พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. สาธุศีลชาดก ว่าด้วยเลือกเอาผู้มีศีล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ส.ค. 2564
หมายเลข  35614
อ่าน  521

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 271

๑๐. สาธุศีลชาดก

ว่าด้วยเลือกเอาผู้มีศีล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 271

๑๐. สาธุศีลชาดก

ว่าด้วยเลือกเอาผู้มีศีล

[๒๔๙] เราขอถามท่านพราหมณ์ว่า ๑. คนมีรูปงาม ๒. คนอายุมาก ๓. คนมีชาติสูง ๔. คนมีศีลดี ๔ คนนั่น ท่านจะเลือกเอาคนไหน.

[๒๕๐] ประโยชน์ในร่างกายก็มีอยู่ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่านผู้เจริญวัย ประโยชน์ในบุรุษผู้มีชาติดีก็มีอยู่ แต่เราชอบใจศีล.

จบ สาธุศีลชาดกที่ ๑๐

อรรถกถาสาธุศีลชาดกที่ ๑๐

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพราหมณ์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สรีรทพฺยํ วุฑฺฒพฺยํ ดังนี้.

ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีลูกสาวสี่คน. มีชายสี่คนต้องการลูกสาวเหล่านั้น. ในชายสี่คนนั้น คนหนึ่งรูปงามร่างกายสมบูรณ์ คนหนึ่งอายุมากเป็นผู้ใหญ่ คนหนึ่งสมบูรณ์ด้วยชาติ คนหนึ่งมีศีล. พราหมณ์คิดว่า เมื่อจะปลูกฝังลูกสาวควรจะให้แก่ใครหนอ ควรให้แก่คนรูปงามหรือ คนมีอายุ คน สมบูรณ์ด้วยชาติ และคนมีศีล คนใดคนหนึ่งดี. แม้เขาจะพยายาม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 272

คิดก็ไม่รู้แน่ จึงคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักทรงทราบเหตุนี้ เราจักทูลถามพระองค์แล้วยกลูกสาวให้แก่ผู้ที่สมควรในระหว่างคนเหล่านั้น จึงได้ถือของหอมดอกไม้เป็นต้น ไปวิหารถวายบังคมพระศาสดา นั่ง ณ ส่วนหนึ่ง กราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่ต้น แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ควรจะให้แก่ใครในชายทั้งสี่เหล่านี้. พระศาสดาตรัสว่า แต่ปางก่อนบัณฑิตทั้งหลายก็ยังถามปัญหานี้แก่พระองค์ แต่เพราะยังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของภพ จึงไม่อาจจดจำได้ เมื่อพราหมณ์ทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์เรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา แล้วได้มาเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในกรุงตักกสิลา. ครั้งนั้นพราหมณ์มีลูกสาวสี่คน. มีชายสี่คนต้องการ ลูกสาวเหล่านั้น. พราหมณ์รำพึงว่า จะควรให้แก่ใคร เมื่อไม่แน่ใจจึงคิดว่า เราจะต้องถามอาจารย์ แล้วให้แก่ผู้ที่ควรให้ จึงไปหาอาจารย์ เมื่อจะถามเรื่องนั้น จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-

เราขอถามท่านพราหมณ์ว่า ๑. คนมีรูป งาม ๒. คนอายุมาก ๓. คนมีชาติสูง ๔. คนมีศีล สี่คนนั้น ท่านจะเลือกเอาคนไหน.

ในบทเหล่านั้น พราหมณ์ประกาศคุณที่มีอยู่แก่ชายสี่คนเหล่านั้น. ในคาถานี้มีอธิบายดังนี้ ชายสี่คนต้องการลูกสาว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 273

สี่คนของข้าพเจ้า ในชายสี่คนนั้น คนหนึ่งมีรูปงาม คือมีร่างกายสมบูรณ์ มีความสง่า คนหนึ่งอายุมาก คือเป็นผู้ใหญ่ เจริญวัย คนหนึ่งมีชาติสูง คือสมบูรณ์ด้วยชาติ เพราะเกิดมาดี คนหนึ่งมีศีล คืองดงามด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยศีล. บทว่า พฺราหฺมณนฺเต ว ปุจฺฉาม ความว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะให้ลูกสาวเหล่านี้แก่ชายคน หนึ่งในสี่คนเหล่านั้น จึงขอถามท่านพราหมณ์. บทว่า กินฺนุ เตสํ วณิมฺหเส ความว่า ชายสี่คนเหล่านั้น ข้าพเจ้าจะเลือกคือ ต้องการคนไหนดี. คือพราหมณ์ถามอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าจะให้ ลูกสาวเหล่านั้นแก่ใคร.

อาจารย์ฟังพราหมณ์นั้นแล้ว จึงตอบว่า คนมีศีลวิบัติแล้ว แม้เมื่อมีรูปสมบัติก็น่าตำหนิ เพราะฉะนั้น รูปสมบัติหาเป็น ประมาณไม่ เราชอบความเป็นผู้มีศีล เมื่อจะประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ประโยชน์ในร่างกายก็มีอยู่ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่านผู้เจริญวัย ประโยชน์ในชาติดีก็มีอยู่ แต่เราชอบใจศีล.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺโถ อตฺถิ สรีรสฺมึ ความว่า ความ ต้องการ คือความวิเศษ ความเจริญในร่างกายที่สมบูรณ์ด้วยรูป มีเหมือนกัน มิใช่เราว่าไม่มี. บทว่า วุฑฺฒพฺยสฺส นโม กเร ความว่า แต่เราทำความนอบน้อมแก่ผู้เจริญวัย เพราะผู้เจริญวัยย่อมได้การกราบไหว้นับถือ. บทว่า อตฺโถ อตฺถิ สุชาตสฺมึ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 274

ความว่า ความเจริญในคนที่เกิดมาดีก็มี เพราะชาติสมบัติก็ ควรปรารถนาเหมือนกัน. บทว่า สีลํ อสฺมาก รุจฺจติ ได้แก่ แต่เราชอบใจคนมีศีลเท่านั้น. เพราะคนมีศีล สมบูรณ์ด้วย มารยาท แม้จะขาด สรีรสมบัติ ก็ยังน่าบูชา น่าสรรเสริญ.

พราหมณ์ฟังคำของอาจารย์แล้วก็ยกลูกสาวให้แก่คนมีศีล อย่างเดียว.

พระศาสดานำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ สัจธรรม ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรม พราหมณ์ตั้ง อยู่ในโสดาปัตติผล. พราหมณ์ในครั้งนั้นได้เป็นพราหมณ์ผู้นี้ แหละ ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาสาธุสีลชาดกที่ ๑๐

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รุหกชาดก ๒. สิริกาฬกัณณิชาดก ๓. จุลลปทุมชาดก ๔. มณิโจรชาดก ๕. ปัพพตูปัตถรชาดก ๖. วลาหกัสสชาดก ๗. มิตตามิตตชาดก ๘. ราธชาดก ๙. คหปติชาดก ๑๐. สาธุศีลชาดก.

จบ รุหกวรรคที่ ๕