พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อัตถัสสทวารชาดก ว่าด้วยคุณธรรมแห่งประโยชน์ ๖ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35461
อ่าน  386

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 288

๔. อัตถัสสทวารชาดก

ว่าด้วยคุณธรรมแห่งประโยชน์ ๖ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 288

๔. อัตถัสสทวารชาดก

ว่าด้วยคุณธรรมแห่งประโยชน์ ๖ ประการ

[๘๔] "บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความคล้อยตามผู้รู้ ๑ การสดับตรับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตูด่านแรกแห่งประโยชน์".

จบ อัตถัสสทวารชาดกที่ ๔

อรรถกถาอัตถัสสทวารชาดกที่ ๔

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ" ดังนี้.

มีเรื่องย่อๆ ว่า ในพระนครสาวัตถี บุตรของท่านเศรษฐีผู้มีสมบัติมากคนหนึ่ง เกิดมาได้ ๗ ขวบ เป็นผู้มีปัญญาฉลาดในประโยชน์ วันหนึ่งเขาเข้าไปหาท่านบิดา ถามถึงเรื่องที่ชื่อว่า ปัญหาอันเป็นประตูแห่งประโยชน์ ท่านเศรษฐีผู้บิดาไม่ทราบปัญหานั้น จึงได้เกิดปริวิตกว่า ปัญหานี้สุขุมยิ่งนัก เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ผู้อื่นในโลกสันนิวาส ที่กำหนดด้วยภวัคคพรหม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 289

เป็นส่วนสุดเบื้องบน และด้วยอเวจีเป็นส่วนสุดเบื้องต่ำ ที่ชื่อว่า สามารถเพื่อจะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่มีเลย ท่านจึงพาบุตรให้ถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นอันมาก ไปสู่พระเชตวันวิหาร บูชาพระศาสดาแล้วถวายบังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลความข้อนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เด็กนี้มีปัญญาฉลาดในประโยชน์ ถามปัญหาประตูแห่งประโยชน์กะข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่ทราบปัญหานั้น จึงมาสู่สำนักของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตัวข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้นเถิด พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก แม้ในกาลก่อน เราก็ถูกเด็กนี้ถามปัญหานั้นแล้ว และเราก็กล่าวแก้ปัญหานั้นกะเขาแล้ว ในครั้งนั้น เด็กนี้รู้ปัญหานั้น แต่บัดนี้เขากำหนดไม่ได้ เพราะถือความสิ้นไปแห่งภพ (ติดต่อกัน) ท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก ครั้งนั้นบุตรของท่านเกิดมาได้ ๗ ขวบ เป็นผู้มีปัญญา ฉลาดในประโยชน์ วันหนึ่งเข้าไปหาบิดา ถามปัญหาเรื่องประตูประโยชน์ว่า ข้าแต่ท่านบิดา อะไรชื่อว่า ประตูแห่งประโยชน์ ครั้งนั้นบิดาของเขาเมื่อจะกล่าวแก้ปัญหานั้น กล่าวคาถานี้ ความว่า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 290

"บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความคล้อยตามผู้รู้ ๑ การสดับตรับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตูด่านแรกแห่งประโยชน์" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น อักษรในบทว่า อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ เป็นเพียงนิบาต พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงความนี้ว่า พ่อคุณ ก่อนอื่นทีเดียว พึงปรารถนาลาภยอดเยี่ยมกล่าวคือ ความไม่มีโรค จึงกล่าวอย่างนี้.

