๙. เอกปัณณชาดก ว่าด้วยต้นไม้ใบเดียว
[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 598
๙. เอกปัณณชาดก
ว่าด้วยต้นไม้ใบเดียว
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 598
๙. เอกปัณณชาดก
ว่าด้วยต้นไม้ใบเดียว
[๑๔๙] "ต้นไม้นี้ มีใบข้างละหนึ่งใบจากแผ่นดิน ยังไม่ถึง ๔ องคุลี มีรสเสมอกับยาพิษ ต้นไม้นี้เติบโตขึ้น จักขมสักเพียงไหน".
จบ เอกปัณณชาดกที่ ๙
อรรถกถาเอกปัณณชาดกที่ ๙
พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยพระนครไพสาลี ประทับ อยู่ ณ กูฏาคารศาลา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "เอกปณฺโณ อยํ รุกฺโข" ดังนี้.
ความพิสดารว่า ในกาลครั้งนั้น พระนครเวสาลี มีกำแพงล้อมถึง ๓ ชั้น ตลอดบริเวณคาวุตหนึ่ง ประกอบไปด้วยกระท่อมพลและป้อมในที่ทั้งสาม ถึงความเป็นเมืองงดงามอย่างยิ่ง จำนวนพระราชาเสวยราชสมบัติอยู่เป็นนิตยกาลในพระนครนั้นเล่า มีถึงเจ็ดพันเจ็ดร้อยเจ็ดองค์ จำนวนอุปราชก็เท่านั้นเหมือนกัน เสนาบดีและขุนคลังก็มีจำนวนฝ่ายละเท่านั้น ในกลุ่มแห่งโอรสของราชาเหล่านั้น มีราชกุมารผู้หนึ่งพระนามว่า ทุฏฐลิจฉวี เป็นผู้มักโกรธ ดุร้าย หยาบคาย เป็นเสมือนอสรพิษที่ถูกตี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 599
ด้วยไม้ คอยเป็นฟืนเป็นไฟอยู่เป็นประจำ ผู้ที่จะชื่อว่าสามารถกล่าวถ้อยคำสองสามคำต่อหน้าพระกุมาร ด้วยอำนาจแห่งความโกรธ ไม่มีเลย พระมารดา พระบิดา พระประยูรญาติ และพระสหาย ต่างไม่สามารถที่จะอบรมเธอได้เลย.
ครั้งนั้น พระมารดาและพระบิดาของเธอ ได้ทรงวิตกว่า กุมารนี้หยาบคายยิ่งนัก โหดเหี้ยม เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้อื่นที่จะชื่อว่าสามารถอบรมเธอได้ไม่มีเลย เธอควรจะเป็นผู้อันพระพุทธเจ้าทรงแนะนำ ดังนี้แล้ว พาพระกุมารไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารนี้ดุร้าย หยาบคาย รุ่งโรจน์อยู่ด้วยความโกรธ ขอพระองค์ทรงประทานพระโอวาทแก่กุมารนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า พระศาสดาทรงโอวาทพระกุมารว่า ดูก่อนกุมาร เธอไม่น่าจะเป็นคนดุร้าย หยาบคาย ร้ายกาจ ชอบข่มเหงรังแกในหมู่สัตว์เหล่านี้เลย ขึ้นชื่อว่า คนมีวาจาหยาบ ย่อมไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ แม้ของมารดาบังเกิดเกล้า แม้ของบิดา แม้ของบุตรภรรยา แม้ของพี่น้องชายหญิง แม้ของหมู่มิตรเผ่าพันธุ์พวกพ้อง เป็นที่ตั้งแห่งความหวาดหวั่น เหมือนงูที่กำลังเลื้อยมากัด เหมือนโจรที่ซ่องสุมกันอยู่ในดง เหมือนยักษ์ที่กำลังเดินมาจับกิน ในวาระจิตที่ ๒ ย่อมบังเกิดในนรกเป็นต้นได้ ในปัจจุบันนั้นเล่า คนมักโกรธ ถึงจะประดับประดางดงาม ก็คงยังมีผิวพรรณเศร้าหมองอยู่นั่นเอง หน้าตาของเขาแม้จะมีสิริเพียงดวงจันทน์เต็มดวง ก็จะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 600
เป็นเหมือนดอกบัวที่ถูกลนไฟ เหมือนวงแว่นทองคำที่ฝ้าจับ ย่อมผิดรูปผิดร่าง ไม่น่าดู เพราะว่า ฝูงสัตว์อาศัยความโกรธ ย่อมจับศัสตราประหารตนเองตาย ดื่มยาพิษตาย ผูกคอตาย โดดเขาตาย ครั้นตายด้วยอำนาจความโกรธอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมบังเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น ถึงคนที่ชอบข่มเหงเขาเล่า ก็ต้องถูกติเตียนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ก็บังเกิดในนรกเป็นต้น แม้จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ย่อมเป็นคนมีโรคมากตั้งแต่เกิดมาทีเดียว บรรดาโรคทั้งหลาย มีโรคตา โรคหูเป็นต้นจะรุมกันทับถมคนประเภทนี้ พวกเขาจะไม่พ้นไปจากโรคร้าย จะเป็นผู้ครองทุกข์อยู่เป็นประจำทีเดียว เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นคนมีจิตเมตตา มีจิตอ่อนโยนในสรรพสัตว์ เพราะบุคคลเช่นนี้ ย่อมรอดพ้นจากภัยมีนรกเป็นต้นก็ได้ ดังนี้ กุมารนั้น สดับโอวาทของพระศาสดาแล้ว ทิ้งมานะเสียได้ ด้วยพระโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น เป็นผู้ฝึกฝนได้ ไร้พยศ เป็นคนมีจิตอ่อนโยนทีเดียว แม้คนอื่นจะด่าจะตี ก็มิได้เหลียวหลังมอง เหมือนงูที่ถูกถอนเขี้ยว เหมือนปูที่ถูกหักก้าม และเหมือนโคผู้ที่ถูกตัดเขา ฉะนั้น.
ภิกษุทั้งหลายทราบพฤติการณ์ของกุมารนั้นแล้ว จึงยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระมารดา บิดา พระประยูรญาติและพระสหายเป็นต้น มิอาจฝึกลิจฉวีกุมาร ผู้ดุร้าย แม้ตลอดเวลาอันยาวนาน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 601
ทรงทรมานเธอด้วยพระโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น ก็ได้ทรงกระทำเหตุ คือการให้อยู่ในขอบเขตที่เชิดชูกันได้ เหมือนนายควาญช้าง ทรมานพระยาช้างซับมันให้หมดพยศร้ายฉะนั้น ตรงกันกับพระพุทธภาษิตที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึกได้ ม้าที่ควรฝึกได้ โคที่ควรฝึกได้ อันผู้ฝึกได้ฝึกหัดแล้ว ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเท่านั้น คือทิศตะวันออกหรือตะวันตก เหนือหรือใต้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าที่ควรฝึกได้ อันผู้ฝึกได้ฝึกหัดแล้ว ฯลฯ โคที่ควรฝึกได้ อันผู้ได้ฝึกหัดแล้ว ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ควรฝึกได้ อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าฝึกหัดแล้ว ย่อมแล่นไปได้ทั้งแปดทิศ ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลายได้ ผู้ที่ทรงฝึกแล้วนี้เล่า ก็เป็นเช่นนั้น ฯลฯ ตถาคตนั้น บัณฑิตย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกเลิศกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย ผู้มีอายุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ที่จะเสมอเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีอย่างแท้จริง พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในครั้งนี้เท่านั้นที่เราฝึกกุมารนี้ได้ ด้วยโอวาทครั้งเดียว แม้ในครั้งก่อนเราก็ได้ฝึกเธอ ด้วยโอวาทครั้งเดียวเหมือนกัน ดังนี้แล้วทรงนำเรื่องราวในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 602
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว เล่าเรียนไตรเพทและสรรพศิลปวิทยา ในเมืองตักกสิลา อยู่ครองเรือนสิ้นกาลเล็กน้อย ครั้นมารดาบิดาล่วงลับไป ก็บวชเป็นฤาษี ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว พำนักอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นอยู่ในป่านั้นนานๆ ก็ไปสู่ชนบทเพื่อบริโภคเปรี้ยวๆ เค็มๆ บรรลุถึงพระนครพาราณสี อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน รุ่งเช้านุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว สมบูรณ์ด้วยมารยาทของดาบส เข้าสู่พระนครเพื่อภิกษา เดินไปถึงพระลานหลวง.
พระราชากำลังทอดพระเนตรทางช่องพระแกล ทรงเห็นท่านแล้ว ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถ ทรงดำริว่า พระดาบสนี้ อินทรีย์งดงาม ใจสงบ ทอดตาต่ำชั่วแอก ประหนึ่งวางถุงทรัพย์ ๑๐๐๐ เหรียญ ไว้ทุกๆ ย่างก้าว เดินมาด้วยลีลาองอาจอย่างราชสีห์ หากจะมีสภาวะที่ชื่อว่า สันตธรรมอยู่อย่างหนึ่งละก็ สันตธรรมนั้นต้องมีภายในของดาบสนี้ แล้วทรงทอดพระเนตรดูอำมาตย์ผู้หนึ่ง อำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักต้องทำอะไร พระเจ้าข้า รับสั่งว่า เจ้าจงไปนิมนต์พระดาบสนั้นมา เขารับพระดำรัสว่า ดีละ พระเจ้าข้า เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ไหว้แล้วรับภาชนะใส่ภิกษาจากมือพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์ กล่าวว่า อะไรหรือ ท่านผู้มีบุญมาก ก็กราบเรียนว่า ข้าแต่พระคุณท่านผู้เจริญ พระราชารับสั่งนิมนต์พระคุณเจ้า พระโพธิสัตว์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 603
กล่าวว่า เราไม่ใช่นักบวชประจำราชสำนัก เป็นนักบวชอยู่ป่าหิมพานต์ อำมาตย์ไปกราบทูลความนั้นแด่พระราชา พระราชาตรัสว่า ดาบสอื่นที่เป็นผู้ใกล้ชิดของเราไม่มีดอก จงนิมนต์ท่านมาเถิด อำมาตย์ก็ไปไหว้พระโพธิสัตว์ พูดอ้อนวอน นิมนต์ให้เข้าไปสู่พระราชวัง พระราชาถวายบังคมพระโพธิสัตว์ อาราธนาให้นั่งเหนือบัลลังก์ทอง ภายใต้เศวตรฉัตร ให้ฉันโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ที่เขาจัดไว้เพื่อพระองค์ แล้วรับสั่งถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าอยู่ที่ไหนเจ้าข้า พระโพธิสัตว์ถวายพระพรว่า มหาบพิตร อาตมาภาพอยู่ป่าหิมพานต์ รับสั่งถามว่า บัดนี้พระคุณเจ้าจะไปที่ไหน ถวายพระพรว่า มหาบพิตร อาตมาภาพกำลังสอดส่องเสนาสนะที่เหมาะแก่ฤดูฝน รับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น นิมนต์อยู่ในอุทยานของพวกโยมเถิดขอรับ ทรงถือปฏิญญาแล้ว แม้พระองค์เองก็เสวยเสร็จ ทรงพาพระโพธิสัตว์เสด็จไปสู่อุทยาน รับสั่งให้สร้างบรรณศาลา ให้กระทำที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ทรงถวายบริขารสำหรับบรรพชิต ทรงมอบหมายให้คนเฝ้าสวนคอยดูแล แล้วเสด็จเข้าพระนคร.
จำเดิมแต่นั้น พระโพธิสัตว์ก็อยู่ในอุทยาน แม้พระราชาก็เสด็จไปหาท่านวันละ สองสามครั้งทุกๆ วัน ก็แลพระราชานั้น ทรงมีพระโอรสพระนามว่า ทุฏฐกุมาร เป็นผู้มีสันดานดุร้าย หยาบคาย พระราชาและพระประยูรญาติทั้งหลาย ต่างก็ไม่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 604
สามารถจะฝึกหัดอบรมเธอได้ พวกอำมาตย์ก็ดี พวกพราหมณ์และคฤหบดีก็ดี แม้จะร่วมกันว่ากล่าวอย่างขุ่นเคืองว่า ข้าแต่เจ้านาย ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้เลย ท่านไม่น่าจะทำอย่างนี้ ก็มิสามารถจะให้เธอเชื่อถือถ้อยคำได้ พระราชาทรงพระดำริว่า ยกเว้นพระดาบสผู้ทรงศีลผู้เป็นเจ้าของเราเสียแล้ว คงไม่มีผู้อื่นที่จะชื่อว่าสามารถทรมานกุมารนี้ได้ พระคุณเจ้าเท่านั้น จักทรมานเขาได้ ท้าวเธอทรงพาพระกุมารไปสำนักพระโพธิสัตว์ รับสั่งว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ กุมารนี้ดุร้าย หยาบคาย พวกข้าพเจ้าไม่สามารถจะอบรมฝึกสอนเธอได้ พระคุณเจ้าโปรดหาอุบายสักอย่างหนึ่งอบรมเธอให้ด้วยเถิด ดังนี้แล้ว ทรงมอบพระกุมารแต่พระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จหลีกไป พระโพธิสัตว์จึงชวนพระกุมารเที่ยวไปในอุทยาน เห็นหน่อต้นสะเดาต้นหนึ่ง เพิ่งมีใบสองใบเท่านั้น คือแตกออกข้างละหนึ่งใบ จึงกล่าวกะพระกุมารว่า กุมาร เธอจงเคี้ยวกินใบของหน่อสะเดานี้ แล้วทราบรสไว้เถิด พระกุมารทรงเคี้ยวใบสะเดาใบหนึ่ง รู้รสแล้ว ตรัสว่า ชิ ชิ ถ่มทิ้งที่แผ่นดินพร้อมทั้งเขฬะ เมื่อดาบสกล่าวว่า เป็นอย่างไรเล่า กุมารก็กราบเรียนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ต้นไม้นี้เปรียบเสมือนยาพิษชนิดร้ายแรง ในบัดนี้ทีเดียว ถ้าเจริญเติบโตขึ้น คงฆ่ามนุษย์เสียเป็นอันมาก พลางทรงถอนหน่อสะเดานั้น แล้วขยี้จนแหลกด้วยพระหัตถ์ ตรัสคาถานี้ ความว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 605
"ต้นไม้นี้ มีใบข้างละหนึ่งใบจากแผ่นดิน ยังไม่ถึง ๔ องคุลี มีรสเสมอกับยาพิษ ต้นไม้นี้ เติบโตขึ้นจักขมสักเพียงไหน" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกปณฺโณ ความว่า มีใบที่ข้างทั้งสอง ข้างละใบ.
บทว่า น ภูมิยา จตุรงฺคุโล ความว่า (ต้นไม้นี้) ยังไม่ออกจากแผ่นดินถึง ๔ องคุลีเลย.
บทว่า ผเลน ได้แก่ รสอันเกิดจากผล.
บทว่า วิสกปฺเปน ได้แก่ มีผลคล้ายยาพิษอย่างแรง อธิบายว่า แม้จะต้นเล็กอย่างนี้ ก็ประกอบด้วยใบมีรสขมเห็นปานนี้.
บทว่า มหายํ กิํ ภวิสฺสติ ความว่า แม้นว่า ต้นไม้นี้ จักถึงความเจริญ คือเติบโตขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นจักเป็นอย่างไร มันต้องฆ่ามนุษย์ได้เป็นแน่ พระกุมารตรัสว่า ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ เราต้องถอนมัน ขยี้ทิ้งเสีย.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคำนี้กะพระกุมารว่า กุมารเอ๋ย เธอกล่าวถึงหน่อสะเดานี้ว่า เดี๋ยวนี้เอง มันยังขมถึงเพียงนี้ เมื่อมันโตจักเป็นอย่างไร อาศัยมันแล้ว จะมีความเจริญมาแต่ไหน ดังนี้แล้วถอนขยี้ทิ้งไป เธอปฏิบัติในหน่อสะเดานี้ฉันใดเล่า แม้ชาวแว่นแคว้นของเธอ ก็คงฉันนั้นจักพากันกล่าวว่า พระกุมารนี้ยังเป็นเด็กอยู่ทีเดียว ยังดุร้าย หยาบคายอย่างนี้ เมื่อเจริญเติบโตครองราชสมบัติ จักทำอย่างไรกันเล่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 606
ที่ไหนพวกเราจักอาศัยเธอ พากันจำเริญได้ แล้วไม่ยอมถวายราชสมบัติอันเป็นของแห่งตระกูลของเธอ จักถอดถอนเธอเสีย เหมือนหน่อสะเดา แล้วทำการขับไล่ออกไปเสียจากแว่นแคว้น เพราะฉะนั้น เธอจงละเว้นความเป็นผู้ตนเปรียบเหมือนต้นสะเดาเสีย จงถึงพร้อมด้วยความอดทน ความเมตตาและความเอื้อเฟื้อ ตั้งแต่บัดนี้ไปเถิด จำเดิมแต่นั้น พระกุมารก็หมดมานะ หมดพยศ สมบูรณ์ด้วยความอดทน ความเมตตาและความเอื้อเฟื้อ ดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ครั้นพระชนกล่วงลับไปแล้ว ก็ได้ครองราชสมบัติ ทรงบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วเสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เราทรมานลิจฉวีกุมารผู้ชั่วร้ายได้ แม้ในครั้งก่อนเราก็เคยทรมานเธอแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ทุฏฐกุมารในครั้งนั้น ได้มาเป็นลิจฉวีกุมารนี้ พระราชา ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนดาบสผู้ให้โอวาท ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาเอกปัณณชาดกที่ ๙