พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สารัมภชาดก ว่าด้วยการพูดดี พูดชั่ว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ส.ค. 2564
หมายเลข  35465
อ่าน  462

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 310

๘. สารัมภชาดก

ว่าด้วยการพูดดี พูดชั่ว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 310

๘. สารัมภชาดก

ว่าด้วยการพูดดี พูดชั่ว

[๘๘] "พึงเปล่งแต่วาจาดีเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจาดีสำเร็จประโยชน์ได้ เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน".

จบ สารัมภชาดกที่ ๘

อรรถกถาสารัมภชาดกที่ ๘

พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภโอมสวาทสิกขาบท ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "กลฺยาณเมว มุญฺเจยฺย" ดังนี้.

แม้เรื่องทั้งสอง ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องที่กล่าวไว้แล้วในนันทวิสาลชาดก ในหนหลัง (แปลกแต่ว่า) ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นโคทรงกำลังชื่อ สารัมภะ ของพราหมณ์ผู้หนึ่ง ในพระนครตักกสิลา พระศาสดาตรัสเรื่องในอดีตนี้แล้ว ครั้นตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า.

"พึงเปล่งแต่วาจาดีเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจาดีสำเร็จประโยชน์ได้ เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน" ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 311

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กลฺยาณเมว มุญฺเจยฺย ความว่า บุคคลพึงเปล่ง คือพึงแถลง ได้แก่ พึงกล่าวถ้อยคำที่พ้นจากโทษ ๔ ชื่อว่า ถ้อยคำดีงาม คือไม่มีโทษเท่านั้น.

บทว่า น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิกํ ความว่า ไม่พึงเปล่งคำชั่ว คือคำลามก ได้แก่ คำอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นๆ.

บทว่า โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ ความว่า การเปล่งวาจาดีเท่านั้น ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือเป็นความดีงาม เป็นความเจริญในโลกนี้.

บทว่า มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ ความว่า ครั้นเปล่ง คือแถลง ได้แก่ กล่าวคำชั่ว คือคำหยาบแล้ว บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อน คือเศร้าโศก ลำบาก.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาด้วยประการฉะนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นอานนท์ พราหมณี ได้เป็นอุบลวรรณา ส่วนโคสารัมภะ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสารัมภชาดกที่ ๘