พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ทุพพจชาดก ได้รับโทษเพราะทําเกินขีดความสามารถ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ส.ค. 2564
หมายเลข  35503
อ่าน  403

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 439

๖. ทุพพจชาดก

ได้รับโทษเพราะทําเกินขีดความสามารถ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 439

๖. ทุพพจชาดก

ได้รับโทษเพราะทำเกินขีดความสามารถ

[๑๑๖] "ท่านอาจารย์ ท่านทำการเกินกว่าที่จะทำได้ เรื่องนี้ไม่ถูกใจกระผมเลย ท่านโดดพ้นหอกเล่มที่ ๔ แล้ว ถูกหอกเล่มที่ ๕ เสียบเข้าแล้ว".

จบ ทุพพจชาดกที่ ๖

อรรถกถาทุพพจชาดกที่ ๖

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อติกรมกราจริย" ดังนี้.

เรื่องของภิกษุนั้น จักแจ่มแจ้งในคิชฌชาดกนวกนิบาต (แต่ในชาดกนี้) พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เธอเป็นผู้ว่ายาก แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้ว่ายาก เพราะความที่เป็นผู้ว่ายาก ไม่กระทำตามโอวาทแห่งบัณฑิต จึงถูกหอกแทงถึงสิ้นชีวิต ดังนี้แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนักฟ้อน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 440

ทางกระโดด เจริญวัยแล้ว ได้เป็นผู้มีปัญญาฉลาดในอุบาย ท่านศึกษาศิลปะในทางกระโดดข้ามหอก ในสำนักแห่งนักโดดผู้หนึ่ง เที่ยวแสดงศิลปะไปกับอาจารย์ แต่อาจารย์ของท่านรู้ศิลปะในการโดดข้ามหอกสี่เล่มเท่านั้น ไม่ได้ถึง ๕ เล่ม วันหนึ่ง อาจารย์แสดงศิลปะในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง เมาเหล้า แล้วพูดว่า เราจักโดดข้ามหอก ๕ เล่ม ปักหอกเรียงรายไว้ ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ ท่านไม่ทราบศิลปะการโดดข้ามหอก ๕ เล่ม เอาหอกออกเสียเล่มหนึ่งเถิดครับ ถ้าท่านขึ้นโดดจักถูกหอกเล่มที่ ๕ แทงตายแน่นอน แต่เพราะเมาสุรา อาจารย์จึงกล่าวว่า ถึงตัวเจ้าก็หารู้ขีดความสามารถของเราไม่ มิได้ยึดถือถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ โดดข้ามไปได้ ๔ เล่ม ถูกเล่มที่ ๕ เสียบเหมือนคนเสียบดอกมะทรางในไม้กลัดฉะนั้น นอนคร่ำครวญอยู่ ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์กล่าวกะท่านอาจารย์ว่า ท่านไม่เชื่อคำของบัณฑิต จึงถึงความฉิบหายนี้ ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ท่านอาจารย์ ท่านกระทำการเกินกว่าที่ทำได้ เรื่องนี้ไม่ถูกใจกระผมเลย ท่านโดดพ้นหอกเล่มที่ ๔ แล้ว ถูกหอกเล่มที่ ๕ เสียบเข้าแล้ว" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติกรมกราจริย ความว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านได้กระทำการที่ล้ำหน้า อธิบายว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 441

ได้กระทำการเกินกว่าที่ตนเคยกระทำได้.

ด้วยบทว่า มยฺหมฺเปตํ น รุจฺจติ นี้ พระโพธิสัตว์แสดงความว่า การกระทำของท่านนี้ไม่ชอบใจข้าพเจ้าผู้เป็นอันเตวาสิก ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้บอกท่านไว้ก่อนทีเดียว.

บทว่า จตุตฺเถ ลิงฺฆยิตฺวาน ความว่า ท่านไม่ตกลงบนใบหอกเล่มที่ ๔ คือถีบตนข้ามได้.

บทว่า ปญฺจมายสิ อาวุโต ความว่า ท่านไม่เชื่อถ้อยคำของบัณฑิต บัดนี้จึงถูกหอกเล่มที่ ๕ เสียบไว้แล้ว.

พระโพธิสัตว์ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ก็นำอาจารย์ออกจากหอก กระทำกิจที่ควรทำให้แล้ว พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า อาจารย์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้ว่ายากนี้ ส่วนอันเตวาสิก ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาทุพพจชาดกที่ ๖