พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. สาลิตตกชาดก ว่าด้วยคนมีศิลปะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ส.ค. 2564
หมายเลข  35495
อ่าน  445

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 409

๗. สาลิตตกชาดก

ว่าด้วยคนมีศิลปะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 409

๗. สาลิตตกชาดก

ว่าด้วยคนมีศิลปะ

[๑๐๗] "ขึ้นชื่อว่า ศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อยได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศ ก็เพราะการดีดมูลแพะ".

จบ สาลิตตกชาดกที่ ๗

อรรถกถาสาลิตตกชาดกที่ ๗

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "สาธุ โข สิปฺปกํ นาม" ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ถึงความสำเร็จในสาลิตตกศิลป์ ที่เรียกว่า สาสิตตกศิลป์ ได้แก่ ศิลปะในการดีดก้อนกรวด วันหนึ่งเขาฟังธรรมแล้วบวชถวายชีวิตในพระศาสนา ได้อุปสมบทแล้ว แต่มิได้เป็นผู้มุ่งการศึกษา มิได้เป็นผู้ยังการปฏิบัติให้สำเร็จ วันหนึ่งเธอชวนภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ไปสู่แม่น้ำอจิรวดี อาบน้ำแล้วพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ ครั้งนั้น หงส์ขาว ๒ ตัวพากันบินมาทางอากาศ เธอจึงกล่าวกะภิกษุหนุ่ม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 410

นั้นว่า ผมจะเอาก้อนกรวดประหารหงส์ตัวหลังนี้ที่นัยน์ตา ให้ตกลงมาแทบเท้าของท่าน อีกรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านจะทำให้มันตกได้อย่างไร ท่านไม่อาจประหารมันได้ดอก เธอกล่าวว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อนเถิด เราจักประหารมันที่นัยน์ตาข้างโน้นให้ทะลุถึงตาข้างนี้ ภิกษุหนุ่มจึงกล่าวแย้งว่า คราวนี้ ท่านพูดไม่จริงละ เธอบอกว่า ถ้าอย่างนั้น คุณคอยดู แล้วหยิบเอาก้อนกรวดคมๆ ได้ก้อนหนึ่ง คลึงด้วยนิ้วชี้ แล้วดีดไปข้างหลังของหงส์นั้น ก้อนกรวดนั้นส่งเสียงหึ่งๆ หงส์คิดว่า น่าจะมีอันตราย เหลียวกลับมา หมายจะฟังเสียง ภิกษุนอกนี้ ก็ถือก้อนกรวดก้อนหนึ่งไว้ในขณะนั้น เมื่อมันยังเหลียวดูอยู่ ก็ดีดไปกระทบนัยน์ตาอีกข้างหนึ่ง ก้อนกรวดเจาะทะลุถึงนัยน์ตาอีกข้างหนึ่ง หงส์ร้องดังสนั่น ตกลงมาที่ใกล้เท้าทันที พวกภิกษุมาจากที่นั้นๆ พากันติเตียน กล่าวว่า คุณทำไม่สมควรเลย แล้วนำเธอไปสำนักพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้กระทำกรรมชื่อนี้ พระศาสดาทรงตำหนิภิกษุนั้น ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้ฉลาดในศิลปะนั้น แม้ครั้งก่อนก็ได้เป็นผู้ฉลาดแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ของพระองค์ ครั้งนั้น ปุโรหิตของพระราชาเป็นคนปากกล้ายิ่งนัก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 411

ชอบพูดมาก เมื่อตั้งต้นพูดแล้ว คนอื่นๆ จะไม่มีโอกาสได้พูดเลยทีเดียว ฝ่ายพระราชาก็ทรงพระดำริว่า เมื่อไรเล่าหนอ เราถึงจักได้ใครช่วยสะกัดถ้อยคำของเขาเสียได้ ตั้งแต่นั้นท้าวเธอก็ทรงใคร่ครวญหาคนอย่างนี้สักคนหนึ่ง ครั้งนั้นในเมืองพาราณสี มีบุรุษง่อยคนหนึ่ง ถึงความสำเร็จในศิลปะ คือการดีดก้อนกรวด พวกเด็กชาวบ้านยกเขาขึ้นสู่รถช่วยกันลากมาไว้ที่ต้นไทรใหญ่ สมบูรณ์ด้วยคาคบต้นหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ใกล้ประตูพระนครพาราณสี พากันห้อมล้อม ให้เงินมีกากณึกเป็นต้น ร้องบอกว่า จงทำรูปช้าง จงทำรูปม้า เขาก็ดีดก้อนกรวด แสดงรูปต่างๆ ที่ใบไทรทั้งหลาย ในไทรทั้งมวลล้วนเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ไปทั้งนั้น ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีเสด็จพระดำเนินไปสู่พระอุทยาน เสด็จถึงตรงนั้น พวกเด็กทั้งหมดพากันหนี เพราะกลัวจะถูกขับไล่ บุรุษง่อยนอนอยู่ในที่นั้นเอง พระราชาเสด็จถึงโคนต้นไทร ประทับนั่งในราชรถนั่นแล ทอดพระเนตรเห็นเงาต่างๆ เพราะใบไม้ทั้งหลายขาดเป็นช่อง ก็ทรงจ้องดู ครั้นเห็นใบไม้ทั้งปวงปรุโปร่งไปหมด ก็ตรัสถามว่า ใบไม้เหล่านี้ใครทำให้เป็นอย่างนี้ ราชบุรุษกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรุษเปลี้ยกระทำ พระเจ้าข้า พระราชทรงพระดำริว่า อาศัยคนผู้นี้เราอาจสะกัดคำของพราหมณ์ได้ จึงมีพระดำรัสถามว่า พนาย เจ้าง่อยอยู่ไหนละ ราชบุรุษเที่ยวค้น ก็พบเขานอนอยู่ที่โคนไม้ ก็พากันนำตัวมา กราบทูลว่า นี่พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้เข้าเฝ้า แล้วทรง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 412

