พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. มุทุลักขณชาดก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35443
อ่าน  611

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 146

๖. มุทุลักขณชาดก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 146

๖. มุทุลักขณชาดก

[๖๖] "ครั้งเรายังไม่ได้นางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้นางมุทุลักขณา ผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก".

จบ มุทุลักขณชาดกที่ ๖

อรรถกถามุทุลักขณชาดกที่ ๖

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภสภาวธรรมทำให้คนเศร้าหมอง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "เอกา อิจฺฉา ปุเร อาสิ" ดังนี้.

ได้ยินว่า บุรุษชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว บรรพชาถวายชีวิตในพระศาสนา กล่าวคือพระรัตนตรัย เป็นพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติเคร่งครัด ไม่ว่างเว้นพระกรรมฐาน วันหนึ่ง เที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เห็นหญิงคนหนึ่งตกแต่งตัวสวยงาม ไม่สำรวมจักษุ จ้องดูนางด้วยอำนาจของความงาม กิเลสภายในของเธอหวั่นไหว เป็นเหมือนต้นไม้มียางอันถูกกรีดด้วยมีดฉะนั้น จำเดิมแต่นั้น เธอก็ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ไม่ได้ความสบายกายและความเบาใจ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 147

เลยทีเดียว ดูวุ่นวายคล้ายกับชมด ไม่มีความยินดีในพระศาสนา ปล่อยผมและขนรุงรัง เล็บยาว จีวรก็เศร้าหมอง ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหาย เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งอินทรีย์ของเธอ พากันถามว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เป็นอย่างไรเล่า อินทรีย์ของเธอจึงไม่เหมือนก่อนๆ เธอตอบว่า ผู้มีอายุ ผมกระสัน (หมดความยินดีในพระศาสนา) ภิกษุเหล่านั้นก็นำเธอไปยังสำนักของพระศาสดา พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุผู้ไม่ปรารถนามาหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ภิกษุรูปนี้ไม่ยินดีแล้วแล้วพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่ว่า เธอไม่ยินดีเสียแล้ว ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความจริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า ใครทำให้เธอกระสันเล่า ภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาต ได้เห็นหญิงคนหนึ่ง ไม่สำรวมจักษุ มองดูนาง ลำดับนั้นกิเลสของข้าพระองค์ก็กำเริบ เหตุนั้นข้าพระองค์จึงกระสัน พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสกะเธอว่า ดูก่อนภิกษุ การที่เธอทำลายอินทรีย์ มองดูวิสภาคารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความงาม กิเลสกำเริบนี้ ไม่อัศจรรย์ ในครั้งก่อน แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ข่มกิเลสได้แล้วด้วยกำลังฌาน มีจิตบริสุทธิ์ เที่ยวไปในอากาศได้ เมื่อทำลายอินทรีย์มองดูวิสภาคารมณ์ ก็เสื่อมจากฌาน กิเลสกำเริบ เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง ลมมีกำลังถอนภูเขาสิเนรุได้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 148

