พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. คิชฌชาดก ว่าด้วยสายตาแร้ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ส.ค. 2564
หมายเลข  35578
อ่าน  446

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 94

๔. คิชฌชาดก

ว่าด้วยสายตาแร้ง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 94

๔. คิชฌชาดก

ว่าด้วยสายตาแร้ง

[๑๗๗] เออก็ (เขากล่าวว่า) แร้งย่อมเห็นซากศพทั้งหลายได้ถึงร้อยโยชน์ เหตุไรท่านมาถึงข่ายและบ่วงจึงไม่รู้เล่า.

[๑๗๘] ความเสื่อมจะมีในเวลาใด สัตว์ใกล้จะสิ้นชีวิตในเวลาใดในเวลานั้น ถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็รู้ไม่ได้.

จบ คิชฌชาดกที่ ๔

อรรถกถาคิชฌชาดกที่ ๔

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุเลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ยนฺนุ คิชฺโฌ โยชนสตํ ดังนี้.

เรื่องจักมีแจ้งในสามชาดก

พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุได้ยินว่า เธอเลี้ยงคฤหัสถ์จริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า คฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นใคร กราบทูลว่า มารดาบิดาของข้าพระองค์เองพระเจ้าข้า ทรงให้สาธุการว่า ดีแล้ว ดีแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธออย่าตำหนิโทษภิกษุนี้เลย แม้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 95

โบราณบัณฑิตทั้งหลายก็ได้ทำอุปการะแก่ผู้มิใช่ญาติด้วยอำนาจบุญคุณ ส่วนมารดาบิดาของภิกษุนี้เป็นภาระแท้ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดพญาแร้ง เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ที่คิชฌบรรพต. ต่อมาคราวหนึ่ง เกิดพายุฝนใหญ่. แร้งทั้งหลายไม่สามารถทนพายุฝนได้ จึงพากันบินหนีมากรุงพาราณสีเพราะกลัวหนาว จับสั่นอยู่ด้วยความหนาว ณ ที่ใกล้กำแพงและคูเมือง. ในเวลานั้นเศรษฐีกรุงพาราณสีออกจากเมืองจะไปอาบน้ำ เห็นแร้งเหล่านั้นกำลังลำบาก จึงจัดให้มารวมกันที่กำบังฝนแห่งหนึ่ง ก่อไฟให้ผิง แล้วส่งไปยังป่าช้าโค หาเนื้อโคมาให้พวกแร้งแล้วจัดการอารักขา. ครั้นพายุฝนสงบแร้งทั้งหลายก็มีร่างกายกระปรี้กระเปร่า พากันบินกลับสู่ภูเขาตามเดิม. พวกแร้งจับกลุ่มปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า เศรษฐีกรุงพาราณสีได้ช่วยเหลือพวกเรามา ควรตอบแทนผู้ที่ช่วยเหลือเรา เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้ไป บรรดาพวกท่านผู้ใดได้ผ้าหรือเครื่องอาภรณ์ชนิดใด ผู้นั้นพึงคาบสิ่งนั้นให้ตกลงกลางเวหาใกล้เรือนของเศรษฐีกรุงพาราณสี. ตั้งแต่นั้นมาแร้งทั้งหลายคอยดูความเผลอเรอของพวกมนุษย์ที่ตากผ้าและเครื่องอาภรณ์ไว้กลางแดด ต่างพากันโฉบเฉี่ยวไปฉับพลันเหมือนเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อ ทิ้งตกลงกลางอากาศใกล้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 96

เรือนของเศรษฐีกรุงพาราณสี. เศรษฐีรู้ว่าเป็นเครื่องอาภรณ์ของแร้ง จึงให้เก็บอาภรณ์ทั้งหมดนั้นไว้เป็นส่วนๆ.

มหาชนพากันไปกราบทูลพระราชาว่า แร้งทั้งหลายปล้นเมือง. พระราชารับสั่งว่า พวกเจ้าจับแร้งได้แม้ตัวเดียวเท่านั้นก็จะได้ของคืนทั้งหมด แล้วให้วางบ่วงและข่ายดักไว้ในที่นั้นๆ. แร้งตัวที่เลี้ยงมารดาก็ติดบ่วง. ชนทั้งหลายก็จับแร้งนั้นนำไปด้วยคิดว่าจักถวายพระราชา. เศรษฐีกรุงพาราณสีกำลังเดินไปเฝ้าพระราชา ครั้นเห็นมนุษย์พวกนั้นจับแร้งเดินไป จึงได้ไปพร้อมกับเขาด้วยคิดว่า จักไม่ให้ผู้ใดรังแกแร้งตัวนี้. ชนทั้งหลายก็ถวายแร้งแด่พระราชา. พระราชาจึงตรัสถามว่า พวกเจ้าปล้นเมืองคาบผ้าเป็นต้นไปหรือ. พญาแร้งกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช จริงพระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า พวกเจ้าเอาไปให้แก่ใคร. กราบทูลว่า ให้แก่เศรษฐีกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า เพราะเหตุไร. กราบทูลว่า เพราะเศรษฐีนั้นได้ให้ชีวิตแก่พวกข้าพระองค์ การทำอุปการะตอบแก่ผู้มีอุปการะย่อมสมควรอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพวกข้าพระองค์จึงให้ไป. พระราชารับสั่งกะพญาแร้งว่า ได้ยินว่า แร้งทั้งหลายอยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ย่อมเห็นซากศพ เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่เห็นบ่วงที่เขาดักจับตัว แล้วตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-

เขากล่าวกันว่าแร้งย่อมเห็นซากศพได้ถึงร้อยโยชน์ เหตุไรเจ้ามาถึงข่ายและบ่วงจึง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 97

ไม่รู้สึก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า เป็นนามัตถนิบาต. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าแร้งย่อมมองเห็นซากศพซึ่งตั้งอยู่เกินร้อยโยชน์. บทว่า อาสชฺชาปิ แปลว่า เข้าใกล้ คือ มาถึง. พระราชาตรัสถามว่า เจ้าแม้มาถึงข่ายและบ่วงที่เขาดักไว้จับตัว เพราะเหตุไร จึงไม่รู้สึกเล่า.

พญาแร้งสดับพระราชดำรัสแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ความเสื่อมจะมีในเวลาใด สัตว์ใกล้จะสิ้นชีวิตในเวลาใด ในเวลานั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วง ก็รู้ไม่ได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปราภโว คือ ความพินาศ. บทว่า โปโส คือสัตว์.

พระราชาครั้นทรงสดับคำของแร้งแล้ว จึงตรัสถามเศรษฐีว่า ดูก่อนมหาเศรษฐี แร้งทั้งหลายนำผ้าเป็นต้นมาที่เรือนของท่านจริงหรือ. กราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า ผ้าเป็นต้นเหล่านั้นอยู่ที่ไหน. กราบทูลว่า ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้าจัดผ้าเหล่านั้นไว้เป็นส่วนๆ ข้าพระพุทธเจ้าจะให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ ขอพระองค์ได้โปรดทรงปล่อยแร้งตัวนี้เถิดพระเจ้าข้า. มหาเศรษฐีกราบทูลให้ปล่อยพญาแร้ง แล้วคืน สิ่งของให้แก่ทุกคน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 98

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบอริยสัจ ภิกษุผู้เลี้ยงมารดาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นอานนท์ในบัดนี้. เศรษฐีกรุงพาราณสีได้เป็นสารีบุตร. ส่วนแร้งเลี้ยงมารดา คือเราตถาคตนี้แล

จบ อรรถกถาคิชฌชาดกที่ ๔