พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. กฬายมุฏฐิชาดก ว่าด้วยโลภมาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ส.ค. 2564
หมายเลข  35590
อ่าน  403

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 146

๖. กฬายมุฏฐิชาดก

ว่าด้วยโลภมาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 146

๖. กฬายมุฏฐิชาดก

ว่าด้วยโลภมาก

[๒๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ลิงผู้เที่ยวหาอาหารตามกิ่งไม้นี้ โง่เขลายิ่งนัก ปัญญาของมันก็ไม่มี มันสาดถั่วทั้งกำเสียหมดสิ้น แล้วเที่ยวค้นหาถั่วเมล็ดเดียวที่ตกลงยังพื้นดิน.

[๒๐๒] ข้าแต่พระราชา พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่โลภจัดก็ดี จะต้องละทิ้งของมากเพราะของน้อย เปรียบเหมือนวานรเสื่อมจากถั่วทั้งหมด เพราะถั่วเมล็ดเดียว ฉะนั้น.

จบ กฬายมุฏฐิชาดกที่ ๖

อรรถกถากฬายมุฏฐิชาดกที่ ๖

พระราชาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพระเจ้ากรุงโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ทาโล วตายํ ทุมสาขโคจโร ดังนี้.

ความพิสดารมีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง ในฤดูฝนทางชายแดนของพระเจ้ากรุงโกศลเกิดกบฎ พวกนักรบที่อยู่ ณ ชายแดนนั้น ได้ทำการสู้รบถึงสองสามครั้ง ก็ไม่สามารถเอาชนะข้าศึก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 147

ได้ จึงส่งข่าวทูลถวายพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาเสด็จออกในฤดูฝนอันไม่ควรแก่เวลา จึงทรงจัดตั้งค่ายใกล้พระวิหารเชตวัน ทรงดำริว่า เราออกเดินทางในเวลาอันไม่สมควร ซอกเขา และลำธารเป็นต้น เต็มไปด้วยน้ำ ทางเดินลำบาก เราจักเข้าเฝ้าพระศาสดา พระองค์จักตรัสถามเราว่า มหาบพิตรจะเสด็จไปไหน ครั้นแล้วเราก็จักกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระศาสดาจะทรงอนุเคราะห์เรา เฉพาะประโยชน์ในภายหน้าเท่านั้นก็หามิได้ แม้ประโยชน์ในปัจจุบันก็ทรงอนุเคราะห์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากเราไปจะไม่เจริญ พระองค์ก็จักตรัสว่า มหาบพิตรยังไม่ถึงเวลาเสด็จ หากจักมีความเจริญ พระองค์ก็จักทรงนิ่ง. พระราชาจึงเสด็จเข้าพระวิหารเชตวัน แล้วถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาตรัสปฏิสันถารว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหน แต่ยังวัน. กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันจะออกไปปราบกบฎชายแดน มาที่นี้ด้วยคิดว่า จักถวายบังคมพระองค์ แล้วจะไป. พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร แม้แต่ก่อนพระราชาทั้งหลาย เมื่อจะยกทัพไป ครั้นได้ฟังคำของบัณฑิตแล้ว ก็ไม่เสด็จไปสู่กองทัพในเวลาอันไม่สมควร ครั้นพระราชาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์สำเร็จราชกิจทั่วไป

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 148

เป็นธรรมานุสาสก (สอนธรรม) ของพระองค์. ครั้งนั้นทางชายแดนของพระองค์เกิดกบฎ ทหารที่ชายแดนส่งสาส์นให้ทรงทราบ. พระราชาเสด็จออกในฤดูฝน ตั้งพักค่าย ณ พระอุทยาน. พระโพธิสัตว์ได้อยู่ใกล้ที่ประทับพระราชา. ขณะพวกทหารนำถั่วดำอาหารม้ามาใส่ไว้ในราง. บรรดาลิงในพระราชอุทยาน มีลิงตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ ฉวยเอาถั่วดำจากรางนั้นใส่ปากจนเต็ม แล้วยังคว้าติดมือไปอีก กระโดดขึ้นไปนั่งบนต้นไม้เริ่มจะกิน เมื่อมันจะกิน ถั่วดำเม็ดหนึ่งหลุดจากมือตกลงไป บนดิน มันจึงทิ้งถั่วดำทั้งหมดทั้งที่อยู่ในปาก และที่มือลงจากต้นไม้มองหาถั่วดำนั้น ครั้นไม่เห็นมันจึงกลับขึ้นต้นไม้ใหม่ นั่งเศร้าโศกเสียใจ หน้าซึมอยู่บนกิ่งไม้ เหมือนแพ้คดีไปสักพันคดี.

พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของลิง จึงตรัสเรียกพระโพธิสัตว์ แล้วตรัสถามว่า ดูซิ ท่านอาจารย์ ลิงมันทำอะไรนั่น. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่มหาราช ผู้โง่เขลาไร้ปัญญา ไม่มองถึงของมาก มองแต่ของน้อย ย่อมกระทำเช่นนี้แหละพระพุทธเจ้าข้า แล้วกล่าวคาถาแรกก่อนว่า :-

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ลิงผู้เที่ยวหาอาหารตามกิ่งไม้นี้ โง่เขลายิ่งนัก ปัญญาของมันก็ไม่มี มันสาดถั่วทั้งกำ เสียหมดสิ้นแล้ว เที่ยวค้นหาถั่วเมล็ดเดียวที่ตกลงบนพื้นดิน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 149

ในบทเหล่านั้น บทว่า ทุมสาขโคจโร ได้แก่ลิง. เพราะลิงนั้นหาอาหารบนกิ่งไม้. กิ่งไม้เหล่านั้นเป็นโคจร คือเป็นที่เที่ยวสัญจรไปมาของมัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ผู้เที่ยวไปตามกิ่งไม้. เรียกพระราชาว่า ชนินฺท เพราะพระราชา ชื่อว่าเป็นจอมชน เพราะความเป็นใหญ่ยิ่ง. บทว่า กฬายมุฏฺึ ได้แก่ ลูกเดือยกำหนึ่ง. เกจิอาจารย์กล่าวว่า กาฬราชมาสมุฏฺึ บ้าง (ถั่วดำ ถั่วราชมาส) บทว่า อวกิริย ได้แก่ สาดทิ้ง. บทว่า เกวลํ คือ ทั้งหมด. บทว่า คเวสติ คือหาเมล็ดเดียวที่ตกลงบน พื้นดิน.

ครั้นพระโพธิสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปยังที่นั้น กราบทูลปราศัยกับพระราชา แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ข้าแต่พระราชา พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่โลภจัดก็ดี จะต้องละทิ้งของมากเพราะของน้อย เหมือนลิงเสื่อมจากถั่วทั้งหมด เพราะถั่ว เมล็ดเดียวแท้ๆ.

ความย่อในคาถานั้นมีดังนี้ พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่ถูกความโลภครอบงำก็ดี ทั้งหมดนั้นย่อมเสื่อมจากของมากเพราะของน้อย ด้วยว่าบัดนี้พวกเราจะเดินทางไปในฤดูฝนอันมิใช่กาลสมควร ย่อมเสื่อมจากประโยชน์มาก เพราะเหตุประโยชน์เล็กน้อย. บทว่า กฬาเยเนว วานโร ความว่า เหมือนลิงตัวนี้แสวงหา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 150

ถั่วเมล็ดเดียว เสื่อมแล้วจากถั่วเป็นอันมาก เพราะถั่วเมล็ดเดียวนั้น ฉันใด แม้พวกเราในบัดนี้ก็ ฉันนั้น กำลังจะไปในที่อันเต็มไปด้วยซอกเขาและลำธารเป็นต้น โดยมิใช่กาลแสวงหาประโยชน์เล็กน้อย แต่จักเสื่อมจากพาหนะช้าง พาหนะม้าเป็นต้นมากมายและหมู่นักรบ เพราะฉะนั้นไม่ควรไปในเวลาอันมิใช่กาล.

พระราชาสดับถ้อยคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้วเสด็จกลับจากที่นั้น เข้าสู่พระนครพาราณสีทันที. แม้พวกโจรได้ข่าวว่า พระราชาเสด็จออกจากพระนคร โดยพระประสงค์จะปราบปรามพวกโจร จึงพากันหนีออกจากชายแดน.

แม้ในปัจจุบันพวกโจรได้ยินข่าวว่า พระราชากรุงโกศลเสด็จออก จึงพากันหนีไป. พระราชาสดับพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า การทำประทักษิณ เสด็จกลับกรุงสาวัตถี.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้ ส่วนอำมาตย์บัณฑิต คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถากฬายมุฏฐิชาดกที่ ๖