ที่ชื่อว่า ความเป็นผู้ไม่มีโรค ในบาทคาถาว่า อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ นั้น ได้แก่ อาการที่ไม่มีสภาวะเสียดแทง ไม่มีอาการกระวนกระวายแห่งร่างกายและจิตใจ เพราะว่าเมื่อร่างกายยังถูกเสียดแทง กระวนกระวายอยู่ บุคคลย่อมไม่สามารถจะยังลาภที่ยังไม่ได้ ให้เกิดขึ้น ที่ได้ไว้แล้ว ก็ไม่อาจที่จะใช้สอย แต่เมื่อไม่กระวนกระวาย ย่อมสามารถบันดาลให้เกิดได้ทั้งสองสถาน อนึ่ง เมื่อจิตใจเดือดร้อนเพราะอุปกิเลสอยู่ คนก็ไม่อาจเหมือนกับที่จะก่อลาภ คือคุณพิเศษ มีฌานเป็นต้นที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ที่ได้ไว้แล้ว ก็อาจจะชมเชยด้วยสามารถแห่งสมาบัติอีกได้ เมื่อโรคนี้ยังมีอยู่ แม้ลาภที่ยังไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้ แม้ที่ได้แล้ว ก็ไร้ประโยชน์ แต่เมื่อโรคนี้ไม่มี แม้ลาภที่ยังไม่ได้ ก็จะต้องได้ แม้ที่ได้แล้ว ก็ย่อมอำนวยประโยชน์ เหตุนั้นความไม่มีโรคจึง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 291

ชื่อว่า เป็นลาภอย่างยิ่ง จำต้องปรารถนาความไม่มีโรคนั้นก่อนอื่น ทั้งหมดนี้เป็นประตูเอกแห่งประโยชน์ ทั้งหมดนี้เป็นอรรถาธิบายในข้อนั้น.

บทว่า สีลญฺจ ได้แก่ อาจารศีล คือระเบียบในส่วนที่เป็นมารยาท พระโพธิสัตว์แสดงถึงจารีตของชาวโลก ด้วยบทนี้.

บทว่า พุทฺธานุมตํ ได้แก่ ความคล้อยตามบัณฑิตผู้เจริญด้วยคุณทั้งหลาย พระโพธิสัตว์แสดงโอวาทของครูทั้งหลาย ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ ด้วยบทนี้.

บทว่า สุตญฺจ คือการฟังที่อิงเหตุ พระโพธิสัตว์แสดงพาหุสัจจะ ความเป็นผู้คงแก่เรียน อันอาศัยตนในโลกนี้ ด้วยบทนี้.

บทว่า ธมฺมานุวตฺตี จ ได้แก่ การคล้อยตามสุจริตธรรม มีอย่าง ๓ พระโพธิสัตว์แสดงการเว้นทุจริตธรรม แล้วประพฤติสุจริตธรรม ด้วยบทนี้.

บทว่า อลีนตา จ ได้แก่ ความที่จิตไม่หดหู่ไม่ตกต่ำ พระโพธิสัตว์แสดงความที่จิตเป็นสภาพประณีตและเป็นสภาพสูงยิ่งอย่างไม่เสื่อมคลาย ด้วยบทนี้.

บทว่า อตฺถสฺส ทฺวารา ปมุขา ฉเฬเต ความว่า ความเจริญชื่อว่า ประโยชน์ (๑) ธรรมทั้ง ๖ ประการเหล่านี้ เป็นประตู


(๑) ปาฐะว่า อตฺโถ นาม วุฑฺฒิสงฺขาตสฺส ฯลฯ ฉบับพม่าเป็น อตฺโถ นาม วุฑฺฒิ. คำว่า วุฑฺฒิสงฺขาตสฺส แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 292

เป็นอุบาย คือเป็นทางบรรลุด่านแรก คือสูงสุดแห่งประโยชน์ ทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ กล่าวคือ ความเจริญ.

พระโพธิสัตว์กล่าวแก้ปัญหาประตูแห่งประโยชน์แก่บุตร ด้วยประการฉะนี้ ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ประพฤติในธรรม ๖ ประการนั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น แล้วก็ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ประชุมชาดกว่า บุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นบุตรคนปัจจุบัน ส่วนมหาเศรษฐี ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอัตถัสสทวารชาดกที่ ๔