พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. วิโรจนชาดก ว่าด้วยผู้ถูกเยาะเย้ย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35549
อ่าน  544

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 569

๓. วิโรจนชาดก

ว่าด้วยผู้ถูกเยาะเย้ย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 569

๓. วิโรจนชาดก

ว่าด้วยผู้ถูกเยาะเย้ย

[๑๔๓] "มันสมองของเจ้าไหลออกแล้ว กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลายแล้ว ซี่โครงของเจ้าหักพังไปหมดแล้ว วันนี้ เจ้าช่างรุ่งเรืองแท้".

จบ วิโรจนชาดกที่ ๓

อรรถกถาวิโรจนชาดกที่ ๓

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารชื่อว่า เวฬุวัน ทรงปรารภความที่พระเทวทัตแสดงท่าทางอย่างพระสุคตอยู่ในคยาสีสประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ลสี จ เต นิปฺผลิตา" ดังนี้.

ความพิสดารว่า พระเทวทัตมีฌาณเสื่อมแล้ว ก็พลอยเสื่อมจากลาภสักการะไปด้วย คิดว่า ยังมีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง ดังนี้แล้ว กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการกะพระศาสดา เมื่อไม่ได้ก็ชวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระอัครสาวกทั้งสอง ซึ่งบวชได้ไม่นาน ยังไม่ฉลาดในพระธรรมวินัย ไปสู่คยาสีสประเทศ แยกหมู่กระทำสังฆกรรม แผนกหนึ่งในสีมาเดียวกัน พระศาสดาทรงทราบเวลาที่ความรู้ของภิกษุเหล่านั้นแก่กล้า ทรงส่งพระอัครสาวกทั้งสองไป พระเทวทัตเห็นพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 570

ดีใจ คิดว่า เมื่อเราแสดงธรรมตลอดคืน จักทำทีท่าอย่างพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงท่าทางอย่างพระสุคต จึงกล่าวว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่ง่วงเหงาหาวนอน ธรรมิกถาจงอาศัยท่านแจ่มกระจ่างแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด เราเมื่อยหลังนัก จักขอเหยียดหลังสักหน่อย แล้วเข้านอน พระอัครสาวกทั้งสองแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ให้ตื่นทั่วกันด้วยมรรคผลทั้งหลาย แล้วพากันกลับมาสู่พระเวฬุวันวิหารทั้งหมดทีเดียว พระโกกาลิกะเห็นวิหารว่าง จึงไปสู่สำนักพระเทวทัต พูดว่า ท่านเทวทัต อัครสาวกทั้งสองของท่านทำลายบริษัทของท่านเสียแล้ว ไปกันหมดจนวิหารว่าง ส่วนท่านยังมัวนอนหลับอยู่อีก แล้วกระตุกผ้าห่มพระเทวทัตออก เอาส้นกระทืบลงไปที่ตรงหัวใจ เหมือนตอกตะปูที่ฝาเรือน ทันใดนั้นเองเลือดก็ทะลักออกจากปากของพระเทวทัต ต่อจากนั้น พระเทวทัตก็เป็นไข้ พระศาสดาตรัสถามพระเถระว่า สารีบุตร เวลาที่เธอพากันไป เทวทัตทำอะไร พระเถระเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัต เห็นข้าพระองค์ทั้งสองแล้ว คิดจักกระทำลีลาอย่างพระองค์ เมื่อแสดงท่าทางอย่างพระสุคตเลยถึงความพินาศใหญ่หลวง พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เทวทัตทำตามอย่างเราแล้วถึงความพินาศ แม้ในครั้งก่อนก็เคยถึงความพินาศมาแล้วเหมือนกัน พระเถระเจ้ากราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 571

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นไกรสรสีหราช อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ในประเทศหิมพานต์ วันหนึ่งออกจากถ้ำทอง สะบัดกาย มองดูทิศทั้งสี่ บรรลือสีหนาท แล้วเหยาะย่างออกหาอาหาร ฆ่ากระบือใหญ่กินเนื้อแล้ว ลงสู่สระดื่มน้ำมีสีเหมือนแก้วมณีเต็มท้องแล้ว มุ่งเดินไปสู่ถ้ำ ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง เที่ยวขวนขวายหาเหยื่อ เผชิญหน้ากับราชสีห์เข้าทันที ไม่อาจจะหลีกหนีได้ทัน ก็เลยนอนหมอบลงแทบเท้าเบื้องหน้าราชสีห์ เมื่อราชสีห์ทักว่า อะไรหรือ เจ้าจิ้งจอก ก็บอกว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้ามาหมายจะรับใช้ท่าน ราชสีห์กล่าวว่า ดีแล้วมาเถิด จงรับใช้เราเถิด เราจักให้เจ้าได้กินเนื้อดีๆ แล้วพาสุนัขจิ้งจอกไปสู่ถ้ำทอง จำเดิมแต่นั้นมา สุนัขจิ้งจอกก็กินเดนราชสีห์ ล่วงมาได้สองสามวัน ก็มีร่างกายอ้วนพี ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ราชสีห์นอนอยู่ในถ้ำ บอกมันว่า ไปซี เจ้าจิ้งจอก เจ้าขึ้นไปยืนบนยอดเขา อยากจะกินเนื้อของสัตว์ใด ในบรรดาช้าง ม้า กระบือ เป็นต้นที่ท่องเที่ยวอยู่ที่เชิงเขา จงมองหาสัตว์นั้น แล้วมาบอกเราว่า ข้าพเจ้าอยากกินเนื้อสัตว์อย่างโน้น แล้วจงบอกว่า นาย ท่านจงแผดเสียงเถิด ดังนี้แล้ว เราจักฆ่าสัตว์นั้น กินเนื้ออร่อยๆ แล้วแบ่งให้เจ้าบ้าง สุนัขจิ้งจอกจึงขึ้นไปสู่ยอดเขา มองดูฝูงมฤคนานาชนิด ครั้นนึกอยากกินเนื้อของสัตว์ชนิดใด ก็เข้าไปสู่ถ้ำทอง บอกสัตว์นั้นแก่ราชสีห์ แล้วหมอบลงแทบเท้า กล่าวว่า นายขอรับ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 572

เชิญท่านแผดเสียงเถิด ราชสีห์วิ่งไปโดยเร็ว ถ้าแม้เป็นช้างตกมัน ก็ฆ่าให้ตายตรงนั้น ตนเองกินเนื้อดีๆ บ้าง ให้สุนัขจิ้งจอกบ้าง สุนัขจิ้งจอกกินเนื้อจนอิ่มท้องแล้ว เข้าถ้ำนอนหลับ.

ครั้นเวลาล่วงนานผ่านไป สุนัขจิ้งจอกก็ชักกำเริบเกิดมานะว่า แม้ตัวเราก็เป็นสัตว์ ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุไรจะต้องให้ผู้อื่นเขาช่วยเลี้ยงอยู่ทุกๆ วันเล่า นับแต่นี้ไป เราจักฆ่าช้างเป็นต้นกินเนื้อ แม้แต่ราชสีห์ผู้เป็นมฤคราช อาศัยข้อที่เรากล่าวว่า นายขอรับ เชิญท่านแผดเสียงเถิด ดังนี้เท่านั้น ก็ฆ่าช้างทั้งหลายได้ เราต้องให้ราชสีห์พูดกะเราบ้างว่า จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด ดังนี้ ก็จักฆ่าช้างตัวหนึ่งกินเนื้อได้ มันเข้าไปหาราชสีห์แล้วกล่าวดังนี้ว่า นายขอรับ ข้าพเจ้ากินเนื้อช้างพลายที่ท่านฆ่าตายมานานแล้ว ข้าพเจ้าก็อยากจะฆ่าช้างตัวหนึ่งกินเนื้อมันบ้าง เหตุนั้น ข้าพเจ้าต้องขอนอนในถ้ำทอง บนที่ที่ท่านนอน ท่านช่วยดูช้างพลายที่ท่องเที่ยว ณ เชิงเขาแล้วมาสู่สำนักข้าพเจ้า บอกว่า จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด ขอเพียงเท่านี้แหละ ท่านอย่าได้หวงแหนเลย ครั้งนั้นราชสีห์บอกมันว่า จิ้งจอกเอ๋ย เจ้าไม่สามารถจะฆ่าช้างได้ดอก ขึ้นชื่อว่าหมาจิ้งจอกที่บังเกิดในสกุลสีหะ สามารถฆ่าช้างกินเนื้อได้ไม่มีเลยในโลก เจ้าอย่าชอบใจอย่างนี้เลย อยู่คอยกินเนื้อช้างที่เราฆ่าแล้วไปถ่ายเดียวเถิด ถึงแม้ราชสีห์จะกล่าวชี้แจงอย่างนี้ มันก็ไม่ล้มความตั้งใจ คงเซ้าซี้อยู่นั่นเอง ราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามมันได้ ก็รับคำ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 573

กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงไปที่อยู่ของเรา นอนคอยเถิด ให้จิ้งจอกนอนในถ้ำทอง ตนเองคอยดูช้างซับมันอยู่ที่เชิงเขา แล้วไปที่ประตูถ้ำบอกว่า จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด สุนัขจิ้งจอกออกจากถ้ำทอง สะบัดกาย มองสี่ทิศ หอน ๓ คาบ คิดว่า เราต้องกระโดดลงตรงกระพองช้างซับมัน พลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างยกเท้าขวาขึ้นเหยียบหัวมัน กระโหลกศีรษะแตกแหลกเป็นจุณ ทีนั้นช้างก็เอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้ ขี้รดข้างบนแล้ว ร้องก้องโกญจนาทเข้าป่าไป พระโพธิสัตว์เห็นความเป็นไปนี้ กล่าวว่า จิ้งจอกเอ๋ย คราวนี้ เชิญเจ้าแผดเสียงไปเถิด ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"มันสมองของเจ้าไหลออกแล้ว กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลายแล้ว ซี่โครงของเจ้าหักพังไปหมดแล้ว วันนี้เจ้าช่างรุ่งเรืองแท้" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลสิ แปลว่า มันสมอง.

บทว่า นิปฺผลิตา แปลว่า ไหลออกแล้ว.

พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้แล้ว ดำรงอยู่ตลอดอายุ แล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า หมาจิ้งจอกในครั้งนั้น ได้มาเป็นเทวทัต ส่วนราชสีห์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาวิโรจนชาดกที่ ๓