พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. กากชาดก ว่าด้วยกาวิดน้ําด้วยปาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2564
หมายเลข  35552
อ่าน  379

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 582

๖. กากชาดก

ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยปาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 582

๖. กากชาดก

ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยปาก

[๑๔๖] "เออหนอ ขาตะไกรของพวกเราล้าเสียแล้ว และปากเล่าก็ซีดเซียว พวกเราพากันวิดอยู่ ไม่ทำให้สมุทรเหือดแห้งได้ ดูเถอะ ห้วงน้ำใหญ่ยังคงเต็มอยู่ตามเดิม".

จบ กากชาดกที่ ๖

อรรถกถากากชาดกที่ ๖

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุแก่ๆ หลายรูปด้วยกัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อปิ นุ หนุกา สนฺตา" ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น ครั้งเป็นคฤหัสถ์ เป็นกุฎุมพีในเมืองสาวัตถี มั่งมีทรัพย์ เป็นสหายกัน ทำบุญร่วมกัน ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วพากันดำริว่า พวกเราเป็นคนแก่ จะมีประโยชน์อะไรแก่พวกเราด้วยการอยู่ครองเรือน พวกเราจักบวชในพระพุทธศาสนา อันเป็นที่น่ายินดีในสำนักของพระศาสดา จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้ แล้วต่างยกสมบัติทั้งปวงให้แก่ลูกหลานเป็นต้น ละหมู่ญาติผู้มีน้ำตานองหน้าเสีย ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา และครั้นบวช

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 583

แล้ว มิได้ชักชวนกันบำเพ็ญสมณธรรมอันสมควรแก่บรรพชา แม้พระธรรมก็ไม่ศึกษา เพราะความเป็นคนแก่ ถึงจะบวชแล้ว ก็เหมือนในครั้งที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ให้คนสร้างบรรณศาลาไว้ท้ายวิหาร คงรวมกันอยู่นั่นแล แม้เมื่อเที่ยวบิณฑบาต ก็ไม่ไปที่อื่น โดยมากชวนกันไปฉันที่บ้านบุตรภรรยาของตนนั่นแหละ ในบรรดาคนเหล่านั้น ภรรยาเก่าของพระเถระแก่รูปหนึ่ง ได้มีอุปการะแก่พระเถระแก่ๆ แม้ทั้งปวง เหตุนั้น แม้พระเถระที่เหลือต่างก็ถืออาหารที่ตนได้ มานั่งฉันในเรือนของนางเพียงผู้เดียว ฝ่ายนางเล่า ก็ถวายต้มแกงตามที่ตนจัดไว้แก่พระเถระเหล่านั้น นางป่วยด้วยอาพาธอย่างหนึ่ง ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นพระเถระแก่ๆ เหล่านั้น พากันไปสู่วิหาร กอดคอกันเที่ยวร้องไห้อยู่ท้ายวิหารว่า อุบาสิกาผู้มีรสมืออร่อย ตายเสียแล้ว ฝ่ายภิกษุทั้งหลาย ฟังเสียงของพระเถระเหล่านั้นแล้ว ก็มาประชุมกันจากที่ต่างๆ ถามว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เหตุไรพวกท่านจึงร้องไห้ พระเถระเหล่านั้นตอบว่า ภรรยาเก่าแห่งสหายของพวกกระผม ผู้มีรสมืออร่อยตายเสียแล้ว นางมีอุปการะแก่พวกผมยิ่งนัก ทีนี้จักหาที่ไหนได้เหมือนนางเล่า เหตุนี้พวกผมจึงพากันร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายเห็นข้อวิปริตนั้นของพระเถระเหล่านั้นแล้ว พากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุชื่อนี้ พระเถระแก่ๆ ทั้งหลายกอดคอกันเที่ยวร้องไห้อยู่แถวท้ายวิหาร พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 584

ทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ภิกษุเหล่านั้นพากันเที่ยวร้องไห้เพราะหญิงนั้นตายลง แม้ในครั้งก่อนภิกษุเหล่านี้อาศัยหญิงนี้ผู้เกิดในกำเนิดกาแล้วตายเสียในสมุทร ร่วมคิดกันว่า พวกเราจักวิดน้ำในสมุทร นำนางขึ้นมาให้จงได้ ดังนี้ พากันเพียรพยายาม เพราะได้อาศัยบัณฑิต จึงได้มีชีวิตอยู่ได้ดังนี้แล้ว ทรงนำเรื่องราวในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดารักษาสมุทร ครั้งนั้น กาตัวหนึ่ง พานางกาผู้ภรรยาของตนเที่ยวแสวงหาเหยื่อ ได้ไปถึงฝั่งสมุทร กาลนั้นฝูงชนพากันกระทำพลีกรรมแก่พญานาค ด้วยน้ำนม ข้าวปายาส ปลา เนื้อและสุราเป็นต้นแล้วพากันหลีกไป ครั้งนั้น กาตัวหนึ่งไปถึงที่พลีกรรม เห็นน้ำนมเป็นต้นก็พร้อมด้วยนางกากินน้ำนม ข้าวปายาส ปลาและเนื้อเป็นต้นแล้วดื่มสุราเข้าไปมาก กาผัวเมียทั้งคู่ต่างเมามายสุรา คิดจะเล่นสมุทรกรีฑา เกาะที่ชายหาดทราย หมายใจจะอาบน้ำ ทีนั้นคลื่นลูกหนึ่งซัดมา พาเอานางกาเข้าไปเสียในสมุทร ปลาตัวหนึ่งจึงฮุบนางกานั้นกลืนกินเสีย การ้องไห้รำพันว่า เมียของเราตายเสียแล้ว ครั้นกามากด้วยกันได้ยินเสียงร่ำไห้ของมัน ก็มาประชุมกันถามว่า เจ้าร้องไห้เพราะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 585

เหตุไร มันบอกว่า หญิงสหายของพวกท่านกำลังอาบน้ำอยู่ที่ชายหาด โดนคลื่นซัดไปเสียแล้ว กาเหล่านั้นแม้ทุกตัวก็ร้องเอ็ดอึงเป็นเสียงเดียวกัน ครั้งนั้นฝูงกาเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าน้ำในสมุทรนี้ จะสำคัญกว่าพวกเราหรือ พวกเราช่วยกันวิดน้ำให้แห้ง ค้นเอาหญิงสหายออกมาให้ได้ กาเหล่านั้นช่วยกันอมน้ำเต็มปากทีเดียว เอาไปบ้วนทิ้งเสียข้างนอก และเมื่อคอแห้งเพราะน้ำเค็มก็พากันขึ้นไปบนบก พวกมันครั้นขาตะไกรล้า ปากซีด ตาแดง ก็อิดโรยไปตามกัน จึงเรียกกันมาปรับทุกข์ว่า ชาวเราเอ๋ย พวกเราพากันอมน้ำจากสมุทรไปทิ้งข้างนอก ที่ที่เราอมน้ำไปแล้ว กลับเต็มไปด้วยน้ำเสียอีก พวกเราคงไม่สามารถทำให้สมุทรแห้งเป็นแน่ ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ ความว่า.

"เออหนอ ขาตะไกรของพวกเราล้าเสีย แล้ว และปากเล่าก็ซีดเซียว พวกเราพากันวิดอยู่ ไม่ทำให้สมุทรเหือดแห้งได้ ดูเถอะ ห้วงน้ำใหญ่คงเต็มอย่างเดิม" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ นุ หนุกา สนฺตา ความว่า เออ ก็คางของเราเมื่อยล้าแล้ว.

บทว่า โอรมาม น ปาเรม ความว่า พวกเราพากันอมน้ำจากมหาสมุทรไปทิ้งตามกำลังของตน ก็ไม่อาจทำให้เหือดแห้งได้ เพราะห้วงน้ำใหญ่คงเต็มเหมือนเดิมนั่นเอง.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 586

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว กาเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก็ต่างพูดพร่ำเพ้อมากมายว่า จะงอยปากของนางกานั้น งดงามเห็นปานนี้ ตากลมอย่างนี้ ผิวพรรณทรวดทรงงามระหงอย่างนี้ เสียงเพราะปานนี้ เพราะอาศัยสมุทรผู้เป็นโจรนี้ นางกาของพวกเราหายไปแล้ว เทวดาประจำสมุทรสำแดงรูปน่าสะพึงกลัว ไล่ฝูงกาที่กำลังร้องรำพันพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้ ให้หนีไป ความสวัสดี ได้มีแก่ฝูงกานั้น ด้วยประการฉะนี้.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า นางกาในครั้งนั้น ได้มาเป็นภรรยาเก่านี้ กา ได้มาเป็นพระเถระแก่ ฝูงกาที่เหลือ ได้มาเป็นพระเถระแก่ๆ ที่เหลือ ส่วนเทวดารักษาสมุทร ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากากชาดกที่ ๖