พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มหาสุทัสสนชาดก ว่าด้วยสังขารไม่เที่ยง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ส.ค. 2564
หมายเลข  35478
อ่าน  456

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 348

๕. มหาสุทัสสนชาดก

ว่าด้วยสังขารไม่เที่ยง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 348

๕. มหาสุทัสสนชาดก

ว่าด้วยสังขารไม่เที่ยง

[๙๕] "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับ เป็นสุข".

จบ มหาสุทัสสนชาดกที่ ๕

อรรถกถามหาสุทัสสนชาดกที่ ๕

พระบรมศาสดา บรรทมเหนือแท่นปรินิพพาน ทรงปรารภคำของพระอานนทเถระเจ้าที่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าเสด็จปรินิพพานในพระนครเล็กๆ นี้เลย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา" ดังนี้.

ความย่อว่า เมื่อพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้าปรินิพพานแล้ว ณ ห้องที่ท่านเกิด ในหมู่บ้านนาลกะ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๑๒ พระมหาโมคคัลลานะปรินิพพานในวันอมาวสี (สิ้นเดือน) ในกาฬปักษ์ ของเดือน ๑๒ นั่นเอง พระศาสดาทรงพระดำริว่า เมื่อคู่อัครสาวกปรินิพพานแล้วอย่างนี้ แม้เราก็จักปรินิพพานในเมืองกุสินารา เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงเมืองนั้น เสด็จบรรทมด้วย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 349

อนุฏฐานไสยาเหนือพระแท่น ผันพระเศียรทางอุตตรทิศ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ ครั้งนั้น พระอานนทเถระเจ้ากราบทูลวิงวอนพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็กๆ นี้ เป็นเมืองดอน เป็นเมืองเขิน เป็นเมืองกิ่ง เชิญพระองค์เสด็จปรินิพพาน ณ เมืองมหานคร เมืองใดเมืองหนึ่ง บรรดามหานคร มีจัมปากะและราชคฤห์เป็นต้นอื่นๆ พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ เธออย่ากล่าวว่า นครนี้เป็นเมืองเล็กๆ เมืองดอน เมืองกิ่ง ครั้งก่อนในรัชกาลแห่งพระเจ้าจักรพรรดิสุทัสสนะ เราอยู่ในเมืองนี้ ในครั้งนั้น เมืองนี้แวดล้อมด้วยกำแพง ๑๒ โยชน์ เป็นมหานครมาแล้ว พระเถระเจ้ากราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก มหาสุทัสสนสูตร ดังต่อไปนี้.

ก็ในครั้งนั้น เมื่อพระนางสุภัททาเทวีทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เสด็จลงจากปราสาทสุธัมมา เสด็จบรรทมโดยอนุฏฐานไสยาโดยพระปรัศเบื้องขวา เหนือพระแท่นอันสมควร ล้วนแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ อันราชบุรุษจัดไว้ในป่าตาลไม่ไกลนัก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระนครแปดหมื่นสี่พัน มีราชธานีกุสาวดี เป็นประมุขเหล่านี้ เป็นของทูลกระหม่อม โปรดพอพระทัยในพระนครเหล่านี้เถิด พระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสว่า เทวี อย่าได้พูดอย่างนี้เลย จงตักเตือนเราอย่างนี้เถิดว่า พระองค์จงกำจัดความพอใจในพระนครเหล่านี้เสียให้จงได้เถิด อย่าทรงกระทำความเพ่งเล็งเลย พระเทวี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 350

ทูลถามว่า เพราะเหตุไรเล่า พระเจ้าข้า ตรัสว่า เราจักต้องตายในวันนี้ ทันใดนั้น พระเทวีทรงพระกรรแสงเช็ดพระเนตร ตรัสคำอย่างนั้นกะพระเจ้ามหาสุทัสสนะโดยยากลำบาก เอาแต่ทรงพระกรรแสงร่ำไห้ เหล่าสตรีแปดหมื่นสี่พันนางแม้ที่เหลือก็พากันร้องไห้ร่ำไร ถึงในหมู่อำมาตย์เป็นต้นแม้คนเดียวก็ไม่อาจอดกลั้นความโศกไว้ได้ ต่างร้องไห้ระงมทั่วกัน พระโพธิสัตว์ห้ามคนทั้งหมดว่า อย่าเลยพนาย อย่าได้ส่งเสียงคร่ำครวญไปเลย เพราะสังขารที่ชื่อว่า เที่ยง แม้เท่าเมล็ดงาไม่มีเลย ทุกอย่างไม่เที่ยง มีความแตกดับเป็นธรรมดาทั้งนั้น เมื่อจะทรงสั่งสอนพระเทวีตรัสพระคาถานี้ ความว่า

"สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นสุข" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา ความว่า ดูก่อนสุภัททาเทวีผู้เจริญ สังขารทั้งหลายมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น อันปัจจัยมีประมาณเท่าใดมาประชุมก่อกำเนิดไว้ ทั้งหมดนั้นชื่อว่า ไม่เที่ยงไปทั้งหมด เพราะบรรดาสังขารเหล่านี้ รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง จักษุไม่เที่ยง ฯลฯ ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง รวมความว่า สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิด ทั้งที่มีวิญญาณ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 351

และหาวิญญาณมิได้ มีอันใดบ้าง อันนั้นทั้งหมด ไม่เที่ยงทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ จงกำหนดถือเอาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เพราะเหตุไร เพราะเป็นอุปปาทวยธรรม คือเพราะสังขารเหล่านี้ทั้งหมดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยและมีความเสื่อมเป็นธรรมดาด้วย ล้วนมีความเกิดขึ้นและความแตกดับเป็นสภาวะทั้งนั้น เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า เป็นของไม่เที่ยง ก็เพราะไม่เที่ยง จึงเกิดแล้วก็ดับ คือแม้จะเกิดแล้ว ถึงความดำรงอยู่ได้ ก็ต้องดับทั้งนั้น แท้จริง สังขารเหล่านี้ ทุกอย่างกำลังเกิด ชื่อว่า ย่อมเกิดขึ้น กำลังสลาย ชื่อว่า ย่อมดับ เมื่อความเกิดขึ้นแห่งสังขารเหล่านั้นมีอยู่ ชื่อว่า ฐิติ จึงมีได้ เมื่อฐิติมีอยู่ ชื่อว่า ภังคะ จึงมีได้ เพราะเมื่อสังขารไม่เกิดขึ้น ฐิติก็มีไม่ได้ ฐีติขณะปรากฏแล้ว ชื่อว่า ความไม่แตกดับก็ไม่มี เพราะฉะนั้น สังขารแม้ทั้งหมด ถึงขณะทั้ง ๓ แล้ว ก็ย่อมดับไปในขณะนั้นๆ เอง เพราะเหตุนั้น สังขารเหล่านี้แม้ทั้งหมด จึงเป็นของไม่เที่ยง เป็นไปชั่วขณะ เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ยั่งยืน เปื่อยเน่า หวั่นไหว โยกคลอน ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แปรผันได้ เป็นของชั่วคราว ไร้สาระ เป็นเช่นกับของหลอกลวง พยับแดดและฟองน้ำ ด้วยอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วขณะ ดูก่อนสุภัททาเทวีผู้เจริญ เพราะเหตุไรเธอจึงยังสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ให้บังเกิดขึ้นในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเล่า อย่าได้ถือเอาอย่างนั้นเลย.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 352

บทว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความว่า ดูก่อนพระนางสุภัททาเทวีผู้เจริญ สภาพที่ชื่อว่า ระงับเสียซึ่งสังขารเหล่านั้น เพราะระงับดับเสียได้ซึ่งวัฏฏะทั้งมวล ได้แก่ พระนิพพาน และพระนิพพานนี้อย่างเดียวเท่านั้น ชื่อว่า เป็นสุขโดยส่วนเดียว อื่นๆ ที่จะชื่อว่า เป็นสุขไม่มีเลย ดังนี้.

พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยอมตมหานิพพาน ด้วยประการฉะนี้แล้ว ทรงประทานโอวาทแม้แก่มหาชนที่เหลือว่า ท่านทั้งหลาย จงให้ทาน จงรักษาศีล จงกระทำอุโบสถกรรม ดังนี้แล้ว ได้เป็นผู้มีเทวโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า สุภัททาเทวีในครั้งนั้น ได้มาเป็นราหุลมารดา ขุนพลแก้ว ได้มาเป็นพระราหุล ส่วนพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถามหาสุทัสสนชาดกที่ ๕