พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เวริชาดก การอยู่ร่วมกับบุคคลที่เป็นไพรี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ส.ค. 2564
หมายเลข  35491
อ่าน  411

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 396

๓. เวริชาดก

การอยู่ร่วมกับบุคคลที่เป็นไพรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 396

๓. เวริชาดก

การอยู่ร่วมกับบุคคลที่เป็นไพรี

[๑๐๓] "ไพรีอาศัยอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น บุคคลอยู่ในพวกไพรีคืนหนึ่งหรือสองคืน ย่อมอยู่เป็นทุกข์" ดังนี้.

จบ เวริชาดกที่ ๓

อรรถกกถาเวริชาดกที่ ๓

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยตฺถ เวรี นิวีสติ" ดังนี้.

ได้ยินว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปสู่หมู่บ้านส่วยแล้ว กำลังเดินมา พบพวกโจรในระหว่างทาง คิดว่า ไม่ควรพักแรมในระหว่างทาง ต้องไปให้ถึงพระนครสาวัตถีทีเดียว แล้วขับฝูงโคมาถึงพระนครสาวัตถีโดยรวดเร็ว รุ่งขึ้นไปสู่พระวิหาร กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อน คฤหบดี แม้ในปางก่อน บัณฑิตพบโจรในระหว่างทาง ไม่ค้างแรมในระหว่างทาง ไปจนถึงที่อยู่ของตนทีเดียว ท่านอนาถบิณฑิกะกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 397

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐี มีสมบัติมาก ไปสู่ที่รับเชิญในหมู่บ้านเพื่อการบริโภค เมื่อเดินทางกลับ พบพวกโจรในระหว่างทาง ไม่หยุดในระหว่างทางเลย รีบขับโคทั้งหลายมาสู่เรือนของตนทีเดียว บริโภคอาหารด้วยรสอันเลิศ นั่งเหนือที่นอนอันมีราคามาก ดำริว่า เราพ้นจากเงื้อมมือโจร มาสู่เรือนตนอันเป็นที่ปลอดภัย แล้วกล่าวคาถานี้ ด้วยสามารถแห่งอุทานว่า.

"ไพรีอาศัยอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่พึงอยู่ในที่นั้น บุคคลอยู่ในพวกไพรีคืนหนึ่งหรือสองคืน ย่อมอยู่เป็นทุกข์" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวรี ได้แก่ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยเจตนาคิดก่อเวร.

บทว่า นิวีสติ แปลว่า ย่อมพำนักอยู่.

บทว่า น วเส ตตฺถ ปณฺฑิโต ความว่า บุคคลผู้เป็นไพรีนั้น พำนัก คืออาศัยอยู่ในที่ใด บัณฑิต คือท่านผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องความเป็นบัณฑิต ไม่ควรอยู่ในที่นั้น.

เพราะเหตุไร.

เพราะบุคคลอยู่ในกลุ่มไพรีคืนหนึ่งหรือสองคืน ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ขยายความว่า บุคคลเมื่ออยู่ในกลุ่มของไพรีแม้วันเดียว สองวัน ก็ชื่อว่า อยู่เป็นทุกข์ทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 398

พระโพธิสัตว์ เปล่งอุทานด้วยประการฉะนี้ กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ในครั้งนั้น เราตถาคตแล ได้เป็นเศรษฐีเมืองพาราณสี ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาเวริชาดกที่ ๓