พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ลิตตชาดก ว่าด้วยลูกสกาอาบยาพิษ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ส.ค. 2564
หมายเลข  35474
อ่าน  435

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 321

๑๐. ลิตตวรรค

๑. ลิตตชาดก

ว่าด้วยลูกสกาอาบยาพิษ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 321

๑๐. ลิตตวรรค

๑. ลิตตชาดก

ว่าด้วยลูกสกาอาบยาพิษ

[๙๑] "บุรุษกลืนลูกสกาอันเคลือบด้วยยาพิษอย่างแรงยังไม่รู้ตัว ดูก่อนเจ้าคนร้าย เจ้านักเลงชั่ว จงกลืนเถิด จงกลืนกินเข้าไปเถิด ภายหลังผลร้ายจักมีแก่เจ้า".

จบ ลิตตชาดกที่ ๑

อรรถกถาลิตตวรรคที่ ๑๐

อรรถกถาลิตตชาดกที่ ๑

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบริโภคปัจจัยที่มิได้พิจารณา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ลิตฺตํ ปรเมน เตชสา" ดังนี้.

ได้ยินมาว่า ในกาลนั้นพวกภิกษุได้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้น โดยมากไม่ได้พิจารณา แล้วบริโภค ภิกษุเหล่านั้นผู้ไม่ได้พิจารณาปัจจัย ๔ แล้วบริโภค โดยมากจะไม่พ้นจากนรกและกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้น ตรัสธรรมกถาแก่ภิกษุทั้งหลายโดยปริยายเป็นอันมาก ตรัสถึงโทษ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 322

ในการไม่พิจารณาปัจจัยแล้วใช้สอย ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุได้รับปัจจัย ๔ แล้ว ไม่พิจารณาบริโภคไม่ควรเลย เพราะฉะนั้น จำเดิมแต่นี้พวกเธอต้องพิจารณาแล้วจึงค่อยบริโภค เมื่อทรงแสดงวิธีพิจารณา ทรงวางแบบแผนไว้ โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย แล้วจึงใช้สอยจีวร ฯลฯ เพื่อต้องการปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพิจารณาปัจจัย ๔ อย่างนี้ แล้วบริโภคย่อมสมควร ขึ้นชื่อว่า การไม่พิจารณาแล้วบริโภค เป็นเช่นกับบริโภคยาพิษที่ร้ายแรงยิ่งใหญ่ ด้วยว่าคนในครั้งก่อน ไม่พิจารณา ไม่รู้โทษ บริโภคยาพิษ ผลที่สุดต้องเสวยทุกข์ใหญ่หลวง ดังนี้แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลมีโภคะมากตระกูลหนึ่ง เจริญวัยแล้วเป็นนักเลงสกา ครั้นเวลาต่อมามีนักเลงสกาโกงอีกคนหนึ่งเล่นกับพระโพธิสัตว์ เมื่อตนเป็นฝ่ายชนะก็ไม่ทำลายสนามเล่น แต่ในเวลาแพ้ ก็เอาลูกสกาใส่เสียในปาก กล่าวว่า ลูกสกาหายเสียแล้ว พาลเลิกหลีกไป พระโพธิสัตว์ทราบเหตุของเขา คิดว่า ช่างเถิด เราจักหาอุบายแก้เผ็ดในเรื่องนี้ ดังนี้แล้ว รวบเอาลูกสกาไปย้อมด้วยยาพิษอย่างแรงในเรือนของตน แล้วตากให้แห้ง บ่อยๆ ครั้ง แล้วนำเอาลูกสกาเหล่านั้น ไปสู่สำนักของเขา กล่าวว่า มาเถิดเพื่อน เราเล่นสกากันเถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 323

เขารับคำว่า ดีละเพื่อน จัดแจงสนามเล่น เล่นกับพระโพธิสัตว์เรื่อยไป พอเวลาตนแพ้ ก็เอาลูกสกาลูกหนึ่งใส่ปากเสีย ครั้นพระโพธิสัตว์เห็นเขาทำอย่างนั้น เพื่อจะท้วงว่า กลืนเข้าไปเถิด ภายหลังเจ้าจักรู้ว่า นี้มันชื่อนี้ จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"บุรุษกลืนลูกสกาอันเคลือบด้วยยาพิษอย่างแรงยังไม่รู้ตัว ดูก่อนเจ้าคนร้าย เจ้านักเลงชั่ว จงกลืนเถิด จงกลืนกินเข้าไปเถิด ภายหลังผลร้ายจักมีแก่เจ้า" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลิตฺตํ ความว่า ลูกสกาที่เคลือบไว้แล้ว ย้อมไว้แล้ว.

บทว่า ปรเมน เตชสา ความว่า ด้วยยาพิษอันร้ายแรง สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์เดชอันสูง.

บทว่า คิลํ แปลว่า กลืน.

บทว่า อกฺขํ แปลว่า ลูกสกา.

บทว่า น พุชฺฌติ ความว่า ไม่รู้ตัวว่าเมื่อเรากลืนลูกสกานี้อยู่ ชื่อว่า ต้องกระทำกรรมนี้.

บทว่า คิล เร ความว่า กลืนเถิดเจ้าคนร้าย.

พระโพธิสัตว์กล่าวย้ำซ้ำเตือนอีกว่า คิล จงกลืน.

บทว่า ปุจฺฉา เต กฏุกํ ภวิสฺสติ ความว่า เมื่อเจ้ากลืนลูกสกานี้ไปแล้ว ภายหลังพิษอันร้ายแรงจักมี.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 324

ขณะเมื่อพระโพธิสัตว์กำลังพูดอยู่นั่นแหละ เขาสลบไปแล้วด้วยกำลังของยาพิษ นัยน์ตากลับ คอตก ล้มฟาดลง พระโพธิสัตว์คิดว่า ควรจะให้ชีวิตเป็นทานแม้แก่เขา จึงให้ยาสำรอกที่ปรุงด้วยโอสถจนสำรอกออกมา และให้กินเนยใส น้ำอ้อย น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น ทำให้หายโรค แล้วสั่งสอนว่า อย่าได้กระทำกรรมเห็นปานนี้อีก ดังนี้แล้วกระทำบุญมีทานเป็นต้น ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า การไม่พิจารณาแล้วบริโภค ย่อมเป็นเช่นกับการบริโภคยาพิษ อันตนเคยกระทำไว้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า นักเลงผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ส่วนนักเลงโกง จะไม่กล่าวถึงในเรื่องนี้ เหมือนอย่างผู้ใดไม่ปรากฏในกาลนี้ ผู้นั้นก็ไม่กล่าวถึงในเรื่องทั้งปวง ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาลิตตชาดกที่ ๑