พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. กุสนาฬิชาดก ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35524
อ่าน  622

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 463

๑๓. กุสนาฬิวรรค

๑. กุสนาฬิชาดก

ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 463

๑๓. กุสนาฬิวรรค

๑. กุสนาฬิชาดก

ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร

[๑๒๑] "บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือเลวกว่ากัน ก็ควรคบกันไว้ เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้ ดูเราผู้เป็นรุกขเทวดาและเทวดาผู้เกิดที่กอหญ้าคาคบกันฉะนั้น".

จบ กุสนาฬิชาดกที่ ๑

อรรถกถากุสนาฬิวรรคที่ ๑๓

อรรถกถากุสนาฬิชาดกที่ ๑

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภมิตรผู้ชี้ขาดการงานของท่านอนาถบิณฑิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "กเร สริกฺโข" ดังนี้.

ความโดยย่อมีว่า พวกมิตรผู้คุ้นเคย ญาติพวกพ้องของท่านอนาถบิณฑิกะร่วมกันห้ามปรามบ่อยๆ ว่า ท่านมหาเศรษฐี คนผู้นี้ไม่ทัดเทียมกับท่าน โดยชาติ โคตร ทรัพย์และธัญญชาติเป็นต้น ทั้งไม่เหมือนท่านไปได้เลย เหตุไรท่านจึงทำความ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 464

สนิทสนมกับคนผู้นี้ อย่ากระทำเลย ฝ่ายท่านอนาถบิณฑิกะกลับพูดว่า ธรรมดาความสนิทสนมกันฉันท์มิตรกับคนที่ต่ำกว่าก็ดี คนที่เสมอกันก็ดี คนที่สูงกว่าก็ดี ควรกระทำทั้งนั้น แล้วไม่เชื่อถือถ้อยคำของคนพวกนั้น เมื่อจะไปบ้านส่วย ก็ตั้งบุรุษผู้นั้นให้เป็นผู้ดูแลสมบัติแล้วจึงไป เรื่องราวทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องกาฬกรรณีนั่นแล แปลกแต่ว่าในเรื่องนี้ เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะกราบทูลเรื่องราวในเรือนของตนแล้ว พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ธรรมดามิตรที่จะเป็นคนเล็กน้อยไม่มี ก็ความเป็นผู้สามารถรักษามิตรธรรมไว้ได้เป็นประมาณในเรื่องมิตรนี้ ธรรมดามิตรเสมอด้วยตนก็ดี ต่ำกว่าตนก็ดี ยิ่งกว่าตนก็ดี ควรคบไว้ เหตุว่ามิตรเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ย่อมช่วยแบ่งเบาภาระที่มาถึงตนได้ทั้งนั้น บัดนี้ ท่านอาศัยมิตรผู้ชี้ขาดการงานของตน จึงเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ได้สืบไป ส่วนโบราณกบัณฑิต อาศัยมิตรผู้ชี้ขาด จึงเป็นเจ้าของวิมานได้ ดังนี้ อันท่านอนาถบิณฑิกะกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดาที่กอหญ้าคาในอุทยานของพระราชา ก็ในอุทยานนั้นแล มีต้นรุจมงคล อาศัยมงคลศิลา มีลำต้นตั้งตรง ถึงพร้อมด้วยปริมณฑล กิ่งก้านและค่าคบ ได้รับการยกย่องจากราชสำนัก เรียกกันว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 465

