ติเตียนเรื่องจริงและมีประโยชน์จะเป็นอกุศลกรรมบถได้ไหม
ติเตียนเรื่องจริงและมีประโยชน์จะเป็นอกุศลกรรมบถได้ไหม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๙๐
วินิจฉัยในบทว่า วชฺชทสฺสิน ภิกษุผู้ชี้โทษมี ๒ จำพวก คือ ภิกษุคอยแส่หาโทษ ด้วยคิดว่า "เราจักข่มภิกษุนั้นด้วยมารยาทอันไม่สมควร หรือด้วยความพลั้งพลาดอันนี้ในท่ามกลางสงฆ์" ดังนี้ จำพวก ๑,
ภิกษุผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชูด้วยการแลดูโทษนั้นๆ เพื่อประโยชน์จะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อต้องการจะได้ตามถือเอาสิ่งที่รู้แล้ว เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีล เป็นต้น แก่ภิกษุนั้น จำพวก ๑
กล่าวคำจริง มีประโยชน์ ติเตียนในสิ่งที่เป็นโทษ ด้วยความเมตตา เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลจะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เกิดความสำนึก เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วสามารถเว้นในสิ่งที่เป็นโทษ นั้นได้ การกล่าวอย่างนี้ ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ แต่เป็นการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่นอย่างแท้จริง เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล
แต่ถ้ากล่าวติเตียน เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น กระหน่ำซ้ำเติมบุคคลอื่น ไม่ใช่การกล่าวด้วยจิตเมตตา แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่สภาพจิต เป็นอกุศล มุ่งทำลายผู้อื่น อย่างนี้ เป็นอกุศลกรรมบถได้ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...