ที่ไหนจะไม่พัดภูเขาโล้น เพียงเท้าช้างให้ปลิวไป ลมที่โค่นต้นหว้าใหญ่ ที่ไหนเล่าจะไม่พัดกอไม้อันงอกขึ้นที่ตลิ่งนั้นให้ลอยไปได้ อนึ่งเล่า ลมที่พัดมหาสมุทรให้แห้งได้ ไฉนเล่าจึงจะไม่พัดน้ำในบ่อน้อยให้เหือดแห้งไป กิเลสอันกระทำความไม่รู้แก่พระโพธิสัตว์ ผู้มีความรู้สูงส่ง ผู้มีจิตผ่องแผ้วได้ปานนี้ จักยำเกรงอะไรในเธอเล่า สัตว์แม้นบริสุทธิ์ต้องเศร้าหมอง แม้เพรียบพร้อมด้วยยศอันสูงส่ง ก็ยังถึงความสิ้นยศได้ ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีสมบัติมากตระกูลหนึ่งในแคว้นกาสี บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เรียนจบศิลปะทุกประเภท ละกามเสียแล้วไปบวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรม ให้อภิญญาสมาบัติเกิดขึ้น แล้วยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌาน พำนักอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ กาลครั้งหนึ่ง ท่านเข้ามา ท่านมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อบริโภคโภชนะมีรสเค็ม รสเปรี้ยวบ้าง บรรลุถึงกรุงพาราณสี พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน รุ่งขึ้น กระทำสรีรกิจเสร็จแล้ว ครองผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังเสือเฉวียงบ่า เกล้าผมเรียบร้อยแล้ว ทรงบริขาร เที่ยวภิกษาจารอยู่ในกรุงพาราณสี ถึงประตูพระราชนิเวศน์ พระราชาทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน รับสั่งให้นิมนต์มา ให้นั่งเหนืออาสนะอันมีค่ามาก ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ท่านกระทำ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 149

อนุโมทนาแล้ว ทรงอาราธนาให้พำนักในพระราชอุทยาน พระดาบสก็รับพระราชอายาจนการ ฉันในพระราชวัง ถวายโอวาทราชสกุล พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน ๑๖ ปี อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปปราบปรามปัจจันตชนบทอันกำเริบ ตรัสสั่งพระมเหสีพระนามว่า มุทุลักขณา ว่าเธอจงอย่าประมาท จงปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้ แล้วเสด็จไป.

พระโพธิสัตว์ ตั้งแต่เวลาที่พระราชาเสด็จไปแล้ว ก็ไปสู่ พระราชวัง ตามเวลาที่ตนพอใจ อยู่มาวันหนึ่ง พระนางมุทุลักขณา ทรงเตรียมอาหารสำหรับพระโพธิสัตว์เสร็จ ทรงดำริว่า วันนี้พระคุณเจ้าคงช้า ก็ทรงสรงสนานด้วยพระสุคันโธทก ตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ให้ลาดพระยี่ภู่น้อย ณ พื้นท้องพระโรง ประทับเอนพระกายรอพระโพธิสัตว์จะมา ฝ่ายพระโพธิสัตว์กำหนดเวลาของตนแล้ว ออกจากฌานเหาะไปสู่พระราชนิเวศน์ทันที พระนางมุทุลักขณาทรงสดับเสียงผ้าเปลือกไม้ รับสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว รีบเสด็จลุกขึ้น เมื่อพระนางรีบเสด็จลุกขึ้น ผ้าที่ทรงเป็นผ้าเนื้อเกลี้ยงก็หลุดลง พอดีพระดาบสเข้าทางช่องพระแกล แลเห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสภาคของพระเทวี ก็ทำลายอินทรีย์เสีย ตลึงดูด้วยอำนาจความงาม ที่นั้นกิเลสที่อยู่ภายในของท่านก็กำเริบ เป็นเหมือนต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีด ทันใดนั้นเอง ฌานของท่านก็เสื่อม เป็นเหมือนกาปีกหักเสียแล้ว พระโพธิสัตว์ยืนตลึงรับอาหารแล้ว ก็หา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 150

บริโภคไม่ เสียวสะท้านไปเพราะกิเลสทั้งหลาย ลงจากปราสาทเดินไปพระราชอุทยาน เข้าบรรณศาลา วางอาหารไว้ใต้ที่นอน อันเป็นกระดานเลียบ (* ไม้กระดานยาวแผ่นเดียวปูไว้วางของ) วิสภาคารมณ์ติดตาตรึงใจ ไฟกิเลสแผดเผา ซูบเซียวเพราะขาดอาหาร นอนซมบนกระดานเลียบถึง ๗ วัน.

ในวันที่ ๗ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว เสด็จกลับมา ทรงประทับษิณพระนครแล้ว ยังไม่เสด็จไปพระราชนิเวศน์ทีเดียว ทรงพระดำริว่า เราจักพบพระผู้เป็นเจ้าก่อน ดังนี้แล้ว เสด็จเลยไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นท่านนอน ทรงดำริว่า ชะรอยจะเกิดความไม่สำราญสักอย่างหนึ่ง รับสั่งให้ทำความสะอาดบรรณศาลา พลางทรงนวดเฟ้นเท้าทั้งสอง รับสั่งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สบายไปหรือ พระดาบสถวายพระพรว่า มหาบพิตร ความไม่สำราญอย่างอื่นไม่มีแก่อาตมาภาพ แต่เพราะอำนาจกิเลส อาตมาภาพมีจิตกำหนัดเสียแล้ว รับสั่งถามว่า พระคุณเจ้าข้า จิตของพระคุณเจ้าปฏิพัทธ์ในนางคนไหน ถวายพระพรว่า จิตของอาตมาภาพปฏิพัทธ์ในพระนางมุทุลักขณา รับสั่งว่า ดีแล้วพระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้ายินดีถวายพระนางมุทุลักขณาแด่พระคุณเจ้า แล้วทรงพาพระดาบสเข้าพระราชนิเวศน์ ให้พระเทวีประดับพระองค์ด้วยเครื่องต้น เครื่องทรง งามสรรพ และได้พระราชทานแก่พระดาบส แต่เมื่อจะพระราชทานนั้น ได้ทรงพระราชทานสัญญาลับแด่พระนางมุทุลักขณา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 151

ว่า เธอต้องพยายามป้องกันพระผู้เป็นเจ้าด้วยกำลังของตน พระนางรับสนองพระราชโองการว่า พะยะค่ะ กระหม่อมฉันจักรักษาตนให้พ้นมือพระคุณเจ้า ดาบสก็พาพระเทวีลงจากพระราชนิเวศน์ เวลาที่จะออกพ้นประตูใหญ่ พระนางตรัสกะท่านว่า ท่านเจ้าค่ะ เราควรจะได้เรือน ท่านจงไปกราบทูลขอพระราชทานเรือนสักหลังหนึ่งเถิด ดาบสก็ไปกราบทูลของพระราชทานเรือน พระราชาพระราชทานเรือนร้างหลังหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ใช้เป็นวัจจกุฏิ ท่านก็พาพระเทวีไปที่เรือนนั้น พระนางไม่ทรงประสงค์จะเข้าไป ท่านทูลถามว่าเหตุไร จึงไม่เสด็จเข้าไป พระนางรับสั่งว่า เพราะเรือนสกปรก พระดาบสทูลถามว่า บัดนี้เราควรจะทำอย่างไร พระนางรับสั่งว่า ต้องทำความสะอาดเรือนนั้น แล้วส่งดาบสไปสู่ราชสำนัก มีพระเสาวนีย์ว่า ท่านจงไปเอาจอบมา เอาตะกร้ามา ครั้นดาบสนำมาแล้ว ก็ให้โกยสิ่งสกปรกและขยะเอาไปทิ้ง เสร็จแล้วให้ไปขนเอาโคมัยมาฉาบไว้ ครั้นแล้วก็ตรัสว่า ท่านต้องไปขนเตียงมา ขนตั่งมา แล้วให้พระดาบสขนมาทีละอย่าง มิหนำซ้ำ ยังแกล้งใช้ให้ตักน้ำเป็นต้นอีกด้วย พระดาบสเอาหม้อไปตักน้ำมาจนเต็มตุ่ม เตรียมน้ำสำหรับอาบ ปูที่นอน ที่นั้นพระนางเทวีทรงจับพระดาบส ผู้กำลังนั่งร่วมกันบนที่นอน ที่สีข้าง ฉุดให้ก้มลงมาตรงหน้า พลางตรัสว่า ท่านไม่รู้ตัวว่าเป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์เลยหรือเจ้าคะ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 152

พระดาบสกลับได้สติในเวลานั้นเอง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านไม่รู้ตัวเอาเสียเลย ขึ้นชื่อว่า กิเลสทั้งหลาย กระทำความไม่รู้ตัวได้ถึงอย่างนี้ ก็ในอธิการนี้ ควรกล่าวอ้างพระพุทธพจน์มีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามฉันทนิวรณ์ กระทำให้มืด กระทำให้ไม่รู้ตัว ดังนี้ ไว้ด้วย พระดาบสกลับได้สติ คิดว่า ตัณหานี้เมื่อเจริญขึ้น จักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นได้จากอบายทั้ง ๔ เราควรถวายคืนพระนางเทวีนี้แด่พระราชา แล้วกลับเข้าสู่ป่าหิมวันต์ในวันนี้ทีเดียว ดังนี้แล้ว พาพระนางเทวีเข้าเฝ้าพระราชาถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่มีความต้องการพระเทวีของมหาบพิตร เพราะอาศัยพระนางผู้เดียว ตัณหาจึงเจริญแก่อาตมภาพทุกอย่างเลย แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ครั้งก่อน เรายังไม่ได้ประสบพระนางมุทุลักขณา ความปรารถนามีอย่างเดียว ครั้นได้พบพระนางผู้มีพระเนตรแวววาวเข้าแล้ว ความปรารถนาช่วยให้ความปรารถนาเกิดได้ต่างๆ " ดังนี้.

ในคาถานั้นประมวลอรรถาธิบายได้ดังนี้.

ขอถวาย พระพรมหาบพิตร ครั้งก่อนอาตมาภาพ ยังไม่ได้รับพระราชทานพระเทวีมุทุลักขณาของมหาบพิตรองค์นี้ อาตมภาพมีความปรารถนาอย่างเดียว เกิดความต้องการขึ้นอย่างเดียวเท่านั้นว่า

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 153

โอหนอ เราพึงได้พระนาง แต่พออาตมาภาพได้รับพระราชทานพระนาง ผู้มีพระเนตรแวววาว มีพระเนตรกว้าง มีดวงพระเนตรงามขำเข้าแล้ว ทีนั้นความปรารถนาข้อแรกของอาตมา ช่วยให้กำเนิดเกิดความปรารถนาสืบต่อเนื่องขึ้นไป เช่น ความปรารถนาเรื่องเรือน ความปรารถนาในเครื่องอุปกรณ์ ความปรารถนาในเครื่องอุปโภคเป็นต้น ก็ความปรารถนาของอาตมานั้นเล่า เมื่อพอกพูนเข้าอย่างนี้ จักไม่ยอมให้อาตมภาพยกศีรษะขึ้นได้จากอบาย พอกันทีสำหรับพระนางนี้ที่จะเป็นภรรยาของอาตมภาพ ขอมหาบพิตร จงรับมเหสีของมหาบพิตรคืนไป ส่วนอาตมภาพจักไปหิมพานต์.

ทันใดนั้นเอง พระดาบสก็ทำฌานที่เสื่อมไปให้เกิดขึ้น นั่งในอากาศแสดงธรรม ถวายโอวาทแด่พระราชา แล้วไปสู่ป่าหิมพานต์ทางอากาศทันที ไม่มาสู่ประเทศที่ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์อีกเลย แต่เจริญพรหมวิหาร ไม่เสื่อมจากฌาน บังเกิดในพรหมโลกแล้ว.

พระบรมศาสดา ครั้งทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจจะ ภิกษุนั้นประดิษฐานในพระอรหัตตผล พระศาสดาทรงสืบต่ออนุสนธิประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ มุทุลักขณา ได้มาเป็นอุบลวัณณา ส่วนฤาษี ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถามุทุลักขณาชาดกที่ ๖