พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อุปาหนชาดก อนารยชนย่อมใช้ศิลปะในทางผิด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35649
อ่าน  413

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 431

๙. อุปาหนวรรค

๑. อุปาหนชาดก

อนารยชนย่อมใช้ศิลปะในทางผิด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 431

๙. อุปาหนวรรค

๑. อุปาหนชาดก

อนารยชนย่อมใช้ศิลปะในทางผิด

[๓๑๑] รองเท้าที่คนซื้อมา เพื่อประโยชน์จะให้สบายเท้า กลับนำเอาความทุกข์มาให้ รองเท้านั้นถูกแดดเผาบ้าง ถูกพื้นเท้าครูดสีบ้าง ก็กลับกัดเท้าของผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด.

[๓๑๒] ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน เรียนวิชาและศิลปมาจากสำนักอาจารย์ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปที่เรียนมาในสำนักของอาจารย์นั้น ฉันนั้น บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ไม่ใช่อารยชน เปรียบด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี ฉะนั้น.

จบ อุปาหนชาดกที่ ๑

อรรถกถาอุปาหนวรรคที่ ๙

อรรถกถาอุปาหนชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยถาปิกตา ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 432

ความย่อมีว่า ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตบอกคืนอาจารย์กลับเป็นปฏิปักษ์เป็นศัตรูต่อพระตถาคต ได้ถึงความพินาศใหญ่. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมิใช่บอกคืนอาจารย์เป็นปฏิปักษ์ต่อเราถึงความพินาศใหญ่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็เป็นปฏิปักษ์ต่อเราเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลนายหัตถาจารย์ ครั้นเจริญวัยแล้วก็สำเร็จหัตถีศิลปะ. ครั้งนั้นมีมาณพชาวกาสิคามผู้หนึ่ง มาเรียนศิลปะในสำนักของพระโพธิสัตว์. ธรรมดาว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะบอกศิลปะ ย่อมไม่ปิดบังวิชา ให้ศึกษาวิชาตามที่ตนรู้มาโดยไม่มีเหลือ. เพราะฉะนั้นมาณพนั้น จึงได้เรียนศิลปะความรู้ของพระโพธิสัตว์จนหมดสิ้นแล้วกล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจักรับราชการ. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดีแล้วพ่อ จึงไปเฝ้ากราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชลูกศิษย์ของข้าพระองค์ปรารถนาจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณ. พระ.ราชาตรัสว่าดีแล้ว จงรับราชการเถิด. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์ทรงโปรดตั้งเบี้ยหวัดแก่เขาเถิด. พระราชาตรัสว่า ลูกศิษย์ของท่าน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 433

จะได้เบี้ยหวัดเท่ากับท่านไม่ได้ เมื่อท่านได้หนึ่งร้อย เขาก็ต้องได้ห้าสิบ เมื่อท่านได้สองร้อย เขาก็ต้องได้หนึ่งร้อย. พระโพธิสัตว์กลับมาบ้านบอกเรื่องนั้นแก่ลูกศิษย์. ลูกศิษย์กล่าวว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ารู้ศิลปะเท่ากับท่าน ถ้าจะได้เบี้ยหวัดเท่ากับท่านเหมือนกัน ข้าพเจ้าจะรับราชการ ถ้าไม่ได้จะไม่ขอรับราชการ. พระโพธิสัตว์กราบทูลให้พระราชาทรงทราบ. พระราชาตรัสว่า ถ้าเขาทัดเทียมเท่ากับท่านทุกประการ สามารถแสดงศิลปะเท่ากับท่านทีเดียว ก็จะได้เท่ากัน. พระโพธิสัตว์จึงบอกเรื่องนั้นแก่ลูกศิษย์. เมื่อลูกศิษย์กล่าวว่าดีแล้ว ข้าพเจ้าจะแสดง จึงไปกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นจงแสดงศิลปะกันพรุ่งนี้เถิด. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักแสดงกัน ขอพระองค์โปรดให้ตีกลองป่าวร้องเถิด พระเจ้าข้า. พระราชาได้ให้ตีกลองป่าวร้องว่า พรุ่งนี้อาจารย์กับลูกศิษย์ทั้งสองจะแสดงศิลปะ ผู้ประสงค์จะดูจงพากันมาดูที่สนามหลวง. อาจารย์คิดว่า ลูกศิษย์ของเรายังไม่รู้ความฉลาดในอุบาย จึงจับช้างมาเชือกหนึ่ง ฝึกให้จดจำ กลับวิธีโดยคืนเดียวเท่านั้น. อาจารย์ให้ช้างสำเหนียกอย่างนี้คือ เมื่อบอกให้เดินก็ให้ถอย เมื่อบอกให้ถอยก็ให้เดิน บอกให้เทาก็ให้ลุก เมื่อบอกให้ลุกก็ให้เทา เมื่อบอกให้จับก็ให้วาง เมื่อบอกให้วางก็ให้จับ. รุ่งขึ้นจึงขึ้นช้างเชือกนั้นไปที่สนามหลวง ฝ่ายลูกศิษย์ก็ขึ้นช้างที่ถูกใจเชือกหนึ่งไป. มหาชนประชุมกัน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 434

