พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มัจฉชาดก ว่าด้วยปลาขอฝน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35452
อ่าน  518

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 204

๕. มัจฉชาดก

ว่าด้วยปลาขอฝน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 204

๕. มัจฉชาดก

ว่าด้วยปลาขอฝน

[๗๕] "ข้าแต่พระปัชชุนนะ ท่านจงคำรณคำราม ให้ขุมทรัพย์ของกาพินาศไป จงทำลายฝูงกาด้วยความเศร้าโศก และจงปลดเปลื้องข้าพเจ้าจากความโศกเถิด".

จบ มัจฉชาดกที่ ๕

อรรถกถามัจฉชาดกที่ ๕

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภฝนที่พระองค์ทรงบันดาลให้ตกลง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อภิตฺถนย ปชฺชุนฺนา" ดังนี้.

ดังได้สดับมา ในสมัยหนึ่ง ในแคว้นโกศลฝนไม่ตกเลย ข้าวกล้าทั้งหลายเหี่ยวแห้ง ตระพัง สระโบกขรณีและสระในที่นั้นๆ ก็เหือดแห้ง แม้โบกขรณีเชตวัน ณ ที่ใกล้ซุ้มพระทวารเชตวัน ก็ขาดน้ำ ฝูงกาและนกเป็นต้น รุมกันเอาจะงอยปากอันเทียบได้กับปากคีม จิกทึ้งฝูงปลาและเต่าอันหลบคุดเข้าสู่เปือกตมออกมากิน ทั้งๆ ที่กำลังดิ้นอยู่ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นความพินาศของฝูงปลาและเต่า พระมหากรุณา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 205

เตือนพระทัยให้ทรงอุตสาหะ จึงทรงพระดำริว่า วันนี้เราควรจะให้ฝนตก ครั้นราตรีสว่างแล้ว ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระเสร็จ ทรงกำหนดเวลาภิกษาจาร มีพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีด้วยพระพุทธลีลา ภายหลังภัตรเสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว เมื่อเสด็จจากพระนครสาวัตถีสู่พระวิหาร ประทับยืนที่บันไดโบกขรณีเชตวัน ตรัสเรียกพระอานนท์เถรเจ้ามาว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเอาผ้าอาบน้ำมา เราจักสรงน้ำในสระโบกขรณีเชตวัน พระอานนทเถรเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในโบกขรณีเชตวันแห้งขอดเหลือแต่เพียงเปือกตมเท่านั้น มิใช่หรือพระเจ้าข้า ตรัสว่า อานนท์ ธรรมดาว่ากำลังของพระพุทธเจ้าใหญ่หลวงนัก เธอจงนำเอาผ้าอาบน้ำมาเถิด พระเถรเจ้าได้นำมาทูลถวาย พระศาสดาทรงนุ่งผ้าอุทกสาฎกด้วยชายข้างหนึ่ง อีกชายหนึ่งทรงคลุมพระสรีระ ประทับยืนที่บันได ตั้งพระทัยว่า เราจักสรงน้ำในสระโบกขรณีเชตวัน.

ทันใดนั้นเอง บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะ ก็สำแดงอาการร้อน ท้าวเธอรำพึงว่า อะไรเล่าหนอ ทรงทราบเหตุนั้น จึงมีเทวบัญชาเรียกวลาหกเทวราชเจ้าแห่งฝนมาเฝ้า พลางตรัสว่า พ่อเทพบุตร พระบรมศาสดาทรงตั้งพระทัยว่า เราจักสรงน้ำในสระโบกขรณีเชตวัน ประทับยืนอยู่ ณ บันได เธอจงกระทำแคว้นโกศลทั้งสิ้น ให้มีเมฆพะยับพะโยม (* พยับโพยม) เป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 206

อันเดียวกัน บันดาลให้ฝนตกโดยเร็วเถิด วลาหกเทวราชรับเทวบัญชาแล้ว นุ่งก้อนเมฆก้อนหนึ่ง ห่มก้อนหนึ่ง ขับเพลง เมฆสังคีต (๑) บ่ายหน้าไปทางโลกธาตุด้านตะวันออก เหาะไปแล้ว ณ ทิศาภาคตะวันออก ก็ปรากฏกลุ่มเมฆกลุ่มหนึ่ง มีขนาดเท่าลานนวดข้าว ซ้อนเป็นชั้นๆ ตั้งร้อยชั้นพันชั้น คำรณคำราม ฟ้าแลบแปลบปลาบ ฝนก็ตกลงมาด้วยอาการประหนึ่งว่า คว่ำหม้อเทลงมา แคว้นโกศลทั้งสิ้น ท่วมท้นเหมือนห้วงน้ำไหลบ่าท่วมอยู่ ฝนตกอยู่ไม่ขาดสาย ครู่เดียวเท่านั้น ก็เต็มสระโบกขรณีเชตวัน น้ำท่วมจดถึงแคร่บันได.

พระบรมศาสดาลงสรงในสระโบกขรณีเชตวันแล้ว ทรงครองผ้าสองชั้นสีแดง คาดรัดประคด ทรงครองสุคตจีวรเฉวียงพระอังสา แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จพระดำเนินไปประทับนั่งเหนือพระบวรพุทธาอาสน์ที่ปูลาดไว้ในบริเวณพระคันธกุฏี เมื่อภิกษุสงฆ์แสดงวัตรปฏิบัติแล้ว ก็เสด็จอุฏฐาการ ประทับยืน ณ พื้นขั้นบันไดแก้วมณี ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วทรงส่งกลับไป เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฏีที่มีกลิ่นจรุงใจ ทรงบรรทมสีหไสยา ด้วยพระปรัศว์เบื้องขวา ต่อเวลาเย็น พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภา ยกเรื่องขึ้นสนทนากันว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูพระคุณสมบัติ คือขันติ พระเมตตา


(๑) ขับเพลิงในคัมภีร์เมฆฑูต และคัมภีร์ภาควัตคีตา.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 207

และพระกรุณาของพระทศพล ในเมื่อข้าวกล้าต่างๆ กำลังเหี่ยวแห้ง ชลาลัยทุกแห่งก็เหือดหาย ฝูงปลาและเต่าประสบทุกข์ ใหญ่หลวง พระองค์ทรงอาศัยพระกรุณา ทรงครองผ้าอุทกสาฎก ด้วยมุ่งพระทัยจักให้มหาชนพ้นจากความทุกข์ ประทับยืน ณ บันไดขั้นแรกแห่งโบกขรณีเชตวัน ทรงบันดาลให้ฝนตกเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่าท่วมโกศลรัฐทุกส่วน โดยเวลาเพียงครู่เดียว ทรงปลดเปลื้องมหาชนจากทุกข์กาย ทุกข์ใจ แล้วเสด็จเข้าพระวิหาร พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จมาสู่ธรรมสภา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตทำให้ฝนตก ในเมื่อมหาชนพากันลำบาก แม้ในกาลก่อน เมื่อตถาคตเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แม้ในคราวเป็นราชาของฝูงปลา ก็ได้ทำให้ฝนตกแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล มีลำห้วยแห่งหนึ่ง ล้อมรอบด้วยชัฏแห่งเถาวัลย์ อยู่ตรงโบกขรณีเชตวันนี้ ณ เมืองสาวัตถี แคว้นโกศลนี้แหละ ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดปลา มีฝูงปลาเป็นบริวารอยู่ในลำห้วยนั้น แม้ในคราวนั้น แคว้นนั้นฝนก็ไม่ตกเหมือนคราวนี้ ข้าวกล้าของพวกมนุษย์เหี่ยวแห้ง ในบึงเป็นต้น ขาดน้ำ ฝูงปลาและเต่าพากันคุดเข้าเปือกตม แม้ที่ลำห้วยนั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 208

