พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ทุรานชาดก ภาวะของหญิง รู้ได้ยาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35441
อ่าน  488

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 137

๔. ทุรานชาดก

ภาวะของหญิง รู้ได้ยาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 137

๔. ทุรานชาดก

ภาวะของหญิง รู้ได้ยาก

[๖๔] "ท่านอย่าดีใจว่า หญิงปรารถนาเรา อย่าเศร้าโศกว่า หญิงนี้ไม่ปรารถนาเรา ภาวะของหญิงทั้งหลาย รู้ได้ยาก เหมือนทางไปของปลาในน้ำ ฉะนั้น".

จบ ทุรานชาดกที่ ๔

อรรถกถาทุรานชาดกที่ ๔

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น ว่า "มา สุ นนฺทิ อิจฺฉติ มํ" ดังนี้.

ได้ยินมาว่า อุบาสกชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ดำรงมั่นในสรณะทั้ง ๓ ในศีลทั้ง ๕ เป็นพุทธมามกะ (ยึดถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา) เป็นธัมมมามกะ (ยึดถือพระธรรมว่าเป็นของเรา) เป็นสังฆมามกะ (ยึดถือพระสงฆ์ว่าเป็นของเรา) ส่วนภรรยาของเขา เป็นหญิงทุศีล มีบาปธรรม วันใดได้ประพฤตินอกใจผัว วันนั้นจะสดชื่นเหมือนนางทาสีที่ไถ่มาด้วยทรัพย์ ๑๐๐ กษาปณ์ แต่ในวันไหนไม่ได้คบชู้ ก็จะเป็นเหมือนเจ้านาย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 138

ที่ดุร้าย หยาบคาย เขาอ่านใจนางไม่ออก เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เกิดเอือมระอาในนางผู้เป็นภรรยา ไม่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ภายหลังวันหนึ่ง เขาถือเครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ พระศาสดาตรัสว่า เป็นอย่างไรหรือ จึงไม่ได้มายังสำนักของตถาคตถึง ๗ - ๘ วัน เขากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่เรือนของข้าพระองค์ บางวันก็เป็นเหมือนดังนางทาสีที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์นับร้อยกษาปณ์ บางวันก็ทำเป็นเหมือนเจ้านาย ดุร้ายหยาบคาย ข้าพระองค์อ่านนางไม่ออกเลย ข้าพระองค์เกิดเอือมระอาในนาง จึงไม่ได้เข้ามาเฝ้า พระเจ้าข้า ครั้นพระศาสดาทรงสดับคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า อุบาสก ขึ้นชื่อว่า สภาพของมาตุคามรู้ได้ยากจริง แม้ในครั้งก่อน บัณฑิตทั้งหลายก็เคยบอกกับท่านแล้ว แต่ท่านไม่อาจกำหนดได้ เพราะเกิดๆ ดับๆ ระหว่างภพต่อภพมากำบังไว้ อันอุบาสกกราบทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ให้มาณพ ๕๐๐ คน ศึกษาศิลปะ ครั้งนั้น มาณพผู้หนึ่งอยู่นอกแว่นแคว้น มาเรียนศิลปะในสำนักของท่าน เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงนางหนึ่ง ได้นางเป็นภรรยา พำนักอยู่ในกรุงพาราณสีนั่นแหละ ไม่ได้ไปอุปัฏฐากอาจารย์เพียง ๒ - ๓ เวลา ส่วนหญิงผู้เป็นภรรยาของเขา เป็นหญิงมีนิสัยชั่ว ใฝ่ต่ำ ในวันที่ประพฤตินอกใจสามีได้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 139

