พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อุรคชาดก ว่าด้วยงูผู้มีคุณธรรมสูง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ส.ค. 2564
หมายเลข  35568
อ่าน  459

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 22

๔. อุรคชาดก

ว่าด้วยงูผู้มีคุณธรรมสูง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 22

๔. อุรคชาดก

ว่าด้วยงูผู้มีคุณธรรมสูง

[๑๕๗] พญานาคประเสริฐกว่างูทั้งหลาย ต้องการจะพ้นไปจากสำนักของข้าพเจ้า แปลงเพศเป็นก้อนแก้วมณี เข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือกไม้นี้ ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงเพศของพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นเพศประเสริฐนัก แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาคซึ่งเข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้.

[๑๕๘] ท่านนั้นเคารพยำเกรงผู้มีเพศประเสริฐ แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาคซึ่งเข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้ ขอท่านนั้นจงเป็นผู้อันพรหมคุ้มครอง ดำรงชีพอยู่สิ้นกาลนานเถิด อนึ่ง ขอภักษาหารอันเป็นทิพย์จงปรากฏแก่ท่านเถิด.

จบ อุรคชาดกที่ ๔

อรรถกถาอุรคชาดกที่ ๔

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการผูกเวรของคนมีเวร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 23

เริ่มต้นว่า อิธูรคานํ ปวโร ปวิฏฺโ ดังนี้.

ได้ยินว่า มหาอํามาตย์สองคนเป็นหัวหน้าทหาร เป็นเสวกของพระเจ้าโกศล เห็นกันและกันเข้าก็ทะเลาะกัน. การจองเวรของเขาทั้งสองเป็นที่รู้กันทั่วนคร. พระราชา ญาติ และมิตร ไม่สามารถจะทำให้เขาทั้งสองสามัคคีกันได้.

อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งพระศาสดาทรงตรวจดูเผ่าพันธุ์สัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของเขาทั้งสอง วันรุ่งขึ้นเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาตพระองค์เดียวเท่านั้น ประทับยืนที่ประตูเรือนของคนหนึ่ง. เขาออกมารับบาตรแล้วนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ปูอาสนะให้ประทับนั่ง. พระศาสดาประทับนั่งแล้ว ตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาแก่เขา ทรงทราบว่ามีจิตอ่อนแล้ว จึงทรงประกาคอริยสัจ. เมื่อจบอริยสัจ เขาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. พระศาสดาทรงทราบว่าเขาบรรลุโสดาแล้ว ให้เขาถือบาตร ทรงพาไปประตูเรือนของอีกคนหนึ่ง. อำมาตย์นั้นก็ออกมาถวายบังคมพระศาสดากราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จเข้าไปเถิดพระเจ้าข้า แล้วทูลเสด็จเข้าไปยังเรือน อัญเชิญให้ประทับนั่ง. อำมาตย์ที่ตามเสด็จก็ถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาเข้าไปพร้อมกับพระศาสดา. พระศาสดาตรัสพรรณนาอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ ทรงทราบว่าเขามีจิตสมควรแล้ว จึงทรงประกาศสัจธรรม. เมื่อจบแล้ว อำมาตย์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. อำมาตย์ทั้งสอง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 24

บรรลุโสดาบันแล้ว ก็แสดงโทษ ขอขมากันและกัน มีความสมัครสมานบันเทิงใจ มีอัธยาศัยร่วมกันด้วยประการฉะนี้. วันนั้นเองเขาทั้งสองบริโภคร่วมกัน เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระศาสดาเสวยภัตตาหารเสร็จแล้วได้เสด็จกลับพระวิหาร. อำมาตย์สองคนนั้นก็ถือดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ และเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ออกไปพร้อมกับพระศาสดา. เมื่อหมู่ภิกษุแสดงวัตรแล้ว พระศาสดาทรงประทานสุคโตวาทแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี

ในเวลาเย็นภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันถึงกถาแสดงคุณของพระศาสดาในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงฝึกคนที่ฝึกไม่ได้ พระตถาคตทรงฝึกมหาอำมาตย์ทั้งสองซึ่งวิวาทกันมาช้านาน พระราชาและญาติมิตรเป็นต้น ก็ไม่สามารถจะทำให้สามัคคีกันได้ เพียงวันเดียวเท่านั้น. พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้ทําให้ชนทั้งสองเหล่านี้สามัคคีกันมิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเราก็ทำชนเหล่านี้ให้สามัคคีกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 25

ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี เมื่อเขาประกาศมีมหรสพ ในกรุงพาราณสีได้มีการประชุมใหญ่. พวกมนุษย์เป็นอันมากและเทวดา นาค ครุฑ เป็นต้น ต่างประชุมกันเพื่อชมมหรสพ. ในสถานที่แห่งหนึ่งที่เมืองพาราณสีนั้น พญานาคจำพญาครุฑไม่ได้ จึงพาดมือลงไว้เหนือจะงอยบ่าพญาครุฑ. พญาครุฑนึกในใจว่า ใครเอามือวางบนจะงอยบ่าของเรา เหลียวไปดูรู้ว่าเป็นพญานาค. พญานาคมองดูก็จำได้ว่าเป็นพญาครุฑ จึงหวาดหวั่นต่อ มรณภัย ออกจากพระนครหนีไปทางท่าน้ำ. พญาครุฑก็ติดตามไปด้วยคิดว่า จักจับพญานาคนั้นให้ได้.

ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบสอาศัยอยู่ ณ บรรณศาลา ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น เพื่อระงับความกระวนกระวายในตอนกลางวัน จึงนุ่งผ้าอุทกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) วางผ้าเปลือกไม้ไว้ที่นอกฝั่งแล้วลงอาบน้ำ. พญานาคคิดว่า เราจักได้ชีวิตเพราะอาศัยบรรพชิตนี้ จึงแปลงเพศเดิม เนรมิตเพศเป็นก้อนมณีเข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้. พญาครุฑติดตามไปเห็นพญานาคนั้นเข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้น ก็ไม่จับต้องผ้าเปลือกไม้เพราะความเคารพ จึงปราศรัยกะพระโพธิสัตว์ว่า ท่านขอรับข้าพเจ้าหิว ท่านจงเอาผ้าเปลือกไม้ของท่านไป ข้าพเจ้าจักกินพญานาคนี้ เพื่อประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 26

พญานาคผู้ประเสริฐกว่างูทั้งหลาย ต้องการจะพ้นไปจากสำนักของข้าพเจ้า จึงแปลงเพศเป็นก้อนแก้วมณี เข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นี้ ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงเพศของพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นเพศประเสริฐนัก แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับพญานาคซึ่งเข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อิธูรคานํ ปวโร ปวิฏฺโ ความว่า พญานาคผู้ประเสริฐกว่างูทั้งหลาย เข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้นี้. บทว่า เสลสฺส วณฺเณน ความว่า พญานาคแปลงเพศเป็นก้อนแก้วมณี เข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้. บทว่า ปโมกฺขมิจฺฉํ ความว่า พญานาคต้องการจะพ้นจากสำนักของข้าพเจ้า. บทว่า พฺรหฺมญฺจ วณฺณํ อปจายมาโน ความว่า ข้าพเจ้าบูชาเคารพต่อท่านผู้มีเพศดังพรหม คือมีเพศประเสริฐ. บทว่า พุภุกฺขิโต โน อิสฺหามิ โภตฺตุํ ความว่า ข้าพเจ้าแม้จะหิวก็ไม่อาจจะกินพญานาคนั้นซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในเปลือกไม้นั้นได้.

พระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ในน้ำได้สรรเสริญพญาครุฑ แล้วกล่าวคาถาที่สองว่า :-

ท่านเคารพยำเกรงผู้มีเพศอันประเสริฐ แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาค ซึ่งเข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้ ขอท่านจงเป็นผู้อัน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 27

พรหมคุ้มครองแล้ว ดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนานเถิด อนึ่ง ขอภักษาหารอันเป็นทิพย์จงปรากฏแก่ท่านเถิด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า โส พฺรหฺมคุตฺโต ความว่า ท่านนั้นเป็นผู้อันพรหมคุ้มครองรักษาแล้ว. บทว่า ทิพฺยา จ เต ปาตุภวนฺตุ ภกฺขา ความว่า ขอภักษาหารอันควรแก่การบริโภคของทวยเทพจงปรากฏแก่ท่านเถิด. ท่านอย่าได้ทำปาณาติบาตกินเนื้อนาคเลย.

พระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ในน้ำ กระทำอนุโมทนา แล้วขึ้นนุ่งผ้าเปลือกไม้ พาสัตว์ทั้งสองไปอาศรม บทแสดงถึงคุณของการเจริญเมตตา แล้วได้กระทำให้สัตว์ทั้งสองนั้นสามัคคีกัน. ตั้งแต่นั้นมา สัตว์ทั้งสองนั้นก็มีความสมัครสมานเบิกบานกัน อยู่ร่วมกันด้วยความสุข.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วประชุมชาดก. พญานาคและพญาครุฑในครั้งนั้นได้เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งสองในบัดนี้. ส่วนดาบสได้เป็นเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาอุรคชาดกที่ ๔