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขอันเกิดแต่ความยินดีในฌาน ในสมัยนั้น ธิดาของท่านเศรษฐีในกรุงพาราณสีชื่อว่า ทุษฐกุมารี เป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย มักด่า มักตีทาสและกรรมกร ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง คนที่เป็นบริวารชวนนางไปว่า จักเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา ขณะเมื่อมนุษย์เหล่านั้นเล่นน้ำกันอยู่นั่นแหละ เป็นเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้จะอัษฎงค์ เมฆฝนก็ตั้งเค้าขึ้น พวกมนุษย์ทั้งหลายเห็นเมฆฝนแล้ว ก็รีบวิ่งแยกย้ายกันไป พวกทาสกรรมกรของธิดาท่านเศรษฐีพูดกันว่า วันนี้พวกเราควรแก้เผ็ดนางตัวร้ายนี้ แล้วทิ้งนางไว้ในน้ำนั่นแล พากันขึ้นไปเสีย ฝนก็ตกลงมา แม้ดวงอาทิตย์ก็อัษฎงค์ เกิดความมืดมัวทั่วไป พวกทาสและกรรมกรเหล่านั้น เว้นแต่ธิดาท่านเศรษฐีคนเดียว ไปถึงเรือน เมื่อคนทั้งหลายพูดว่า ธิดาท่านเศรษฐีไปไหนเล่า ก็กล่าวว่า นางขึ้นจากแม่น้ำคงคาก่อนหน้าแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกข้าพเจ้า จึงไม่รู้ว่านางไปไหน แม้พวกญาติพากันค้นหาก็ไม่พบ.

ธิดาท่านเศรษฐีร้องดังลั่น ลอยไปตามน้ำ ถึงที่ใกล้บรรณศาลาของพระโพธิสัตว์ เมื่อเวลาเที่ยงคืน พระโพธิสัตว์ได้ยินเสียงของนางก็คิดว่า นั่นเสียงหญิง ต้องช่วยเหลือนาง พลางถือคบหญ้าเดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ เห็นนางแล้ว ก็ปลอบว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 132

อย่ากลัว อย่ากลัว ด้วยมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ว่ายน้ำไปช่วยนางขึ้นได้ พาไปอาศรม ก่อไฟให้นางผิง ครั้นนางค่อยสร่างหนาวแล้ว ก็จัดหาผลไม้น้อยใหญ่ที่อร่อยๆ มาให้ พลางถามนางขณะที่บริโภคผลไม้นั้นๆ ว่า นางอยู่ที่ไหน และทำไมถึงตกน้ำลอยมา นางก็เล่าเรื่องราวนั้นให้ฟัง ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวกะนางว่า เธอพักเสียที่นี่แหละ แล้วจัดให้นางพักในบรรณศาลา ตนพักอยู่กลางแจ้ง สองสามวันแล้วกล่าวว่า บัดนี้ เธอจงไปเถิด เศรษฐีธิดาคิดว่า เราจักทำดาบสนี้ถึงสีลเภท แล้วชวนไปด้วยให้จงได้ ดังนี้แล้วไม่ยอมไป ครั้นเวลาล่วงผ่านไป ก็แสดงกระบิดกระบวนเล่ห์มายาหญิง ทำให้พระดาบสศีลขาด เสื่อมจากฌาน ดาบสก็ชวนนางอยู่ในป่านั่นเอง ครั้งนั้น นางกล่าวกะดาบสว่า ข้าแต่ท่านเจ้า เราทั้งสองจักอยู่ในป่าทำไม เราสองคนพากันไปสู่ยานมนุษย์เถิด ดาบสก็พานางไปถึงบ้านชายแดนตำบลหนึ่ง ประกอบอาชีพด้วยการขายเปรียง เลี้ยงนาง เพราะท่านดาบสขายเปรียงเลี้ยงชีวิต ฝูงชนจึงขนานนามว่า ตักกบัณฑิต ครั้งนั้น พวกชาวบ้านร่วมกันให้เสบียงอาหารแก่ท่าน กล่าวว่า ท่านช่วยบอกเหตุการณ์ที่บุคคลประกอบดีหรือชั่วแก่พวกข้าพเจ้า (*ท่าน) อยู่เสียในที่นี้เถิด แล้วช่วยกันสร้างกระท่อมให้อยู่ใกล้ประตูบ้าน.