จะสดชื่นเหมือนนางทาสี (ที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์ ๑๐๐ กษาปณ์) ในวันที่ประพฤติไม่ได้ ก็จะเป็นเหมือนเจ้านายที่ดุร้าย หยาบคาย เขาไม่อาจทราบความประพฤติของนางได้ จึงเกิดเอือมระอา ขุ่นข้องหมองใจนาง ไม่ได้ไปสู่ที่บำรุงของอาจารย์ ครั้นล่วงมา ๗ - ๘ วันจึงได้มา ท่านอาจารย์จึงถามว่า พ่อมาณพ เป็นอะไรไปหรือ จึงไม่มาเลย เขาบอกว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ภรรยาของกระผมบางวันดูปรารถนากระผม ต้องการกระผม เป็นเหมือนนางทาสีที่หมดมานะ บางวันก็เป็นเหมือนเจ้านาย กระด้าง หยาบคาย กระผมไม่อาจอ่านสภาพใจของนางออกได้เลย จึงเกิดเอือมระอา ขุ่นข้องหมองใจ มิได้มาปรนนิบัติท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า ดูก่อนมาณพ เรื่องนี้ก็เป็นอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่า หญิงที่นิสัยชั่ว ในวันที่ประพฤตินอกใจสามีได้ ก็ย่อมโอนอ่อนผ่อนตามสามี เหมือนทาสีที่หมดมานะแล้ว แต่ในวันที่ประพฤตินอกใจไม่ได้ จะกลายเป็นหญิงกระด้างด้วยมานะ ไม่ยอมรับนับว่าเป็นสามี ขึ้นชื่อว่า หญิงมีความประพฤติใฝ่ต่ำ นิสัยชั่ว เหล่านี้ ก็เป็นอย่างนี้ ชื่อว่า สภาพของหญิงเหล่านั้น รู้ได้ยาก ในเมื่อพวกนางจะต้องการก็ตาม ไม่ต้องการก็ตาม พึงตั้งตนเป็นกลางเข้าไว้ แล้วกล่าวคาถานี้ โดยมุ่งให้โอวาทแก่เขาว่า.

"อย่ายินดีเลยว่า นางปรารถนาเรา อย่าเสียใจเลยว่า นางไม่ปรารถนาเรา สภาพของหญิงรู้ได้ยาก เหมือนรอยของปลาในน้ำ" ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 140

บรรดาบทเหล่านั้น สุ อักษรในบาทคาถาว่า มา สุ นนฺทิ อิจฺฉติ มํ เป็นเพียงนิบาติ ความก็ว่า อย่ายินดีเลยว่า หญิงนี้ต้องการเรา คือมีความปรารถนา มีความสิเน่หาในเรา.

บทว่า มา สุ โสจิ น อิจฺฉติ ความว่า ทั้งไม่ต้องเสียใจไปว่า หญิงนี้ไม่ต้องการเรา ขยายความว่า เมื่อนางต้องการ ก็ไม่ต้องชื่นชม เมื่อนางไม่ต้องการ ก็ไม่ต้องโศกเศร้า ทำใจเป็นกลางเข้าไว้.

บทว่า ถีนํ ภาโว ทุราชาโน ความว่า ขึ้นชื่อว่า สภาพของหญิงทั้งหลาย รู้ได้ยาก เพราะมีมายาหญิงปกปิดไว้.

เหมือนอะไร.

เหมือนการไปของปลาในน้ำรู้ได้ยาก เพราะน้ำปกปิดไว้ ด้วยเหตุนี้แล เมื่อชาวประมงมา ปลาก็กำบัง การแหวกว่ายไปด้วยน้ำ หนีรอดไป ไม่ให้จับตัวได้ฉันใด หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน กระทำความชั่วแม้ใหญ่หลวง ก็ปกปิดกรรมที่ตนกระทำเสีย ด้วยมายาหญิง คือลวงสามีว่า ดิฉันไม่ได้กระทำอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าหญิงเหล่านี้ มีบาปธรรม มีความประพฤติชั่วอย่างนี้ ต้องทำใจให้เป็นกลางในนางเหล่านั้น จึงจะมีความสุข.

พระโพธิสัตว์ ได้ให้โอวาทแก่ศิษย์อย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมา เขาก็เริ่มวางมาดเหนือหญิงเหล่านั้น ถึงแม้ภรรยาของเขา พอรู้ว่า ได้ยินว่าท่านอาจารย์รู้ความประพฤติชั่วของเราแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ก็เลิกประพฤติชั่ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 141

แม้พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ อุบาสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว พระศาสดาทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า เมียผัวทั้งสองในครั้งนั้น ได้มาเป็นสองเมียผัวในครั้งนี้ ส่วนอาจารย์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาทุรานชาดกที่ ๔