แล้ว ทั้งสองคนได้แสดงศิลปะเท่าๆ กันแล้ว. พระโพธิสัตว์จึงให้ช้างของตนทำสิ่งที่ตรงกันข้ามอีก. ช้างนั้นเมื่อบอกว่า จงไปก็ถอยกลับ เมื่อบอกว่า จงถอยกลับได้วิ่งไปข้างหน้า เมื่อบอกว่า จงยืนขึ้นได้เทาลง เมื่อบอกว่า จงเทาก็ลุกยืน เมื่อบอกว่า จงหยิบก็ทิ้งเสีย เมื่อบอกว่า จงทิ้งก็ได้หยิบ. มหาชนกล่าวว่า แน่ะศิษย์ผู้ชั่วร้ายทำการแข่งดีกับอาจารย์ไม่รู้ประมาณตน เข้าใจว่า รู้เสมอกับอาจารย์ ต่างก็เอาก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ประหารให้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง. พระโพธิสัตว์ลงจากช้างเข้าเฝ้า พระราชากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขึ้นชื่อว่าศิลปะบุคคลย่อมเรียนเพื่อความสุขแก่ตน แต่ศิลปะที่บุคคลบางคนเรียนแล้ว กลับนำความพินาศมาสู่ ดุจรองเท้าที่ทำไม่ดีฉะนั้น ได้กล่าวคาถา สองคาถานี้ว่า :-

รองเท้าที่คนซื้อมาเพื่อประโยชน์จะให้สบายเท้า กลับนำความทุกข์มาให้ รองเท้านั้นถูกแดดเผาบ้าง ถูกพื้นเท้าครูดสีบ้าง ก็กลับกัดเท้าของผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำไม่ใช่อารยชน เรียนวิชาและศิลปะมาจากสำนักอาจารย์ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปะที่เรียนมาในสำนักของอาจารย์นั้น ฉันนั้น บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ไม่ใช่อารยชนเปรียบด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 435

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทพฺพเห คือนำมา. บทว่า ฆมฺมาภิตฺตา ตลสา ว ปีฬิตา ได้แก่ รองเท้านั้นถูกแดดเผาบ้าง ถูกพื้นเท้าบีบบ้าง. บทว่า ตสฺเสว ความว่า รองเท้าที่ทำไม่ดี ที่เขาซื้อมาสวมเท้าเพื่อความสบายเท้า ครั้นถูกแดดเผา ถูกพื้นเท้าบีบย่อมกัดเท้าเป็นแผล. บทว่า ทุกฺกุลิโน ได้แก่ บุคคลผู้มีชาติทราม มิใช่บุตรของผู้มีตระกูล. บทว่า อนริโย คือ เป็นอสัตบุรุษ ขาดหิริโอตตัปปะ. บทว่า วิชฺชญฺจ ได้แก่ เรียนเอาวิทยฐานะทั้ง ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า สุตํ ได้แก่ สุตะคือปริยัติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมกัดตัวเองด้วย สูตรในสำนักอาจารย์นั้น. บทว่า โส ความว่า บุคคลผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำ ไม่มีอารยธรรมเรียนวิชาและ สุตะจากอาจารย์ บุคคลผู้นั้นย่อมกัดตนเองด้วยสุตะในสำนักอาจารย์นั้น ฉันนั้น. บทว่า อนริโย วุจฺจตุปาหนุปโม คือ บัณฑิตเรียกว่าเป็นผู้ไม่มีอารยธรรม เปรียบด้วยรองเท้าไม่ดี.

พระราชาทรงโปรดปรานประทานยศยิ่งใหญ่แก่พระโพธิสัตว์.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดก. ลูกศิษย์ในครั้งนั้น ได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ ส่วนอาจารย์ คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาอุปาหนชาดกที่ ๑