พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เสคคุชาดก การได้รับทุกข์จากผู้เป็นที่พึ่ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35635
อ่าน  466

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 351

๗. เสคคุชาดก

การได้รับทุกข์จากผู้เป็นที่พึ่ง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 351

๗. เสคคุชาดก

การได้รับทุกข์จากผู้เป็นที่พึ่ง

[๒๘๓] สัตว์โลกทั้งปวง เป็นผู้พอใจในการเสพกาม ดูก่อนนางเสคคุ เจ้าเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของชาวบ้าน ความที่เจ้าเป็นนางกุมารีถูกบิดาจับมือในป่าชัฏ ร้องไห้อยู่ในวันนี้เป็นธรรมดา.

[๒๘๔] เมื่อฉันได้รับทุกข์แล้ว ผู้ใดพึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของฉัน กลับมากระทำมิดีมิร้ายฉันในป่า ฉันจะคร่ำครวญหาใครในกลางป่าอีกเล่า ผู้ใดเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นกลับมาทำฉันถึงสาหัส.

จบ เสคคุชาดกที่ ๗

อรรถกถาเสคคุชาดกที่ ๗

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกผู้ขายผักผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สพฺโพ โลโก ดังนี้. เรื่องราวพิสดารอยู่ในเอกนิบาตนั้นแล้ว.

แม้ในทุกนิบาตนี้ พระศาสดาตรัสถามอุบาสกนั้นว่า ดูก่อนอุบาสก ทำไมหายไปนานนัก. อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 352

ลูกสาวของข้าพระองค์มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ ข้าพระองค์ลองทดลองดู แล้วจึงยกให้เด็กหนุ่มของตระกูลผู้หนึ่ง เพราะมัวจัดการเรื่องนั้นอยู่ จึงไม่ได้โอกาสมาเฝ้าพระองค์. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะอุบาสกนั้นว่า ดูก่อนอุบาสก ลูกสาวของท่านมิใช่เป็นผู้มีศีลในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็มีศีล และท่านก็ทดลองนางแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดา. ในกาลนั้น อุบาสกขายผักผู้นี้แหละคิดจะทดลองลูกสาว จึงนำเข้าป่าแล้วจับมือทำเป็นต้องการด้วยอำนาจกิเลส. ลำดับนั้นอุบาสกได้กล่าวกะลูกสาวผู้คร่ำครวญอยู่ด้วยคาถาแรกว่า :-

สัตว์โลกทั้งปวง เป็นผู้พอใจในการเสพกาม ดูก่อนแม่เสคคุ เจ้าเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของชาวบ้าน ความที่เจ้าเป็นนางกุมารี ถูกบิดาจับมือในป่าชัฏร้องไห้อยู่ในวันนี้เป็นธรรมดา.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺโพ โลโก อตฺตมโน อโหสิ ความว่า แน่ะแม่หนู สัตว์โลกทั้งสิ้นพอใจในการเสพกามนี้. บทว่า เสคฺคุ เป็นชื่อของหญิงนั้น. ดูก่อนแม่เสคคุ เจ้าไม่ฉลาดในธรรมของชาวบ้าน. ท่านอธิบายว่า เจ้าไม่ฉลาดในธรรมของ ชาวบ้าน คือ ในธรรมของคนถ่อยนี้. บทว่า โกมาริโก นาม ตวชฺช ธมฺโม. ความว่า แม่หนู สภาพของเจ้านี้อย่างไร ในวันนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 353

ยํ ตวํ คหิตา ปวเน ปโรทสิ ความว่า อุบาสกถามว่า เจ้าถูกเราจับมือด้วยความเชยชมในป่านี้ เจ้าคร่ำครวญ คือ ไม่ยอมสภาพของเจ้านี้ คือ อะไรกัน เจ้ายังเป็นเด็กหญิงอยู่หรือ.

กุมารีฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า จริงจ้ะพ่อ ลูกยังเป็นเด็กหญิงอยู่ แล้วคร่ำครวญกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

เมื่อฉันได้รับทุกข์แล้ว ผู้ใดเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของฉัน กลับมาทำกรรมมิดีมิร้ายฉันในป่า ฉันจะคร่ำครวญหาใครในป่าได้อีกเล่า ผู้ใดเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นกลับมาทำฉันถึงสาหัส.

อุบาสกขายผักนั้น ลองใจลูกสาวในครั้งนั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงพาไปบ้าน ยกให้เด็กหนุ่มแห่งตระกูล แล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรม อุบาสกขายผัก ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ลูกสาวในครั้งนั้นได้เป็นลูกสาวในครั้งนี้นั่นเอง ส่วนรุกขเทวดาผู้ทำเหตุนั้นให้ประจักษ์ คือ เราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาเสคคุชาดกที่ ๗