พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. อัคคิกชาดก ว่าด้วยหมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35532
อ่าน  405

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 505

๙. อัคคิกชาดก

ว่าด้วยหมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 505

๙. อัคคิกชาดก

ว่าด้วยหมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์

[๑๒๙] "แหยมนี้ มิใช่มีไว้เพราะเหตุแห่งบุญ มีไว้เป็นเลสอ้างของการหากิน ฝูงหนูไม่ครบจำนวนเพราะการนับด้วยหาง พอกันทีเถิด ท่านอัคคิกะเจ้าเล่ห์".

จบ อัคคิกชาดกที่ ๙

อรรถกถาอัคคิกชาดกที่ ๙

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงนั่นแหละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "นายํ สิขา ปุญฺเหตุ ดังนี้ เรื่องปัจจุบันเช่นเดียวกับเรื่องที่กล่าวแล้วในหนหลัง.

ความย่อว่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาหนูอยู่ในป่า ครั้งนั้นเมื่อเกิดไฟไหม้ป่า หมาจิ้งจอกตัวหนึ่งไม่สามารถจะหนีไปได้ทัน ก็ยืนเอาหัวยันไว้ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ขนทั้งตัวของมันถูกไฟไหม้ เหลือแต่ขนตรงที่มันเอาหัวไปยันต้นไม้ไว้หน่อยหนึ่ง เป็นเหมือนจุกบนกระหม่อม วันหนึ่ง มันดื่มน้ำในตระพัง มองดูเงาเห็นจุกแล้วคิดว่า บัดนี้ สิ่งที่เป็น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 506

รากฐานแห่งภัณฑะเกิดแก่เราแล้ว เมื่ออยู่ในป่า เห็นฝูงหนูนั้นคิดว่า เราจักลวงกินหนูเหล่านี้ ได้ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นเทียว ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เที่ยวหากิน เห็นมัน แล้วเข้าไปหาด้วยสำคัญว่า ผู้นี้มีศีล แล้วถามว่า ท่านชื่อว่าอย่างไร สุนัขจิ้งจอกตอบว่า เราชื่อ อัคคิกภารทวาชะ ถามว่า ท่านมาทำอะไรเล่า ตอบว่า มาเพื่อช่วยคุ้มครองพวกเจ้า ถามว่า ท่านทำอย่างไร จึงจะคุ้มครองพวกเราได้ ตอบว่า เรารู้วิธีคำนวณที่เรียกกันว่านับด้วยหาง ในเวลาที่พวกเจ้าพากันออกไปหากินแต่เช้า เราก็นับไว้ว่ามีจำนวนเท่านี้ ในเวลากลับ ก็ต้องนับดู เมื่อเราตรวจนับอยู่ทั้งเช้าทั้งเย็นอย่างนี้ ก็จักคุ้มครองพวกเจ้าได้ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ก็จงคุ้มครองเถิดลุง มันรับคำแล้ว ในเวลาที่พวกหนูออกไป ก็นับ หนึ่ง สอง สามเป็นต้น แม้ในเวลาที่กลับมาก็นับโดยทำนองเดียวกัน แล้วตะครุบเอาตัวหลังเพื่อนกินเสีย เรื่องที่เหลือก็เหมือนกับเรื่องก่อนนั่นแหละ แต่ว่าในชาดกนี้ พระยาหนูหันกลับมายืนแล้วกล่าวว่า เจ้าหมาอัคคิกภารทวาชะเจ้าเล่ห์ จุกบนหัวของเจ้า มิได้มีไว้เพื่อความซื่อสัตย์สุจริตยุติธรรม แต่มีไว้เพราะเหตุแห่งปากท้อง แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"แหยมนี้ มิใช่มีไว้เพราะเหตุแห่งบุญ มีไว้เป็นเลสอ้างของการหากิน ฝูงหนูไม่ครบจำนวนเพราะการนับด้วยหาง พอกันทีเถอะ ท่านอัคคิกะเจ้าเล่ห์" ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 507

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นงฺคฏฺคณนํ ยาติ ท่านกล่าวไว้หมายถึง การนับด้วยหาง อธิบายว่า ฝูงหนูนี้ไม่ถึง ไม่ใกล้เคียง ไม่ครบจำนวน ได้แก่ พร่องไป.

บทว่า อลนฺเต โหตุ อคฺคิก ความว่า พระยาหนู เมื่อจะพูดถึงสุนัขจิ้งจอก เรียกโดยชื่อว่า อัคคิกะ อธิบายว่า อัคคิกะเจ้าเล่ห์เอ๋ย สำหรับเจ้าพอกันเพียงเท่านี้ทีเถิดนะ เบื้องหน้าแต่นี้ต่อไป เจ้าจักกัดหนูกินอีกไม่ได้ เราหรือเจ้าเป็นอันเลิกอยู่ร่วมกัน อธิบายว่า บัดนี้พวกเราจักไม่อยู่ร่วมกับเจ้าต่อไป ข้อความที่เหลือเช่นเดียวกับเรื่องก่อนนั่นแหละ.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า หมาจิ้งจอกในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ในบัดนี้ ส่วนพระยาหนู ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอัคคิกชาดกที่ ๙