พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. กูฏวาณิชชาดก ว่าด้วยพ่อค้าโกง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ส.ค. 2564
หมายเลข  35481
อ่าน  632

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 375

๘. กูฏวาณิชชาดก

ว่าด้วยพ่อค้าโกง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 375

๘. กูฏวาณิชชาดก

ว่าด้วยพ่อค้าโกง

[๙๘] "คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่ ส่วนคนที่ชื่อว่า อติบัณฑิตไม่ดีเลย เพราะว่าเจ้าอติบัณฑิต ลูกเรา เกือบเผาเราเสียแล้ว".

จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘

อรรถกถากูฏวาณิชชาดกที่ ๘

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพ่อค้าโกงผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม" ดังนี้.

ความย่อว่า คนสองคนในเมืองสาวัตถีร่วมทุนกันทำการค้า คุมขบวนเกวียนสินค้าไปสู่ชนบท ได้ของแล้วพากันกลับ ในพ่อค้าทั้งสองนั้น พ่อค้าโกงคิดว่า พ่อค้าผู้เป็นสหายเราคนนี้ ตรากตรำด้วยการกินไม่ดี นอนลำบากมาหลายวันแล้ว คราวนี้เขาจักกินโภชนะดีๆ ด้วยรสเลิศต่างๆ ในเรือนของเขาจนพอใจ จักตายด้วยโรคอาหารไม่ย่อย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักแบ่งของนี้ออกเป็น ๓ ส่วน ให้เด็กๆ ของเขาส่วนหนึ่ง อีก ๒ ส่วน เราจักเอาเสียเอง เขาผลัดวันอยู่ว่า จักแบ่งในวันนี้ จักแบ่งใน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 376

วันพรุ่งนี้ ดังนี้แล้ว ไม่อยากจะแบ่งภัณฑะเลย ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบัณฑิต ก็คาดคั้นเขาผู้ไม่ปรารถนาจะแบ่ง ให้แบ่งจนได้แล้ว ไปสู่พระวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา ได้รับปฏิสันถารที่ทรงกระทำ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามว่า ดูท่านชักช้านัก มาถึงพระนครนี้แล้ว กว่าจะมาสู่ที่เฝ้าก็นาน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นายพาณิชนั้นเป็นพาณิชโกง แม้ในกาลก่อนก็เคยเป็นพาณิชโกงมาแล้วเหมือนกัน แต่ในครั้งนี้มุ่งจะลวงท่าน แม้ในครั้งก่อนก็ไม่อาจจะหลอกลวงบัณฑิตได้ อันอุบาสกกราบทูลอาราธนา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้าในพระนครพาราณสี ในวันขนานนาม หมู่ญาติตั้งชื่อให้ท่านว่า บัณฑิต ท่านเจริญวัยแล้ว เข้าหุ้นกับพ่อค้าอื่นทำการค้า พ่อค้านั้นชื่อว่า อติบัณฑิต ทั้งคู่ชวนกันบรรทุกภัณฑะด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มไปสู่ชนบท ทำการค้าได้ของมามากมาย พากันกลับมายังพระนครพาราณสี ครั้นถึงเวลาที่จะแบ่งข้าวของกัน อติบัณฑิตก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าควรได้สองส่วน พระโพธิสัตว์ถามว่า เพราะเหตุไรเล่า เขาตอบว่า ท่านชื่อบัณฑิต ข้าพเจ้าชื่ออติบัณฑิต บัณฑิตควรได้ส่วนเดียว อติบัณฑิตควรได้สองส่วน พระโพธิสัตว์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 377

ถามว่า ทุนที่ซื้อของก็ดี พาหนะมีโคเป็นต้นก็ดี แม้ของทั้งสองก็เท่าๆ กันมิใช่หรือ เหตุใดเล่าท่านจึงควรจะได้สองส่วน เขาตอบว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นอติบัณฑิต ทั้งสองคนโต้เถียงกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน ลำดับนั้นอติบัณฑิตคิดได้ว่า ยังมีอุบายอยู่อีกอันหนึ่ง จึงให้บิดาของตนเข้าไปซ่อนอยู่ในโพรงไม้ต้นหนึ่ง สั่งไว้ว่า เวลาเราทั้งสองมาถึงละก็ คุณพ่อต้องพูดว่า อติบัณฑิตควรจะได้สองส่วนนะครับ แล้วไปหาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า สหายรัก รุกขเทวดานั้นย่อมรู้การที่เราควรจะได้สองส่วน หรือไม่ควร มาเถิดท่าน เราจักถามรุกขเทวดานั้นดู แล้วพากันไปที่ต้นไม้นั้นแหละ กล่าวว่า ข้าแต่รุกขเทวดา ผู้เป็นเจ้าไพร เชิญตัดสินคดีของเราด้วยเถิด ครั้งนั้น บิดาของเขาก็เปลี่ยนเสียงให้เพี้ยนไป พูดว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงบอกเรื่องราว อติบัณฑิตก็พูดว่า ข้าแต่เจ้าไพร ท่านผู้นี้ชื่อบัณฑิต ข้าพเจ้าชื่ออติบัณฑิต เราทั้งสองเข้าหุ้นกันทำการค้าขาย ในเรื่องนั้นเขาควรได้รับอย่างไร (มีเสียงดังขึ้นว่า) บัณฑิตได้ส่วนหนึ่ง อติบัณฑิตได้ ๒ ส่วน พระโพธิสัตว์ฟังคดีที่เทวดาวินิจฉัยแล้วอย่างนี้ คิดว่า เดี๋ยวเถอะ จะได้รู้กันว่าเป็นเทวดา หรือไม่ใช่เทวดา แล้วไปหอบฟางมาใส่โพรงไม้จุดไฟทันที บิดาของอติบัณฑิตเวลาที่เปลวไฟถูกตนก็ร้อน เพราะสรีระเกือบจะไหม้ จึงทะลึ่งขึ้นข้างบน คว้ากิ่งไม้โหนไว้แล้วโดดลงดิน พลางกล่าวคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 378

"คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่ ส่วนคนที่ชื่อว่าอติบัณฑิตไม่ดีเลย เพราะว่าเจ้าอติบัณฑิตลูกเรา เกือบเผาเราเสียแล้ว".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม ความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องความเป็นบัณฑิต รู้เหตุและสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ จัดเป็นคนดีงามในโลกนี้.

บทว่า อติปณฺฑิโต ความว่า คนโกงๆ เป็นอติบัณฑิต ด้วยเหตุสักว่าชื่อ ไม่ประเสริฐเลย.

บทว่า มนมฺหิ (๑) อุปกุฏฺิโต ความว่า เราถูกไฟไหม้ไปหน่อยหนึ่ง รอดพ้นจากการไหม้ตั้งครึ่งตัวมาได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว แม้คนทั้งสองนั้น ต่างก็แบ่งกันคนละครึ่ง ถือเอาส่วนเท่าๆ กันทีเดียว แล้วต่างก็ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกว่า แม้ในครั้งก่อน พาณิชนั้นก็เป็นนายพาณิชโกงเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า พ่อค้าโกงในครั้งนั้น ได้มาเป็นพ่อค้าโกงในปัจจุบันนี้แหละ ส่วนพ่อค้าผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากูฏวาณิชชาดกที่ ๘


(๑) บาลีเป็น มนมฺหิ แต่อฏฺฐกถาเป็น ปนมฺหิฯ.