พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. กิมปักกชาดก ว่าด้วยโทษของกาม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35462
อ่าน  428

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 293

๕. กิมปักกชาดก

ว่าด้วยโทษของกาม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 293

๕. กิมปักกชาดก

ว่าด้วยโทษของกาม

[๘๕] "ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่ ผลที่สุดกามเหล่านั้น ก็จะกำจัดบุคคลนั้นเสีย เหมือนผลกิมปักกะกำจัดผู้กินให้ถึงตาย ฉะนั้น".

จบ กิมปักกชาดกที่ ๕

อรรถกถากิมปักกชาดกที่ ๕

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันแล้วรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อายติํ โทสํ นาฺาย" ดังนี้.

ได้ยินว่า กุลบุตรผู้หนึ่งบวชถวายชีวิตในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เห็นหญิงนางหนึ่งแต่งกายหมดจดงดงาม เกิดกระสัน ครั้งนั้นอาจารย์แลอุปัชฌาย์ พาเธอมายังสำนักของพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่ว่าเธอกระสัน เมื่อเธอกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่า เบญจกามคุณเหล่านี้ น่ารื่นรมย์ในเวลาบริโภค ขึ้นชื่อว่า การบริโภคเบญจกามคุณเหล่านั้น ย่อมเปรียบได้กับการบริโภคผลกิมปักกะ (ผลไม้มีพิษ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 294

ชนิดหนึ่ง ลูกเท่าผลมะม่วง) เพราะเป็นตัวให้เกิดปฏิสนธิในนรกเป็นต้น ที่ได้ชื่อว่า ผลกิมปักกะ สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่นและรส แต่กินเข้าไปแล้ว กัดไส้ ทำไห้ถึงสิ้นชีวิต ในครั้งก่อนคนเป็นอันมาก ไม่เห็นโทษของมัน ติดใจในสี กลิ่นและรส ต่างบริโภคผลนั้น พากันถึงสิ้นชีวิต อันภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นนายกองเกวียน คุมกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางไปสู่ชายแดนไกลๆ ถึงปากดง เรียกประชุมคนทั้งหลายตักเตือนว่า ในดงนี้มีต้นไม้ที่ชื่อต้นไม้มีพิษ ไม่ถามเราก่อนแล้ว อย่ากินผลาผลที่ไม่เคยกินมาก่อนเป็นอันขาด ฝูงชนเดินทางล่วงเข้าสู่ดง ได้เห็นต้นกิมปักกะ (ต้นไม้มีผลเป็นพิษชนิดหนึ่ง ลูกเท่าผลมะม่วง) ต้นหนึ่ง มีกิ่งโน้มลงเพราะหนักผล ลำต้น กิ่งและใบของมันคล้ายกับต้นมะม่วง ทั้งสัณฐาน สี กลิ่นและรส พากันกินผลไม้ ด้วยสำคัญว่าผลมะม่วง บางพวกก็ว่า ต้องถามนายกองเกวียนก่อนแล้วจึงจักกิน ถือยืนรออยู่ ครั้นพระโพธิสัตว์มาถึงที่นั้น ก็ร้องบอกพวกที่ถือยืนรอนั้น ให้ทิ้งผลไม้เสีย บอกให้พวกที่พากันกินเข้าไปแล้วทำการสำรอก แล้วให้ยาพวกนั้นกิน พวกเหล่านั้นบางคนก็หาย แต่พวกที่กินเข้าไปก่อนพวกทีเดียวพากันสิ้นชีวิต ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เดินทาง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 295

ถึงสถานที่ต้องการจะไปโดยสวัสดี ได้ลาภแล้วกลับมาถึงสถานที่ของตนดังเดิม กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดาตรัสเรื่องนั้นแล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า.

"ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่ ผลที่สุดกามเหล่านั้น ก็จะกำจัดบุคคลนั้นเสีย เหมือนผลกิมปักกะกำจัดผู้กินให้ถึงตายฉะนั้น" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อายติํ โทสํ นาญฺาย ความว่า ไม่รู้ คือไม่ทราบถึงโทษในกาลภายหน้า.

บทว่า โย กาเม ปฏิเสวติ ความว่า บุคคลใดส้องเสพวัตถุกามและกิเลสกาม.

บทว่า วิปากนฺเต หนนฺตี นํ ความว่า กามเหล่านั้นจะยังบุรุษนั้นผู้เกิดแล้วในนรกเป็นต้นในที่สุด กล่าวคือ วิบากของตน ให้พัวพันอยู่ด้วยทุกข์มีประการต่างๆ ชื่อว่า ย่อมกำจัดเขาเสีย.

กำจัดอย่างไร.

อย่างเดียวกับผลกิมปักกะที่บุคคลบริโภคแล้วฉะนั้น อธิบายว่า อุปมาเหมือนผลกิมปักกะ น่าชอบใจ เพราะถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรสในเวลาบริโภค ทำให้คนที่ไม่เห็นโทษในอนาคต กินแล้วถึงความสิ้นชีวิตไปตามๆ กัน ฉันใด กามทั้งหลาย แม้จะน่าชอบใจในเวลาบริโภค ก็จะกำจัดเขาเสียในเวลาให้ผล ฉันนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 296

พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมตามอนุสนธิ แล้วทรงประกาศสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันบรรลุโสดาปัตติผล บริษัทที่เหลือ บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า บริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนนายกองเกวียน ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากิมปักกชาดกที่ ๕