พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. มูสิกชาดก ความประพฤติของผู้เอาธรรมบังหน้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35531
อ่าน  441

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 501

๘. มูสิกชาดก

ความประพฤติของผู้เอาธรรมบังหน้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 501

๘. มูสิกชาดก

ความประพฤติของผู้เอาธรรมบังหน้า

[๑๒๘] "ผู้ใดแลเทิดธรรมเป็นธงชัย ให้สัตว์ทั้งหลายตายใจ ซ่อนตนประพฤติชั่ว ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่า เป็นความประพฤติของแมว".

จบ มูสิกชาดกที่ ๘

อรรถกถามูสิกชาดกที่ ๘

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "โย เว ธมฺมทฺธชํ กตฺวา" ดังนี้.

ความย่อว่า ในครั้งนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้หลอกลวงให้ทรงทราบแล้ว พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อนภิกษุนี้ก็หลอกลวงเหมือนกัน ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดหนู อาศัยความเจริญเติบโต มีร่างกายอ้วนใหญ่คล้ายกับลูกสุกรอ่อน มีหนูหลายร้อยเป็นบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในป่า ครั้งนั้น มีหมาจิ้งจอก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 502

ตัวหนึ่งท่องเที่ยวไปตามประสา เห็นฝูงหนูนั้นคิดว่า เราจักลวงกินหนูเหล่านี้ แล้วแหงนหน้าจ้องดวงอาทิตย์สูดดม ยืนด้วยเท้าข้างเดียว ในที่ไม่ไกลกับที่อาศัยของฝูงหนู พระโพธิสัตว์เที่ยวหากิน เห็นมันแล้วคิดว่า หมาจิ้งจอกนี้คงเป็นผู้มีศีล จึงเดินไปสู่สำนักของมัน พลางถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านชื่ออะไรเล่า มันตอบว่า เราชื่อ ธรรมิกะ ถามว่า ท่านไม่ยืนเหนือแผ่นดินสี่เท้า ยืนด้วยเท้าข้างเดียวเพราะเหตุไร ตอบว่า เมื่อเราเหยียบแผ่นดินสี่เท้าละก็ แผ่นดินไม่อาจทนอยู่ได้ เหตุนั้น เราต้องยืนเท้าเดียวเท่านั้น ถามว่า ทำไมต้องยืนอ้าปากด้วยเล่า ตอบว่า เราไม่กินอาหารอื่น กินลมอย่างเดียว ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงต้องจ้องมองดวงอาทิตย์ด้วยเล่า ตอบว่า เรานอบน้อมพระอาทิตย์ พระโพธิสัตว์ฟังคำของมันแล้ว มั่นใจว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้คงมีศีลเป็นแน่ แต่นั้นก็ไปสู่ที่บำรุงของมันกับฝูงหนู ทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า ครั้นในเวลาที่หนูผู้โพธิสัตว์นั้นทำการบำรุงแล้วไป หมาจิ้งจอกก็จับเอาหนูตัวสุดท้ายกินเนื้อเสียแล้วเช็ดปากยืนอยู่ ฝูงหนูบางตาลงโดยลำดับ (* ฝูงหนูคิดว่า) พวกเราต้องเบียดเสียดกันอยู่ เดี๋ยวนี้ดูหลวม ที่อยู่แม้เท่านั้น ก็ยังไม่เต็ม นี่มันเรื่องอะไรกัน แล้วพากันบอกเรื่องราวแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คิดว่า เหตุไรเล่าหนอ พวกหนูจึงเบาบางไป ตั้งข้อสงสัยในหมาจิ้งจอก ดำริว่า ต้องสอบสวนหมาจิ้งจอกนั้นในเวลาบำรุง ให้พวกหนูออกหน้า ตนเองอยู่หลังเพื่อน หมาจิ้งจอกวิ่งไปสะกัด

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 503

พระโพธิสัตว์ไว้ พระโพธิสัตว์เห็นมันกอดจับตน ก็หันกลับ พูดว่า เจ้าสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ การบำเพ็ญพรตของเจ้านี้ มิใช่เป็นไปเพื่อความประพฤติดีปฏิบัติชอบ แต่เจ้าประพฤติแอบอ้างเอาธรรมเป็นธงขึ้นไว้ เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ผู้ใดแลเทิดธรรมเป็นธงชัย ให้สัตว์ทั้งหลายตายใจ ซ่อนตนประพฤติชั่ว ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่า เป็นความประพฤติของแมว" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เว ความว่า ในหมู่ชนมีกษัตริย์เป็นต้นคนใดคนหนึ่งก็ตาม.

บทว่า ธมฺมทฺชชํ กตฺวา ความว่า เทิดทูนกุศลกรรมบถสิบประการเป็นธง คือธรรม เสมือนว่าตนปฏิบัติธรรมนั้นอยู่เชิดชูขึ้นแสดง.

บทว่า วิสฺสาสยิตฺวา ความว่า ทำให้ฝูงสัตว์เกิดความวางใจด้วยสำคัญผิดว่า ผู้นี้มีศีล.

บทว่า พิฬารนฺนาม ตํ วตํ ความว่า พรตของผู้ที่เทิดธรรมเป็นธงอยู่อย่างนี้ แล้วซ่อนกระทำความชั่วอยู่ลับๆ นั้น ย่อมชื่อว่า เป็นพรตอันประกอบด้วยความล่อลวง.

พระยาหนูกล่าวพลาง กระโดดขึ้นเกาะคอมันไว้ กัดที่ซอกคอใต้คาง ให้ถึงความสิ้นชีวิต ฝูงหนูกลับมากัดกินหมาจิ้งจอก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 504

เสียงดังมุ่มม่ำๆ แล้วพากันไป ได้ยินว่าหนูพวกที่มาก่อนก็ได้กินเนื้อ พวกที่มาทีหลังก็ไม่ได้ นับแต่นั้นมาพวกหนูก็หมดภัยได้ความสุข.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า หมาจิ้งจอกในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุหลอกลวงในครั้งนี้ ส่วนพญาหนู ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถามูสิกชาดกที่ ๘