พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สิคาลชาดก ว่าด้วยพราหมณ์เชื่อสุนัข

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ส.ค. 2564
หมายเลข  35500
อ่าน  504

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 427

๓. สิคาลชาดก

ว่าด้วยพราหมณ์เชื่อสุนัข


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 427

๓. สิคาลชาดก

ว่าด้วยพราหมณ์เชื่อสุนัข

[๑๑๓] "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเชื่อสุนัขผู้ดื่มสุราหรือ เพียง ๑๐๐ เบี้ยก็ไม่มี อย่าว่าถึง ๒๐๐ กหาปณะเลย".

จบ สิคาลชาดกที่ ๓

อรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๓

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัตตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "สทฺทหาสิ สิคาลสฺส" ดังนี้.

ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรม นั่งสนทนากันถึงโทษของพระเทวทัตว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระเทวทัตชักชวนภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปไปสู่คยาสีสประเทศ ให้ภิกษุเหล่านั้นยึดถือลัทธิของตนว่า พระสมณโคดมตรัสข้อใด ข้อนั้นมิใช่ธรรม เรากล่าวข้อใด ข้อนี้เท่านั้นเป็นธรรม ดังนี้แล้ว กระทำมุสาวาทอันถึงฐานะวิบัติทำลายสงฆ์ ทำอุโบสถสองครั้งในสีมาเดียวกัน พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 428

เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตมักกล่าวมุสาวาท แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้มีปกติกล่าวมุสาเหมือนกัน ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดาอยู่ข้างป่าช้า ในครั้งนั้น ในพระนครพาราณสีมีงานนักขัตฤกษ์ครึกครื้น พวกมนุษย์คิดกันว่า พวกเราจะกระทำพลีกรรมแก่ยักษ์ แล้วจัดปลาและเนื้อเป็นต้นเรียงราย รินสุราเป็นอันมากใส่กระบาล (๑) ทั้งหลายวางไว้ในที่นั้นๆ มีตรอกและทางแพร่งเป็นต้น ครั้งนั้น หมาจิ้งจอกตัวหนึ่ง เข้าไปสู่พระนครทางท่อระบายน้ำในเวลาเที่ยงคืน เคี้ยวกินปลาและเนื้อเป็นต้น ดื่มสุราแล้วเข้าไปสู่ระหว่างกอบุนนาค นอนหลับไปจนอรุณขึ้น มันตื่นขึ้นเห็นสว่างแล้ว คิดว่า เราไม่อาจออกไปในเวลานี้ได้ แล้วไปที่ใกล้ทาง นอนซ่อนตัวอยู่ ถึงเห็นคนอื่นๆ ก็ไม่พูดอะไรๆ ต่อเห็นพราหมณ์ผู้หนึ่งกำลังเดินไปล้างหน้า ก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่าพราหมณ์แล้ว ย่อมเป็นผู้มีความโลภอยากได้ทรัพย์ เราต้องเอาทรัพย์ล่อพราหมณ์นี้ ทำให้แกสะพายเราออกจากเมืองให้จงได้ มันกล่าวด้วยภาษามนุษย์ว่า ท่านพราหมณ์ พราหมณ์หันกลับไป พูดว่า ใครเรียกเรา มันตอบว่า ฉันเองท่านพราหมณ์ พราหมณ์ถามว่า เรียกเราทำไม มันตอบว่า ท่านพราหมณ์ ฉันมีทรัพย์


(๑) กระบาล = กระเบื้อง ฮินดูเรียก ปูรว่า = ถ้วยดินเผา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 429

อยู่ ๒๐๐ กหาปณะ ถ้าท่านสามารถกระเดียดฉัน คลุมมิดชิดด้วยผ้าสะไบเฉียงไม่ให้ใครๆ เห็น พาฉันออกจากเมืองได้ ฉันจักให้เหรียญกษาปณ์เหล่านั้นแก่ท่าน ด้วยความโลภอยากได้ทรัพย์ พราหมณ์จึงรับคำ กระทำตามคำของมัน พาออกจากเมืองไปได้หน่อยหนึ่ง ลำดับนั้น หมาจิ้งจอกถามพราหมณ์ว่า ท่านพราหมณ์ ถึงไหนแล้ว พราหมณ์ตอบว่า ถึงที่โน้นแล้ว มันบอกว่า ไปต่อไปอีกหน่อยเถิด สุนัขจิ้งจอกพูดไปเรื่อยๆ อย่างนั้น จนลุถึงป่าช้าใหญ่ จึงบอกว่า วางเราลงที่นี่เถิด ครั้นพราหมณ์ปล่อยมันลงแล้ว หมาจิ้งจอกบอกต่อไปว่า ท่านพราหมณ์ ถ้ากระนั้น ท่านจงปูผ้าสะไบเฉียงลงเถิด พราหมณ์ก็ปูผ้าสะไบเฉียงของตนลงด้วยความละโมบในทรัพย์ ครั้งนั้นมันก็บอกแกว่า จงขุดโคนต้นไม้นี้เถิด ให้พราหมณ์ขุดดินลงไป พลางก็ขึ้นไปสู่ผ้าสะไบเฉียงของพราหมณ์ ถ่ายมูตรคูถลงไว้ ๕ แห่ง คือที่มุมทั้ง ๔ และตรงกลาง เช็ดเสียด้วย ทำให้เปียกด้วย แล้วโดดเข้าป่าช้าไป พระโพธิสัตว์สถิตเหนือค่าคบไม้ กล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเชื่อสุนัขผู้ดื่มสุราหรือ เพียงร้อยเบี้ยก็ไม่มี อย่าว่าถึง ๒๐๐ กหาปณะเลย" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺทหาสิ แปลว่า หลงเชื่อ อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะอย่างนี้แหละ แต่มีความว่า เชื่อถือ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 430

บทว่า สิปฺปิกานํ สตํ นตฺถิ ความว่า เพราะว่า เงินร้อยเบี้ยของมันก็ยังไม่มี.

บทว่า กุโต กํสสตา ทุเว ความว่า แล้วมันจะมีเงินสองร้อยกษาปณ์มาแต่ไหนเล่า.

พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้แล้วบอกว่า ไปเถิดพราหมณ์ จงไปซักผ้าของท่านเสีย อาบน้ำทำกิจของตนไปเถิด ดังนี้ แล้วก็อันตรธานไป พราหมณ์ทำตามอย่างนั้น ถึงความโทมนัสว่า โธ่เอ๋ย เราถูกหมาจิ้งจอกตัวนี้ลวงเสียแล้วเดินหลีกไป.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า หมาจิ้งจอกในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต ส่วนรุกขเทวดา ได้มาเป็นตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๓