ก็โดยสมัยนั้น พวกโจรพากันลงมาจากภูเขา ปล้นชนบทชายแดน วันหนึ่งพากันมาปล้นบ้านนั้น แล้วใช้ชาวชนบท

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 133

นั้นแหละให้ขนข้าวของไปให้ ยึดเอาตัวนางเศรษฐีธิดา แม้นั้น ไปยังที่พำนักของตน แล้วจึงปล่อยคนที่เหลือ ส่วนนายโจร พอใจในรูปของนาง จึงทำนางให้เป็นภรรยาของตน พระโพธิสัตว์สอบถามว่า หญิงชื่อนี้ไปไหนเสียเล่า แม้จะได้ฟังว่า ถูกนายโจรยึดเอาไว้เป็นภรรยาเสียแล้ว ก็ยังคิดว่า นางจักยังไม่ทิ้งเรา อยู่ในที่นั้น จักต้องหนีมาเป็นแน่ รอคอยนางอยู่ในบ้าน นั่นเอง ฝ่ายนางเศรษฐีธิดา ก็คิดว่า เราอยู่ที่นี่เป็นสุขดี บางที ตักกบัณฑิตอาศัยเหตุไรๆ แล้ว จะมาพาเราไปเสียจากที่นี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักเสื่อมจากความสุขนี้ ถ้ากระไร เราทำเป็นเหมือนยังอาลัยรักอยู่ ให้คนไปตามตัวมาแล้วให้เขาฆ่าเสีย คิดแล้ว เรียกมนุษย์ผู้หนึ่งมาส่งข่าวไปว่า ดิฉันเป็นอยู่อย่างลำบากในที่นี้ ท่านตักกบัณฑิตกรุณามารับฉันไปด้วยเถิด ตักกบัณฑิตสดับข่าวนั้นแล้วก็เชื่อ จึงไปที่บ้านนายโจร หยุดรอที่ประตูบ้าน ส่งข่าวไป นางออกมาพบแล้วพูดว่า ท่านเจ้าขา ถ้าเราพากันไปเดี๋ยวนี้ นายโจรจักติดตามฆ่าเราทั้งสองเสียก็ได้ เราจักไปกันในเวลากลางคืน พาตักกบัณฑิตมาให้บริโภค ให้ซ่อนตัวอยู่ในยุ้ง ตกเวลาเย็น นายโจรกลับมา กินเหล้า เมา ก็พูดว่า ท่านเจ้าค่ะ ถ้านายเห็นศัตรูของนายในเวลานี้ นายจะพึงทำอย่างไร กะเขา นายโจรกล่าวว่า เราจักกระทำเช่นนี้ๆ นางจึงบอกว่า ก็ศัตรูนั้นอยู่ไกลเสียเมื่อไรเล่า นั่งอยู่ในยุ้งข้าวนี่เอง นายโจรถือพระขรรค์เดินไปที่ยุ้งข้าว เห็นตักกบัณฑิตก็จับเหวี่ยงให้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 134

ล้มลงกลางเรือน โบยด้วยท่อนไม้ ทุบถองด้วยศอกเข่าเป็นต้นจนหนำใจ ตักกบัณฑิตถึงจะถูกโบยก็ไม่พูดถ้อยคำอะไรอย่างอื่นเลย กล่าวแต่คำว่า ขี้โกรธ อกตัญญู ชอบส่อเสียด ประทุษร้ายมิตร อย่างเดียวเท่านั้น ฝ่ายโจรโบยตักกบัณฑิตแล้วก็มัดให้นอน มากินอาหารเย็นแล้วก็หลับไป ตื่นขึ้น พอฤทธิ์สุราสร่าง ก็เริ่มโบยตักกบัณฑิตอีก แม้ตักกบัณฑิต ก็กล่าวแต่คำ ๔ คำ อยู่อย่างนั้น โจรคิดว่า ท่านผู้นี้ แม้จะถูกเราโบยอย่างนี้ ก็ไม่ยอมพูดอะไรอย่างอื่นเลย คงกล่าวแต่คำ ๔ คำอยู่ตลอดมา เราจักถามดู แล้วก็ถามตักกบัณฑิตว่า นี่แนะท่านผู้เจริญ ถึงแม้ท่านจะถูกโบยอย่างนี้ เหตุไฉน จึงกล่าวแต่คำ ๔ คำเหล่านี้เท่านั้น ตักกบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น จงฟัง แล้วกล่าวลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่ต้นว่า เดิมข้าพเจ้าเป็นดาบสหนึ่งอยู่ในป่า ได้ฌาน ข้าพเจ้าช่วยหญิงผู้นี้ ผู้ลอยมาในแม่น้ำคงคาให้ขึ้นได้แล้ว ประคบประหงม เมื่อเป็นเช่นนี้ นางผู้นี้ ก็เล้าโลมข้าพเจ้า ทำให้เสื่อมจากฌาน ข้าพเจ้าต้องทิ้งป่า พานางมาเลี้ยงดูอยู่ที่บ้านชายแดน ครั้นนางส่งข่าวไปถึงข้าพเจ้าว่า ถูกพวกโจรนำมาที่นี่ ต้องอยู่อย่างลำบาก ให้ช่วยพานางกลับไป ทำให้ข้าพเจ้าต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของท่านในบัดนี้ ด้วยเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวอยู่อย่างนี้.

โจรได้คิดว่า หญิงคนนี้ปฏิบัติผิดถึงอย่างนี้ ในท่านผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ มีอุปการะถึงอย่างนี้ มันคงทำอุปัทวันตรายอะไรๆ ให้แก่เราก็ได้ ต้องฆ่ามันเสีย นายโจรปลอบให้ตักกบัณฑิต

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 135

เบาใจ ปลุกนางฉวยพระขรรค์ออกมาพูดว่า เราจักฆ่าชายผู้นี้ที่ประตูบ้าน เดินไปนอกบ้านกับนาง พลางบอกให้นางจับมือท่านตักกบัณฑิตไว้ด้วยคำว่า จงยึดมือชายผู้นี้ไว้ แล้วชักพระขรรค์ ทำเป็นเหมือนจะฟันท่านตักกบัณฑิต กลับฟันนางขาด ๒ ท่อน อาบน้ำดำเกล้าแล้ว เลี้ยงดูท่านตักกบัณฑิตด้วยโภชนะอันประณีต สองสามวัน ก็กล่าวว่า บัดนี้ท่านจักไปไหนต่อไปเล่า ตักกบัณฑิตกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่ากิจด้วยการอยู่ครองเรือนไม่มีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่านั่นแหละ โจรกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็จักบวชด้วย ทั้งสองคนพากันบวช ไปสู่ราวป่านั้น ให้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ เกิดได้แล้ว ในเวลาสิ้นชีวิต ก็ได้ไปสู่พรหมโลก.

พระบรมศาสดาตรัสเรื่องทั้งสองเหล่านี้แล้ว ครั้นตรัสรู้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ ความว่า.

"หญิงทั้งหลาย เป็นผู้มักโกรธ อกตัญญู มักส่อเสียด และคอยแต่ทำลาย ก่อนภิกษุ เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด แล้วเธอจักไม่คลาดความสุขเป็นแน่" ดังนี้.

ในพระคาถานั้น ประมวลอรรถาธิบายได้ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่า หญิงทั้งหลาย เป็นผู้มักโกรธ ไม่สามารถจะหักห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วได้เลย เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้อุปการคุณแม้จะยิ่งใหญ่ เป็นคนส่อเสียด ชอบกล่าวคำ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 136

อันแสดงถึงความส่อเสียดอยู่ร่ำไป เป็นผู้มีนิสัยชอบทำลาย ชอบทำลายหมู่มิตร มีปกติกล่าวคำทำให้มิตรแตกกันเป็นประจำ หญิงเหล่านี้ประกอบไปด้วยธรรมอันลามกเห็นปานนี้ เธอจะไปต้องการหญิงเหล่านี้ทำไมเล่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เพราะว่าการงดเว้นจากเมถุนธรรมนี้ชื่อว่า พรหมจรรย์ ด้วยอรรถว่าเป็นคุณอันบริสุทธิ์ เธอประพฤติพรหมจรรย์นั้น ก็จะไม่คลาดความสุข คือว่าเมื่อเธออยู่ประพฤติพรหมจรรย์นั้น จักไม่คลาดความสุขในฌาน ได้แก่ ความสุขอันเกิดจากมรรคและความสุขอันเกิดจากผล อธิบายว่า จักไม่ละความสุขนี้ คือจักไม่เสื่อมจากความสุขนี้ ปาฐะว่า น ปริหายสิ เธอจักไม่เสื่อม ดังนี้ก็มี ความก็อย่างเดียวกันนี้แหละ.

พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุกระสันดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว แม้พระบรมศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า นายโจรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ ส่วนตักกบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาตักกชาดกที่ ๓ (๑)


(๑) ม. อรรถกถาตักกบัณฑิตชาดก.