ต้นสมุขกะบ้าง (๑) เทวราชผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่งบังเกิดที่ต้นไม้นั้น พระโพธิสัตว์ได้มีความสนิทสนมกับเทวราชนั้น ครั้งนั้นพระราชาเสด็จประทับอยู่ในปราสาทเสาเดียว เสาของปราสาทนั้นหวั่นไหว ครั้งนั้น พวกราชบุรุษพากันกราบทูลความหวั่นไหวของเสานั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้หาพวกนายช่างมาเฝ้า ตรัสว่า พ่อคุณ เสาแห่งมงคลปราสาทเสาเดียวหวั่นไหวเสียแล้ว พวกเจ้าจงเอาเสาไม้แก่นมาต้นหนึ่ง ทำเสานั้นไม่ให้หวั่นไหวเถิด พวกช่างเหล่านั้นกราบทูลรับพระดำรัสของพระราชาว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วพากันแสวงหาต้นไม้ที่เหมาะแก่เสานั้น ไม่พบในที่อื่น จึงเข้าไปสู่อุทยานเห็นต้นสมุขกะนั้นแล้ว พากันไปสำนักพระราชา เมื่อมีพระดำรัสถามว่า อย่างไร เล่าพ่อทั้งหลาย ต้นไม้ที่เหมาะสมแก่เรานั้น พวกเจ้าเห็นแล้วหรือ จึงกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า ก็แต่ว่า ไม่อาจตัดต้นไม้นั้นได้ รับสั่งถามว่า เพราะเหตุไรเล่า พากันกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่เห็นต้นไม้ในที่อื่น พากันเข้าสู่พระอุทยาน ในพระอุทยานนั้นเล่า เว้นต้นมงคลพฤกษ์แล้ว ก็ไม่เห็นต้นไม้อื่นๆ ดังนั้น โดยที่เป็นมงคลพฤกษ์ พวกข้าพระองค์จึงไม่กล้าตัดต้นไม้นั้น พระเจ้าข้า รับสั่งว่า จงพากันไปตัดเถิด ทำปราสาทให้มั่นคงเถิด เราจักตั้งต้นอื่นเป็นมงคลพฤกษ์แทน พวกช่างไม้เหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว พากันถือเครื่องพลีกรรมไปสู่อุทยาน ตกลงกันว่าจักตัดในวันพรุ่งนี้ แล้วกระทำพลีกรรมแก่ต้นไม้


(๑) ต้นไม้พูดได้ เพราะมีเทวดาสิงอยู่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 466

เสร็จพากันออกไป รุกขเทวดารู้เหตุนั้นแล้ว คิดว่า พรุ่งนี้ วิมานของเราจักฉิบหาย เราจักพาพวกเด็กๆ ไปที่ไหนกันเล่า เมื่อไม่เห็นที่ควรไปได้ ก็กอดคอลูกน้อยๆ ร่ำไห้ หมู่รุกขเทวดาที่รู้จักมักคุ้นของเทวดานั้น ก็พากันไต่ถามว่า เรื่องอะไรเล่า ครั้นฟังเรื่องนั้น แม้พวกตนก็มองไม่เห็นอุบายที่จะห้ามช่างไม่ได้ พากันทอดทิ้งเทวดานั้น เริ่มร้องไห้ไปตามกัน ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ดำริว่า เราจักไปเยี่ยมรุกขเทวดา จึงไปที่นั้น ฟังเหตุนั้นแล้ว ก็ปลอบเทวดาเหล่านั้นว่า ช่างเถิด อย่ามัวเสียใจเลย เราจักไม่ให้ตัดต้นไม้นั้น พรุ่งนี้ เวลาพวกช่างมา พวกท่านคอยดูเหตุการณ์ของเราเถิด ครั้นรุ่งขึ้น เวลาที่พวกช่างไม้พากันมา ก็แปลงตัวเป็นกิ้งก่าวิ่งนำหน้าพวกช่างไม้ไป เข้าไปสู่โคนของมงคลพฤกษ์ กระทำประหนึ่งว่า ต้นไม้นั้นเป็นโพรง ไต่ขึ้นตามไส้ของต้นไม้ โผล่ออกทางยอด นอนผงกหัวอยู่ นายช่างใหญ่เห็นกิ้งก่านั้นแล้ว ก็เอามือตบต้นไม้นั้น แล้วตำหนิต้นไม้ใหญ่มีแก่นทึบตลอดว่า ต้นไม้นี้มีโพรง ไร้แก่น เมื่อวานไม่ทันได้ตรวจถ้วนถี่ หลงทำพลีกรรมกันเสียแล้ว พากันหลีกไป รุกขเทวดาอาศัยพระโพธิสัตว์ คงเป็นเจ้าของวิมานอยู่ได้ เพื่อเป็นการต้อนรับรุกขเทวดานั้น เทวดาที่รู้จักมักคุ้นจำนวนมากประชุมกัน รุกขเทวดาดีใจว่า เราได้วิมานแล้ว เมื่อจะกล่าวคุณของพระโพธิสัตว์ ในท่ามกลางที่ประชุมเทวดาเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ดูก่อนเทพยเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 467

ชาวเราถึงจะเป็นเทวดามเหศักดิ์ ก็มิได้รู้อุบายนี้ เพราะปัญญาทึบ ส่วนเทวดากุสนาฬิ ได้กระทำให้เราเป็นเจ้าของวิมานได้ เพราะญาณสมบัติของตน ธรรมดามิตร ไม่เลือกว่าเท่าเทียมกัน ยิ่งกว่าหรือต่ำกว่า ควรคบไว้ทั้งนั้น มิตรแม้ทุกๆ คน อาจบำบัดทุกข์ที่บังเกิดแก่เพื่อนฝูง ให้คงคืนตั้งอยู่ในความสุขได้ตามกำลังของตนทีเดียว ครั้นพรรณนามิตรธรรมแล้ว กล่าวคาถานี้ ความว่า.

"บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากันหรือเลวกว่ากัน ก็ควรคบกันไว้ เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้ ดูเราผู้เป็นรุกขเทวดาและเทวดาผู้เกิดที่กอหญ้าคาคบกันฉะนั้น" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า กเร สริกฺขโก ความว่า แม้คนเสมอกันด้วยฐานะมีชาติเป็นต้น ก็ควรคบกันไว้.

บทว่า อถวาปิ เสฏฺโ ความว่า แม้เป็นผู้สูงกว่า คือยิ่งกว่าด้วยชาติเป็นต้น ก็ควรคบไว้.

บทว่า นิหีนโก จาปิ กเรยฺย เอโก ความว่า ถึงจะเป็นคนต่ำต้อยด้วยชาติเป็นต้นคนหนึ่ง ก็พึงกระทำมิตรธรรมไว้ ท่านแสดงความหมายว่า เหตุนั้น คนเหล่านี้แม้ทั้งหมด ควรทำให้เป็นมิตรไว้ทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 468

ถามว่า เพราะอะไร.

ตอบว่า เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้ ขยายความว่า ก็เพราะคนเหล่านี้ทั้งหมด เมื่อความพิบัติเกิดขึ้นแก่สหายแล้ว ก็ช่วยแบ่งเบาภาระที่มาถึงตน กระทำประโยชน์อย่างสูงให้ได้ คือช่วยปลดเปลื้องสหายนั้นจากทุกข์กาย ทุกข์ใจได้ เพราะเหตุนั้น มิตรแม้จะต่ำต้อยกว่า ก็ควรคบไว้ทีเดียว จะป่วยกล่าวไปใยถึงมิตรนอกนี้ ในข้อนั้น มีเรื่องนี้เป็นข้ออุปมา เหมือนข้าพเจ้าเป็นเทวดาเกิดที่ไม้รุจาและเทวดาเกิดที่กอหญ้าคา มีศักดาน้อย ต่างกระทำความสนิทสนมฉันมิตรกันไว้ ถึงในเราสองคนนั้น ข้าพเจ้าแม้จะมีศักดามาก ก็ไม่อาจบำบัดทุกข์ที่เกิดแก่ตนได้ เพราะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาดในอุบาย แต่ได้อาศัยเทวดาผู้นี้ แม้จะมีศักดาน้อย ก็เป็นบัณฑิต จึงพ้นจากทุกข์ได้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น แม้คนอื่นๆ ประสงค์จะพ้นทุกข์ ก็ไม่จำต้องคำนึงถึงความเสมอกัน และความวิเศษกว่ากัน พึงคบมิตรทั้งต่ำ ทั้งประณีต.

รุจาเทวดาแสดงธรรมแก่หมู่เทวดาด้วยคาถานี้ ดำรงอยู่ชั่วอายุขัยแล้ว ไปตามยถากรรมพร้อมกับกุสนาฬิเทวดา.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า รุจาเทวดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนกุสนาฬิเทวดา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากุสนาฬิชาดกที่ ๑