พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อัมพชาดก บัณฑิตควรพยายามร่ําไป

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35527
อ่าน  402

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 480

๔. อัมพชาดก

บัณฑิตควรพยายามร่ําไป


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 480

๔. อัมพชาดก

บัณฑิตควรพยายามร่ำไป

[๑๒๔] "บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่มีให้บริโภคอยู่ ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่มีมาได้เอง".

จบ อัมพชาดกที่ ๔

อรรถกถาอัมพชาดกที่ ๔

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "วายเมเถว ปุริโส" ดังนี้.

ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี บวชถวายชีวิตในพระศาสนา ได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร กระทำอาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร และวัตรมีการตั้งน้ำดื่มและน้ำใช้ ทั้งวัตรในโรงอุโบสถ และวัตรในเรือนไฟเป็นต้นเป็นอันดี ได้เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในมหาวัตรทั้ง ๑๔ และขันธกวัตรทั้ง ๘๐ กวาดวิหาร บริเวณโรงตึกทางไปวิหาร ให้น้ำดื่มแก่พวกมนุษย์ พวกมนุษย์เลื่อมใสในความสมบูรณ์ด้วยวัตรของท่าน พากันถวายภัตรประจำ ประมาณ ๕๐๐ ราย ลาภและสักการะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 481

เป็นอันมากบังเกิดขึ้น การอยู่อย่างผาสุกเกิดแล้วแก่ภิกษุเป็นอันมาก เพราะอาศัยท่าน อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย พากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในโรงธรรมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้น ยังลาภสักการะอย่างมากมายให้เกิดแก่ตนเพราะถึงพร้อมด้วยวัตร ความอยู่อย่างผาสุกเกิดแก่ภิกษุเป็นอันมากเพราะอาศัยเธอผู้เดียว พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นแม้ในปางก่อนภิกษุนี้ก็เคยเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร แม้ในปางก่อนอาศัยเธอผู้เดียว ฤๅษี ๕๐๐ ไม่ต้องไปป่าหาผลาผลกันเลย เลี้ยงชีพด้วยผลาผลที่ภิกษุนี้นำมา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว บวชเป็นฤาษี มีฤาษี ๕๐๐ เป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่เชิงเขา ครั้งนั้น ในป่าหิมพานต์ แห้งแล้ง ร้ายแรง น้ำดื่มในที่นั้นๆ ก็เหือดแห้ง พวกสัตว์ดิรัจฉานเมื่อไม่ได้น้ำดื่ม ก็พากันลำบาก ครั้งนั้น ในบรรดาพระดาบสเหล่านั้น มีดาบสองค์หนึ่ง เห็นความทุกข์เกิดแต่ความกระวนกระวายของพวกดิรัจฉานเหล่านั้น จึงตัดต้นไม้ต้นหนึ่งทำราง โพงน้ำใส่ให้เป็นน้ำดื่มแก่พวกดิรัจฉานเหล่านั้น เมื่อพวกสัตว์ดิรัจฉานจำนวนมาก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 482

มาประชุมดื่มน้ำ พระดาบสเลยไม่มีโอกาสที่จะไปหา (* ผลาผล) แม้ท่านจะอดอาหาร ก็คงให้น้ำดื่มอยู่นั่นเอง ฝูงเนื้อพากันคิดว่า พระดาบสนี้ให้น้ำดื่มแก่พวกเรา ไม่ได้โอกาสไปหาผลาผล ลำบากอย่างยวดยิ่งเพราะอดอาหาร เอาเถิดพวกเราจงมาทำกติกากัน สัตว์เหล่านั้นจึงตั้งกติกาไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้ ผู้มาดื่มน้ำ ต้องคาบผลไม้มาตามสมควรแก่กำลังของตน ตั้งแต่นั้นมา ดิรัจฉานตัวหนึ่งๆ ก็คาบผลไม้มีมะม่วงและขนุนเป็นต้นที่อร่อยๆ นำมาตามสมควรแก่กำลังของตนเรื่อยมา ผลาผลที่พวกดิรัจฉานนำมาเพื่อพระดาบสองค์เดียว ได้มีประมาณบรรทุกเต็มสองเล่มเกวียนครึ่ง พระดาบสทั้ง ๕๐๐ พลอยฉันผลาผลนั้นทั่วกัน ยังต้องทิ้งเสียเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์เห็นเหตุนั้นแล้วกล่าวว่า อาศัยดาบสผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรผู้เดียว ดาบสมีประมาณเท่านี้ยังอัตภาพให้เป็นไปได้โดยไม่ต้องไปหาผลาผล ขึ้นชื่อว่า ความเพียร เป็นกิจควรกระทำโดยแท้ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่มีให้บริโภคอยู่ ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่มีมาได้เอง" ดังนี้.

ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ บัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไป ไม่ควรท้อถอยเสีย ในการงานมีการบำเพ็ญวัตรเป็นต้นของตน เพราะเหตุไร เพราะความพยายามที่ไร้ผลไม่มีเลย ด้วยเหตุนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 483

พระมหาสัตว์เมื่อเตือนคณะฤๅษีว่า ธรรมดาความเพียรย่อมมีผลเรื่อยไป จึงกล่าวว่า เชิญดูผลแห่งความพยายามเถิด เช่นอย่างไรเล่า เช่นอย่างที่ฤาษีทั้ง ๕๐๐ ฉันผลไม้มีมะม่วงเป็นต้นได้อย่างไม่อั้น ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อัมพ เป็นเพียงยกมาเป็นตัวอย่าง หมายความว่า ก็ผลาผลที่เดียรัจฉานเหล่านั้นนำมา มีประการต่างๆ แต่กล่าวถึงมะม่วงเป็นต้น ด้วยอำนาจเป็นผลไม้มากมายก่ายกองกว่าผลไม้เหล่านั้น ข้อที่ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ไม่ต้องไปป่าด้วยตนเอง พากันฉันผลมะม่วงทั้งหลาย ซึ่งดิรัจฉานทั้งหลายนำมาเพื่อประโยชน์แก่ดาบสนั้น นี้เป็นผลแห่งความพยายาม ก็แลการที่ได้ฉันนั้นเล่า รู้กันเองไม่ต้องมีใครบอก หมายความว่า ที่จะต้องถือเอาด้วยการบอกกล่าวว่า นี้ อย่างนี้ ดังนี้ เป็นอันไม่มีกันละ เชิญดูผลไม้นั้น อันประจักษ์ชัดกันเถิด พระมหาสัตว์ได้ให้โอวาทแก่ฤาษี ด้วยประการฉะนี้.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ดาบสผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนศาสดาของคณะ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอัมพชาดกที่ ๔