วิบากจิต

 
joychorelada
วันที่  19 ส.ค. 2564
หมายเลข  35515
อ่าน  486

กราบเรียนถามค่ะ

ขณะที่กรรมให้ผล ขณะนั้นเป็นการทำกิจของวิบากจิตหรือเปล่าคะ และลักษณะของวิบากจิตเป็นอย่างไรคะ เวลาที่เรากำลังจะทำอะไรที่ผิดโดยพลั้งเผลอ แล้วมีเหตุหรืออะไรมาขัดขวางไม่ให้ทำ ลักษณะอย่างนี้คืออะไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นเหตุ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อเหตุมีแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้ผลเกิดขึ้นเป็นไปได้ ผลของกรรม มี ๒ ประเภท คือ วิบากจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) กับ กัมมชรูป รูปที่เกิดเพราะกรรม เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ดังนั้น การให้ผลของกรรม จึงมีทั้งนามธรรม และ รูปธรรม แต่ถ้ากล่าวถึง วิบากแล้ว ต้องมุ่งหมายถึง เฉพาะนามธรรม คือ จิต และเจตสิก ชาติวิบาก เท่านั้น

ลักษณะของวิบากจิต ก็คือ มีลักษณะรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ในฐานะของวิบากจิต ประเภทนั้นๆ ทั้งที่เป็นกุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก โดยไม่ปะปนกัน วิบากจิต มีทั้งหมด ๓๖ ดวง วิบากจิตที่พอจะเข้าใจได้ เช่น ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น เป็นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรมในชีวิตประจำวัน

ชีวิตประจำวันมีทั้งที่เป็นการสะสมเหตุ และ มีทั้งการได้รับผลของกรรม ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมาก ที่จะยับยั้งหรือต้านทานไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ก็คือ ขณะนั้น จิตเป็นกุศล แม้ว่าก่อนหน้านั้น อาจจะมีอกุศลจิตเกิดขึ้น คิดไม่ดี หรือ ทำไม่ดี เป็นต้น แต่เพราะสะสมความเป็นละเอียดพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล ขณะนั้นก็เป็นเหตุให้กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปได้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
talaykwang
วันที่ 22 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