พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. มังคลชาดก ว่าด้วยการถือมงคลตื่นข่าว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35464
อ่าน  524

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ อปายิมหวรรค - หน้า 303

๗. มังคลชาดก

ว่าด้วยการถือมงคลตื่นข่าว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 303

๗. มังคลชาดก

ว่าด้วยการถือมงคลตื่นข่าว

[๘๗] "ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือลางบอกเหตุ ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่า ล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสที่เป็นคู่และเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก".

จบ มังคลชาดกที่ ๗

อรรถกถามังคลชาดกที่ ๗

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภพราหมณ์ผู้รู้จักลักษณะผ้าสาฎกผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยสฺส มงฺคลา สมูหตา" ดังนี้.

ได้ยินว่า พราหมณ์ชาวพระนครราชคฤห์ผู้หนึ่ง เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นมิจฉาทิฏฐิ มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก หนูกัดคู่แห่งผ้าสาฎกที่เขาเก็บไว้ในหีบ ครั้นถึงเวลาที่เขาสนานเกล้า กล่าวว่า จงนำผ้าสาฎกมา คนทั้งหลายจึงบอกการที่หนูกัดผ้าแก่เขา เขาคิดว่า ด้วยผ้าสาฎกทั้งคู่ที่หนูกัดนี้ จักคงมีในเรือนนี้ละก็ ความพินาศ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 304

อย่างใหญ่หลวงจักมี เพราะผ้าคู่นี้เป็นอวมงคลเช่นกับตัวกาฬกรรณี ทั้งไม่อาจให้แก่บุตรธิดาหรือทาสกรรมกร เพราะความพินาศอย่างใหญ่หลวงจักต้องมีแก่ผู้ที่รับผ้านี้ไปทุกคน ต้องให้ทิ้งมันเสียที่ป่าช้าผีดิบ แต่ไม่กล้าให้ในมือพวกทาสเป็นต้น เพราะพวกนั้นน่าจะเกิดโลภในผ้าคู่นี้ ถือเอาไปแล้วถึงความพินาศไปตามๆ กันได้ เราจักให้ลูกถือผ้าคู่นั้นไป เขาเรียกบุตรมาบอกเรื่องราวนั้นแล้ว ใช้ไปด้วยคำว่า พ่อคุณ ถึงตัวเจ้าเอง ก็ต้องไม่เอามือจับมัน จงเอาท่อนไม้คอนไปทิ้งเสียที่ป่าช้าผีดิบ อาบน้ำดำเกล้าแล้วมาเถิด.

แม้พระบรมศาสดาเล่า ในวันนั้นเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจพวกเวไนยสัตว์เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของพ่อลูกคู่นี้ ก็เสด็จไปเหมือนพรานเนื้อตามรอยเนื้อฉะนั้น ได้ประทับยืน ณ ประตูป่าช้าผีดิบ ทรงเปล่งพระพุทธรังษี ๖ ประการอยู่ แม้มาณพรับคำบิดาแล้ว คอนผ้าคู่นั้นด้วยปลายไม้เท้า เหมือนคอนงูเขียวเดินไปถึงประตูป่าช้าผีดิบ ลำดับนั้น พระศาสดารับสั่งกะเขาว่า มาณพ เจ้าทำอะไร มาณพกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผ้าคู่นี้ถูกหนูกัดเป็นเช่นเดียวกับตัวกาฬกรรณี เปรียบด้วยยาพิษที่ร้ายแรง บิดาของข้าพระองค์เกรงว่า เมื่อผู้ทิ้งมันเป็นคนอื่น น่าจะเกิดความโลภขึ้นถือเอาเสีย จึงใช้ข้าพระองค์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเองก็มาด้วยหวังว่า จักทิ้งมันเสีย พระศาสดาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ก็จงทิ้งเถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 305

มาณพจึงทิ้งเสีย พระศาสดาตรัสว่า คราวนี้สมควรแก่เราตถาคต ดังนี้แล้ว ทรงถือเอาต่อหน้ามาณพนั้นทีเดียว ทั้งๆ ที่มาณพนั้นห้ามอยู่ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นอวมงคลเหมือนตัวกาฬกรรณี อย่าจับ อย่าจับเลย พระศาสดาก็ทรงถือเอาผ้าคู่นั้น เสด็จผันพระพักตร์มุ่งหน้าตรงไปพระเวฬุวัน มาณพรีบไปบอกแก่พราหมณ์ผู้บิดาว่า คุณพ่อครับ คู่ผ้าสาฎกที่ผมเอาไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบนั้น พระสมณโคดมตรัสว่า ควรแก่เรา ทั้งๆ ที่ผมห้ามปราม ก็ทรงถือเอาแล้วเสด็จไปสู่พระเวฬุวัน ถึงพระสมณโคดมทรงใช้สอยมัน ก็คงย่อยยับ แม้พระวิหารก็จักพินาศ ทีนั้นพวกเราจักต้องถูกครหา เราต้องถวายผ้าสาฎกอื่นๆ มากผืนแด่พระสมณโคดม ให้พระองค์ทรงทิ้งผ้านั้นเสีย เขาให้คนถือผ้าสาฎกหลายผืนไปสู่พระวิหารเวฬุวันกับบุตร ถวายบังคมพระศาสดา แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณโคดม ได้ยินว่า พระองค์ทรงถือเอาคู่ผ้าสาฎกในป่าช้าผีดิบจริงหรือ พระเจ้าข้า ตรัสว่า จริง พราหมณ์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณโคดม คู่ผ้าสาฎกนั้นเป็นอวมงคล เมื่อพระองค์ทรงใช้สอยมันจะต้องย่อยยับ ถึงพระวิหารทั้งสิ้นก็จักต้องทำลาย ถ้าผ้านุ่งผ้าห่มของพระองค์มีไม่พอ พระองค์โปรดรับผ้าสาฎกเหล่านี้ไว้ ทิ้งคู่ผ้าสาฎกนั้นเสียเถิด ครั้งนั้นพระศาสดาตรัสกะเขาว่า พราหมณ์ พวกเรามีนามว่า บรรพชิต ผ้าเก่าๆ ที่เขาทิ้งหรือตกอยู่ในที่เช่นนั้น คือที่ป่าช้าผีดิบ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 306

ที่ท้องถนน ที่กองขยะ ที่ท่าอาบน้ำ ที่หนทางหลวง ย่อมควรแก่พวกเรา ส่วนท่านเองมิใช่แต่จะเพิ่งเป็นคนมีลัทธิอย่างนี้ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน ก็เคยมีลัทธิอย่างนี้เหมือนกัน เขากราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล พระเจ้ามคธราชผู้ทรงธรรมเสวยราชสมบัติในพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์สกุลหนึ่ง ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว บวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว พำนักอยู่ในป่าหิมพานต์ ในกาลครั้งหนึ่ง ออกจากป่าหิมพานต์มาถึงพระราชอุทยานในพระนครราชคฤห์ พำนักอยู่ที่นั้น วันที่สองเข้าสู่พระนคร เพื่อต้องการภิกขาจาร พระราชาทอดพระเนตรเห็นท่านแล้ว รับสั่งให้นิมนต์มา อาราธนาให้นั่งในปราสาท ให้ฉันโภชนาหาร แล้วทรงถือเอาปฏิญญาเพื่อการอยู่ในพระอุทยานตลอดไป พระโพธิสัตว์ฉันในพระราชนิเวศน์ พักอยู่ในพระราชอุทยาน กาลครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์ ได้มีพราหมณ์ชื่อว่า ทุสสลักขณพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้รู้ลักษณะผ้า) เรื่องทั้งปวงตั้งแต่เขาเก็บคู่ผ้าสาฎกไว้ในหีบเป็นต้นไป เช่นเดียวกันกับเรื่องก่อนนั่นแหละ (แปลกแต่ตอนหนึ่ง) เมื่อมาณพไปถึงป่าช้า พระโพธิสัตว์ไปคอยอยู่ก่อนแล้ว นั่งอยู่ที่ประตูป่าช้า เก็บเอาคู่ผ้าที่เขาทิ้งแล้วไปสู่อุทยาน มาณพไปบอกแก่บิดา บิดาคิดว่า ดาบสผู้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 307

ใกล้ชิดราชสกุล จะพึงฉิบหาย จึงไปสำนักพระโพธิสัตว์ กล่าวว่า ข้าแต่พระดาบส ท่านจงทิ้งผ้าสาฎกที่ท่านถือเอาแล้วเสียเถิด จงอย่าฉิบหายเสียเลย พระดาบสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ว่า ผ้าเก่าๆ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ควรแก่พวกเรา พวกเรามิใช่พวกถือมงคลตื่นข่าว ขึ้นชื่อว่า การถือมงคลตื่นข่าวนี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ไม่สรรเสริญเลย เหตุนั้น บัณฑิตต้องไม่เป็นคนถือมงคลตื่นข่าว พราหมณ์ฟังธรรมแล้วทำลายทิฏฐิเสีย ถึงพระโพธิสัตว์เป็นสรณะแล้ว แม้พระโพธิสัตว์ก็มีฌานมิได้เสื่อม ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แม้พระบรมศาสดาทรงนำเรื่องอดีตนี้มาแล้ว ครั้นตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ ตรัสพระคาถานี้ ความว่า.

"ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือลางบอกเหตุ ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่า ล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสที่เป็นคู่และเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส มงฺคลา สมูหตา ความว่า มงคลเหล่านี้ คือทิฏฐิมงคล มงคลที่เกิดเพราะสิ่งที่เห็น ๑ สุตมงคล มงคลที่เกิดเพราะเรื่องที่ฟัง ๑ มุตมงคล มงคลที่เกิดเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบ ๑ อันพระอรหันตขีณาสพใดถอนขึ้นได้แล้ว.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 308

บทว่า อุปฺปาตา สุปินา จ ลกฺขณา จ ความว่า เรื่องอุบาทว์ที่เป็นเรื่องใหญ่ ๕ ประการเหล่านี้ คือจันทรคราธรูปอย่างนี้จักต้องมี สุริยคราธรูปอย่างนี้จักต้องมี นักษัตคราธรูปอย่างนี้จักต้องมี อุกกาบาตรูปอย่างนี้จักต้องมี ลำพู่กันรูปอย่างนี้จักต้องมี อีกทั้งความฝันมีประการต่างๆ ลักษณะทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือลักษณะคนโชคดี ลักษณะคนโชคร้าย ลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะทาส ลักษณะทาสี ลักษณะคาม ลักษณะศร ลักษณะอาวุธ ลักษณะผ้า เหล่านี้เป็นฐานแห่งทิฏฐิ ท่านผู้ใดถอนได้หมดแล้ว คือไม่เชื่อถือเอาเป็นมงคลหรืออวมงคลแก่ตน ด้วยเรื่องอุปบาตเป็นต้นเหล่านี้.

บทว่า โส มงฺคลโทสวีติวตฺโต ความว่า ท่านผู้นั้นเป็นภิกษุผู้ขีณาสพ ล่วงพ้น ก้าวผ่าน ละเสียได้ซึ่งโทษแห่งมงคลทุกอย่าง.

บทว่า ยุคโยคาธิคโก น ชาตุเมติ ความว่า กิเลสที่มารวมกันเป็นคู่ๆ โดยนัยมีอาทิว่า โกธะความโกรธ และอุปนาหะความผูกโกรธ มักขะความลบหลู่ และปลาสะความตีเสมอดังนี้ชื่อว่า ยุคะ กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือกามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ อวิชชาโยคะ ชื่อว่า โยคะ เพราะเป็นเหตุประกอบสัตว์ไว้ในสงสาร ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพบรรลุแล้ว คือครอบงำไว้ได้แล้ว ล่วงพ้นแล้ว ได้แก่ ผ่านไปแล้วด้วยดี ซึ่งยุคและโยคะ คือทั้งยุคและโยคะเหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 309

บทว่า น ชาตุเมติ ความว่า ท่านผู้นั้นย่อมไม่ถึง คือไม่ต้องมาสู่โลกนี้ ด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิใหม่ โดยแน่นอนทีเดียว.

พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ด้วยพระคาถานี้ด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจจะ พราหมณ์กับบุตรดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า บิดาและบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นบิดาและบุตรคู่นี้แหละ ส่วนดาบส ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถามังคลชาดกที่ ๗