พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สาเกตชาดก ว่าด้วยจิตใจจดจ่อเลื่อมใสในผู้ที่คุ้นเคย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35445
อ่าน  420

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 159

๘. สาเกตชาดก

ว่าด้วยจิตใจจดจ่อเลื่อมใสในผู้ที่คุ้นเคย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 159

๘. สาเกตชาดก

ว่าด้วยจิตใจจดจ่อเลื่อมใสในผู้ที่คุ้นเคย

[๖๘] "ใจจดจ่ออยู่ในผู้ใด แม้จิตเลื่อมใสในผู้ใด บุคคลพึงคุ้นเคยสนิทสนมแม้ในผู้นั้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน".

จบ สาเกตชาดกที่ ๘

อรรถกถาสาเกตชาดกที่ ๘

พระศาสดา ทรงอาศัยเมืองสาเกต ประทับ ณ พระวิหารอัญชนวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยสฺมิํ มโน นิวีสติ" ดังนี้.

ได้ยินว่า ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ เสด็จเข้าเมืองสาเกตเพื่อบิณฑบาต พราหมณ์แก่ชาวเมืองสาเกตคนหนึ่ง กำลังเดินไปนอกพระนคร เห็นพระทศพลระหว่างประตู ก็หมอบลงแทบพระยุคลบาท ยึดข้อพระบาททั้งคู่ไว้แน่น พลางกราบทูลว่า พ่อมหาจำเริญ ธรรมดาว่าบุตร ต้องปรนนิบัติมารดาบิดาในยามแก่มิใช่หรือ เหตุไรพ่อจึงไม่แสดงตนแก่เราตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ เราเห็นพ่อก่อนแล้ว แต่พ่อจงมาพบกับมารดา แล้วพาพระศาสดาไปเรือนของตน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 160

พระศาสดาเสด็จไปที่เรือนของพราหมณ์ ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดไว้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ฝ่ายพราหมณี ได้ข่าวว่า บัดนี้บุตรของเรามาแล้ว ก็มาหมอบแทบบาทยุคลของพระบรมศาสดา แล้วร่ำไห้ว่า พ่อคุณทูลหัว พ่อไปไหนเสียนานถึงปานนี้ ธรรมดาบุตรต้องบำรุงมารดาบิดายามแก่มิใช่หรือ แล้วบอกให้บุตรธิดาพากันมาไหว้ ด้วยคำว่า พวกเจ้าจงไหว้พี่ชายเสีย พราหมณ์ทั้งสองผัวเมียดีใจถวายมหาทาน พระศาสดาครั้นเสวยเสร็จแล้ว ก็ตรัสชราสูตรแก่พราหมณ์แม้ทั้งสองเหล่านั้น ในเวลาจบพระสูตร คนแม้ทั้งสองก็ตั้งอยู่ในพระอนาคามิผล พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จไปพระวิหารอัญชนวันตามเดิม พวกภิกษุนั่งประชุมกันในโรงธรรม สนทนากันขึ้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พราหมณ์ก็รู้อยู่ว่า พระบิดาของพระตถาคต คือพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดา คือพระนางมหามายา ทั้งๆ ที่รู้อยู่ ก็ยังบอกพระตถาคตกับนางพราหมณีว่า บุตรของเรา ถึงพระศาสดาก็ทรงรับ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรหนอ พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์แม้ทั้งสองเรียกบุตรของตน นั่นแหละว่าบุตร แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์นี้ในอดีตกาล ได้เป็นบิดาของเราตลอด ๕๐๐ ชาติ เป็นอาของเรา ๕๐๐ ชาติ เป็นปู่ของเรา ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกันไม่ขาดสาย แม้นางพราหมณีนี้เล่า ก็ได้เป็นมารดาของเรา ๕๐๐ ชาติ เป็นน้า ๕๐๐ ชาติ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 161

เป็นย่า ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกันไม่ขาดสายเลยดุจกัน เราเจริญแล้วในมือของพราหมณ์ ๑,๕๐๐ ชาติ จำเริญแล้วในมือของนางพราหมณี ๑,๕๐๐ ชาติอย่างนี้ เป็นอันทรงตรัสถึงชาติในอดีต ๓,๐๐๐ ชาติ ครั้นตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ ความว่า.

"ใจจดจ่ออยู่ในผู้ใด แม้จิตเลื่อมใสในผู้ใด บุคคลพึงคุ้นเคยสนิทสนมแม้ในผู้นั้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺมิํ มโน นิวีสติ ความว่า ใจจดจ่ออยู่ในบุคคลใด ผู้เพียงแต่เห็นกันเท่านั้น.

บทว่า จิตฺตญฺจาปิ ปสีทติ ความว่า อนึ่ง จิตย่อมเลื่อมใส อ่อนโยน ในบุคคลใด ผู้พอเห็นเข้าเท่านั้น.

บทว่า อทิฏฺปุพฺพเก โปเส ความว่า ในบุคคลแม้นั้น ถึงในยามปกติ จะเป็นบุคคลที่ไม่เคยเห็นกันเลยในอัตภาพนั้น.

บทว่า กามํ ตสฺมิํปิ วิสฺสเส มีอธิบายว่า ย่อมคุ้นเคยกันโดยส่วนเดียว คือถึงความคุ้นกันทันที แม้ในบุคคลนั้น ด้วยอำนาจความรักที่เคยมีในครั้งก่อนนั่นเอง.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาอย่างนี้แล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พราหมณ์และพราหมณีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพราหมณ์และนางพราหมณีคู่นี้นั่นแล ฝ่ายบุตร ได้แก่เราตถาคตนั่นเอง ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสาเกตชาดก