พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อสทิสชาดก ว่าด้วยอสทิสกุมาร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ส.ค. 2564
หมายเลข  35595
อ่าน  418

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 171

๔. อสทิสวรรค

๑. อสทิสชาดก

ว่าด้วยอสทิสกุมาร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 171

๔. อสทิสวรรค

๑. อสทิสชาดก

ว่าด้วยอสทิสกุมาร

[๒๑๑] เจ้าชายพระนามว่าอสทิสกุมาร เป็นนักธนูมีกำลังมาก ยิงธนูให้ไปตกในที่ไกลๆ ได้ ยิงไม่ค่อยพลาด สามารถทำลายของกองใหญ่ๆ ได้.

[๒๑๒] พระองค์ทรงทำการบให้ข้าศึกทั้งปวงหนีไปแต่มิได้เบียดเบียนใครๆ เลย ทรงทำพระกนิษฐภาดาให้มีความสวัสดีแล้ว ก็เข้าถึงความสำรวม.

จบ อสทิสชาดกที่ ๑

อรรถกถาอสทิสวรรคที่ ๔

อรรถกถาอสทิสชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภมหาภิเนกษกรม (การออกเพื่อคุณยิ่งใหญ่) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธนุคฺคโห อสทิโส ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 172

เรื่องพิสดารมีอยู่ว่าวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในโรงธรรมพรรณนามหาภิเนกขัมมบารมี. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตออกสู่มหาภิเนกษกรมมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ก่อนตถาคตก็สละเศวตฉัตรออกบวชเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระองค์. เมื่อพระราชกุมารประสูติโดยสวัสดี ในวันขนานพระนาม พระชนกชนนีตั้งพระนามว่า อสทิสราชกุมาร. ครั้นถึงคราวที่พระโอรสเสด็จดำเนินไปมาได้ สัตว์ผู้มีบุญอื่นก็ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระราชเทวี. เมื่อพระโอรสนั้นประสูติโดยสวัสดี ในวันขนานพระนาม พระชนกชนนีตั้งพระนามว่า พรหมทัตกุมาร. ในพระราชกุมารทั้งสองพระองค์ พระโพธิสัตว์เมื่อมีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา เสด็จไปเมืองตักกสิลา ทรงศึกษาไตรเพทและศิลปะทุกชนิด อันเป็นพื้นฐานของวิชาสิบแปดประการ หาผู้เปรียบมิได้ในศิลปะยิงธนู แล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี.

พระราชาเมื่อจะเสด็จสวรรคต ได้มีพระราชโองการว่า ให้มอบราชสมบัติแก่อสทิสราชกุมาร ให้ตำแหน่งอุปราชแก่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 173

พรหมทัตกุมาร. แล้วก็เสด็จสวรรคต. เมื่อพระราชาเสด็จสวรรคตแล้ว เมื่อเขาจะมอบราชสมบัติให้ พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธว่า เราไม่ต้องการราชสมบัติ จึงอภิเษกพรหมทัตราชกุมารให้ครองราชสมบัติ. พระโพธิสัตว์รับสั่งว่า เราไม่ต้องการยศ จึงไม่ทรงปรารถนาอะไรทั้งสิ้น. เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอครองราชสมบัติ พระโพธิสัตว์ก็ทรงสถิตอยู่โดยอาการเหมือนพระราชาตามปกตินั่นเอง. พวกข้าทูลละอองธุลีพระบาท พากันกล่าวให้ร้ายพระโพธิสัตว์ในราชสำนักว่า อสทิสราชกุมารทรงปรารถนาราชสมบัติ. พรหมทัตราชาก็ทรงเชื่อคำของพวกเขา จึงมีพระทัยแตกแยก ทรงส่งราชบุรุษไปสำทับว่า พวกท่านจงจับพระเจ้าพี่ของเรา. ครั้งนั้น มีผู้หวังดีต่อพระโพธิสัตว์คนหนึ่ง แจ้งเหตุการณ์นั้นให้ทรงทราบ. พระโพธิสัตว์ทรงกริ้วพระกนิษฐภาดา เสด็จไปยังแคว้นอื่น แล้วให้คนกราบทูลแด่พระราชาว่า มีนักยิงธนูคนหนึ่งมายืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง. พระราชารับสั่งถามว่า เขาต้องการค่าจ้างเท่าไร. กราบทูลว่า ต้องการปีละหนึ่งแสนพระเจ้าข้า. รับสั่งว่า ดีแล้ว เข้ามาเถิด. พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ซึ่งมายืนอยู่ ณ ที่ใกล้ว่า เจ้าเป็นนักยิงธนูหรือ. กราบทูลว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า. รับสั่งว่า ดีแล้ว จงรับราชการกับเรา. ตั้งแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์อยู่รับราชการกับพระราชา. พวกนักยิงธนูรุ่นเก่าเห็นค่าใช้จ่ายที่พระราชทานแก่พระโพธิสัตว์ จึงพากันยกโทษว่า ได้มากไป.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 174

อยู่มาวันหนึ่งพระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน รับสั่งให้กั้นฉากม่านใกล้แผ่นศิลามงคล บรรทมเหนือราชอาสน์ใหญ่ใกล้ต้นมะม่วง ทอดพระเนตรดูเบื้องบนทรงเห็นมะม่วงพวงหนึ่งบนยอดไม้ ทรงดำริว่า ไม่มีใครสามารถขึ้นไปเอามะม่วงนี้ได้ รับสั่งให้หาพวกนายขมังธนูมา มีพระดำรัสว่า พวกเจ้าสามารถใช้ลูกศรยิงมะม่วงพวงนี้ให้ตกได้หรือ. พวกนายขมังธนูกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้อนี้ไม่เป็นการยากสําหรับพวกข้าพระองค์ ทั้งพระองค์ก็ได้ทรงเคยเห็นฝีมือของพวกข้าพระองค์มาหลายครั้งแล้ว แต่นายขมังธนูที่มาใหม่ได้ค่าใช้จ่ายมากกว่าพวกข้าพระองค์ ขอได้ทรงโปรดให้เขายิงเถิดพระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้หาพระโพธิสัตว์ แล้วตรัสถามว่า เจ้าสามารถยิงมะม่วงพวงนั้นให้ตกลงมาได้หรือ. กราบทูลว่า เมื่อได้ที่ว่างสักแห่งหนึ่งจักสามารถพระเจ้าข้า. รับสั่งถามว่า ที่ว่างตรงไหน. กราบทูลว่า ที่ว่างภายในที่บรรทมของพระองค์พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้ย้ายที่พระบรรทมแล้วพระราชทานที่ว่างให้. พระโพธิสัตว์ไม่มีธนูในพระหัตถ์. พระองค์ทรงเหน็บธนูไว้ในระหว่างพระภูษาเสด็จเที่ยวไป เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า ควรจะได้ผ้าม่านสักผืน. พระราชารับสั่งให้นำผ้าม่านมากั้น. พระโพธิสัตว์เข้าไปภายในม่าน เปลื้องผ้าทรงชั้นนอกออก ทรงนุ่งผ้าแดงผืนหนึ่งผูกผ้าเคียนพุง คาดผ้าแดงผืนหนึ่งที่พระอุทร ทรงหยิบพระขรรค์พร้อมทั้งฝักออกจากถุง ทรงเหน็บไว้ด้านซ้าย ทรง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 175

สวมเสื้อสีทองเหน็บกระบอกแล่งศรไว้ข้างหลัง ทรงถือเมณฑกมหาธนูพร้อมทั้งเครื่องประกอบ ทรงโก่งสายสีแก้วประพาฬ ทรงสวมพระอุณหิส ทรงกวัดแกว่งลูกศรอันคมด้วยพระนขา ทรงแหวกม่านเสด็จออกไปยังที่แผลงศร ดุจนาคกุมารตกแต่งกายชำแรกแผ่นดินออกมาฉะนั้น ครั้นพาดลูกศรแล้วจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์จะให้มะม่วงพวงนี้ตกลงมาด้วยลูกศรตอนขึ้นหรือลูกศรตอนลงพระเจ้าข้า. รับสั่งว่า พ่อคุณเอ๋ย คนเป็นอันมากเขายิงลูกศรตอนขึ้น เราเคยเห็น แต่ยิงด้วยลูกศรตอนลงเราไม่เคยเห็น เจ้าจงยิงให้ตกด้วยลูกศรตอนลงเถิด. กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ลูกศรนี้จักขึ้นไปไกลจนกระทั่งถึงพิภพท้าวจาตุมหาราช แล้วจักลงมาเอง ขอพระองค์จงอดพระทัยรอจนกว่าลูกศรจะลงมาเถิดพระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า ดีละ. ต่อมาพระโพธิสัตว์จึงกราบทูลพระราชาอีกว่า ข้าแต่มหาราช ลูกศรนี้เมื่อขึ้นจักแหวกขึ้นไประหว่างกลางขั้วพวงมะม่วง การขึ้นไปจักไม่ส่ายไปข้างโน้นมาข้างนี้แม้เพียงปลายเกศา จักตกลงมาตามแนวถูกพวงมะม่วงแล้วจึงหล่น ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรเถิดพระเจ้าข้า. พระโพธิสัตว์จึงออกกำลังผาดแผลงไป. ลูกศรนั้นทะลุผ่านหว่างกลางขั้วมะม่วง ขึ้นไป. พระโพธิสัตว์ทรงทราบว่า บัดนี้ลูกศรนั้นเห็นจักถึงพิภพชั้นจาตุมหาราชแล้ว จึงทรงเร่งกำลังให้มากกว่าศรที่ยิงไปครั้งแรก แล้วทรงยิงไปอีกลูกหนึ่ง. ลูกศรนั้นจึงขึ้นไปกระทบท้าย

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 176

ลูกศรเดิม ปัดให้กลับลง แล้วศรลูกที่สองก็เลยขึ้นไปถึงภพดาวดึงส์. เทวดาทั้งหลายในภพนั้น ได้จับลูกศรนั้นไว้. เสียงแหวกอากาศของลูกศรที่กลับ คล้ายกับเสียงสายฟ้า. เมื่อประชาชน พูดกันว่า นั่นเสียงอะไร พระโพธิสัตว์จึงบอกว่า เสียงลูกศรกลับ จึงปลอบมหาชนที่สะดุ้งกลัว เพราะเกรงว่า ลูกศรจะตกลงถูกร่างกายของตนๆ ว่า อย่ากลัวเลย แล้วพูดต่อไปว่า เราจักไม่ให้ลูกศรตกถึงพื้นดิน. ลูกศรเมื่อขณะลงก็ไม่ส่ายไปข้างโน้นส่ายมาข้างนี้ ตกลงตามแนวตัดพวงมะม่วง. พระโพธิสัตว์ไม่ให้พวงมะม่วงและลูกศรตกถึงพื้นดิน รับไว้บนอากาศ มือหนึ่งรับพวงมะม่วง มือหนึ่งรับลูกศร. มหาชนได้เห็นความอัศจรรย์นั้น จึงพากันกล่าวว่า อย่างนี้พวกเราไม่เคยเห็น พากันสรรเสริญส่งเสียงปรบมือ ดีดนิ้ว โบกผ้าเป็นจำนวนพัน. ทรัพย์ที่ราชบริษัทยินดีร่าเริงมอบให้แก่พระโพธิสัตว์ประมาณหนึ่งโกฏิ. แม้พระราชาก็ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก พระราชทานยศอันยิ่งใหญ่แก่พระโพธิสัตว์ ราวกับลูกเห็บตก. เมื่อพระราชาพระองค์นั้นสักการะเคารพพระโพธิสัตว์ซึ่งพำนัก ณ ที่นั้นอย่างนี้. พระราชาเจ็ดพระนครครั้นทรงทราบว่าข่าวว่า อสทิสราชกุมารมิได้อยู่ในกรุงพาราณสี จึงพากันยกพลมาล้อมกรุงพาราณสี แล้วส่งสาส์นถวายพระราชาว่า จะมอบราชสมบัติให้หรือจะรบ. พระราชาทรงกลัวมรณภัย ตรัสถามว่า พระเจ้าพี่ของเราประทับอยู่ที่ไหน ครั้นทรงสดับว่า พระเจ้าพี่รับราชการ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 177

อยู่กับกษัตริย์สามนตราชพระองค์หนึ่ง จึงทรงส่งทูตไปรับ พร้อมกับมีพระดำรัสว่า เมื่อพระเจ้าพี่ของเราไม่เสด็จกลับมา เราก็จะไม่มีชีวิตอยู่ได้ พวกเจ้าจงไป จงไปถวายบังคมแทบพระบาท แล้วขอให้ทรงยกโทษตามคำของเรา เชิญเสด็จกลับมาเถิด. พวกทูตพากันไปกราบทูลเรื่องราวถวายพระโพธิสัตว์ให้ทรงทราบ. พระโพธิสัตว์กราบถวายบังคมลาพระราชาพระองค์นั้น เสด็จกลับไปกรุงพาราณสี ทรงปลอบพระราชาว่า อย่ากลัวเลย แล้วทรงจารึกอักขระลงที่ลูกศร ใจความว่า เราชื่อว่า อสทิสราชกุมารกลับมาแล้ว จะยิงศรอีกลูกหนึ่งมาล้างชีวิตของพวกท่านทั้งหมดเสีย ผู้ต้องการรอดชีวิตจงหนีไป เราจะไม่ให้เกิดโลหิตแม้แต่แมลงวันตัวเล็กดื่ม เสร็จแล้วจึงเสด็จประทับที่ป้อมปราการ แผลงศรให้ตกลงบนสุวรรณภาชนะประมาณ ๑ ศอกกำ ขณะที่พระราชาเจ็ดพระนครกำลังเสวยอยู่. พระราชาเหล่านั้น ครั้นทอดพระเนตรเห็นอักขระที่ลูกศรแล้ว ก็พากันตกพระทัยกลัวต่อมรณภัย ต่างพระองค์ก็เสด็จหนีไปสิ้น. พระโพธิสัตว์ทรงขับพระราชาเจ็ดพระองค์ให้หนีไป โดยมิได้ทรงทำให้เกิดโลหิตแม้แต่เพียงแมลงวันตัวเล็กดื่มอย่างนี้แล้ว จึงลาพระกนิษฐภาดา สละกามบวชเป็นฤาษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด เมื่อสิ้นพระชนม์ก็เข้าถึงพรหมโลก.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสทิสราชกุมาร ทรงขับพระราชาเจ็ดพระนครให้หนีไป ทรงได้ชัยชนะสงคราม

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 178

แล้วทรงผนวชเป็นฤาษีอย่างนี้ เมื่อทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า :-

เจ้าชายพระนามว่า อสทิสราชกุมารเป็นนักธนู มีกำลังมาก ยิงธนูให้ไปตกในที่ไกลๆ ได้ ยิงไม่พลาด สามารถทำลายของกองใหญ่ๆ ได้.

พระองค์ทรงทำการรบให้ข้าศึกทั้งปวงหนีไป แต่มิได้เบียดเบียนใครๆ เลย ทรงทำพระกนิษฐภาดาให้มีความปลอดภัย แล้วก็เข้าถึงความสำรวม.

บทว่า อสทิโส ความว่า มิใช่ไม่เสมอเหมือนโดยพระนามเท่านั้น แม้พระกำลัง พระวิริยะและพระปัญญาก็ไม่มีผู้เสมอเหมือน. บทว่า มหพฺพโล คือทรงกำลังกายมาก. บทว่า ทูเร ปาเหติ ความว่า ชื่อว่ายิงได้ไกล เพราะสามารถส่งลูกศรไปจากภพจาตุมหาราชจนถึงภพดาวดึงส์ได้. บทว่า อกฺขณเวธี คือ ยิงไม่ผิด. อีกอย่างหนึ่งสายฟ้าเรียกว่าอักขณะ. อธิบายว่า ชั่วฟ้าแลบคราวหนึ่ง ยิงได้เจ็ดแปดครั้งด้วยแสงนั้น เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่ายิงได้เร็ว. บทว่า มหากายปฺปพาลิโน ได้แก่ ทำลายของกองใหญ่ๆ ได้. กองใหญ่มีเจ็ดอย่าง คือ กองหนัง กองไม้ กองโลหะ กองเหล็ก กองทราย กองน้ำ กองแผ่นกระดาน.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 179

ในกองเหล่านั้น คนอื่นเมื่อจะทำลายกองหนัง แม้หนังกระบือก็ยิงทะลุ แต่พระโพธิสัตว์นั้นยิงหนังกระบือซ้อนกันตั้งร้อยแผ่นให้ทะลุได้. คนอื่นยิงกระดานไม้มะเดื่อหนาแปดนิ้ว ยิงกระดานไม้ประดู่หนาสี่นิ้วทะลุได้ แต่พระโพธิสัตว์ยิงกระดานเหล่านั้นมัดรวมกันหนาตั้งร้อยนิ้วทะลุได้ แผ่นทองหนาสองนิ้ว แผ่นเหล็กหนาหนึ่งนิ้ว ก็เช่นเดียวกัน เกวียนบรรทุกทราย บรรทุกกระดาน พระโพธิสัตว์ยิงเข้าส่วนหลังให้ทะลุออกได้ทางส่วนหน้า. ตามปกติในน้ำ พระโพธิสัตว์ยิงศรแหวกได้ไกลสี่อุสุภะ. บนบกไกลแปดอุสุภะ พระโพธิสัตว์ทำลายของกองใหญ่ๆ เหล่านี้ได้ จึงชื่อว่า ผู้ทำลายของกองใหญ่ได้ด้วยประการฉะนี้. บทว่า สพฺพามิตฺเต ได้แก่ข้าศึกทั้งหมด. บทว่า รณํ กตฺวา ได้แก่ ทำการรบให้ข้าศึกหนีไป. บทว่า น จ กิญฺจิ วิเหยิ คือ ไม่เบียดเบียนใครๆ เลย. แต่ทรงต่อสู้กับข้าศึกเหล่านั้นด้วยใช้ศรนั้นเอง ไม่ให้ลำบาก. บทว่า สญฺมํ อชฺฌุปาคมิ ได้แก่ เข้าถึงความสำรวมด้วยศีล คือ บรรพชา.

พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ อย่างนี้แล้ว ทรงประชุมชาดก. พระกนิษฐภาดาในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้ ส่วนอสทิสกุมาร คือ เราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาอสทิสชาดกที่ ๑