พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ทุพพลกัฏฐชาดก ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ส.ค. 2564
หมายเลข  35493
อ่าน  437

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 402

๕. ทุพพลกัฏฐชาดก

ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 402

๕. ทุพพลกัฏฐชาดก

ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง

[๑๐๕] "ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง แน่ะ ช้างตัวประเสริฐ ถ้าท่านมัวกลัวต่อไม้แห้งนั้น ท่านจักซูบผอมเป็นแน่".

จบ ทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕

อรรถกถาทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุขลาดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "พหุมฺเปตํ วเน กฏฺํ" ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังธรรมของพระศาสดาแล้วบรรพชา ได้เป็นผู้กลัวตายยิ่งนัก เธอได้ยินเสียงลมพัด เสียงไม้แห้งตก หรือเสียงนก เสียงจตุบท ก็สะดุ้งกลัวจะตาย ร้องเสียงลั่นวิ่งหนีไป เพราะด้วยเหตุเพียงความระลึกว่า เราต้องตาย ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอเสียเลย ก็ถ้าเธอพอจะรู้ว่า เราต้องตาย ดังนี้ ก็จะไม่กลัวตาย แต่เพราะเธอไม่เคยเจริญมรณัสสติกัมมัฏฐานเลย จึงกลัว ความกลัวตายของเธอ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 403

แพร่หลายไปในหมู่ภิกษุ ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายยกเอาเรื่องนี้ขึ้นพูดกันในธรรมสภาว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นขลาดต่อความตาย กลัวตาย ธรรมดาภิกษุควรจะเจริญมรณัสสติกัมมัฏฐานว่า เราต้องตายแน่นอน ดังนี้ พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว มีรับสั่งให้หาภิกษุนั้นมาเฝ้า ตรัสถามว่า จริงหรือ ที่เขาว่าเธอเป็นคนกลัวตาย เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเสียใจต่อภิกษุนี้เลย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ภิกษุนี้เป็นผู้กลัวตาย แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นผู้กลัวตายเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดาในป่าหิมพานต์ ในครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงมอบมงคลหัตถีของพระองค์ให้แก่พวกนายหัตถาจารย์ เพื่อให้ฝึกหัดถึงเหตุแห่งความไม่พรั่นพรึง พวกนายหัตถาจารย์จึงมัดช้างนั้นที่เสาตะลุงอย่างกระดุกกระดิกไม่ได้ พวกมนุษย์พากันถือหอกซัด พากันเข้าล้อม กระทำให้เกิดความพรั่นพรึง ช้างถูกเขาบังคับ ดังนั้น ไม่อาจอดกลั้นเวทนาความหวั่นไหวได้ ทำลายเสาตะลุงเสีย ไล่กวดมนุษย์ให้หนีไป แล้วเข้าป่าหิมพานต์ พวกมนุษย์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 404

ไม่อาจจะจับช้างนั้นได้ก็พากันกลับ ช้างนั้นได้เป็นสัตว์กลัวตายเพราะเรื่องนั้น ได้ยินเสียงลมเป็นต้น ก็ตัวสั่น กลัวตาย ทิ้งงวง วิ่งหนีไปโดยเร็ว เป็นเหมือนเวลาที่ถูกมัดติดเสาตะลุง ถูกบังคับไม่ให้พรั่นพรึงฉะนั้น ไม่ได้ความสบายกายหรือความสบายใจ มีแต่ความหวั่นระแวงเที่ยวไป รุกขเทวดาเห็นช้างนั้นแล้ว ยืนบนค่าคบไม้ กล่าวคาถานี้ความว่า.

"ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง แน่ะ ช้างตัวประเสริฐ ถ้าท่านยังกลัวต่อไม้แห้งนั้น ท่านจักซูบผอมเป็นแน่" ดังนี้.

ในคาถานั้น ประมวลอรรถาธิบายได้ดังนี้.

ลมต่างด้วยลมที่มาแต่ทิศบูรพาเป็นต้น ย่อมระรานต้นไม้ที่ทุรพลใดเล่า ต้นไม้นั้นมีมากมายในป่านี้ คือหาได้ง่าย มีอยู่ในป่านั้นๆ ถ้าเจ้ากลัวลมนั้น ก็จำต้องกลัวอยู่เป็นนิจ จักต้องถึงความสิ้นเนื้อและเลือด เหตุนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป อย่ากลัวเลย.

เทวดาให้โอวาทแก่ช้างนั้นด้วยประการฉะนี้ ตั้งแต่นั้นมา แม้ช้างนั้นก็หายกลัว.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกนี้ว่า ช้างในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนรุกขเทวดา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