พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. กูฏวาณิชชาดก หนามยอกเอาหนามบ่ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35636
อ่าน  395

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 354

๘. กูฏวาณิชชาดก

หนามยอกเอาหนามบ่ง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 354

๗. กูฏวาณิชชาดก

หนามยอกเอาหนามบ่ง

[๒๘๕] ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ได้คิดโกงตอบผู้โกงดีแล้ว ถ้าหนูทั้งหลายพึงกินผาลได้ เหตุไฉน เหยี่ยวทั้งหลายจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า.

[๒๘๖] บุคคลที่โกงตอบคนโกง ย่อมมีอยู่แน่นอน บุคคลที่ล่อลวงก็ย่อมมีอยู่เหมือนกัน ดูก่อนท่าน ผู้มีบุตรหาย ท่านจักไม่ให้ผาลแก่เขา บุรุษผู้มีผาลหาย ก็จะไม่นำบุตรมาให้แก่ท่าน.

จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘

อรรถกถากูฏวาณิชชาดกที่ ๘

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพ่อค้าโกงคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สสฺส สาเถยฺยมิทํ ดังนี้.

ความพิสดารมีอยู่ว่า ชนสองคนคือพ่อค้าโกง และพ่อค้าบัณฑิต ชาวเมืองสาวัตถี เดินทางไปด้วยกัน บรรทุกสินค้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวทำการค้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศต่างๆ ครั้นได้กำไรมากก็กลับกรุงสาวัตถี. พ่อค้าบัณฑิตได้กล่าวกับ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 355

พ่อค้าโกงว่า สหายเรามาแบ่งสินค้ากันเถิด. พ่อค้าโกงคิดว่า พ่อค้าคนนี้ลำบากด้วยการนอน การบริโภคอันแร้นแค้นมาเป็นเวลานาน บริโภคอาหารมีรสเลิศ ต่างๆ ในเรือนของตนจักตายเพราะอาหารไม่ย่อย ทีนั้นแหละสินค้าทั้งหมดอันเป็นส่วนของเขาก็จักเป็นของเราแต่ผู้เดียว จึงกล่าวว่า ฤกษ์และวันยังไม่พอใจ พรุ่งนี้มะรืนนี้จึงค่อยรู้ แกล้งถ่วงเวลาไว้. พ่อค้าผู้เป็นบัณฑิต แค่นให้เขาแบ่งได้แล้วจึงถือเอาของหอมและดอกไม้ไปเฝ้าพระศาสดา บูชาพระศาสดาถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาตรัสถามว่า ท่านมาถึงเมื่อไร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า มาได้ประมาณกึ่งเดือนพระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า เพราะเหตุไรจึงล่าช้าอย่างนี้ ไม่มาสู่ที่พุทธุปฐาก เขากราบทูลให้ทรงทราบ. พระศาสดาตรัสว่า อุบาสกมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน พ่อค้านี้ก็เป็นคนโกงเหมือนกัน อุบาสกทูลอาราธนาจึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ได้เป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีของพระองค์. ในครั้งนั้นมีพ่อค้าสองคน คือพ่อค้าชาวบ้านกับพ่อค้าชาวกรุง เป็นมิตรกัน. พ่อค้าชาวบ้านฝากผาล ๕๐๐ ไว้แก่พ่อค้าชาวกรุง. พ่อค้าชาวกรุงขายผาลเหล่านั้นแล้วเก็บเอาเงินเสีย แล้วเอาขี้หนูมาโรยไว้ในที่เก็บผาล ครั้นต่อมาพ่อค้าชาวบ้านนอกมาหากล่าวว่า ขอท่าน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 356

จงคืนผาลให้เราเถิด พ่อค้าโกง กล่าวว่า ผาลของท่านถูกหนูกินหมดแล้ว จึงชี้ให้ดูขี้หนู. พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ถูกหนูกินแล้ว ก็ช่างเถิด เมื่อหนูกินแล้วจะทำอย่างไรได้. จึงพาบุตรของพ่อค้าโกงนั้นไปอาบน้ำ ให้เด็กนั้นนั่งอยู่ภายในห้องในเรือนของสหายผู้หนึ่ง แล้วกล่าวว่า อย่าให้ทารกนี้แก่ใครๆ เป็นอันขาด แล้วตนเองก็อาบน้ำกลับไปเรือนพ่อค้าโกง พ่อค้าโกงถามว่า ลูกของเราไปไหน. พ่อค้าบ้านนอกบอกว่า ในขณะที่เราวางบุตรของท่านไว้ริมฝั่งแล้วดำลงไปในน้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งบินมา เอากรงเล็บโฉบบุตรของท่าน แล้วบินไปสู่อากาศ แม้เราพยายามปรบมือร้องก็ไม่สามารถให้มันปล่อยได้. พ่อค้าโกง กล่าวว่า ท่านพูดโกหก เหยี่ยวคงไม่สามารถโฉบเอาเด็กไปได้ดอก. พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า สหายจะว่าถูกก็ถูก จะว่าไม่ถูกก็ถูก แต่เราจะทำอย่างไรได้ เหยี่ยวเอาบุตรของท่านไปจริงๆ. พ่อค้าโกง คุกคามพ่อค้าบ้านนอกว่า เจ้าโจรใจร้ายฆ่าคน คราวนี้เราจะไปศาล ให้พิพากษาลงโทษท่าน แล้วออกไป. พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ทำตามความพอใจของท่านเถิด แล้วไปศาลกับพ่อค้าโกงนั้น.

พ่อค้าโกงกล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่นาย พ่อค้าผู้นี้พาบุตรของข้าพเจ้าไปอาบน้ำ เมื่อข้าพเจ้าถามว่าบุตรของเราไปไหน เขาบอกว่า เหยี่ยวพาเอาไป ขอท่านได้โปรดวินิจฉัยคดีของข้าพเจ้าเถิด. พระโพธิสัตว์ถามพ่อค้าบ้านนอกว่า ท่าน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 357

พูดจริงหรือ. พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ข้าพเจ้าพาเด็กนั้นไปจริงนาย. ถามว่า เหยี่ยวพาเด็กไปได้จริงหรือ. ตอบว่า จริงจ้ะนาย. ถามว่า ก็ในโลกนี้ธรรมดาเหยี่ยวจะนำเด็กไปได้หรือ. พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า เหยี่ยวไม่สามารถพาเด็กไปในอากาศได้ แต่หนูเคี้ยวกินผาลเหล็กได้หรือ. พระโพธิสัตว์ถามว่านี่เรื่องอะไรกัน. พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าฝากผาลไว้ ๕๐๐ ที่เรือนของพ่อค้านี้ พ่อค้านี้บอกว่าผาลของท่านถูกหนูกินเสียแล้วชี้ให้ดูขี้หนูว่า นี้คือขี้ของหนูที่กินผาลของท่าน ข้าแต่นาย ถ้าหนูกินผาลได้ แม้เหยี่ยวก็จักพาเอาเด็กไปได้ หากกินไม่ได้ แม้เหยี่ยวก็จะนำเด็กนั้นไปไม่ได้ พ่อค้านี้กล่าวว่า หนูกินผาลหมดแล้ว ท่านจงทราบเถิดว่า ผาลเหล่านั้นถูกหนูกินจริงหรือไม่ ขอได้โปรดพิพากษาคดีของข้าพเจ้าเถิด. พระโพธิสัตว์ทราบว่า พ่อค้าบ้านนอกนี้ คงจะคิดโกงแก้เอาชนะคนโกง จึงกล่าวว่า ท่านคิดดีแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ได้คิดโกงตอบผู้โกงดีแล้ว ถ้าหนูทั้งหลายพึงกินผาลได้ เหตุไฉนเหยี่ยวทั้งหลายจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า.

บุคคลที่โกงตอบคนโกง ย่อมมีอยู่แน่นอน บุคคลที่ล่อลวงก็มีอยู่เหมือนกัน ดูก่อนท่านผู้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 358

มีบุตรหาย ท่านจักไม่ให้ผาลแก่เขา บุรุษผู้มีผาลหาย ก็จะไม่นำบุตรมาให้แก่ท่าน.

ในบทเหล่านี้ บทว่า สสฺส ความว่า การโกงแก้ผู้ที่โกง โดยอุบายงุบงิบของผู้อื่นเสีย. บทว่า สาเถยฺยมิทํ สุจินฺติตํ ได้แก่ ความโกงนี้ท่านคิดแล้ว. บทว่า ปจฺโจฑฺฑิตํ ปฏิกูฏสฺส กูฎํ ความว่า การโกงตอบต่อบุคคลโกง ท่านจัดการแก้ดีแล้ว. อธิบายว่าทำแก้ได้ขนาดที่เขาทำทีเดียว. บทว่า ผาลํ เจ อเทยฺยุํ มูสิกา ความว่า หากหนูกินผาลได้ ไฉนเหยี่ยวจะพาเด็กไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อหนูกินผาลได้ ทำไมเหยี่ยวจะนำเด็กไปไม่ได้. บทว่า กูฏสฺส หิ สนฺติ กูฏกูฎา ความว่า ท่านเข้าใจว่า เราถูกบุรุษ ที่ให้หนูกินผาลโกง ก็การจะโกงแก้ผู้ที่โกงเช่นนี้ ยังมีอีกมากในโลกนี้ คือการโกงตอบคนโกง ยังมีอยู่. บทว่า ภวติ ปโร นิกติโน นิกตฺยา ความว่า บุคคลผู้ตลบแตลง ผู้ทำการล่อลวง ยังมีอีกทีเดียว ดูก่อนบุรุษผู้บุตรหาย จงคืนผาลให้แก่บุรุษผู้ผาลหายนี้เถิด ถ้าท่านไม่ให้ผาล เขาจักพาบุตรของท่านไป แต่บุรุษนี้อย่าเอาผาลของท่านไปเลย ท่านจงให้ผาลแก่เขาเสียเถิด. พ่อค้าโกงกล่าวว่า ข้าแต่นายข้าพเจ้ายอมคืนให้ ถ้าเขาจะคืนบุตรให้ข้าพเจ้า. พ่อค้าบัณฑิตกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าจะคืนบุตรให้ ถ้าเขาจะคืนผาลให้ข้าพเจ้า. พ่อค้าที่บุตรหายก็ได้คืนบุตร พ่อค้าผาลหายก็ได้คืนผาล แล้วทั้งสองก็ไปตามยถากรรม.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 359

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. พ่อค้าโกงในครั้งนั้นได้เป็นพ่อค้าโกงในครั้งนี้. พ่อค้าบัณฑิตได้เป็นพ่อค้าบัณฑิตนี้แล ส่วนอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี คือ เราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถากูฏวณิชชาดกที่ ๘