พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. กากชาดก ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35545
อ่าน  408

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 555

๑๐. กากชาดก

ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 555

๑๐. กากชาดก

ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว

[๑๔๐] "ฝูงกามีใจหวาดสะดุ้งเป็นนิตย์ ชอบเบียดเบียนชาวโลกทั้งมวล เหตุนั้น มันเหลว ของฝูงกาผู้เป็นญาติของข้าพเจ้าเหล่านั้น จึงไม่มี".

จบกากชาดกที่ ๑๐

อรรถกถากากชาดกที่ ๑๐

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการประพฤติประโยชน์แก่พระประยูรญาติ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "นิจฺจํ อุพฺพิคฺคหทยา" ดังนี้.

เรื่องในปัจจุบันจักมีปรากฏในภัททสาลชาดก ทวาทสกนิบาต.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกา อยู่มาวันหนึ่ง ปุโรหิตของพระราชาอาบน้ำในแม่น้ำนอกพระนคร ประแป้ง แต่งกาย ประดับดอกไม้ นุ่งผ้าสมศักดิ์ศรี กำลังเดินเข้าพระนคร ที่ยอดเสาค่ายใกล้ประตูพระนคร กาสองตัวกำลัง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 556

จับอยู่ ในสองตัวนั้น กาตัวหนึ่งพูดกับอีกตัวหนึ่งว่า สหาย เราจักขี้รดหัวพราหมณ์นี้ อีกตัวหนึ่งค้านว่า เจ้าอย่านึกสนุกอย่างนั้นเลย พราหมณ์นี้เป็นคนใหญ่คนโต ขึ้นชื่อว่าการก่อเวรกับอิสรชนละก็ร้ายนัก เพราะแกโกรธขึ้นมาแล้วพึงทำกาแม้ทั้งหมดให้ฉิบหายได้ กาตัวนั้นพูดว่า เราไม่อาจยับยั้งเปลี่ยนใจได้เสียแล้ว อีกตัวหนึ่งกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจักได้รู้ดอก แล้วบินหนีไป กาตัวหนึ่ง เวลาพราหมณ์ลอดส่วนล่างแห่งเสาค่าย ก็ทำเป็นย่อตัวลงขี้รดหัวพราหมณ์นั้น พราหมณ์โกรธ ผูกเวรในฝูงกา.

ครั้งนั้น หญิงทาสีรับจ้างซ้อมข้าวคนหนึ่ง เอาข้าวเปลือกผึ่งแดดไว้ที่ประตูเรือน นั่งคอยเฝ้าอยู่นั่นแล หลับไป แพะขนยาวตัวหนึ่งรู้ว่าหญิงนั้นประมาท มากินข้าวเปลือกเสีย นางตื่นขึ้นเห็นมันก็ไล่ไป แพะแอบมากินข้าวเปลือกในเวลาที่นางหลับ อย่างนั้นนั่นเหละ สองสามครั้ง แม้นางก็ไล่มันไปทั้งสามครั้ง แล้วคิดว่า เมื่อมันกินบ่อยครั้ง จักกินข้าวเปลือกไปตั้งครึ่งจำนวน เราต้องเข้าเนื้อไปมากมาย คราวนี้ต้องทำไม่ให้มันมาได้อีก นางจึงถือไต้นั่งทำเป็นหลับ เมื่อแพะเข้ามากินข้าวเปลือก ก็ลุกขึ้นขว้างแพะด้วยไต้ ขนแพะก็ติดไฟ เมื่อร่างกายถูกไฟไหม้ มันคิดจักให้ไฟดับ จึงวิ่งไปโดยเร็ว เอาตัวสีที่กระท่อมหญ้าแห่งหนึ่งใกล้โรงช้าง กระท่อมนั้นก็ลุกโพลงไป เปลวไฟที่เกิดจากกระท่อมนั้น ลามไปติดโรงช้าง เมื่อโรงช้างไหม้ หลังช้าง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 557

ก็พลอยไหม้ไปด้วย ช้างจำนวนมาก ต่างมีตัวเป็นแผลไปตามๆ กัน พวกหมอไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ พากันกราบทูลพระราชา พระราชาจึงตรัสกับปุโรหิตว่า ท่านอาจารย์ หมอช้างหมดฝีมือที่จะรักษาฝูงช้าง ท่านพอจะรู้จักยาอะไรๆ บ้างหรือ ปุโรหิตกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบเกล้าฯ อยู่พระเจ้าข้า รับสั่งถามว่า ได้อะไรถึงจะควร กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ต้องได้น้ำมันกา พระเจ้าข้า รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงสั่งให้คนฆ่ามา เอาน้ำมันมาเถิด จำเดิมแต่นั้นคนทั้งหลายก็พากันฆ่ากา ไม่ได้น้ำมัน ก็ทิ้งสุมไว้เป็นกองๆ ในที่นั้นๆ ภัยอย่างใหญ่หลวงเกิดแก่ฝูงกาแล้ว.

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์มีฝูงกาแปดหมื่นเป็นบริวาร อาศัยอยู่ในป่าช้าใหญ่ มีกาตัวหนึ่งมาบอกแก่พระโพธิสัตว์ ถึงภัยที่เกิดแก่ฝูงกา พระโพธิสัตว์ดำริว่า ยกเว้นเราเสียแล้ว ผู้อื่นที่จะสามารถบำบัดภัยที่กำลังเกิดขึ้นแก่หมู่ญาติของเราได้ไม่มีเลย เราต้องบำบัดภัยนั้น แล้วรำลึกถึงบารมี ๑๐ ประการ กระทำเมตตาบารมีให้เป็นเบื้องหน้า บินรวดเดียวเท่านั้น เข้าไปในช่องพระแกลใหญ่ที่เปิดไว้ เข้าไปซุกอยู่ภายใต้พระราชอาสน์ ครั้งนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งทำท่าจะจับพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสห้ามว่า มันเข้ามาหาที่พึ่ง อย่าจับมันเลย พระมหาสัตว์พักหน่อยหนึ่ง แล้วรำลึกถึงพระบารมี ออกจากใต้อาสนะ กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ธรรมดาพระราชา ต้องไม่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 558

ลุอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้นจึงจะชอบ กรรมใดๆ ที่จะต้องกระทำ กรรมนั้นๆ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วกระทำ จึงจะชอบ อนึ่ง กรรมใดที่จะกระทำ ต้องได้ผลกรรมนั้นเท่านั้น จึงจะควรกระทำ นอกนี้ไม่ควรกระทำ ก็ถ้าพระราชาทั้งหลาย มาทรงกระทำกรรมที่ทำไปไม่สำเร็จผลเลยอยู่ไซร้ มหาภัย มีมรณภัยเป็นที่สุดย่อมบังเกิดแก่มหาชน ปุโรหิตตกอยู่ในอำนาจของการจองเวร ได้กราบทูลเท็จ ขึ้นชื่อว่า มันเหลวของฝูงกาไม่มีเลย พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว มีพระทัยเลื่อมใส ให้พระโพธิสัตว์เกาะบนตั่งอันแพรวพราวด้วยทองคำ ให้คนทาช่วงปีกด้วยน้ำมันที่หุงแล้วได้แสนครั้ง ให้บริโภคอาหารที่สะอาด สมควรเป็นพระกระยาหาร ให้ดื่มน้ำ พอพระมหาสัตว์สบาย หายความเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงได้ตรัสคำนี้ว่า พ่อบัณฑิต เธอกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่ามันเหลวของฝูงกาไม่มี ด้วยเหตุไรเล่า มันเหลวของฝูงกาจึงไม่มี พระโพธิสัตว์เมื่อจะกราบทูลชี้แจงว่า ด้วยเหตุนี้ๆ พระเจ้าข้า กระทำพระราชวังทั้งสิ้นให้เป็นเสียงเดียวกัน แสดงธรรม กล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ฝูงกามีใจหวาดสะดุ้งเป็นนิตย์ ชอบเบียดเบียนชาวโลกทั้งมวล เหตุนั้น มันเหลวของฝูงกาผู้เป็นญาติของข้าพระองค์เหล่านั้น จึงไม่มี" ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 559

ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้.

ข้าแต่มหาราชเจ้า ธรรมดาฝูงกามีใจสะดุ้ง คือคอยแต่หวาดกลัวอยู่เป็นนิจทีเดียว.

บทว่า สพฺพโลกวิเหสกา ความว่า กาทั้งหลายชอบเที่ยวเบียดเบียน ข่มเหง มนุษย์ที่เป็นใหญ่มีกษัตริย์เป็นต้นบ้าง หญิงชายทั่วไปบ้าง เด็กชายเด็กหญิงเป็นต้นบ้าง เหตุนั้น คือด้วยเหตุสองประการนี้ ขึ้นชื่อว่ามันเหลวของฝูงกาผู้เป็นญาติของข้าพระองค์เหล่านั้นจึงไม่มี แม้ในอดีตก็ไม่เคยมี แม้ในอนาคต ก็จักไม่มี.

พระโพธิสัตว์ เปิดเผยเหตุนี้ด้วยประการฉะนี้ แล้วทูลเตือนพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ธรรมดาพระราชามิได้ทรงพิจารณาใคร่ครวญแล้ว ไม่พึงปฏิบัติพระราชกิจ พระราชาทรงพอพระทัย บูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ พระโพธิสัตว์ถวายราชสมบัติคืนแด่พระราชาดังเดิม ให้พระราชาดำรงอยู่ในเบญจศีล ทูลขอพระราชทานอภัยแก่สัตว์ทั้งปวง พระราชาทรงสดับธรรมเทศนาแล้ว โปรดพระราชทานอภัยแก่สรรพสัตว์ ทรงตั้งนิพัทธทาน (ทานที่ให้ประจำ) แก่ฝูงกา ให้หุงข้าวประมาณวันละหนึ่งถัง คลุกด้วยของที่มีรสเลิศต่างๆ พระราชทานแก่กาทุกๆ วัน ส่วนพระมหาสัตว์ ได้รับพระราชทานพระกระยาหารทีเดียว.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 560

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนพระยากา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากากชาดกที่ ๑๐

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อสัมปทานชาดก ๒. ปัญจภีรุกชาดก ๓. ฆตาสนชาดก ๔. ฌาณโสธนชาดก ๕. จันทาภชาดก ๖. สุวัณณหังสชาดก ๗. พัพพุชาดก ๘. โคธชาดก ๙. อุภโตภัตถชาดก ๑๐. กากชาดก

จบ อสัมปทานวรรคที่ ๑๔