ขับบริษัทไปเสีย ตรัสถามว่า ในสำนักของเรามีพราหมณ์ปากกล้าอยู่คนหนึ่ง เจ้าจักอาจทำให้เขาหมดเสียงได้ไหม บุรุษง่อยกราบทูลว่า เมื่อได้ขี้แพะประมาณทะนานหนึ่ง ข้าพระองค์ก็อาจจะกระทำได้ พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษพาบุรุษง่อยเข้าไปสู่พระราชวัง ให้นั่งอยู่ภายในม่าน เจาะช่องที่ม่าน รับสั่งให้จัดที่นั่งของพราหมณ์ตรงช่อง แล้วให้วางขี้แพะแห้งประมาณหนึ่งทะนานไว้ใกล้ๆ บุรุษง่อย เวลาพราหมณ์มาเฝ้า รับสั่งให้นั่งเหนืออาสนะนั้น พลางทรงตั้งเรื่องสนทนาขึ้น พราหมณ์ไม่ยอมให้โอกาสแก่คนอื่นๆ เริ่มกราบทูลแก่พระราชา ครั้งนั้นบุรุษง่อยก็ดีดขี้แพะไปทีละก้อนๆ ทางช่องม่าน กะให้ตกลงที่พื้นเพดานปากของพราหมณ์นั้นทุกที เหมือนกับโยนใส่กระเช้าฉะนั้น พราหมณ์ก็กลืนขี้แพะที่ดีดมาแล้วๆ เหมือนกรอกน้ำมันใส่ทะนาน ขี้แพะถึงความสิ้นไปหมดทั้งทะนาน ขี้แพะประมาณทะนานหนึ่งนั้น เข้าท้องของพราหมณ์ไปได้ประมาณกึ่งอาฬหกะ พระราชาทรงทราบความที่ขี้แพะหมดสิ้นแล้ว จึงตรัสว่า ท่านอาจารย์ ท่านกลืนขี้แพะเข้าไปตั้งทะนาน เพราะเป็นคนปากมาก ท่านยังไม่รู้อะไรเลย บัดนี้ท่านจักไม่สามารถให้ขี้แพะมากกว่านี้ย่อยได้ ไปเถิด จงดื่มน้ำประยงค์ ถ่ายทิ้ง ทำตนให้ปราศจากโรคเถิด จำเดิมแต่นั้น พราหมณ์เหมือนมีปากถูกปิดสนิท แม้ใครจะพูดก็ไม่ค่อยจะพูดด้วย พระราชาทรงพระดำริว่า บุรุษนี้ ทำความสบายหูให้แก่เรา พระราชทานบ้าน ๔ หลัง ในทิศทั้ง ๔

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 413

มีส่วยขึ้นประมาณแสนกษาปณ์ พระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาศิลปะในโลก บัณฑิตทั้งหลายพึงเรียน แม้เพียงดีดก้อนกรวด ก็ยังช่วยให้บุรุษง่อยได้สมบัตินี้ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ขึ้นชื่อว่า ศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อย ได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศ ก็ด้วยการดีดมูลแพะ" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺส ขญฺชปฺปหาเรน ความว่า พระโพธิสัตว์กล่าวสรรเสริญคุณของศิลปะว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอเชิญทรงทอดพระเนตรเถิด บุรุษง่อยผู้นี้ได้รับพระราชทานบ้าน ๔ หลังใน ๔ ทิศ ก็ด้วยการดีดขี้แพะ อะไรเป็นข้อขีดคั่นอานิสงส์แห่งศิลปะอื่นๆ เล่า.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ตรัสประชุมชาดกว่า บุรุษง่อยในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ พระราชา ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสาลิตตชาดกที่ ๗