ฝูงปลาก็พากันคุดเข้าโคลนตม ซุกซ่อนในที่นั้นๆ ฝูงกาเป็นต้น ก็พากันรุมจิกทึ้งออกมาจิกกินด้วยจะงอยปาก พระโพธิสัตว์เห็นความพินาศของหมู่ญาติ ก็ดำริว่า ผู้อื่นเว้นเราเสียแล้ว ใครเล่าที่จะได้ชื่อว่าสามารถปลดเปลื้องทุกข์ของพวกปลาเหล่านี้ เป็นไม่มี เราจักทำสัจจกิริยาให้ฝนตก ปลดเปลื้องฝูงญาติจากทุกข์คือความตายให้จงได้ แล้วแหวกตมสีดำออก พญาปลาใหญ่ สีกายเหมือนปุ่มต้นอัญชัน ลืมตาทั้งคู่ อันเปรียบได้กับแก้วมณีสีแดงที่เจียรนัยแล้ว มองดูอากาศ บรรลือเสียง กล่าวแก่เทวราชปัชชุนนะว่า ข้าแต่พระปัชชุนนะผู้เจริญ ข้าพเจ้าอาศัยหมู่ญาติเดือดร้อนมาก ในเมื่อข้าพเจ้าผู้ทรงศีลลำบากอยู่ ทำไมท่านไม่ช่วยให้ฝนตกลงมาเล่า ข้าพเจ้าบังเกิดในฐานะที่จะกัดกินพวกเดียวกัน แต่ก็ยังไม่เคยได้ชื่อว่า กัดกินมัจฉาชาติ ตั้งต้นแต่ปลาเล็กแม้มีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ถึงสัตว์มีปราณอื่นๆ เล่า ข้าพเจ้าก็มิได้เคยแกล้งปลงชีวิตเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอท่านจงให้ฝนตกลงมา ปลดเปลื้องหมู่ญาติของข้าพเจ้าจากทุกข์เทอญ เมื่อจะเรียกเทวราชปัชชุนนะ ประหนึ่งสั่งงานคนรับใช้ กล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ข้าแต่พระปัชชุนนะ ท่านจงคำรณคำราม ให้ขุมทรัพย์ของกาพินาศไป จงทำลายฝูงกาด้วยความโศก และจงปลดเปลื้องข้าพเจ้าจากความโศกเถิด" ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 209

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิตฺถนย ปชฺชุนฺน ความว่า เมฆเรียกกันว่า ท้าวปัชชุนนะ ก็พญาปลานี้ เรียกวลาหกเทวราชเจ้าแห่งฝน ผู้ได้นามด้วยอำนาจแห่งเมฆ ได้ยินว่า พญาปลานั้น มีความประสงค์ดังนี้ว่า ธรรมดาว่าฝนไม่คำรณคำราม ไม่ให้สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แม้จะตกกระหน่ำก็ไม่งาม เพราะฉะนั้น ท่านจงคำรณคำราม ให้สายฟ้าแลบแปลบปลาบ ให้ฝนตกเถิด.

บทว่า นิธิํ กากสฺส นาสย ความว่า ฝูงกาพากันจิกทึ้งฝูงปลาที่พากันคุดเข้าเปือกตมซุกอยู่ ออกมาด้วยจะงอยปากกินเป็นอาหาร เพราะเหตุนั้นฝูงปลาที่คุดอยู่ในเปือกตม จึงเรียกว่า ขุมทรัพย์ของกาเป็นต้นเหล่านั้น เมื่อท่านให้ฝนตก ปกปิดเสียด้วยน้ำแล้ว ก็เป็นอันทำลายขุมทรัพย์ของฝูงกานั้นเสีย.

บทว่า กากํ โสกาย รนฺเธหิ ความว่า ฝูงกาเมื่อลำห้วยมีน้ำเต็มแล้ว ไม่ได้ฝูงปลาเป็นอาหาร ก็ต้องเศร้าโศก เมื่อท่านกระทำให้ลำห้วยนี้เต็มเปี่ยม ก็เป็นอันทำลายฝูงกานั้นด้วยความโศก ท่านจงยังฝนให้ตก เพื่อระงับความโศก คือเพื่อความโล่งใจของปลา อธิบายว่า ฝูงกาจะถึงความเศร้าโศก อันมีลักษณะหม่นไหม้ในภายใน ได้ด้วยวิธีใด ท่านโปรดกระทำวิธีนั้นเถิด.

อักษร ในบทคาถาว่า มญฺจ โสกา ปโมจย นี้ มีการประมวลมาเป็นอรรถ ความก็ว่า ท่านโปรดให้ข้าพเจ้าและฝูงญาติทั้งหมด พ้นจากความเศร้าโศกอันเกิดแต่ความตายนี้เถิด.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 210

พระโพธิสัตว์เรียกท้าวปัชชุนนะ เหมือนสั่งบังคับคนรับใช้อย่างนี้ ให้ฝนห่าใหญ่ตกทั่วแคว้นโกศล ให้มหาชนพ้นจากมรณทุกข์ ในปริโยสานกาลของชีวิตก็ได้ไปตามยถากรรม.

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตยังฝนให้ตก แม้ในกาลก่อน ถึงเกิดในกำเนิดปลา ก็ให้ฝนตกแล้วเหมือนกัน ดังนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ฝูงปลาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท ปัชชุนนะเทวราช ได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนพญาปลา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถามัจฉชาดกที่ ๕